หนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน แต่ทำไมวันหยุดสากลต้องเป็นเสาร์-อาทิตย์ ?

คนงาน แรงงาน ตึกระฟ้า แมนแฮตตัน วันหยุด
คนงานบนตึกระฟ้าในแมนแฮตตัน, ถ่ายโดย Charles Clyde Ebbets (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ธรรมเนียม วันหยุด นั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ หลักฐานเกี่ยวกับธรรมเนียมวันหยุดที่เก่าแก่ที่สุดพบในความเชื่อ ศาสนายูดาย (Judaism) ของชาวฮีบรูหรือชาวยิว พวกเขารับเอาการนับสัปดาห์มี 7 วันมาจากอารยธรรมเมโสโปเมีย (Mesopotamia) ชาวยิวนับวันเสาร์เป็นวัน สะบาโต (Sabbath) ภาษาฮีบรูแปลว่า “เพื่อการพักผ่อน” โดยพวกเขาจะหยุดพักจากทำงานหรือการประกอบอาชีพทั้งหลาย วันเพื่อการพักผ่อนนี้จะนับตั้งแต่ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตกของวันศุกร์จนถึงพระอาทิตย์ตกของวันเสาร์

สาเหตุการนับวันเสาร์เป็นวันสะบาโต เนื่องมาจากชาวยิวถือว่าวันเสาร์เป็นวันที่พระเจ้าทรงหยุดพักจากการสร้างโลกตามคัมภีร์พันธสัญญาเดิม (Old Testament) พวกเขาจึงถือว่าวันเสาร์เป็นวันแห่งการพักผ่อนของมวลมนุษย์ด้วย

ธรรมเนียมการหยุดวันเสาร์ถูกเปลี่ยนมาเป็นวันอาทิตย์หลังการเกิดขึ้นของศาสนาคริสต์ ชาวคริสต์เปลี่ยนวันหยุดเดิมของชาวยิวมาถือเอาวันที่พระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์หลังถูกตรึงกาเขน ซึ่งเกิดขึ้นในรุ่งสางของวันอาทิตย์ และพันธสัญญาใหม่ (New Testament) ซึ่งเป็นภาคที่ 2 ในพระคัมภีร์ไบเบิล (Bible) ยังขยับวันสะบาโตหรือที่พระเจ้าหยุดสร้างโลกจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์พร้อมระบุว่า วันที่ 7 ของสัปดาห์เป็นวันของการพักผ่อนและการบูชาพระเจ้า

เมื่อศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาหลักของโลกตะวันตก ศาสนจักรประกาศให้วันอาทิตย์รวมถึงวันสำคัญทางศาสนาเป็นวันหยุดจากการทำกิจการงานทั้งปวงของเหล่าคริสต์ศาสนนิกชน วันอาทิตย์จึงกลายเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ในกลุ่มประเทศผู้นับถือศาสนาคริสต์

ชาวคริสต์ทำกิจกรรมขอบคุณพระเจ้าในวันสะบาโต, วาดโดย Moritz Daniel Oppenheim (ภาพจาก Wikimedia Commons)

นอกจากอิทธิพลทางศาสนาแล้ว สังคมยุคก่อนสมัยใหม่ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมนั้นไม่ได้ให้ความเคร่งครัดกับวันหยุดมากนัก วันทำงานกับวันหยุดจึงเป็นเรื่องอิสระในทางปฏิบัติของชนชั้นต่าง ๆ ของสังคมว่าจะยึดถือหรือไม่

ธรรมเนียมวันหยุดและการหยุดหนึ่งวันต่อสัปดาห์เริ่มเป็นปัญหาเมื่อทวีปยุโรปและอเมริกาเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 การทำงานของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนทำให้มีสภาพที่ย่ำแย่และมีการใช้แรงงานหนักกว่าการทำเกษตรกรรมอย่างมาก นำไปสู่การเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิการวันหยุดและเวลาพักผ่อนของแรงงานอย่างจริงจัง โดยเริ่มในประเทศอังกฤษ

สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น แรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นชาวคริสต์ซึ่งหยุดวันอาทิตย์มักจะดื่มสังสรรค์กันหลังว่างเว้นจากการทำงานและอ้างว่ามาทำงานไม่ไหวในวันจันทร์ ทำให้โรงงานขาดแรงงานจำนวนมากในวันจันทร์ เกิดเป็นกรณี Saint Monday” ขึ้น เจ้าของกิจการจึงเริ่มตระหนักว่าต้องจัดการเกี่ยวกับวันทำงานและวันหยุดเสียใหม่ เพื่อให้แรงงานไม่ถือโอกาสหนีงานในวันจันทร์ กลุ่มแรงงานอังกฤษจึงประสบความเสร็จในการยืดวันหยุดจากเฉพาะวันอาทิตย์มาเป็นวันเสาร์ แต่ยังต้องทำงานวันเสาร์ครึ่งวัน ใน ค.ศ. 1879

ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริการมีความพยายามในการเรียกร้องวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ระยะแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา โรงงานบางแห่งยังไม่มีวันหยุดสำหรับพนักงานด้วยซ้ำ กระทั่ง ใน ค.ศ. 1908 เจ้าของโรงงานผลิตผ้าฝ่ายในเขตนิวอิงแลนด์ (New England) ได้อนุญาตให้คนงานชาวยิวหยุดตั้งแต่เย็นวันศุกร์ถึงเย็นวันเสาร์ตามหลักวันสะบาโต แล้วมาทำงานในวันอาทิตย์

อย่างไรก็ตาม การเปิดทำการวันอาทิตย์ของโรงงาน ทำให้ชาวคริสต์ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ไม่พอใจที่โรงงานยังทำงานวันอาทิตย์ “วันหยุดของพระเจ้า” ที่ไม่ตรงกันของศาสนิกชนทั้งสองศาสนาเริ่มกลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลายขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมอเมริกัน เจ้าของโรงงานส่วนใหญ่จึงเริ่มมีแนวคิดให้หยุดทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์เพื่อจบปัญหาเหล่านี้

ค.ศ. 1938 เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) เริ่มใช้ระบบปิดโรงงานในวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้พนักงานหรือแรงงานมีวันหยุดพักผ่อนเต็ม ๆ 2 วัน วันหยุดงานที่มากขึ้นทำให้คนงานของเขาสามารถซื้อรถในกิจการเขาเองไปขับขี่เพื่อการพักผ่อนกับครอบครัวได้ รวมถึงจบปัญหา “วันหยุดของพระเจ้า” ที่ไม่ตรงกันของแรงงานทั้งสองด้วย ซึ่งนั่นได้ผลอย่างดีเยี่ยมจนบริษัทอื่น ๆ เริ่มนำมาใช้ตาม

เฮนรี ฟอร์ด เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ (ภาพจาก Library of Congress)

ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (The Great Depression) และระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มสหภาพแรงงานโรงงานเสื้อผ้าในสหรัฐอเมริกากลายเป็นสหภาพแรงงานกลุ่มแรกที่ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องนายจ้างและรัฐบาลเพื่ออนุญาตให้หยุดงาน 2 วันต่อสัปดาห์ในวันเสาร์-อาทิตย์อย่างเป็นทางการ จากนั้นระบบวันหยุดดังกล่าวจึงแพร่หลายและถูกนำไปใช้กับกิจการและหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งประเทศ ธรรมเนียมการหยุดวันเสาร์-อาทิตย์จึงกลายเป็นที่นิยมและถือปฏิบัติในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในเวลาต่อมา

กล่าวได้ว่าคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้มนุษยชาติได้ วันหยุด เป็น 2 วันต่อสัปดาห์ ทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ ต้องยกให้ชาวยิวและชาวคริสต์ที่มีวันแห่งพระเจ้าไม่ตรงกัน รวมถึงคุณเฮนรี ฟอร์ด และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสมัยยุคนั้นด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

BBC WORKLIFE: The modern phenomenon of the weekend

True ID creator: ทำไมวันหยุดต้องเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์?


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2565