ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ |
เผยแพร่ |
ประเด็นหนึ่งที่น่าหยิบยกมานําเสนอในที่นี้คือประเด็นอันเกี่ยวพันกับสํานึกร่วมทางประวัติศาสตร์ ซึ่ง “ไทย” และ “กัมพูชา” อาจมีโลกทัศน์ในเรื่องนี้แตกต่างกัน และเรามักไม่ทราบกันมากนักว่ากัมพูชามีทัศนคติต่อประเทศไทยเช่นไรและเป็นไปในทิศทาง
บทความเรื่องนี้จึงเป็นความพยายามที่จะประมวลภาพรวมของทัศนคติที่ชาวกัมพูชามีต่อประเทศไทยโดยอาศัยข้อมูลจากตําราเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชาเป็นหลัก เพราะตําราเรียนประวัติศาสตร์จัดได้ว่าเป็นแหล่งที่มาและมีอิทธิพลต่อทัศนคติ ความคิด ของประชาชนกัมพูชามากที่สุด
อย่างไรก็ตาม บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพียงให้เรารู้จักและทําความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดและมุมมองส่วนหนึ่งของชาวเขมรที่มีต่อประเทศไทยเท่านั้น หาได้มีจุดประสงค์ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองประเทศไม่ เพราะการที่สังคมไทยจะทําความเข้าใจและรู้ว่ากัมพูชารู้สึกอย่างไรต่อประเทศไทย ย่อมน่าจะทําให้เราได้หันกลับมามองตัวเอง และจะได้ปฏิบัติตนในจุดที่เหมาะสมต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาต่อไป
ความเป็นชาตินิยมในแบบเรียนประวัติศาสตร์ “กัมพูชา”
ความเป็นชาตินิยมที่แสดงออกในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชา มีให้เห็นอย่างเด่นชัดทั้งในส่วนที่เป็นคํานําของหนังสือ หรือในจุดประสงค์ของการเขียนแบบเรียน อันแสดงให้เห็นว่าความสําคัญของการเรียนประวัติศาสตร์ที่กัมพูชาใช้กัน ยังคงเน้นที่ความเป็นชาตินิยมมากกว่าที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางในการศึกษาประวัติศาสตร์
ดังจะเห็นได้ว่าคํานําส่วนใหญ่ของแบบเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชาเน้นเรื่องความเป็นชาตินิยมอย่างมากจนสามารถเห็นได้ชัด เช่น ในคํานําหนังสือ “ประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชา” ของชา อวม ไผ เผง และโสม อิม ซึ่ง เป็นหนังสือแบบเรียนสําหรับชั้นประถมศึกษา มีความตอน หนึ่งว่า
“…การศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติไม่ใช่มีประโยชน์แต่สําหรับการสอบเท่านั้น การศึกษาจะทําให้นางรู้ถึงเหตุการณ์ ใหญ่ ๆ ในอดีตกาล รู้จักมหาบุรุษของชาติ ทราบชัดถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ… หรือนําให้นางพบกับความทุกข์ระทมใจ ที่เกิดขึ้นจากการขบถและต่างชาติ… นําให้นางตั้งความคิดให้มั่น คงเต็มที่ เพื่อยกย่องและนําให้นางคิดดีงามประเภทหนึ่งซึ่ง เรียกว่า ‘ความรักชาติ’…”
หรือแม้แต่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาสําหรับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ก็ยังให้ความสําคัญกับความรักชาติ เช่น ข้อความ “บุพกถา” ของตรึง เงีย (ตฺรึง งา) ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 1” ความว่า
“…อีกอย่างหนึ่ง ประวัติศาสตร์ก็เป็นนโยบายสําหรับอบรมให้ประชาชนพลรัฐมีใจรักแผ่นดิน ภูมิเมืองซึ่งตนกําลังอาศัยอยู่และอีกหลาย ๆ อย่างมีวัฒนธรรมเป็นต้น ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้เป็นมรดกสืบมาถึงเราในชั้นนี้ ถ้าเมื่อใดเข้าใจคุณค่าและรักอะไรซึ่งเป็นของชาติแล้ว เขาก็จะพยายามป้องกันของนั้นโดยฝ่าฟันอุปสรรคทุกแบบอย่าง เพื่อต่อสู้กับศัตรูที่ละเมิดก้าวก่ายและเพื่อพยายามก่อสร้างชาติให้ได้เจริญรุ่งเรืองกลับคืนขึ้น เพื่อทําให้สําเร็จซึ่งความประสงค์ข้างบนนี้แล้ว เราจึงได้พิมพ์หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 1’ นี้ โดยเชื่อว่ากิจการนี้จะได้เป็นการร่วมส่วนแบ่งอย่างหนึ่งในการรับใช้ชาติด้วย…”
ดังนั้นเมื่อมีการนําแบบเรียนที่เขียนขึ้นในแนวคิดทางชาตินิยมมาใช้ในการเรียนการสอน ประชาชนชาวกัมพูชาจึงถูกปลูกฝังแนวความคิดทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมและนําไปสู่การมองและเข้าใจประวัติศาสตร์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
“ไทย” ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ “กัมพูชา”
ประเด็นที่เราควรพิจารณาคือ กัมพูชา มองประเทศไทยและคนไทยอย่างไร แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาโดยมากเป็นแบบเรียนที่เขียนกันมากว่า 30 ปี ซ้ำยังมีจําหน่ายแพร่หลายอยู่ในท้องตลาด และโดยมากก็เป็นการคัดหรือเรียบเรียงขึ้นจากเล่มที่เคยเขียนมาแล้ว แต่ไม่มีการแก้ไขเนื้อหามากนัก
แบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ใช้สอนในชั้นประถมศึกษาฉบับหนึ่ง กล่าวถึงกําเนิดของชาติไทยในแนวทฤษฎีที่เชื่อว่า ชาวไทยเป็นผู้ที่อพยพลงมาจากน่านเจ้า จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายลงมาอยู่ในดินแดนประเทศเขมรภาคเหนือแล้วจึงตั้งราชธานีอยู่ที่สุโขทัย ดังความที่ปรากฏในแบบเรียนประวัติศาสตร์ชื่อ “ประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชา” เรียบเรียงโดย เจีย อวม (ชา อวม) ไผ เผง และโสม อิม มีความตอนหนึ่งว่า
“…เสียม (สยาม) หรือไทย เดิมอยู่ที่ยูนนาน (ในประเทศจีน) คริสต์ศตวรรษที่ 8 คนพวกนี้ได้ก่อตั้งพระราชอาณาจักรแห่งหนึ่งชื่อว่าน่านเจ้า ต่อมาสยามได้มาอยู่บนดินแดนเขมรภาคเหนือแล้วตั้งราชธานีอยู่ที่สุโขทัย…”
หนังสือแบบเรียน “ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 1” ของตรึง เงีย (ตฺรึง งา) สําหรับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ซึ่งพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1973 กล่าวถึงไทยว่า ไทยรุกรานบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุที่ผู้นําไทยสองคนวิวาทกับเจ้าเมืองเขตเขมร หลังจากเมืองสวรรคโลกถูกตีได้ เจ้าเมืองเขตเขมรต้องหลบหนีออกจากสุโขทัย ประมาณ ค.ศ. 1220 ผู้นําไทยคนหนึ่งได้ขึ้นเสวยราชย์โดยมีนามว่า อินทรบดิน ทราทิตย์
หนังสือ “ประวัติศาสตร์สังเขป เกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์เขมร-เสียม (สยาม)” ของแบน นุต ซึ่งเป็นพฤทธิสมาชิกกรม อุดมปรึกษาในพระราชา ซึ่งพิมพ์ขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 2001 กล่าวถึงการเข้ามาของชนชาติไทยในทํานองเดียวกัน แต่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เมื่อไทยอพยพลงมาจากยูนนานแล้วได้เข้ารุกรานและขับไล่เขมรจากดินแดนสุโขทัย ซึ่งเป็นดินแดนของเขมร ดังความที่แปลมา
“…ชนชาตินี้ (ไทย) ได้ประมวลรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ในอํานาจเสด็จตราญ่ (เจ้าผู้ครองแคว้นของกัมพูชาสมัยเมืองพระนคร) แต่ละพระองค์ แล้วตั้งลําเนาในตําบลทิศอุดร ไกลจากประเทศเขมร ในบริเวณใกล้ยูน นานกับพม่า และในยูนนานนี้เองด้วย
ในศตวรรษที่ 12 จึงรวมกันเข้าเป็นครั้งแรกด้วยรูปภาพของชนชาติไทยบนรูปจําหลักหินในปราสาทนครวัด พร้อมทั้งมีข้อความบางตอนให้ชื่อว่า “สยาม” และชี้ชัดว่าเป็นพวกคนป่า ส่วนความจริงนั้น คือตั้งแต่ ต้นศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา พวกไทยนี้ได้เคลื่อนย้ายจากยูนนานเขยิบเข้ามาทางทิศใต้ แต่ว่าในชั้นนั้นพวกนี้ลอบลักเข้ามาทีละน้อย ๆ ในกําหนดเวลานานโดยลงมาตามลําน้ำและแม่น้ำ การที่ลอบลักเข้ามาแบบนี้แล้วซึ่งเป็นต้นกําเนิดของการรุกรานบุกย่ำอย่างหนักซึ่งจะมีต่อมาอีก
การรุกรานแบบนี้เกิดขึ้นอย่างหนักในต้นศตวรรษที่ 13 โดยมีการรุกรานของพวกมองโกลถึงประเทศจีน และนโยบายรวบรวมประมวลแผ่นดินของพระเจ้ากุบไลข่าน ในระหว่างคริสต์ศักราช 1220 จึงมีการรวมเอาแผ่นดินจริง ๆ…
…ในเวลาเดียวกันนั้นพวกไทยซึ่งปลีกออกจากประเทศเดิม และมาตั้งลําเนาที่สุโขทัยนั้นก็เกิดขึ้น มีกษัตริย์ไทยสองพระองค์ได้ตีหลอกแย่งเอาเขตสวรรคโลก โดยได้ขับไล่เจ้าเมืองเขตเขมรออก แล้วตั้งเป็นราชาณาจักรขึ้น…”
ในปัจจุบันทฤษฎีที่ว่าไทยอพยพลงมาจาก “น่านเจ้า” เป็นทฤษฎีที่ไม่เป็นที่ยอมรับกันแล้วในบรรดานักวิชาการไทย แต่เขมรยังคงปลูกฝังความคิดที่เป็นชาตินิยมเช่นนี้อยู่
เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกต่อ “กัมพูชา”
นอกจากแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาจะกล่าวถึงที่มาของ “คนไทย” ตามแนวความคิดดังกล่าวแล้ว หนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชายังเน้นเนื้อหาไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาโดยเฉพาะในด้านการสงครามระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นหลัก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ แบบเรียน “ประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชา” ที่มักกล่าวถึงสงครามกับไทย และมักลงท้ายด้วยข้อความที่ว่าไทยแย่งชิงดินแดนเขมร เช่น
