“วันทอง” เรื่องของหญิงสองใจ? สัมภาษณ์ทีมเขียนบทละครตีความ วันทอง 2021

ละคร วันทอง 2021 (ภาพต้นฉบับจากเพจเฟซบุ๊ก : ช่อง one Lakorn)

“วันทอง 2021” ออกอากาศไปได้ไม่กี่ตอน สร้างความสนใจจากผู้ชมคอละคร มีการออกบทความที่เกี่ยวข้องกับเสภา ขุนช้าง ขุนแผน ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วรรณกรรมและด้านอื่น ๆ ตามหน้าเพจต่าง ๆ บนเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก ละคร วันทอง 2021 นั้นมีความแตกต่างจากต้นฉบับเสภา ขุนช้าง ขุนแผน อย่างไรแล้วความโดดเด่นของเสภาเรื่องนี้มีอะไร ทำไมกลุ่มผู้ผลิตจึงนำเสภาเรื่องนี้มานำเสนอในรูปแบบละครตีความใหม่ โดยมีคำถามสำคัญว่า วันทองสองใจจริงหรือ? 

เพื่อให้ผู้ชมละครได้รับความรู้ที่ต่างจากบทความทั่วไปและจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ชื่นชอบวรรณคดีไทย จึงได้ทำการตกลงนัดหมายวันเวลา ที่จะสัมภาษณ์ทีมเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง วันทอง ทำไมจึงต้องเป็นทีมเขียนบทละครโทรทัศน์ หากจะเปรียบ “กระบวนการ” ผลิตละครโทรทัศน์หนึ่งเรื่องเป็นละครแล้ว ผู้กำกับก็เปรียบเป็นพระเอกของละครเรื่องนั้น ส่วนนางเอกก็ไม่ใช่ใครอื่นนั้นก็คือนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ซึ่งพวกเธอทั้ง 3 คน คือ พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์, พิมสิรินทร์ พงษ์วานิชสุข, จุติมา แย้มศิริ

ถือได้ว่าเป็นทีมเขียนบทมือทองของช่องวัน 31 ที่จะมาเล่าประสบการณ์การเขียนบทวันทองให้ได้ทราบกันละครแนวนี้ไม่เหมือนละครแนวอื่น ๆ ที่ช่องวันเคยทำมา ฉะนั้นจะมีความยากง่ายแตกต่างกัน ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า ทำไมจึงต้องเป็นวันทอง

ละคร วันทอง 2021 (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก : ช่อง one Lakorn)

ทำไมถึงเป็น วันทอง และทำไมถึงอยากทำ

พิมพ์มาดา : โปรเจกต์นี้เกิดจากตัวพี่เองหลายปีมาแล้ว เรามารวมทีมกันว่า บริษัทของเราจะมีแนวทางการผลิตละครไปในทิศทางไหน ใครอยากทำให้โยนเข้ามา พี่เสนอว่าอยากนำวรรณคดีไทยมาตีความมุมตัวละครใหม่ อยากทำ ขุนช้าง ขุนแผน ตีความในมุมมองของวันทอง

แต่เมื่อสัก 7 – 8 ปีที่แล้ว เราต้องยอมรับว่าการเปิดกว้างของการตีความวรรณกรรมหรือสิ่งของที่เป็นดั้งเดิมในบ้านเราค่อนข้างปิด แล้วถ้าเราหยิบมาตีความใหม่จะถูกว่าไหม ถูกวิจารณ์ไหม แต่พอเวลาล่วงมา 5 ปี เท่านั้นเองพี่ว่าสังคมมันเปลี่ยนไป ความคิดของคนเปลี่ยน ความเปิดกว้างมันมีมากขึ้น มันเลยสามารถทำได้แล้ว โปรเจกต์นี้ก็เลยถูกนำกลับมาทำใหม่ โดยใช้ ขุนช้าง ขุนแผน ตีความในมุมมองของวันทอง

และที่ถามว่าทำไมถึงอยากทำ วรรณกรรมของไทยมีหลายเรื่องที่มันสนุก แต่คนสมัยนี้ไม่ค่อยเสพ อาจจะเป็นเพราะความไม่รู้ หรือยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่แก่นเรื่องของความสนุกมันมีอยู่มากและหลายเรื่องด้วย เพียงแต่เราจะนำเสนอออกมายังไงให้คนสมัยนี้รับฟังมุมมองให้คนรับฟังรับรู้มากกว่า พี่เลยอยากหยิบ ขุนช้าง ขุนแผน มาเล่าในมุมของวันทอง

พี่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า วันทองเป็นตัวละครที่น่าสนใจ วันทองสองใจจริงหรือเปล่า?” พี่เชื่อว่าด้วยความเป็นผู้หญิง ไม่มีผู้หญิงคนไหนหรอกที่จะสองใจรักผู้ชายสองคนในเวลาเดียวกัน ผู้หญิงทุกคนอยากเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ให้คนที่เรารักรัก สถานการณ์อะไรที่ทำให้ผู้หญิงคนนี้ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นวันทองสองใจ และเขาต้องตกไปอยู่ที่นั่งนั้นได้อย่างไร?

