สมัยรัชกาลที่ 5 ทำไมเปลี่ยนวันหยุดราชการจาก “วันพระ” เป็น “วันอาทิตย์” ?

รัชกาลที่ 5 ประกอบ วันหยุดราชการ ความเชื่อสมัยรัชกาลที่ 5
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ คราวเสด็จตรวจราชการเมืองนครพนม พ.ศ. 2449 (ภาพจาก“เทศาภิบาล”สนพ.มติชน)

สำหรับทุกวันนี้ที่ “วันหยุดราชการ” และภาคเอกชนหลายแห่งคือ วันเสาร์ วันอาทิตย์ แต่ครั้งหนึ่งไทยเคยใช้ “วันพระ” เป็นวันหยุดราชการ (ซึ่งหลายท่านคงทราบดี) และเพิ่งยกเลิกไปในปี 2411 ต้นรัชกาลที่ 5 โดยเปลี่ยนมาเป็น “วันอาทิตย์”

วันหยุดราชการในสมัยรัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 5
รัชกาลที่ 5 ทรงออกประกาศพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ

แล้ว วันพระ ที่เป็นวันหยุดเดิมมีความหมายอย่างไร? วันอาทิตย์ ที่เป็นวันหยุดใหม่ ผลกระทบอย่างไร?  เรื่องนี้เราจะไปติดตามจากส่วนหนึ่งใน “ ‘เวลาอย่างใหม่’ กับการสร้างระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5” บทความของวิภัส เลิศรัตนรังษี ไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มโดยผู้เขียน]

Advertisement

 “…ถ้ามองให้ไกลกว่าการสืบทอดค่านิยมของสังคมไปสู่เรื่องสำนึกของเวลาทางศาสนาแล้ว การหยุดราชการในวันพระยังเป็นการยืนยันว่าวันทุกวันสำคัญไม่เท่ากันอีกด้วย…

เหตุผลที่ว่าเวลาของแต่ละวันสำคัญไม่เท่ากันก็มาจากคำอธิบายทางศาสนาที่ว่า อันว่าพระจตุโลกบาลเดินดูดีดูร้ายแห่งโลกทั้งหลายนี้ ทุกวันย่อมใช้ให้เทพยดาองค์อื่นมาต่างตัวในวันศีลน้อย คือวันอัฐมีนั้นไส้ ย่อมใช้ลูกมาต่างตัว ผิแลวันศีลใหญ่ คือวันบูรณมีแลอมาพัสสานั้นไส้ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ย่อมมาเดินดูเอง

 เมื่อคนส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ว่าเทวดาผู้มีหน้าที่บันทึกกรรมดีของสัตว์โลกมีความสำคัญไม่เท่ากันในแต่ละวัน ทำให้พวกเขาเข้าใจไปว่าการปฏิบัติดีก็ไม่จำเป็นต้องทำให้เท่ากันทุกวันก็ได้ ด้วยคำอธิบายเช่นนี้จึงทำให้วันพระใหญ่จึงเป็นวันสำคัญที่สุดในรอบเดือนที่คนไทยจะนิยมทำบุญ เพราะท้าวจตุโลกบาลจะเสด็จมาบันทึกความดีของมนุษย์ที่กระทำในวันนั้นด้วยพระองค์เอง วันพระเล็กจะเป็นหน้าที่ของโอรสของท้าวจตุโลกบาล ส่วนวันธรรมดาจะเป็นหน้าที่ของเทวดาที่ได้รับมอบหมาย

วันพระจึงเป็นวันสำคัญกว่าวันอื่นๆ ในสามัญสำนึกของคนไทยมาอย่างช้านาน กรมนาในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังกำหนดให้ขุนนางที่ต้องออกเดินประเมินที่นาต้องสาบานตัวในวันพระ ดังที่ระบุว่า

อนึ่ง ถ้าถึงวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ ให้ข้าหลวงเสนากรมการกำกับกำนันพันนายบ้าน ผู้ญื่นหางว่าวเสมียรตะนายผู้ถือบาญชีนา และชักเชือกกระแสพยานที่ได้วัดชัณะสูทนาของราษฎรไปพร้อมกันณพระอาราม ษาบาลตัวจำเภอะพระภักพระพุทธิเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้าจงทุกวันพระ อย่าให้เอาจำนวรนาซรึ่งเปนหลวงไปยกให้แก่ราษฎร อย่าให้เอานาของราษฎรเหลือเกินไปใส่ในหลวง ให้ทำบาญชีแต่โดยสัจโดยจริง

และวันพระยังคงเป็นวันหยุดราชการไปจนถึง .. 2411 จะมียกเว้นก็แต่ ออฟฟิศหลวงเท่านั้นที่ไม่ได้หยุด ดังที่มีบันทึกว่า ‘แลเราก็เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ทำการอยู่ที่ออฟฟิซๆ อื่นๆ เขามีวันพระเลิกกันหมด แต่ออฟฟิซนี้ไม่มีเลิกเลย ต้องทำการเสมอ

