ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
จะอายุมาก อายุน้อย คนไทยทุกคนต้องเสียภาษี เปิดประวัติคำว่า ภาษี ศัพท์ที่มีอายุราว 200 ปี เพิ่งใช้ในสมัยรัชกาลที่ 3
คำว่า “ภาษี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายเอาไว้ว่า “เงินที่มีกฎหมายกำหนดให้รัฐหรือท้องถิ่นเรียกเก็บจากบุคคลในเหตุต่าง ๆ เช่น การมีรายได้ การมีทรัพย์สิน การประกอบกิจการ การบริโภค เพื่อใช้จ่ายในการบริหารประเทศหรือท้องถิ่น เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม”
แต่คำว่า “ภาษี” เพิ่งใช้ในความหมายของการจัดเก็บผลประโยชน์แผ่นดิน เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง
ก่อนหน้าที่จะมีการใช้คำว่า “ภาษี” หรือ “ภาษีอากร” นั้น เดิมเรียกว่า “ส่วยสาอากร” หรือ “ส่วยสัดพัทธยากร” (บ้างเขียน ส่วยสัดพัฒยากร)
ส่วยสาอากรที่ว่าแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ จังกอบ, อากร, ส่วย และฤชา
จังกอบ หรือจกอบ เป็นการจัดเก็บผลประโยชน์แผ่นดินจากสินค้าที่ผ่านด่านภาษี ที่เรียกว่า “ขนอน” จึงมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาษีผ่านด่าน” คล้ายกับ “ภาษีศุลกากร” ในปัจจุบัน
การเก็บจังกอบอาจจัดเก็บในรูปของการชักส่วนสินค้า 10 หยิบ 1 หรือจัดเก็บเป็นเงินที่วัดตามขนาดของพาหนะที่ขนสินค้านั้น ๆ หากเป็นเรือก็วัดความกว้างของปากเรือ เรียกว่า “ภาษีปากเรือ” นั่นเอง
อากร เป็นการจัดเก็บผลประโยชน์แผ่นดินที่ราษฎรทำมาหากิน เช่น การทำสวน ทำไร่ ทำนา หรือหากได้รับอนุญาตจากรัฐ เช่น ต้มกลั่นสุรา หรือเก็บของป่า ก็ต้องจ่ายอากร ตัวอย่างเช่น “อากรค่าน้ำ” ที่เรียกเก็บจากการจับปลาในแม่น้ำลำคลอง หรือหนองบึงต่าง ๆ โดยอาจจัดเก็บในรูปของสินค้าหรือเก็บเป็นเงินก็ได้

ส่วย เป็นการจัดเก็บผลประโยชน์แผ่นดินจากราษฎร ซึ่งมีหลายนัยยะ โดย 2 นัยยะที่เข้าใจกันโดยทั่วไปคือ 1. ส่วยคือเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งประเทศราชต้องส่งเข้ามาถวายตามกำหนด และ 2. ส่วยคือการให้ราษฎรจ่ายเป็นเงินหรือสินค้าแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน เช่น ราษฎรเมืองถลางทำแร่ดีบุกส่งเป็นส่วยให้รัฐแทนการถูกเกณฑ์ไปทำงานให้หลวง
นอกจากนี้ ส่วยยังมีอีก 2 นัยยะ คือ 1. ส่วยคือทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งต้องพัทธยา คือถูกริบเป็นของหลวง เนื่องจากเกินกำลังของทายาทจะเอาไว้ใช้สอยเอง และ 2. ส่วยคือเงินที่รัฐเกณฑ์ให้ราษฎรออกค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยกันเลี้ยงแขกบ้านแขกเมือง หรือเกณฑ์ให้ช่วยกันสร้างป้อมปราการ เป็นต้น
ฤชา เป็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎร เช่น ผู้ใดจะขอโฉนดเพื่อไม่ให้ผู้อื่นบุกรุกแย่งชิงที่ดินทำกินก็ต้องเสียฤชาให้รัฐ

สำหรับคำว่า “ภาษี” นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “แต่เดิมในภาษาไทยใช้แต่หมายความว่าได้เปรียบ ดังเช่นกล่าวว่าสิ่งนี้มีภาษีกว่าสิ่งโน้น ที่มาใช้หมายความว่าเก็บผลประโยชน์แผ่นดิน ดูเหมือนจะพึ่งปรากฎขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ 3”
โดยทรงอธิบายว่า คำว่า “ภาษี” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “บู้ซี” ที่หมายความถึงสำนักเจ้าพนักงานที่ทำการจัดเก็บผลประโยชน์แผ่นดิน หรือผู้ประมูลผูกขาดการจัดเก็บผลประโยชน์นั้น ๆ ซึ่งมักเรียกกันว่า “เจ้าภาษี” หรือ “เจ้าภาษีนายอากร” นั่นเอง
ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการจัดเก็บผลประโยชน์แผ่นดินเพิ่มเติมหลายอย่าง เช่น ภาษีน้ำตาลทราย, ภาษีเกลือ, ภาษีฝ้าย, ภาษีไม้แดง, ภาษีไม้ซุง เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าการจัดเก็บผลประโยชน์แผ่นดินที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงให้เรียกว่า “ภาษี” ส่วนการจัดเก็บผลประโยชน์แผ่นดินที่มีมาตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 3 จะเรียกว่า “อากร”
คำว่า “ภาษี” จึงมีความหมายเหมือนกับคำว่า “อากร” แต่ใช้ต่างกันเพื่อแยกว่าอากรใดเก็บมาก่อน อากรใดเพิ่งจัดเก็บในสมัยรัชกาลที่ 3
อ่านเพิ่มเติม :
- ภาษีอากร 38 ชนิด ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3
- ระบบเจ้าภาษีนายอากรคืออะไร? ทำไมเฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ 3
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อธิบายตำนานภาษีอากร ใน, “ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 16 ตำนานภาษีอากรบางอย่าง กับคำอธิบายของพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ”. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพสนองคุณ นายร้อยตรีน้อย แสงมณี ผู้เปนบิดา เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2470. โสภณพิพรรฒธนากร, 2470.
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. “ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย”. สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2568