สมัยก่อนพี่ก็นั่งอ่าน ขุนช้าง ขุนแผน เหมือนกับที่ทุกคนอ่าน พี่เคยอ่านเสภา พี่รู้เท่า ๆ ที่เรียนในบทเรียนในยุคเก่า พอเริ่มนำมาทำเป็นละครเราทั้ง 3 คนเลยมานั่งอ่าน ด้วย ขุนช้าง ขุนแผน มีหลายเวอร์ชั่น โอเคเราต้องเอาหนึ่งเวอร์ชั่นที่จะมาเป็นโครงเรื่องพื้นฐาน มีทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง ฉะนั้น พี่จะยึดเสภา ขุนช้าง ขุนแผน เป็นโครงเรื่องพื้นฐาน รายละเอียดใด ๆ พี่จะยึดจากเสภา เพราะเห็นว่าเป็นมาตรฐานที่สุดแล้วที่รวบรวมขึ้นมามีคุณค่าหลายอย่างในนั้น สี่สิบกว่าบทและบทย่อยต่าง ๆ เป็นร้อยอ่านเลยไปจนถึงวันทองตายเป็นเปรต เลยไปจนถึงเรื่องราวของลูกอย่างพระไวย จะได้รู้ว่าเรื่องราวข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

พออ่านจบแล้วก็ได้ไปทำการค้นคว้าเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ต่อ การทำวันทองหนนี้เหมือนกับที่เราทำเรื่องพิษสวาทและล่า” ก่อนอื่นเราต้องอ่านนวนิยายก่อนเป็นพื้นฐาน อันที่สองเราจะต้องอ่านข้อมูลข้างเคียงที่ประกอบ ซึ่งทำให้เกิดนวนิยายเรื่องนั้น ถ้า พิษสวาท ก็คือเราต้องอ่านประวัติศาสตร์ ถ้าเรื่อง ล่า คือ กฎหมาย สำหรับ ขุนช้าง ขุนแผน คือการวิเคราะห์ ด้วยเรื่องที่มีอยู่ในตำราเรียน เขามีบทวิเคราะห์เยอะมาก พวกเราต้องค้นคว้า พี่เองไปหอสมุดแห่งชาติ พี่เข้าไปดูว่ามีบทวิเคราะห์เรื่องหนึ่งเป็นหนังสือในส่วนของหนังสือหายาก ดีมากเล่มนั้นวิเคราะห์ทุกมุมมองของเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน คาถาอาคม อาหาร ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชาวบ้าน ข้าราชการ ระบบการเมือง พอเราอ่านรู้สึกว่า ขุนช้าง ขุนแผน เป็นวรรณกรรมชาวบ้านที่เล่าถึงชีวิตของคน

แก่นเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน คืออะไร

พิมพ์มาดา : แก่นเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน มีคนตีความหลายแบบเป็นเอกสารประกอบนะคะ บางคนก็บอกว่า ขุนช้าง ขุนแผน เป็นเรื่องของรักสามเส้า มีรักก็ทำให้เกิดทุกข์ บางคนก็บอกว่าพูดถึงสัจธรรมในชีวิต มีเกิดก็มีดับ เราต้องยอมรับ ขุนช้าง ขุนแผน แบ่งออกเป็นสองส่วน โครงเรื่องของมันเป็นสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งเป็นเรื่องของรักสามเส้าของขุนช้าง ขุนแผน และวันทอง ส่วนที่สองคือเรื่องชีวิตของพระไวย มันเป็นสองส่วนที่แบ่งกันชัดเจน

สองส่วนมีแกนเรื่องของมันที่ต่างกัน และเสภาแต่ละบทที่พูดถึงช่วงวัยแต่ละวัย แต่ละส่วนของ ขุนช้าง ขุนแผน ก็มีแก่นเรื่องของเขาเองในแต่ละบท ถ้าถามว่าแก่นเรื่องของ ขุนช้าง ขุนแผน คืออะไร มันจะกว้างมาก เพราะมันพูดถึงชีวิตของคนถึงสามคนที่ผูกคล้องกันด้วยคำว่าความรักสำหรับพี่นะแก่นของเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน มันคืออะไร มันคือความรัก เพราะความรักเท่านั้น เพราะรักจึงทำ สิ่งนี้ผูกคนทั้งสามคนเอาไว้ด้วยกันเป็นรักสามเส้า พี่รู้สึกว่า ขุนช้าง ขุนแผน กำลังพูดเรื่องนี้