เมื่อจัดตั้ง 12 กระทรวงขึ้นในครึ่งหลังของทศวรรษ 2430 บางหน่วยงานเริ่มใช้วันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการแทนวันพระ รัฐบาลจึงแก้ปัญหาโดยให้หยุดราชการในวันอาทิตย์เหมือนกันทั้งหมดทุกกระทรวงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ .. 2441 หรือหลังจากเสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรป แม้ว่าจะไม่แจ้งเหตุผลว่าทำไมจึงเปลี่ยนวันหยุดราชการ แต่ก็สันนิษฐานว่ารับความคิดมาจากการเสด็จประพาสยุโรป อีกทั้งความคงเส้นคงวาของวันอาทิตย์ ที่ไม่ต้องบอกต้องสั่งกันเป็นรายสัปดาห์ไป ก็เป็นสิ่งที่วันพระตามปฏิทินไทยไม่สามารถจะกระทำได้

การเปลี่ยนวันหยุดราชการเช่นนี้กลับทำให้ผู้พิพากษากระทรวงยุติธรรมได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะถึงแม้ว่าการพิพากษาอรรถคดีจะเคร่งครัดไปตามตัวบทกฎหมาย แต่เมื่อเวลาราชการเข้ามาทับซ้อนกับเวลาของศาสนาเช่นนี้ พวกเขาจึงรู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องลงโทษผู้ต้องหาในวันพระเท่าใดนัก เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมกราบทูลในเรื่องนี้ว่า

ด้วยในการจะปิดออฟฟิศวันพระ วันอาทิตย์นั้นก็ไม่เปนการสำคัญนัก เกล้ากระหม่อมได้พูดๆ กันดูเหนด้วยเกล้าฯ ว่า ที่จะทำการในวันพระนั้นมีหงุดหงิดอยู่หน่อยหนึ่งคือ คนถือศีลไม่ใคร่มาเปนเพราะจะไปฟังเทศน์ ในหัวเมืองหยุดมาก ในกรุงเทพฯ ไม่ใคร่กระไรนัก แลอีกอย่างหนึ่ง ในความอาญาพิพากษาลงโทษคนในวันพระนั้นไม่ชอบกล [ไม่เข้าที – ผู้เขียน] ส่วนฝรั่งในกระทรวงนี้จะให้ทำวันอไรได้หมด ตัวมิศเตอร์สเลสเซอร์เองก็เห็นว่าควรปิดออฟฟิศวันพระในเรื่องที่ว่าจะปิดวันพระฤาวันอาทิตย์นั้น ก็ไม่มีอไรเปนสลักสำคัญจริง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าอย่างไรก็ได้

เมื่อเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเสนาบดีแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทยก็คัดค้านว่าจะให้กระทรวงยุติธรรมหยุดวันพระไม่ได้ เพราะจะทำให้การประสานงานราชการในกรุงเทพฯ ขาดความเป็นเอกภาพ

แต่ในปีรุ่งขึ้น เสนาบดีมหาดไทยก็กราบบังคมทูลขอให้ที่ทำการในหัวเมืองหยุดวันพระทุกมณฑล โดยพระองค์ทรงให้เหตุผลไว้น่าสนใจว่า ‘ตามหัวเมืองเกี่ยวข้องด้วยกิจธุระของราษฎรในพื้นเมือง คือการเก็บภาษีอากรแลการถ้อยความเปนต้น ประเพณีราษฎรในพื้นเมืองโดยมากเขาหยุดการในวันพระ ไปรักษาศีลทำบุญให้ทานตามประเพณีที่มีสืบกันมาแต่โบราณ เพราะฉะนั้น การเปิดที่ว่าการในวันพระ ย่อมเปนการลำบากของราษฎรที่จะต้องมายังที่ว่าการในที่เขาหยุดการเพื่อทำบุญให้ทาน ส่วนข้างปิดศาลาวันอาทิตย์นั้นเล่า ทำให้เสียเวลาของราษฎรไปวันหนึ่งเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ที่ว่าการหัวเมืองควรปิดวันพระ ซึ่งเปนวันหยุดการของราษฎรต่อไป’

หากพิจารณาตามเหตุผลที่เสนาบดีมหาดไทยให้ไว้จะพบว่า คำอธิบายของพระองค์เน้นไปที่การใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุดต่อทั้ง 2 ฝ่าย จึงแตกต่างไปจากเหตุผลของตุลาการที่ไม่อยากจะพิพากษาในวันพระ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้และมีรับสั่งต่อไปอีกว่า “ถึงในกรุงก็ออกจะเปนที่ขัดขวางอยู่เหมือนกัน นานไปภายน่า น่าจะกลับลงเปนวันพระ” แต่ก็ไม่เคยพบว่าหน่วยงานราชการในกรุงเทพฯ เปลี่ยนกลับมาหยุดวันพระอีกเลยจนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลาย”

ภาพ “คนสยาม” สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

วิภัส เลิศรัตนรังษี. “ ‘เวลาอย่างใหม่’ กับการสร้างระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2564