“…ล่วงมาถึงศตวรรษที่ 15 เขตตราด ปัจฉิม ประจิม (ปราจีนบุรี-ผู้แปล) และจันทบูร ซึ่งตั้งอยู่เป็นภูมิภาคพระราชาณาจักรเขมรด้วย เพียงแต่กองทัพไทยมักจะเข้ารุกรานประเทศเขมรเป็นประจํา แล้วได้หลอกตีเอาเมืองพระนครไปได้ถึงสองครั้ง เวลานั้นพระบาทพญายาตทรงละทิ้งพระราชธานีพระนครซึ่งศัตรูได้รุกรานได้โดยง่ายนั้นแล้ว ก็ทรงได้มาตั้งพระราชธานียังกรุงพนมเปญ…”
และเมื่อไทยตีเขมรได้ก็จะกวาดต้อนผู้คนชาวเขมรกลับไปยังประเทศไทย เช่น “สยามเอาเมืองพระนครได้ สยามประมวลเอาวัตถุมีค่า และจับชาวเขมรไปเป็นเชลยจํานวนมาก” บางครั้งก็จะกล่าวถึงในลักษณะว่าไทยได้เข้าไปปล้นประเทศกัมพูชา เช่น “สยามจึงปล้นเมืองพระนครได้อีก”
หรือกล่าวถึงว่าไทยจับตัวกษัตริย์กัมพูชาไปคุมขังไว้ที่ไทย เช่น “ทัพสยามได้รุกเข้ามาจนจับพระบาทศรีราชาได้ในปี ค.ศ. 1474 พระองค์จึงสวรรคตในประเทศสยาม ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนาม เจ้าพญาอุง (พระองค์โอง) ซึ่งสยามขังไว้ที่ประเทศสยาม”
แน่นอนว่าข้อความที่เป็นภาพลบของประเทศไทยที่เขียนไว้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของเขมร ย่อมนํามาสู่ความรู้สึกต่อประเทศไทยในแง่มุมทางลบด้วยอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้
นอกจากในแบบเรียนประวัติศาสตร์โดยตรงแล้ว แม้แต่แบบเรียนวรรณคดีเขมรก็มีการกล่าวถึงผลกระทบและความเสียหายของกัมพูชาที่เกิดจากการรุกรานของไทย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ แบบเรียนประวัติวรรณคดีเขมรสมัยนครพนมจนถึงสมัยอุดงค์ ของเลียง หับอาน (ลาง หาบ่อาน) ที่กล่าวถึงเหตุการณ์สําคัญของประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับไทย ไว้ว่า
“…ประวัติศาสตร์ในช่วง 257 ปีนี้ ประเทศกัมพูชาได้รับเคราะห์ร้ายอย่างมากจากไทยซึ่งยกทัพมารุกรานหลายครั้งหลายคราวมาก ตัวอย่างเช่น
1. ในรัชกาลพระบาทศรีลําพงราชา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 กษัตริย์ไทยได้ยกทัพมาตีเมืองพระนคร ปรารถนาจะเอาเมืองเขมรให้ได้ สงครามครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก
2. ในรัชกาลพระอุปราชศรีสุริโยทัย ไทยยกทัพมาตีเมืองพระนครได้ในปี ค.ศ. 1353 ไทยทําลายประตูเมืองพระนครจากทิศตะวันออกแล้วบุกเข้าปล้นราชสมบัติ จับเขมรเป็นเชลยจํานวนกว่าหนึ่งหมื่นคน นําไปประเทศไทย…
…12. ในเวลาที่พระบาทสัตถาที่ 1 ครองราชย์ได้ประมาณ 4-5 เดือน พม่าในหงสาวดียกทัพมาตีประเทศไทย ไทยขอกําลังเขมรไปช่วย โดยทรงเห็นถึงพระราชไมตรีใหม่ ๆ นั้น พระบาทสัตถาทรงเห็นพร้อมด้วย แล้วก็โปรดให้พระอนุชาพระศรีสุริโยพรรณเป็นแม่ทัพไปช่วยไทย เมื่อช่วยชนะแล้วกษัตริย์ไทยไม่มีความกตัญญเลย เปลี่ยนท่าที่เป็นดูถูกพระมหาอุปราชเขมรเหมือนเป็นกษัตริย์ที่อ่อนน้อม…”
แม้แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาจะมีการกล่าวอ้างถึงเอกสารไทยบ้างในบางครั้งแต่ก็มักเป็นการกล่าวอ้างที่ผิดข้อเท็จจริง เช่น เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งพระนเรศวรตีเมืองละแวก ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 2” ของ ตรึง เงีย (ตฺรึง งา) มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ทุกวันนี้ที่วัดใหญ่ชัยมงคลที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีรูปภาพ 2 แผ่นใหญ่ควรให้สะเทือนใจ รูปที่ 1 เป็นรูปกษัตริย์เขมรประทับอยู่บนเก้าอี้หนึ่งตัว มีเชือกผูกพระบาทและพระหัตถ์เอาไว้ รูปที่ 2 แสดงถึงบุรุษคนหนึ่งนุ่งห่มขาวกําลังคุกเข่าเอาโลหิตกษัตริย์เขมรไปล้างพระบาทให้กษัตริย์สยาม
แต่เรื่องนี้ผิดหรือเป็นเรื่องที่บัณฑิตแต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญพระเกียรติพระเจ้ากรุงสยามสมัยนั้น เนื่องจาก พระราชพงศาวดารเขมรทุกฉบับไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้เลย!…”
จะเห็นได้ว่าภาพที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ใช่ภาพที่วัดใหญ่ชัยมงคลแต่ประการใด นอกจากนี้ ภาพพระนเรศวรปฐมกรรมพระยาละแวกยังมีเพียงภาพเดียว ไม่ใช่ 2 ภาพตามข้อมูลในหนังสือเล่มนี้
สงครามพระนเรศวรตีเมืองละแวก
สงครามครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตีเมืองละแวกในปี พ.ศ. 2136 มีผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวกัมพูชามาก เพราะแม้ชาวกัมพูชาจะรู้สึกร่วมต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไทยยกทัพไปทําสงครามกับกัมพูชาหลายครั้ง และสงครามครั้งร้ายแรงที่สุดคือครั้งที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ยกทัพไปตีกรุงศรียโสธรปุระในปี พ.ศ. 1976 ผลของสงครามครั้งนั้นทําให้กัมพูชาตัดสินใจย้ายเมืองหลวงลงไปทางใต้
แต่สงครามที่รุนแรงและมีผลต่อความรู้สึกของชาวกัมพูชามากที่สุดคือสงครามคราวเสียเมืองละแวก (ลงแวก) เพราะในหลักฐานกัมพูชาปรากฏทั้งศิลาจารึก พงศาวดาร รวมทั้งแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา ได้เสนอภาพความเสียหายของกัมพูชาในครั้งนั้นว่า
“…ผลวิบากของการเสียกรุงลงแวก
การตีกรุงลงแวกแตกโดยชนชาติเสียม (สยาม) มีผลวิบากเลวร้ายอย่างรุนแรงสําหรับประชาชาติเขมร ต่อจากนี้ไปประเทศเขมรต้องพบกับความวิบัติอันมีมากขึ้นในสมัยลงแวก โดยเฉพาะในรัชกาลของพระบาทจันทราชา และ บรมราชาที่ 4 เขมรสร้างความเข้มแข็งของตนคืนได้ แล้วได้ยกทัพไปตีรุกราชธานีศรีอยุธยาและตีปลดปล่อยเอาอาณาเขตข้างตะวันตกคืนมาได้เป็นจํานวนมาก เพียงแต่หลังจากบันทาย ลงแวกต้องแตกหักไป แผ่นดินส่วนใหญ่ของพนมดงรักและที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกต้องสูญเสียไปอย่างถาวร
การแตกหักบันทายลงแวกเป็นเหตุยังประเทศเขมรให้สิ้นฤทธานุภาพ ตกเป็นรัฐเล็กอยู่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วซึ่งเขมรต้องสูญเสียตํารับตําราไปหมด นักปราชญ์บัณฑิตกวีซึ่งถูกศัตรูกวาดต้อนเอาไปประเทศมัน…”
นอกจากความเสียหายที่ได้รับในสงครามคราวเสียเมืองละแวกแล้ว กัมพูชายังไม่พอใจที่เอกสารไทยบันทึกว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทําพิธีปฐมกรรมนักพระสัตถา เพราะตามหลักฐานของกัมพูชาระบุว่านักพระสัตถาหนีไปได้ และสวรรคตในประเทศลาว ดังความที่ว่า
“เฉพาะการสงครามระหว่างสยาม-เขมรในปี ค.ศ. 1593 นี้ เอกสารสยามได้กล่าวว่า ทั้งนี้เนื่องมาจากเขมรไม่รักษาคําสัตย์ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงยกทัพมาทําสงคราม สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นกัมพูชาอ่อนกําลัง จึงมีพระดํารัสให้พระสัตถามาเฝ้า แต่พระสัตถากลับจับทูตไทยซึ่งอัญเชิญพระบรมราชโองการคุมไว้แล้วก็เตรียมการจัดทัพต่อสู้อย่างหนัก
อีกประการหนึ่ง ราชพงศาวดารสยามได้อ้างว่าทัพสยามได้จับได้พระมหากษัตริย์เขมรแล้วพระเจ้ากรุงสยามทรงบัญชาให้ประหารชีวิตพระองค์เพื่อเอาพระโลหิตไปล้างพระบาทอีกด้วย”
ความรู้สึกต่อสงครามคราวเสียเมืองละแวกของประชาชนชาวกัมพูชายังแสดงออกในรูปของตํานาน ซึ่งก็คือตํานานพระโค-พระแก้วอีกด้วย
ตํานานพระโค-พระแก้ว คืออะไร?
ตํานานพระโค-พระแก้วเป็นตํานานที่เกี่ยวข้องกับการเสียเมืองละแวก ซึ่งมีเรื่องย่อดังนี้ ในสมัยเมืองละแวกมีชาวนาคู่หนึ่งอาศัยอยู่ ต่อมาภรรยาได้ตั้งครรภ์และปีนต้นมะม่วงตกลงมาเสียชีวิต ลูกที่คลอดออกมาคือพระโคผู้พี่ซึ่งเป็นวัวและพระแก้วผู้น้องเป็นคน
พระโคเลี้ยงดูพระแก้วด้วยการเคี้ยวหญ้าแล้วเสกออกมาเป็นอาหารและสิ่งของต่าง ๆ ให้พระแก้ว เมื่อชาวบ้านทราบก็โลภต้องการจับพระโคฆ่าเสียเพื่อจะได้เอาทรัพย์สินที่อยู่ในท้องพระโค พระโคและพระแก้วจึงหนีไป ต่อมาพระแก้วได้เป็นพระราชบุตรเขยของพระบาทรามาเชิงไพรกษัตริย์ ผู้ครองเมืองละแวก กิตติศัพท์เรื่องพระโค-พระแก้วล่วงรู้ไปถึงกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงปรารถนาได้พระโค-พระแก้วมาไว้ในพระนคร พระองค์จึงส่งทูตมาเพื่อท้าประลองชิงบ้านเมือง (เพื่อให้ได้พระโค-พระแก้ว)
การประลองมีสามครั้งโดยพระโคเป็นตัวแทนของเมืองละแวกไปร่วมประลอง การประลองครั้งแรกเป็นการแข่งชนไก่ ครั้งที่ 2 เป็นการชนช้าง ซึ่งพระโคสามารถเอาชนะได้ทั้งสิ้น การประลองครั้งที่ 3 เป็นการชนวัว พระโครู้ว่าตนไม่สามารถเอาชนะโคยนต์ของกรุงศรีอยุธยาได้ จึงวางอุบายว่าหากตน หมอบสามครั้งให้พระแก้วกับนางเภา (ภรรยาพระแก้ว) จับหางของตนไว้เพื่อจะได้เหาะหนีให้ทันท่วงที
ในที่สุดพระโคก็เหาะหนี แต่ทหารไทยยกทัพติดตามและนางเภาได้ตกลงมาเสียชีวิต ส่วนพระโคและพระแก้วถูกจับได้ ทําให้เสียเมืองละแวกแก่ไทย พระโคและพระแก้วถูกจับตัวไปยังกรุงศรีอยุธยา อันเป็นเหตุให้สรรพวิทยาทั้งปวงที่อยู่ในท้องพระโคถูกนํามาไว้ยังเมืองไทย และเขมรก็เสื่อมลงจนถึงปัจจุบัน