ละคร วันทอง 2021 (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก : ช่อง one Lakorn)

ตีความ วันทอง 2021 อย่างไร

พิมพ์มาดา : พอตั้งใจจะเล่าเรื่องวันทอง เราตั้งต้นเลยนะว่าเราไม่ได้ทำ ขุนช้าง ขุนแผน เราทำ วันทอง นะ คำ ๆ นี้ เป็นคีย์เวิร์ดเลยนะ เพื่อจะได้ไม่ให้เรายึดติดกับ ขุนช้าง ขุนแผน เพราะเราต้องทำการประยุกต์เรื่อง เราต้องหาแก่นเรื่องให้เจอแล้วอะไรเอาไว้ อะไรเอาออก ทั้งหมดนั้นต้องมาจากแก่นที่เราต้องการนำเสนอ

กลับไปสู่คำถามแรกที่ว่า ไม่มีผู้หญิงคนไหน อยากรักผู้ชายสองคนในเวลาเดียวกัน ผู้หญิงทุกคนอยากเป็นที่รักของคนที่เรารักเพียงคนเดียว นี่คือสารที่พี่อยากจะบอกในมุมของวันทอง แต่พอมาทำวันทองปุ๊บมันถูกพัฒนาเรื่องมาตลอดที่จะเป็นละครก่อนออกอากาศ พอเริ่มทำแก่นของเรื่องที่คิดไว้มันเล็กไป มันกลายเป็นเรื่องของผู้หญิงคนเดียว ผู้ชายทำไมต้องดู ทำไมต้องแคร์? เกิดคำถามจากทีมงานพออ่านบทจากร่างแรก คำถามจากผู้กำกับ สันต์ ศรีแก้วหล่อทำไมพี่ต้องแคร์วันทอง?” พี่ฟังแล้งนิ่งเลยมันตีความได้หลายอย่าง คนดูทำไมต้องแคร์วันทอง ทำไมคนดูต้องเอาใจช่วยวันทองไปจนจบ ทำไมพี่จะต้องไม่อยากให้ผู้หญิงคนนี้ถูกประหารชีวิต?

เราลองกลับมาดูแก่นเรื่องที่เราจะนำเสนอแล้วคิดว่า เราเล่ามุมมองผู้หญิงคนเดียวไม่ได้แล้วล่ะ เราต้องทำให้วันทองมันเชื่อมโยงกับคนทุกเพศทุกวัยในสังคมให้ได้ไม่ใช่แค่ผู้หญิงคนเดียว ประเด็นอะไรล่ะที่จะเชื่อมโยงวันทองให้เข้ากับผู้หญิงทุกคนให้ได้ และต้องเข้ากับทุกเพศ ทุกวัย เรามานั่งทำการบ้านดู ประเด็นที่น่าสนใจคือ คิดและทำในสิ่งที่ตนเองตัดสินใจ เมื่อเรามั่นคงและคิดมาดีแล้วและมันไม่ทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เมื่อมั่นใจก็จงปฏิบัติและทำไปอย่าลังเล นี่เป็นประเด็นที่วันทองจะบอกว่าวันทองตัดสินใจที่จะไม่เลือก การที่จะไม่เลือกดีกว่าวันหนึ่งมีโอกาสแล้วไม่เลือก แล้วไม่ทำอะไรเลย อย่าปล่อยให้โอกาสผ่านไป วันทองคิดมาแล้วนี่คือสิ่งดีกับตนเองและไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร เมื่อคิดแล้วก็ทำไปอย่าลังเล นี่คือประเด็นที่วันทอง เวอร์ชั่นใหม่พยายามจะบอก

คำนี้มันกินความได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เราทุกคนมีความคิดต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งคิดว่าจะทำไหม บางคนคิดมีโอกาสเลือกทั้งซ้าย ทั้งขวา แต่ก็ไม่กล้าทำอยู่ดี เรื่องวันทองนี้พยายามจะบอกว่า เมื่อคิดแล้วมั่นใจจงทำไป ถ้าไม่เดือดร้อนกับคนอื่น นั้นคือ วันทอง เวอร์ชั่นใหม่ที่เรานำเสนอ เรื่องเริ่มตอนที่วันทองกำลังโดนตัดสินพิพากษา กล้าที่จะไม่เลือกตอนต่อ ๆ ไปจะมีการเล่าว่าทำไมถึงกล้าที่จะไม่เลือก แล้ววันทองกล้าที่จะเปลี่ยนใจไหม คนทุกคนรอบตัวพยายามจะเปลี่ยนใจวันทอง เรื่องราวของวันทองจากพื้นฐานเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน จึงเล่าถึงผู้หญิงคนนี้ในแง่มุมนี้

