วันหยุดราชการ ครั้งแรกของประเทศไทย หยุดกันยาวๆ 40 วัน

วันหยุดราชการ ปฏิทิน
วันปิยมหาราช วันหยุดราชการ ที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มมีวันหยุดราชการ

“วันหยุดราชการ” ของประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัย รัชกาลที่ 6 เมื่อปี 2456 ซึ่งสันนิษฐานว่า นำลักษณะและรูปแบบวันหยุดราชการของอังกฤษมาเป็นต้นแบบ ด้วยเป็นประเทศที่รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ ไปทรงศึกษา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ขณะนั้นอังกฤษมีวันหยุด 2 ประเภทคือ

1. วันหยุดธนาคาร เป็นไปในลักษณะคล้ายกฎหมายแรงงาน ที่นำวันที่มีความสำคัญทางศาสนาหรือประเพณีมาบัญญัติเป็นวันหยุด เช่น วันอีสเตอร์ มันเดย์ (Easter Monday), วันไวท์ มันเดย์ (White Monday) ฯลฯ

2. วันหยุดสาธารณะ จะเป็นวันที่เกี่ยวกับรัฐ รวมถึงวันทางศาสนา, เทศกาล หรือประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เช่น วันวิกตอเรีย-วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ต่อมา เมื่อพระองค์สวรรคต “วันวิกตอเรีย” ก็เปลี่ยนเป็น “วันจักรวรรดิ” และ “วันเครือจักรภพ” ตามลำดับ

สำหรับไทย พระบรมราชโองการ ประกาศ กำหนด วันหยุดราชการ นักขัตฤกษ์ ประจำปี (พระพุทธศักราช 2456) กำหนด “วันหยุดราชการ” ครั้งแรกไว้ 40 วัน ดังนี้

วันหยุดราชการ

“…พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ แลนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 25 เมษายน 19 วัน  

วิสาขะบูชา ตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 3 วัน

เข้าปุริมพรรษา ตั้งแต่วันที่ 6 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 7 วัน

ทำบุญพระบรมอัษฐิพระพุทธเจ้าหลวง วันที่ 23 ตุลาคม 1 วัน

ทำบุญพระบรมอัษฐิ แลพระราชพิธีฉัตรมงคล ตั้งแต่วันที่ 9 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 4 วัน

เฉลิมพระชนมพรรษา ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ถึงวันที่ 3 มกราคม 5 วัน

มาฆะบูชา จาตุรงค์สันนิบาต วันที่ 1 มีนาคม 1 วัน…”  (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน) 

รายการ “วันหยุดราชการ” ข้างต้นจะเห็นได้ว่า วันหยุดราชการมีรากที่มาจากวันสำคัญทางประเพณีมาก่อน วันประเพณีที่คัดสรรมาเป็นวันหยุดราชการ ล้วนเป็นประเพณีที่มีความสำคัญ และเชื่อมโยงกับอำนาจของรัฐส่วนกลาง คือ เป็นประเพณีพุทธศาสนา และประเพณีที่ให้ความสำคัญระบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบบการปกครองของประเทศในขณะนั้น

ส่วนวัตถุประสงค์ของวันหยุดราชการ ในพระบรมราชโองการ ประกาศ กำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ ประจำปี (พระพุทธศักราช 2456) รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า

“ข้าราชการที่ได้รับราชการอยู่ทุกวันนี้ สมควรจะได้มีเวลาพักผ่อนร่างกายบ้าง แลตามนักขัตฤกษ์ที่ได้หยุดการก็มิใช่วันที่จะหยุดพัก แลการที่เคยหยุดกันมาแก็แตกต่างกันไปตามหมู่กระทรวง หาเปนการสมควรไม่ จึงควรให้เปนระเบียบอันเดียวกัน 

คือการหยุดนั้นมี 3 อย่าง สำหรับได้ผ่อนพักร่างกายบ้างอย่างหนึ่ง หยุดเพื่อแสดงความเคารพต่อพระบรมราชวงษ์อย่างหนึ่ง เพื่อเคารพต่อพระสาสนาอีกอย่างหนึ่ง…”

พระบรมราชโองการเกี่ยวกับ “วันหยุดราชการ” ครั้งแรกของไทยนี้ เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2456 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ชุดพลเอกแห่งกรมทหารราบเบาเดอรัม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสภาพ 22 M00032)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ชนาวุธ บริรักษ์. ความทรงจำใต้อำนาจ รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2565.

“พระบรมราชโองการ ประกาศ กำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ ประจำปี (พระพุทธศักราช 2456),” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 30, ตอน ก (มีนาคม 2456) หน้า 533-535.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2566