ตํานานเรื่องพระโค-พระแก้ว แม้จะเป็นตํานานที่รู้จักกันดีในหมู่ประชาชนชาวเขมร แต่ก็มิได้ปรากฏว่ามีการนํามาแต่งเป็นวรรณกรรมร้อยกรอง หากอยู่ในรูปของมุขปาฐะจนถึงปี ค.ศ. 1952 สํานักพิมพ์คีม คี จึงนํามาพิมพ์เผยแพร่
ในปี ค.ศ. 2001 สํานักพิมพ์ “ไรยํ” ได้นําตํานานเรื่องนี้มาเขียนภาพประกอบแล้วพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือภาพประกอบตํานานเรื่อง “พระโค-พระแก้ว” ซึ่งในตอนท้ายเรื่องได้กล่าวถึงความสําคัญของ “พระโค” ไว้ว่า
“…พวกสยามเห็นว่าเมื่อใดได้พระโคอยู่ ณ ที่ใด ที่นั้นจะได้สุขเกษมศานต์ ดังนี้แล้วพวกสยามจึงได้พยายามดูแลรักษาพระโค-พระแก้วไว้อย่างแข็งแรง แล้วนับแต่เวลานั้นมา พระโค-พระแก้วจึงมิได้กลับคืนมายังเมืองเขมรจนถึงทุกวันนี้…”
นอกจากนี้ในแบบเรียน “ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 2” ของ ตรึง เงีย (ตฺรึง งา) ยังได้แสดงออกถึงความรู้สึกเสียดายพระโค-พระแก้วไว้ด้วย ดังความว่า
“…ในปี ค.ศ. 1553 สยามจับได้พระอุปโยราชศรีสุริโยพรรณกับพระราชบุตรทั้งสองคือ พระชัยเจษฎา (พระชนม์ได้ 15 พรรษา) และพระอุทัย (พระชนม์ได้ 5 พรรษา) พร้อมทั้งกระบวนขนาดนักปราชญ์ราชบัณฑิตกวี รูปประติมากรรมพระโค-พระแก้ว และเชลยเขมรเป็นจํานวนมากไปประเทศสยาม
หลังจากสมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ในประเทศเขมรได้ 3 เดือน ก็เสด็จกลับคืนไปกรุงศรีอยุธยา โดยตั้งให้ขุนนางผู้ใหญ่สยามตั้งกํากับอยู่ที่กรุงอุดงค์ ควรอธิบายให้ทราบว่าที่ด้านหน้าพระวิหารพระแก้วใน กรุงเทพมหานครประเทศไทย ปัจจุบันนี้มีรูปประติมากรรมพระโคซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับวัวใหญ่ในท้องเป็นช่องว่าง ถ้าเช่นนั้นนี่คือรูปพระโคพระแก้วซึ่งสยามนําเอาไปได้ในคราวที่ตีเมืองละแวกแตกหรือไรกัน?…”
บทบาทไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีต่อกัมพูชา
นอกจากแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาจะแสดงภาพความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในแง่มุมประวัติศาสตร์สงครามสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็แสดงออกด้วยสํานวนภาษาและทัศนคติที่คล้ายคลึงกันก็คือภาพ “ไทย” พยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของกัมพูชา และพยายามยึดครองดินแดนของกัมพูชาอีกด้วย ในแบบเรียนประวัติศาสตร์เหล่านี้จึงมักปรากฏคําว่า “อิทธิพลอย่างแข็งกล้าของเสียม (สยาม)” “ใต้อํานาจสยาม” “สยามเอาดินแดนเขมร” “สยามตีเขมร” หรือ “สยามยึดครองดินแดนเขมร” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์กัมพูชาในช่วงนี้ก็แสดงภาพความไม่พอใจของชาวกัมพูชาที่มีต่อประเทศเวียดนามที่รุกรานและแทรกแซงการเมืองภายในของกัมพูชาเช่นเดียวกัน
เหตุการณ์ที่พระองค์เอง (สมเด็จพระนารายณ์รามา) เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฏในแบบเรียนประวัติศาสตร์สําหรับชั้นประถมศึกษาของกัมพูชาว่า
“…สยามเอาดินแดนพระตะบองและเสียมราบ (เสียมเรียบ) สยามขังพระองค์เองจนถึงปี ค.ศ. 1794 จึง พระราชทานให้พระองค์เสด็จมาปกครองกัมพูชา ส่วนยมราชแบนสยามตั้งเป็นผู้ว่าการเขตของเขตพระตะบองและเสียมราบ (เสียมเรียบ) ซึ่งสยามเอาเป็นของมัน…”
แบบเรียนประวัติศาสตร์เขมรสําหรับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ของตรึง เงีย (ตฺรึง งา) กล่าวถึงการที่ไทยได้เมืองพระตะบอง เสียมราบ (เสียมเรียบ) ว่า
“…ส่วนเจ้าเมืองเขตพระนคร (เสียมราบ) ต้องตั้งอยู่ใต้อํานาจของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ดังนี้ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1795 มา เขตพระตะบองและเขตพระนครถูกสยามได้ไปโดยสันติวิธี เฉพาะการสูญเสียดินแดนนี้นักประวัติศาสตร์บางคนได้โจทย์ถามว่ามีความยินยอมพร้อมเพรียงสงบอะไรอย่างหนึ่งระหว่างพระมหากษัตริย์ทั้งสองด้วยหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นนี่เป็นรางวัลเฉพาะกษัตริย์สยามซึ่งได้รับรู้กษัตริย์เขมร แล้วยกให้ขึ้นเสวยราชย์หรืออย่างไร เขตนี้จึงตกอยู่ใต้อํานาจไทยมาจนถึง รัชกาลที่ 5… ราชพงศาวดารเขมรฉบับหนึ่งได้สนับสนุนเอกสารมีนัยคล้ายคลึงกับเอกสารสยามด้วย… แต่ยอมถวายสําหรับแต่แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าพระองค์เดียว”
แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาบางฉบับก็กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะขุนนางเขมรเป็นขบถมาเข้ากับฝ่ายไทย เช่น