ละคร วันทอง 2021 (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก : ช่อง one Lakorn)

ขั้นตอนการวางโครงเรื่องเพื่อจัดทำเป็นละคร แตกต่างจากต้นฉบับอย่างไร

พิมพ์มาดา : การนำเสภา ขุนช้าง ขุนแผน มาเป็นละครเรื่อง วันทอง ต้องปรับทุกอย่าง ปรับแคแรคเตอร์ของตัวละคร ตัวละครแบบไหนที่จะส่งสารเรื่องที่จะกล้าเลือกไปยังคนดูได้ มันเลยกลายเป็นที่มาของคำที่ว่า วันทองเกิดผิดยุคเมื่อลงไปดูรายละเอียดในเสภามันก็มีเชื้ออยู่นะคะ ที่มันเป็นช่องว่างระหว่างบรรทัด วันทองเป็นหญิงชาวบ้านที่ปากจัด คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ไม่มีการอัดอั้นใด ๆ ทั้งสิ้น ปากจัดกว่าแม่อีก แม่ก็ด่า ขุนช้างก็ด่า ด่าขนาดนี้คงนำมาออกอากาศไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นคีย์เวิร์ด วันทองเป็นผู้หญิงชาวบ้าน

สิ่งที่พี่ชอบ ขุนช้าง ขุนแผน มันไม่ได้เล่าชีวิตกษัตริย์ มันเล่าชีวิตชาวบ้านจริง ๆ ที่แบบปากกัดตีนถีบ เกลียดเป็นด่า ตบเป็นตบ ไม่ชอบก็คือไม่ชอบ เออมันชาวบ้านดี ก็เลยตีความไปถึงแคแรคเตอร์ของวันทองว่าเป็นหญิงที่เกิดผิดยุค คือ คิดแล้วกล้าทำในสิ่งที่ตนเองคิด ต้องยอมรับว่าผู้หญิงสมัยก่อนเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคม เป็นสังคมเจ้านายที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายเป็นคนออกกฎและใช้กฎ ผู้หญิงเป็นคนที่อยู่ใต้กฎนั้น ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง ไม่มีสิทธิ์อธิบายอะไรทั้งนั้น มีหน้าที่แค่ทำตามคำสั่งเท่านั้น ดูแลพ่อแม่ หน้าที่เป็นแม่

บางคนก็ว่าทีขุนแผนมีหลายเมีย สำหรับพี่สังคมสมัยก่อนวัฒนธรรมการมีผัวเดียวเมียเดียวมันเพิ่งเข้ามาสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ก่อนหน้านั้นวัฒนธรรมไทยมันไม่มีวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว เพราะว่าเราเป็นสังคมที่ใช้แรงงาน แรงงานเป็นเรื่องสำคัญ แรงงานหมายถึงอำนาจ บารมี เพราะฉะนั้น คนที่ดูแลคนได้มาก แปลว่าคุณมีอำนาจมาก คุณดูแลชีวิตคนรอบข้างได้ นั้นแปลว่า ถ้าคุณมีเมียมาก ชีวิตคุณก็จะมั่นคง คนสมัยก่อนจะมีเมียมากไม่ใช่เรื่องผิด การที่เราจะเอาทาสในเรือนเบี้ยมาเป็นเมียก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นสมบัติของผู้ชาย ตอนที่ทำละครเรื่องนี้ต้องตัดสิ่งเหล่านี้ออกไป ปรับความคิดตัวเองการมีผัวเดียวเมียเดียวไม่ใช่เรื่องที่ผิดนะในสมัยนั้นตามความคิดของวันทอง

เมื่อไปอ่านเสภา ขุนช้าง ขุนแผน มีความคิดหนึ่งขึ้นมา เสภานี้ต้องเป็นผู้ชายแต่ง เรื่องของวันทองเป็นมุมมองของผู้ชายมองผู้หญิง

พิมพ์มาดา : พี่เชื่อว่ามันเป็นความคิดของคนสมัยก่อน ผู้หญิงสมัยก่อนถูกกดจนคิดว่านั้นคือเรื่องธรรมดา นั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง เขาอยู่กับสังคมแบบนั้นมาจนมันคิดว่านั้นคือสิ่งที่มันต้องเป็น

จุติมา : ตอนที่เขียนเรื่องนี้ พี่เกด (พิมพ์มาดา) จะบอกเสมอว่าต้องคิดแบบคนยุคนั้นมันเลยได้ความรู้สึกของคนสมัยนั้นเขามา มันจะมีแค่วันทองเท่านั้นที่เราจะต้องทำให้มันทันสมัยเพราะเขาเกิดผิดยุค แต่วิถีชีวิตในเสภาเราต้องคิดแบบเขา

