ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในปี 1889 ขบวนการแรงงานสากลที่ 2 (Second International, Socialist International) ได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันแรงงาน บ้างก็เรียกว่า “วันแรงงานสากล” หรือเมย์เดย์ (May Day) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในเหตุการณ์จลาจลเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket Riot) ในชิคาโก สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1886
เหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มต้นจากการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานที่บริษัทแมคคอร์มิกฮาเวสติงแมชชีนคอมพานี (McCormick Harvesting Machine Company) อันเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ระดับชาติเพื่อเรียกร้องให้กำหนดเพดานชั่วโมงทำงานที่วันละ 8 ชั่วโมง ในวันที่ 3 พฤษภาคมมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 3 คน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องแรงงานที่มาทำงานหลังการประกาศนัดหยุดงานของสหภาพ และข่มขู่กลุ่มแรงงานที่พากันหยุดงาน เพื่อตอบโต้การใช้ความรุนแรงของตำรวจ ผู้นำแรงงานได้เรียกนัดชุมนุมใหญ่ในวันถัดมาที่จัตุรัสเฮย์มาเก็ต
การชุมนุมในครั้งนั้น ผู้ว่าชิคาโก คือ คาร์เตอร์ แฮร์ริสัน (Carter Harrison) ซึ่งเข้าสังเกตการณ์การชุมนุมด้วยระบุว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่เมื่อแฮร์ริสันและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เริ่มเดินทางกลับ เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งได้เดินทางมายังจุดชุมนุม ออกคำสั่งให้ผู้ชุมนุมสลายตัวทันที ถึงจุดนี้มีมือดีปาระเบิดเข้ามาทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 7 ราย
เจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยการกราดยิงอย่างไม่เลือกหน้าใส่ผู้ชุมนุม หลังเหตุสงบมีการประเมินว่า พลเรือนน่าจะเสียชีวิตราว 4-8 ราย เจ็บอีก 30-40 คน ส่วนมือระเบิดไม่สามารถระบุตัวได้
เหตุจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ต ทำให้เกิดภาวะหวาดระแวงต่อบรรดาผู้อพยพและผู้นำแรงงาน ท่ามกลางการตื่นตระหนก ออกัสต์ สปายส์ (August Spies) ผู้นำแรงงานและสมาชิกฝ่ายอนาคิสต์อีก 7 ราย ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม บนฐานที่อ้างว่าพวกเขาคือผู้สมรู้ร่วมคิดหรือให้ความช่วยเหลือผู้ก่อเหตุที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร และแม้พวกเขาจะไม่ได้ปรากฏตัวในการชุมนุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมเลยก็ตาม แต่สปายส์และพวกอีก 3 คนก็ถูกจับแขวนคอในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1887
ในขณะที่นานาชาติยกย่องการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นที่มาของ “วันแรงงานสากล” แต่สหรัฐฯ มองเห็นถึงภัยคุกคามของพวกอนาธิปไตยและสังคมนิยม
ในปี 1894 ประธานาธิบดี โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Grover Cleveland) ได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงานแห่งชาติ แม้ว่าฝ่ายแรงงานหัวรุนแรงจะพยายามรื้อฟื้นการถือวันเมย์เดย์เป็นวันแรงงานเป็นระยะ แต่สหภาพแรงงานส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ไม่เอาด้วย
“คนพวกนี้เขาไม่มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสากล” จาคอบ รีมีส (Jacob Remes) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แรงงานจากมหาวิทยาลัย สเตท ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ นิวยอร์ก เอ็มไพร์สเตท คอลเลจ (State University of New York Empire State College) กล่าว
ทั้งนี้จากรายงานของ International Business Times “พวกเขาเป็นแรงงานผิวขาวมีทักษะ คนกลุ่มนี้มีความเป็นอนุรักษนิยมมากกว่า การรวมกลุ่มของพวกเขาเป็นไปในลักษณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังพยายามสร้างความทรงจำใหม่ให้กับวันเมย์เดย์ เพื่อต่อต้านฝ่ายซ้ายและลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น โดยในปี 1955 สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายให้ประธานาธิบดี (ในขณะนั้น) ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight Eisenhower) ประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแห่งความจงรักภักดี (Loyalty Day) เพื่อให้หน่วยงานและภาคประชาชนแสดงออกถึงความรักชาติโดยพร้อมเพรียง ซึ่งยังคงเป็นที่ยึดถือจนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “ชนชั้นแรงงาน” ผู้ต่อสู้ให้ทุกคนได้ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง
- 1 พฤษภาคม 2454 กำเนิดกองเสือป่า รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นสมาชิกหมายเลข 1
- ไฉนแรงงานไพร่พลลิงของพระราม ต้อง “จองถนน” หนทางสู่กรุงลงกา ไม่ใช้วิธีอื่น?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
Encyclopedia Britannica, International Business Times
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤษภาคม 2562