“ในรัชกาลของพระองค์เอง (1794-1796) แบน (ออกญายมราช แบน-ผู้แปล) ได้กํากับเขตพระตะบอง และมหานคร (คือเขตเสียมราบ) มนตรีแบนกบฏได้กราบทูลเสด็จสยามนามจุฬาโลก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช-ผู้แปล) ว่า ข้าพระกรุณาปรารถนาอยากให้เขตพระตะบอง และเสียมราบติดไปกับแผ่นดินสยาม ถ้าพระองค์ไม่ขัดพระราชหฤทัยขอทรงส่งพระราชสาสน์พร้อมทั้งลายพระหัตถ์ด้วยถวายเสด็จองค์เอง เพราะโดยอานุภาพของพระองค์ เสด็จกรุงกัมพูชาจะเกรงกลัว และพร้อมทั้งถวายเขตทั้งสองนี้มาแก่สยามอย่างแน่นอน เขตทั้งสองนี้ตกอยู่ในกํามือสยามในปี 1795
ในปีเดียวกันนั้นเองพระองค์เองได้เสด็จไปเมืองสยาม พระองค์เองก็มีบันทูลว่า ขอให้พระเจ้าสยามเอาเขตทั้งสองนี้ แต่ในเวลาที่พระองค์ เสด็จสยามยังมีพระชนม์อยู่ เมื่อสวรรคตไปต้องคืนให้เขมร เพียงแต่ล่วงมาหนึ่งปีเสด็จสยามไม่ทันสวรรคต พระองค์เองก็สุคตไปก่อนในปี 1796 ดังนั้นแล้ว พระตะบอง และมหานครก็ถูกไทยหลอกลวงเอาตลอดไป…”
บทบาทของไทยในรัชกาลสมเด็จพระอุทัยราชา (พระองค์จันท์) ปรากฏการกล่าวถึงในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาสําหรับชั้นประถมศึกษาว่า
“…สยามทําสิ่งต่าง ๆ ตามอําเภอใจ ในปี ค.ศ. 1810 พระเจ้ากรุงสยามสวรรคต พระองค์จันท์ทรงจัดให้พระอนุชาสองพระองค์คือ พระองค์สงวนและพระองค์อิ่มไปถวายบังคมพระบรมศพ และพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชย์ใหม่ เวลานั้นพระเจ้าสยามได้ตั้งพระองค์สงวนเป็นพระชัยเชษฐามหาอุปโยราช และพระองค์อิ่มเป็นพระศรีชัยเชษฐามหาอุปราช โดยไม่ได้ปรึกษากับพระเจ้าแผ่นดินเขมรเลย แล้วพระเจ้า สยามบัญชาให้เกณฑ์ราษฎรเขมรเอาไปรักษากรุงบางกอก…”
หรือแม้แต่ในรัชกาลสมเด็จพระหริรักษรามา (พระองค์ด้วง) แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาก็กล่าวถึงเหตุการณ์ระหว่างไทยและกัมพูชาว่า
“…สยามได้ขอพระองค์ด้วงให้ลงนามสนธิสัญญาตัดเขตมลูไพร และทนเลเพา ซึ่งสยามยึดครองได้แต่ครั้งก่อน พระบาทองค์ด้วงทรงมีพระดํารัสว่า ‘ข้าไม่ให้อะไรสยามไปทั้งหมด เพียงแต่สยามแข็งแกร่งเชี่ยวชาญ สยามเก็บไว้ก่อนเถอะเขตใดซึ่งสยามยึดครองได้ตั้งแต่ก่อน ๆ นั้น’ ในเมืองใดที่สยามยึดครองได้ สยามได้ใช้อุบายเย็น คือบั่นทอนภาษีอากรจากประชาราษฎร์ แล้วนํากําไรเล็กน้อยไปประเทศของตน…”
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าภาพของไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในความรู้สึกของแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาค่อนข้างเสนอภาพในด้านลบ และมักเสนอแต่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการรุกรานและการเข้าไปยึดครองดินแดนกัมพูชาบางส่วนของไทย รวมทั้งการเกณฑ์เอาชาวเขมรของไทยเพื่อนําไปเป็นกําลังในการสร้างบ้านเมืองไทยเท่านั้น อย่างไรก็ดีในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาเมื่อกล่าวถึงประเทศ เวียดนามก็ปรากฏภาพเวียดนามผู้รุกรานกัมพูชาที่คล้ายคลึงกัน
ความรู้สึกที่กัมพูชามีต่อไทยในศตวรรษที่ 19-20
แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาเสนอภาพมุมมองและทัศนคติที่มีต่อไทยในศตวรรษที่ 19-20 ไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาพในศตวรรษที่ 18 อาจเนื่องมาจากในช่วงนั้นเป็นเวลาที่ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามายึดครองอินโดจีน
ภาพไทยที่ปรากฏในศตวรรษนี้จึงมีภาพในแง่บวกบ้าง เช่น กล่าวถึงความช่วยเหลือจากสยามในการ ปราบขบถพระองค์วัตถา ในปี ค.ศ. 1861 ตรงข้ามกับภาพฝรั่งเศสที่ถูกมองในแง่มุมที่เป็นผู้ปกครอง เช่น กล่าวว่าสนธิสัญญา ค.ศ. 1884 เหมือนเป็นแอกทับลงบนกัมพูชา เป็นต้น อย่างไรก็ดีแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาก็แสดงออกถึงความยินดีเมื่อฝรั่งเศสช่วยให้กัมพูชาได้ดินแดนที่เสียไปคืนมา เช่น
“…แผ่นดินเขมรได้กลับคืนมาสู่เขมร ด้วยความช่วยเหลือของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1904 สยามคืนเขตสตึงเตรง มลูไพร และทนเลเพา และในปี ค.ศ. 1906 สยามคืนเขตพระตะบอง และเสียมราบ เสียม เรียบ) อีก สยามได้เมืองสุรินทร์ บุรีรัมย์ และขุขันธ์…”