พิมพ์มาดา : โดยเฉพาะสามแม่ที่เป็นที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่อยู่ในสังคมนั้นมานาน เทพทอง ทองประศรี ศรีประจัน เป็นแม่สามแบบ ที่เลี้ยงลูกออกมาเป็นสามแบบ แล้วเขาคิดอย่างไร อย่านำความคิดของคนสมัยนี้ไปคิด คนที่เดียวที่จะคิดได้แบบคนสมัยนี้ คือ วันทอง มันต่อต้านทุกอย่างเลย

ละคร วันทอง 2021 (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก : ช่อง one Lakorn)

มีบ้างไหมที่ทั้งสามคนอ่านเสภามาแล้วมีความคิดบ้างอย่างไม่ตรงกัน ทำอย่างไรให้ลงตัว

พิมพ์มาดา : มี (หัวเราะ) สิ่งแรกเลยที่เจอปัญหาเป็นปัญหาใหญ่มากเอา พี่จุ (จุติมา) มาทำ พี่จุบอกว่าจุทำไม่ได้หรอก เพราะจุเกลียดขุนแผนมาก จุรักขุนช้างเสียงแข็งมาก จุติมา (หัวเราะ) จุไม่ทำ

จุติมา : มันหาเหตุผลให้ไม่ได้ว่าทำไมขุนแผนเป็นแบบนี้ เมื่อเรามาหนึ่งเพราะเรารักวันทอง เราเลยไม่ชอบคนที่กระทำกับวันทอง และวันทองตัดสินใจแบบนี้ และพี่เกด (พิมพ์มาดา) มาบิ้วว่าเหตุผลของขุนแผนที่ทำเพราะอะไรเราต้องคิดแบบขุนแผน

พิมพ์มาดา : เราต้องคิดก่อนขุนแผนถูกเขียนโดยผู้ชาย เพราะฉะนั้น มันมีความแฟนตาซีของผู้ชายที่ต้องการให้ผู้หญิงเป็นแบบไหนอยู่เยอะ ผู้ชายทุกคนในเรื่องจะมีเหตุผลหมด จะเป็นคนดีมีเหตุผลในการทำ ขุนช้างก็จะมีความน่ารัก แต่ผู้หญิงทุกคนในเรื่องก็จะมีความแบบอะไรของมึง (หัวเราะ) เราต้องถอดอคติในความเป็นผู้ชายเขียนเรื่องผู้หญิงและเอาแอ๊คชั่นสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วบวกกับการตีความตัวละครใหม่ทั้งหมด ทำไมเขาจึงทำอย่างนั้น ในมุมของเขา เพราะพี่เชื่อว่าตัวละครทุกตัวมันเป็นนางเอกพระเอกในชีวิตของตัวเอง เรามีเหตุผลในการกระทำของเราเสมอ ในฐานะที่เราเขียนบทคุณจะรักเขาได้ จะเกลียดเขาก็ได้ แต่คุณต้องเข้าใจเขาว่าทำไมถึงทำแบบนั้น ต้องเข้าใจ แต่ไม่เข้าข้าง มันก็เลยกลายเป็นเคมีที่ดีนะคะที่พี่จุมาทำ ร๊ากขุนช้าง จุ (หัวเราะ) หาเหตุผลให้ขุนช้างได้ตลอด เกลียดขุนแผนหาเหตุผลด่าขุนแผนได้ตลอด พี่ยังเป็นกลางไม่อะบวก ๆ ไปทางขุนแผน

พิมสิรินทร์ : เราต้องทำให้คนดูรักขุนแผน ขุนแผนเป็นพระเอกยังไงคนดูก็ต้องรักขุนแผน

พิมพ์มาดา : สำหรับพี่ คือ เมื่อขุนแผนเป็นพระเอกเรื่องวันทอง แต่อย่าลืมว่าเรื่องวันทองเป็นเรื่องเลิฟสตอรี่ ผู้หญิงรักผู้ชาย ผู้ชายรักผู้หญิง ผู้หญิงต่อให้แข็งแรงยังไงต่อให้ผู้หญิงไปรักผู้ชายโง่มันก็ห่วย เราต้องเข้าใจว่าทำไมวันทองถึงรักขุนแผน เมื่อเป็นแบบนี้เราต้องรักขุนแผน และคนดูจะต้องรักขุนแผน คนดูถึงจะรักวันทอง เพราะถ้าอย่างนั้น ถ้าวันทองไปรักคนเลว ๆ โง่ ๆ คนหนึ่งหลายเมียยังไปรักมันอยู่ได้ ก็ไม่อยากเอาใจช่วยนะ สมน้ำหน้าโดนประหารไป ไม่ได้ยังไงซะ เราต้องทำให้ขุนแผนเป็นพระเอก

