ผู้เขียน | ศราวิน ปานชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุกวันนี้ มนุษย์มีเวลาในการทำงานตามหลักสากลอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ รวมเป็นสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่ถ้าย้อนไปช่วงศตวรรษที่ 19 คนเราโดยเฉพาะ “ชนชั้นแรงงาน” ต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ปลายศตวรรษที่ 18-ต้นศตวรรษที่ 19 ยุคที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างเข้มข้น การค้าการลงทุนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เกิดระบบโรงงานสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ระบบการทำงานในครัวเรือนที่ไม่มีการแบ่งเวลาในการทำงานอย่างชัดเจน และเพื่อรักษาระดับการผลิตที่สม่ำเสมอ ระบบการทำงานในโรงงานหรือบริษัทสมัยใหม่ จึงกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอน
แม้ดูเป็นการทำงานที่มีระบบมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ ช่วงแรกกลับไม่มีมาตรฐานที่แน่ชัด ชนชั้นแรงงาน ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ยากจนข้นแค้นต้องทำงานอย่างหนัก 6 วันต่อสัปดาห์ เฉลี่ย 12-18 ชั่วโมงต่อวัน ได้รับค่าจ้างในอัตราต่ำ เฉลี่ย 400-500 เหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนสวัสดิการต่าง ๆ ก็เลวร้ายอย่างมาก เช่น ไม่มีวันลาหยุดพักผ่อน หากอยากลาต้องตกลงกับนายจ้าง ซึ่งมักปฏิเสธคำขอ
สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ทำให้ใน ค.ศ. 1810 โรเบิร์ต โอเว่น (Robert Owen) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ เสนอให้แบ่งเวลา 1 วันออกเป็น 8 ชั่วโมง และแบ่งเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง นอนหลับ 8 ชั่วโมง และพักผ่อน 8 ชั่วโมง เพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพการทำงานของชนชั้นแรงงานให้ดีขึ้น เป็นที่มาของแนวคิดการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของโอเว่นไม่ได้รับการยอมรับจากเจ้าของโรงงานจำนวนมาก เพราะพวกเขาคิดว่าแรงงานจะไม่สามารถทำงานเพิ่มผลผลิตให้ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในยุคที่การค้าขยายตัวและอุตสาหกรรมกำลังเติบโต ข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษจึงเป็นอันต้องพับไป
แต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เมื่อชนชั้นแรงงานขยายตัวตามอุตสาหกรรม ก็เริ่มเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการและเพิ่มค่าแรง เช่น การเคลื่อนไหวประท้วงของกรรมกรในฝรั่งเศส ปี 1821 การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของขบวนการชาร์ทิสม์ (Chartism) ระหว่างปี 1837-1842 ในอังกฤษ แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นใน สหรัฐอเมริกา ประเทศที่แรงงานสามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง ทำให้ข้อเรียกร้องของพวกเขามีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าในยุโรป
วันที่ 1 พฤษภาคม ปี 1886 ที่จัตุรัสเฮย์มาเก็ต (Haymarket Square) เมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ สหภาพแรงงานจัดการประท้วง มีผู้เข้าร่วมมหาศาลกว่า 500,000 คน มีข้อเรียกร้องหลักคือ กำหนดเพดานชั่วโมงทำงาน “วันละ 8 ชั่วโมง”
ข้อเสนอของแรงงานถูกปัดตกด้วยกระสุนปืนที่เจ้าหน้าที่ยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม มีการประเมินว่าประชาชนเสียชีวิต 4-8 ราย บาดเจ็บอีก 30-40 ราย
แม้ข้อเรียกร้องจะไม่ได้รับการตอบสนอง แต่ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่น ปี 1894 ประธานาธิบดี โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Grover Cleveland) ประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งต่อมาถูกยกสถานะให้เป็นวันแรงงานสากล และลดเวลาทำงานของแรงงานลงมาเหลือ 10-12 ชั่วโมงต่อวัน
จุดเปลี่ยนมาถึงเมื่อปี 1926 เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก เกิดความคิดว่า ถ้าพนักงานมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น น่าจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
เขาจึงประกาศลดชั่วโมงการทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง และลดจำนวนวันทำงานเหลือ 5 วันต่อสัปดาห์ โดยพนักงานจะยังได้รับค่าแรงและสวัสดิการเท่าเดิม
นโยบายนี้สร้างความฮือฮาในวงกว้าง เพราะใคร ๆ ต่างคิดว่าจะเป็นผลเสียต่อบริษัท แต่ผลลัพธ์ก็คือพนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ช่วงปลายทศวรรษ 1920 ต่อต้นทศวรรษ 1930 หลายบริษัทเริ่มทำตามกันอย่างแพร่หลาย
ถึงอย่างนั้นก็มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เพราะในปี 1929 สหรัฐอเมริกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) อัตราการว่างงานในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 1.5 ล้านคนในปี 1929 เพิ่มเป็น 13-15 ล้านคนในปี 1932 ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั่วไปในสังคม กรรมกรเริ่มนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม
สถานการณ์ที่ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ทำให้ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่เข้ารับตำแหน่งในปี 1933 ผลักดันนโยบาย “ข้อตกลงใหม่” (New Deal) เพื่อแก้ปัญหา โดยรัฐจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติอีกครั้ง
หนึ่งในมาตการของนโนบายข้อตกลงใหม่คือการออก กฏหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ปี 1938 กำหนดให้แรงงานทุกภาคส่วนทำงานวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน รวมเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากทำงานเกินเวลาที่กำหนดต้องมีการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลา เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
ภายหลังกฏหมายฉบับนี้ได้เป็นตัวแบบในการออกกฏหมายแรงงานแก่ประเทศในยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 2 เพื่อเป็นการเอาใจชนชั้นแรงงาน ไม่ให้หันไปสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น และพัฒนาเป็นกฏหมายแรงงานที่เป็นมาตรฐานสากลเช่นที่เห็นในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- หนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน แต่ทำไมวันหยุดสากลต้องเป็นเสาร์-อาทิตย์ ?
- สมัยรัชกาลที่ 5 ทำไมเปลี่ยนวันหยุดราชการจาก “วันพระ” เป็น “วันอาทิตย์” ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“From strikes to labor laws: How the US adopted the 5-day workweek” Access 9 March 2023, from https://firmspace.com/theproworker/from-strikes-to-labor-laws-how-the-us-adopted-the-5-day-workweek?fbclid=IwAR1EJf5sktZgfXkzPkYyNO4XOcICc669ion3ouEAXXSIzVXjO3TDRKhM_uk#:~:text=The%20five%2Dday%2C%2040%2D,no%20changes%20in%20employee%20compensation
“Haymarket Affair” Access 9 March 2023, from https://www.britannica.com/event/Haymarket-Affair
Marguerite Ward, “A brief history of the 8-hour workday, which changed how Americans work” Access 9 March 2023, from https://www.cnbc.com/2017/05/03/how-the-8-hour-workday-changed-how-americans-work.html
“Who invented the weekend?” ” Access 9 March 2023, from https://www.bbc.co.uk/bitesize/articles/zf22kmn
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2566