เช่นเดียวกับแบบเรียนประวัติศาสตร์เขมรสําหรับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ของตรึง เงีย (ตฺรึง งา) ที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า “…ส่วนแผ่นดินซึ่งต้องสูญเสียไปในมือสยามนั้น เขาทราบว่าในปี 1904 ประมาณเดือนหลังซึ่งพระบาทศรีสวัสดิ์ได้ขึ้นเสวยราชย์ ประเทศสยามได้คืนไปให้ฝรั่งเศสและฝรั่งเศสได้ส่งมอบคืนให้พระองค์ด้วย เขตตราด เกาะกง มลูไพร และทนเลเพา ในเวลาเดียวกันนั้น เขตสตึงเตรง และเมืองเสียมบาง ก็ถูกถอดถอนจากประเทศลาวและมอบคืนมาให้พระราชาเขมรด้วย
ตามสนธิสัญญาวันที่ 23 เดือนมีนาคม 1907 รัฐบาลสยามได้มอบให้ฝรั่งเศสซึ่งเขตพระตะบอง เสียมราบ และศรีโสภณ เพียงแต่ฝรั่งเศสต้องให้คืนไปซึ่งแผ่นดินด่านซ้ายและตราด เขตทั้งสามข้างบน ฝรั่งเศสได้มอบคืนมาให้เขมร ควรทราบว่า การกลับคืนเข้ามาในมาตุภูมิซึ่งแผ่นดินภาคอย่างสําคัญซึ่งต้องสูญเสียไปตั้งแต่สมัยพระยาอภัยภูเบศร์ แบน (1795) เป็นโชคชัยประการหนึ่งในนโยบายฝรั่งเศสในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีจารึกไว้เป็นอนุสาวรีย์ตรงทิศใต้ของวัดพนมโฎนเพ็ญทุกวันนี้…”
หนังสือ “ประวัติศาสตร์สังเขปเกี่ยวกับความสัมพันธ์เขมร-สยาม” ของแบน นุต กล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับความต้องการดินแดนพระตะบองและเสียมราบคืนจากไทยว่า
“…ในรัชกาลพระองค์ทั้งมวล พระบาทสมเด็จพระนโรดมที่ 1 พระองค์ไม่หยุดยืนแสวงทวงเอาเขตทั้งสองนั้นคืนมาเลย เพราะเขตทั้งสองนี้ล้วนแต่มีชนชาติเขมรอยู่ ส่วนอีกเขตหนึ่งนั้นเล่า มีปราสาทพระนคร (นครวัด) ซึ่งสยามไม่มีสิทธิ์อะไรเหนือถึงแม้แต่เล็กน้อยเลย จนเมื่อมาถึงปี 1904 จึงได้พระตะบองและพระนครคืนกลับมาเป็นดินแดนของเขมร…”
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นานเมื่อไทยมีนโยบายความคิดแบบชาตินิยม และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ. 1939 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยได้เข้ายึดครองดินแดนเมืองพระตะบองและบางส่วนของเมืองเสียมราบทําให้กัมพูชาไม่พอใจมาก แบบเรียนประวัติศาสตร์เขมรของตรึง เงีย (ตฺรึง งา) ได้อธิบายว่าการรุกรานครั้งนี้ของไทยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้ พระบาทศรีสวัสดิ์มณีวงศ์ทิวงคตด้วยความเจ็บพระทัย
“…ในปี 1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ปะทุขึ้น ประเทศสยามซึ่งมีวิวาทกับประเทศฝรั่งเศส และได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น และในที่สุดได้บีบสะกดเหนือประเทศฝรั่งเศสเดิมไปซึ่งเขตพระตะบองและแผ่นดินที่ตั้งอยู่ตรงเทือกเขาพนมดงรักและแนวเส้นรุ้งที่ 15 โดยเจ็บพระทัยกับความโลภจากสํานักสยามนี้ พระสุขภาพต้องทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว แล้วพระบาทศรีสวัสดิ์มณีวงศ์ทรงเสวยทิวงคตในราตรีที่ 22 เดือนเมษายน 1941 ที่ โบกโก (บูกโค) ในพระชนมายุ 65 พรรษา…”
แม้แต่ในคําอุทิศของวรรณกรรมเขมรที่แต่งขึ้นในสมัยนั้นคือ นวนิยายเรื่อง “ผกาสรโปน” นิพนธ์โดย นู หาจ ก็มีข้อความกล่าวถึงความรู้สึกเจ็บปวดของชาวกัมพูชาที่มีต่อการรุกรานของกองทัพไทย ดังความตอนหนึ่งว่า
“…นวนิยายนี้ได้กรองเกิดขึ้นในสมัยซึ่งประเทศกัมพูชาต้องถูกแบ่งอาณาเขตข้างตะวันตกไปอยู่ภายใต้อํานาจประเทศใกล้เคียง คือระหว่าง 7 ปีมาแล้ว ดังนี้แล้วความรู้สึกถึงบ้านเกิดถึงญาติมิตรซึ่งพลัดไป แต่ละทิศทางพรมแดนอกุศลก็มีแต่ร้อนเข้าไปในตับในดีของเขมรทุกๆ คน ดังนี้แล้วที่ใดตําบลใดซึ่งเป็นที่รักของผู้แต่งจึงถูกกําลังของความระลึกผลักดันมาเป็นฉากในเรื่องนี้…”
นอกจากกัมพูชาจะกล่าวถึงความพยายามของไทยที่เข้าไปยึดครองดินแดนบางส่วนของกัมพูชาในยุคนี้แล้ว ในหนังสือ “สังคมวิชชาเขมร” สําหรับชั้นบรรจบกับชั้นอุดมศึกษา ซึ่ง เขียนโดย สร สารุน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอักษรศาสตร์พนมเปญ ยังได้กล่าวถึง “นโยบายรวบรวมชาติของสยาม” ไว้ด้วย โดยกล่าวว่า
“…รัฐบาลสยามได้ประกาศอย่างเป็นทางการในปี 1939 โดยกําหนดชื่อว่า ‘นโยบายชาตินิยมแผ่ขยายแผ่นดินของไทย’ คู่กันกับการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย นโยบายชาตินิยมแผ่ขยายดินแดนของไทยได้จัดขึ้นอย่างหมดจดที่สุด โดยหลวงวิจิตรวาทการ ในเวลาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสยาม (ที่ถูกคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม-ผู้แปล)