ในความเป็นจริงโอ้ยเสภาจะแบบเรื่องบัวคลี่นี้แบบทุกคนถามหมดว่าทำยังไงอะฉากผ่าท้องบัวคลี่ รับไม่ได้ผ่าท้องบัวคลี่ แต่พี่ภูมิใจมากว่าพี่ทำฉากบัวคลี่ได้ เมื่อคนดูได้เห็นจะเข้าใจขุนแผนและรักขุนแผน และไม่เกลียดขุนแผน ดีที่ว่าพี่จุ (จุติมา) ที่มาเป็นตัวช่วยดึงความคิดคำนึงอีกด้าน ขณะที่ปอย (พิมสิรินทร์) ที่ถนัดทางเลิฟสตอรี่ ทำให้มันกลางกลายเป็นเคมีที่ดีในการเขียนบท เกิดออกมาเป็นวันทองเวอร์ชั่นนี้

ใช้เวลาการเขียนบทเรื่องวันทองนานหรือไม่ เมื่อเทียบกับละครเรื่องอื่น ๆ 

พิมพ์มาดา : 1 ปีกับอีก 3 เดือน ตอนแรกที่พี่คิดอยากจะเล่าวันทองตามช่วงอายุ โต รักกัน เป็นเพื่อนกันแล้วมีปัญหาให้คนดูรู้จักวันทองไปพร้อม ๆ กัน ค่อย ๆ เข้าใจวันทองว่าเขาเป็นอย่างไร ทำไมถึงมาอยู่จุดนี้ แต่พอมาทำละครเรื่องนี้มันเกิดคำถามที่พี่สันต์ (ผู้กำกับการแสดง) เขาถาม ทำไมฉันต้องแคร์ผู้หญิงคนนี้? เลยเปลี่ยนธีม มันเลยเปลี่ยนโครงเรื่องการเล่า

มาสู่ขั้นตอนการวางโครงเรื่องเราจะร้อยเรื่องทั้งหมดไว้ที่ ศาลาลูกขุน สิ่งที่ดี คือ ศาลาลูกขุนมันสะท้อนภาพการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่วันทองเล่า พอชิงตัวกลับมาปุ๊บแล้วยังไง คนดูรู้สึกอย่างไร คนดูจะได้วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์นั้น ๆ ไปพร้อมกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ก็ดีมันเหมือนคนดูได้วิจารณ์เรื่องนี้ไปด้วย ได้ออกความเห็นไปด้วย ถ้าละครออกอากาศไปมันจะทำให้คนถกเถียงกันเกิดประเด็นต่าง ๆ เพราะเกิดจากการวางโครงเรื่องนี้ด้วยมีประเด็นให้เถียงกันตลอดเวลา อย่างที่เราทราบกันสถานการณ์ในเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน มันเข้มข้นมากนะ เรื่องเขาสนุกมากเราไม่ต้องไปทำอะไรมาก โครงเรื่องที่เขาวางเอาไว้ต้องบอกเลยว่า เป็นโครงเรื่องฟ้าประทาน เราต้องเติมรายละเอียดเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น ๆ

ตัวละครอย่างน้อยและพระมเหสีของพระพันวษามีที่มาอย่างไร ?

พิมพ์มาดา : น้อย และพระสุริยงเทวีตอนที่เพิ่มมาน้อยเป็นตัวละครที่ไม่ใช่แค่มีวันทองคนเดียว แต่มันเป็นเรื่องของผู้หญิงที่คนในสังคมอยุธยาสมัยนั้นที่มีจุดร่วมกันอยู่ คือ ถูกกดขี่ใต้ตีน แล้ววันหนึ่งอยากจะลุกขึ้นมา อยากมีสิทธิ์มีเสียงมีความเห็น ไม่ต้องถูกผัวกด

น้อยมันจะเป็นคนที่อยู่ตรงกลางเชื่อมระหว่างวันทองไปสู่ประชาชน มันจะทำให้เรื่องของวันทองไม่ใช่เรื่องของคน ๆ เดียว ส่วนพระสุริยงเทวีพี่สร้างขึ้นมา เพราะว่าในมุมของผู้ปกครอง มันไม่มีผู้หญิงเลยมีแต่พระพันวษาและปุโรหิต ซึ่งเป็นผู้ชายล้วน มันไม่มีผู้หญิงสักคนที่จะมาเป็นปากเป็นเสียงแทนวันทอง แล้วพี่รู้สึกว่ามันต้องมีผู้หญิงสักคนในทุกชนชั้นมีวันทอง มีน้อย ในมุมชาวบ้านแล้ว พอพี่จุ (จุติมา) ไปค้นประวัติลองหาสิว่าพระพันวษามีเมียไหม พี่จุเลยไปเจอประวัติ

