ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 “กองเสือป่า” ได้ถือกําเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ มี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นสมาชิก “เสือป่า หมายเลข 1” และทรงดํารงตําแหน่งนายกองใหญ่ และสมาชิกเมื่อเริ่มก่อตั้งอีก 16 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดพระองค์ กองเสือป่ายังได้เปิดรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติม จนมีสมาชิกเสือป่าทั้งสิ้น 141 คน
มีการกำหนดให้มีพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแก่สมาชิกเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2454 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คล้ายคลึงกับการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของทหาร ที่มีการอ่านโองการแช่งน้ำและกล่าวคําปฏิญาณ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “เสือป่า” เป็นพระราชนิยมของข้าราชการจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้เสือป่าเข้ารับการอบรม โดยทรงเป็นผู้สอนด้วยพระองค์เอง ณ สโมสรเสือป่าทุกบ่ายวันเสาร์ และทรงกำหนดให้เสือป่าต้องทำการซ้อมรบ รวมถึงเดินทางไกลเป็นประจำทุกปี
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2468 กิจการเสือป่าได้ซบเซาและยุติลงอย่างเงียบ ๆ โดยไม่เคยมีการประกาศยุบเลิกหน่วยงานอย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏหลักฐานการสิ้นสภาพอย่างสมบูรณ์ เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สิน กองเสือป่า ตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ พุทธศักราช 2482
อ่านเพิ่มเติม :
- “เสือป่า”กองกำลังส่วนพระองค์ ร.6 ที่ทรงรักเสมือนลูก
- “ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท” จ่ายเงินรางวัลให้ “บุคคลไร้ตัวตน” คดีทุจริตหวยสุดอื้อฉาวสมัย ร.6
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เทพ บุญตานนท์. การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์มติชน 2559
จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส 1 สิงหาคม 2517
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤษภาคม 2562