นโยบายชาตินิยมแผ่ขยายดินแดนนี้มีกําลังสามารถ ให้ประเทศสยามกลืนเอาแผ่นดินเขมรได้โดยง่าย โดยมุ่ง หวังเอาแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนร่วมกับญวน (มีเขียนไว้อย่างชัดเจนในหนังสือนโยบายชาตินิยมแผ่ขยายดินแดนของไทย นิพนธ์โดยหลวงวิจิตรวาทการ) และนโยบายนี้จะประพฤติไปตามวิธีประมวลชนชาติของไทยโดยจัดไว้ว่า เขมรมีประเพณี ขนบธรรมเนียม ความเชื่อ ศาสนา เหมือนประเทศไทยซึ่งก็คือเป็นชนชาติไทยดุจกัน เหตุนี้แผ่นดินเขมรทั้งหมดต้องรวมเป็นดินแดนของชาติไทย…”
อย่างไรก็ดีเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยจึงต้องคืนดินแดนเหล่านี้ให้กับกัมพูชาในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้ถูกเขียนลงในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาเพียงว่า
“สยามคืนแผ่นดินให้เขมรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 ด้วยอํานาจทัพญี่ปุ่นเป็นคนชั่วร้าย สยามได้รับดินแดนจากเขมร ได้แก่ เขตพระตะบอง ส่วนหนึ่งของเสียมราบ ส่วนหนึ่งของเขตกําปงธม ส่วนหนึ่งของเขตสตึงเตรง ในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1946 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสยามคืนอาณาเขตทั้งหมดมาให้กัมพูชา…”
หลังจากเหตุการณ์นี้แล้วหนังสือประวัติศาสตร์กัมพูชาไม่ได้กล่าวถึงไทยอีกจนถึงปี ค.ศ. 1962 ซึ่งเกิดเหตุการณ์กรณีเรียกร้องเขาพระวิหารคืนจากไทย แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เพียงสั้น ๆ กล่าวคือ
“…ปราสาทพระวิหารได้กลับคืนมาเป็นของเขมร ปราสาทพระวิหารเป็นปราสาทเขมรหลังหนึ่ง ซึ่งได้สร้างขึ้นบนเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตพระวิหาร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 สยามได้นําทัพมากํากับเอาปราสาทของเรานี้ด้วยการข่มขู่ เขมรเราได้ร้องเรียนถึงศาลโลกที่กรุงเฮก ในวันที่ 15 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1962 ตุลาการนั้นได้ตัดสินความให้เขมรชนะ แล้วต้องให้สยามมอบปราสาทพระวิหารคืนมาให้เขมร…”
เหตุการณ์นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งปรากฏเป็นเรื่องสุดท้ายในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา
บทสรุป
หลังจากกรณีเขาพระวิหารไม่นาน ประเทศกัมพูชาได้เข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองที่ดําเนินต่อมาอีกหลายสิบปี และแม้เมื่อมีการฟื้นฟูประเทศแล้ว แต่แบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาก็ยังคงใช้ตําราที่เขียนขึ้นในช่วงก่อนเกิดสงครามกลางเมืองเป็นแนวทางในการเรียนการสอน
รวมทั้งการที่รัฐบาลกัมพูชามีแนวทางการเมืองที่เน้นเรื่องชาตินิยม จึงทําให้แนวทางในการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศกัมพูชายังคงเป็นไปในทิศทางนี้ ซึ่งแน่นอนว่าแบบเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชาย่อมส่งผลต่อผู้เรียนคือชาวกัมพูชา อันก่อให้เกิดแนวคิดและทัศนคติในลักษณะที่เป็นชาตินิยมตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับมุมมองของกัมพูชาที่มีต่อไทย ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา อาจช่วยให้เราเข้าใจความคิดและทัศนคติของชาวกัมพูชาที่มีต่อไทยบ้างไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตามนอกจากจะทราบความคิดที่ชาวกัมพูชามี ต่อประเทศไทยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรศึกษาต่อไปคือมิติทางวัฒนธรรมของกัมพูชาเพื่อช่วยให้เราเข้าใจกัมพูชาประเทศเพื่อนบ้านของเราได้อย่างถูกต้องชัดเจน รวมทั้งน่าจะมีการนําแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาฉบับต่าง ๆ มาศึกษาวิเคราะห์กับ แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยเพื่อขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศกัมพูชาในโอกาสต่อไปอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- เบื้องหลังพระนเรศวรตีละแวก เอี่ยวการเมืองกัมพูชา-สเปน สู่คำถาม “เลือดศัตรูล้างพระบาท”?
- พระนเรศวร ตีละแวกแล้วทำ “พิธีปฐมกรรม”…นำ “เลือดศัตรูล้างพระบาท” จริงหรือ?
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เขมร ‘เขม่น’ ไทย ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา” เขียนโดย รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2562