จุติมา : พี่ไปเจอคำให้การชาวกรุงเก่าเจอชื่อ พระสุริยวงษาเทวี เขาแต่งงานกันมาตั้งแต่เขาเป็นอุปราช พอไปค้นชื่อนี้อาจจะเป็นเชื้อสายสุโขทัย ถ้าเรามองว่าพระพันวษา คือ พระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งเคยเป็นพระมหาอุปราชที่พิษณุโลก แม่เขาก็เป็นสายสุโขทัยอาจอภิเษกสมรสกับเชื้อสายทางสุโขทัยก็เลยเป็นที่มาของพระสุริยงเทวีนี่แหละ

พิมพ์มาดา : พี่เลยเอาจุดนี้มาเล่าเป็นพระมเหสีของพระพันวษา เป็นเมียของพระพันวษามาตั้งแต่เป็นอุปราช ก่อนเป็นพระมหากษัตริย์ พอได้เป็นกษัตริย์ตัวเองก็ได้เป็นพระมเหสี เป็นเมียที่โตมาด้วยกันเขาผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมาอยู่คู่กัน เขาเป็นขุนแผนและวันทองอีกเวอร์ชันหนึ่งที่เขาผ่านจุดนั้นมาแล้วโชคดีที่เขาผ่านมาได้ แล้วเขาก็เลยเข้าใจปัญหาของวันทองและขุนแผน เขาก็เออมันมีบ้างจุดที่ร่วมกันอยู่ เขาจะได้พูดแทนวันทองได้ในมุมของผู้ปกครอง ผู้ใช้กฎหมาย ไม่อย่างนั้นวันทองพูดอยู่คนเดียวเลยไม่มีใครฟังนะ เสียงก็จะเบาไป

แต่พอมีผู้มีอำนาจเป็นผู้หญิงเข้ามาเสียงก็ดังเพิ่มนิดนึง สิ่งดี คือ ทำให้พระพันวษานี้มีมุมลึก ไม่ใช่แค่มุมของพระมหากษัตริย์ที่ทรงตัดสินประชาชน พอเล่า ๆ ไปมันจะมีมุมผัวเมียที่แบบปรึกษากัน คุยกัน เห็นต่างกันลงเอยอย่างไรจะมีมุมนี้ ซึ่งดีนะ

ละคร วันทอง 2021 (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก : ช่อง one Lakorn)

สาระดี ๆ ที่แทรกอยู่ในละคร

จุติมา : มันจะมีแทรกอยู่เรื่อย ๆ นะคะ จริง ๆ แล้ววันทองมันต้องอ่านเสภาควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ เสภา ขุนช้าง ขุนแผน มันเป็นมุขปาฐะมาก่อนมีหลายยุคหลายสมัยมารวมกัน นักประวัติศาสตร์แต่ละคนสันนิษฐานไม่เหมือนกัน เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 แต่ ...คึกฤทธิ์จะบอกว่าน่าจะสมัยพระนเรศวร เพราะมีหลักฐานในเสภาบอกยุคสมัยนั้น เช่น ตอนลักพาตัวพระธิดาเจ้าเชียงทองมันจะสมัยพระมหาจักรพรรดินะ ทำไม่มันมาอยู่ในสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ได้ มันเหมือนการยำรัชสมัยแต่ละยุคเข้ามาอยู่ด้วยกัน ถ้านักประวัติศาสตร์อ่านเสภาจะต่อยอดความรู้ได้เยอะมาก

พิมพ์มาดา : ด้วยรายละเอียดที่มันเยอะขนาดนั้น พี่เลยเลือกมาใช้ อย่างแรกเราต้องเลือกก่อนจะเอาสมัยใด เราเลือกสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 เพราะน่าจะเข้าใจตรงกันง่ายที่สุด ต้นกรุงศรีอยุธยา รายละเอียดที่เกี่ยวข้องประวัติศาสตร์มันเยอะมาก มันเล่าชีวิตของชาวบ้านสมัยนั้น คนหนึ่งเป็นทหาร อีกคนอยู่กรมช้างนอก วันทอง ขุนแผนมีการเร่ร่อนไปอยู่กับพระพิจิตร การตามหาคนที่เป็นกบฎทำอย่างไรต้องมีอะไรบ้าง หรือตอนที่วันทอง ขุนแผนเข้าป่าในเสภามีแต่บรรยายความรัก แต่ไม่มีอุปสรรคใด ๆ เลย แต่มันเป็นช่วงที่สำคัญ เพราะมันเป็นช่วงที่ขุนแผน วันทอง รักกันมากได้อยู่กันสองคน มีความสุขที่สุดแล้วในชีวิต มันจะแค่เดินป่าอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีประเด็นความขัดแย้ง

วันทองมันเป็นเมียขุนช้างไปแล้วถูกลากจากเรือนไปอยู่ป่า อยู่ ๆ จะไปกับผัวเก่าเลยก็คงไม่ได้ ต้องทำประเด็นให้ได้เห็นว่าขุนแผนทำอย่างไรจึงชนะใจวันทองได้ ไปค้นคว้าดูมีเรื่องเครือเขาหลงเป็นความเชื่อคนเดินป่าที่เป็นแบบใครเขาไปหลง หลงเขาไปในเมืองลับแลทำนองนี้ เอาเกร็ดต่าง ๆ ที่อ่านเจอมาสร้างเป็นสถานการณ์ในเรื่อง

จุติมา : เพราะเรื่องนี้มันมีเกี่ยวข้องไสยศาสตร์ทำให้ไปไกลสุด ๆ ได้

พิมพ์มาดา : อย่างที่บอกพี่ไปเจอหนังสือเก่าเล่มหนึ่งที่หอสมุดแห่งชาติ ที่เขาวิเคราะห์ ประเพณีและวิชาอาคมทุกอย่างที่อยู่ใน ขุนช้าง ขุนแผน เขามีขั้นตอนหมดเลย คาถาของขุนแผนมีอะไรบ้างแต่ละอย่าง มีพิธีดำน้ำ ประเพณีการคลอดลูก การแต่งงานสมัยอยุธยา พิธีดำน้ำลุยไฟ สิ่งเหล่านี้นำมาประยุกต์ลงในละคร ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่หามาจริง ๆ 

วัยรุ่นต้องชมละครเรื่องนี้ เด็กจะได้อะไรจากชมละครเรื่องนี้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เพราะเด็กสมัยนี้มีแนวคิดที่แปลกใหม่มากขึ้น 

พิมพ์มาดา : สิ่งหนึ่งที่พี่คิดว่าได้คือความกล้าคิดกล้าทำ กล้าพูดจากวันทอง ตัววันทองเองกล้ามาต่อต้านคนรอบตัว สุดท้ายด้วยโครงเรื่องตัววันทองต้องไหลไปตามกระแส วันทองพยายามทำ แต่ทำอะไรไม่ได้เลย ชีวิตมันถูกคนมันจับให้พาไป วันทองนี้ตีความว่า เป็นเมียที่ดี เป็นแม่ที่ดี ผู้หญิงที่อยู่ในสังคมไทย คุณไม่อยากจะทำ แต่มันมีอีกหลายเหตุผลมากนะ การที่ทำหรือไปสู่จุด ๆ หนึ่งในชีวิตนะ แล้วถ้าเป็นคุณคุณจะทำอย่างไร?

เด็กผู้หญิงที่ยังโลกสวยแล้วคิดว่าฉันจะต้องทำสิ่งนี้แต่ใจเย็น ๆ โลกใบนี้มีอะไรอีกเยอะ โลกแห่งความจริงมีอะไรหลายอย่างที่เราไม่อยากยอมหรอก แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรและแก้ปัญหาอย่างไรรอเราอยู่ พี่เชื่อว่าตัวละครวันทองจะสอนเด็กผู้หญิงวัยรุ่นได้ แล้วถ้าเกิดคำถามเรื่องที่เราดูเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า แล้วเขาได้ลองย้อนกลับไปอ่านเสภาดู เขาจะได้เห็นว่าวรรณกรรมของไทยมีอะไรดี ๆ อีกเยอะ ความงามและประโยชน์ของเสภามีเยอะมีอะไรน่าสนใจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนดูจะได้รับจาก วันทอง 2021 

ชีวิตของเรามีหลายอย่างที่ต้องทำ แต่มีเหตุผลที่ทำให้เราทำอะไรไม่ได้อีกหลายอย่างเช่นกัน เปรียบกับชีวิตของวันทองที่ต้องเลือกระหว่างเอาชีวิตตัวเองให้รอดกับเลือกที่จะให้คนที่รักเราและเรารักรอด จะเลือกทางใดดีที่สุด ถึงแม้ว่าผู้คนจะตราหน้าเธอว่าเป็นหญิงสองใจ แต่ไม่เจ็บเท่ากับการทำให้คนที่รักเราและเรารัก ต้องตาย


หมายเหตุ : ผู้เขียนสัมภาษณ์ผ่านโปรแกรม Zoom เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 น.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2564