“เสือป่า”กองกำลังส่วนพระองค์ ร.6 ที่ทรงรักเสมือนลูก

รัชกาลที่ 6 ฉายภาพ กับ กองเสือป่า นายใน ข้าราชบริพาร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายร่วมกับเหล่าเสือป่า (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“กองเสือป่า” กองกำลังส่วนพระองค์ ร.6 ที่ทรงรักเสมือนลูก แต่ทรงรอจนครองราชย์ เพราะเกรงถูกกล่าวหาว่าเตรียมการกบฏ

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชประสงค์จะจัดตั้ง “กองเสือป่า” หลังจากเสด็จกลับจากมณฑลพายัพใน พ.ศ. 2448 หากทรงระงับไว้ และทรงรับสั่งให้มหาดเล็กและข้าราชบริพารในพระองค์ฝึกทหารและเล่นซ้อมรบ เช่น การเล่นโปลิศจับขโมย หรือการเล่นปราบเจ๊กก่อการอั้งยี่ หลังจากกระยาหารค่ำในพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์

ซึ่งผู้ที่ไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็มองว่าเป็นการละเล่นเพื่อสร้างพระราชสำราญให้แก่พระองค์เป็นสำคัญ แต่เหตุที่แท้จริงเป็นพราะทรงเกรงว่า หากทรงจัดตั้งกองเสือป่าในขณะที่ยังทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร กลุ่มบุคคลที่ไม่พอใจพระองค์อยู่ก่อนหน้านี้ จะกล่าวหาว่าพระองค์ทรงเตรียมการที่จะก่อกบฏ

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน พ.ศ. 2453 พระราชดําริที่จะจัดตั้งกองเสือป่าได้เกิดขึ้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชาธิบายเรื่องเสือป่าว่า มีลักษณะคล้ายทหารรักษาดินแดนของอังกฤษ (Territory Army) มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของทหารโดยเฉพาะในยามศึกสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีอาสาสมัครคอยป้องกันประเทศในขณะที่ทหารออกไปรบ แต่ต่างกันที่รูปแบบการปกครอง ด้วยกองทหารรักษาดินแดนของอังกฤษขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม แต่กองเสือป่าขึ้นตรงต่อพระองค์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซ้อมรบเสือป่า ณ ค่ายหลวงบ้านไร่ เมืองราชบุรี (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2454 กองเสือป่า ได้ถือกําเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นสมาชิกเสือป่าหมายเลข 1 และทรงดํารงตําแหน่งนายกองใหญ่ และสมาชิกเมื่อเริ่มก่อตั้งอีก 16 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดพระองค์ กองเสือป่ายังได้เปิดรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติม จนมีสมาชิกเสือป่าทั้งสิ้น 141 คน

ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 มีพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของสมาชิกเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของทหาร ที่มีการอ่านโองการแช่งน้ำ และให้สมาชิกกล่าวคําปฏิญาณ ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะเชื่อฟังคําสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด

วันที่ 17 มิถุนายน จัดพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาครั้งที่ 2 (กระทําเหมือนในครั้งแรก) โดยมีสมาชิกเสือป่าเพิ่มขึ้นมาเป็น 2 กองร้อย ซึ่งก่อนที่จะเริ่มพิธี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าที่มียศนายหมู่ขึ้นไปร่วมถ่ายรูปกับพระองค์ พร้อมกันนี้ยังเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการถ่ายรูปหมู่ของบรรดาสมาชิกเสือป่าบริเวณสนามหญ้าข้างหอวชิรญาณ

พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาทั้ง 2 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าทรงให้ความสําคัญแก่กองเสือป่าเป็นอย่างมาก

เมื่อ “เสือป่า” เป็นพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกเป็นจํานวนมาก ข้าราชการพลเรือนที่ไม่เข้าร่วมก็จะถูกมองว่าแปลกแยกออกจากผู้อื่น นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะทําให้มีผู้สมัครเข้าเป็นเสือป่าเป็นจํานวนมาก คือได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

จนเกิดภาพข้าราชการที่เป็นสมาชิกเสือป่าแต่งเครื่องแบบเสือป่าไปทํางาน เพราะต้องฝึกเสือป่าเป็นประจำทุกวันหลังเลิกงาน นอกจากนี้เสนาบดีบางท่าน เช่น เจ้าพระยายมราช ที่ดูแลกระทรวงนครบาล ได้มีข้อกำหนดว่า หากข้าราชการในสังกัดเป็นสมาชิกเสือป่าแล้วขาดฝึกเกิน 12 ครั้ง จะไล่ออกจากราชการ

นอกจากฝึกทหารแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้เสือป่าเข้ารับการอบรม โดยทรงเป็นผู้สอนด้วยพระองค์เอง ณ สโมสรเสือป่าทุกบ่ายวันเสาร์ และทรงกำหนดให้เสือป่าต้องทำการซ้อมรบรวมถึงเดินทางไกลเป็นประจำทุกปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลาบปลื้มพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งที่มีสมาชิกเสือป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในบันทึกจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ตอน “ปลื้มใจด้วยเสือป่าและลูกเสือ” ทรงบันทึกว่า

การที่ได้เห็นเสือป่าและลูกเสือตั้งขึ้นได้โดยเร็ว และเปนที่นิยมแห่งคนทั้งหลายทั่วถึงกันเช่นนี้ ทําให้เรารู้สึกยินดีหาที่เปรียบได้โดยยาก รู้สึกว่าถึงอย่างไร ๆ ก็จะได้ เขียนชื่อตนเองไว้ในพงษาวดารตำนานของชาติไทยแล้วอย่างน้อยทัด 1 นับว่าไม่เสียชาติเกิดมา

ถ้าเสือป่ายังตั้งยั่งยืนอยู่ตราบใดชื่อเราก็คงจะยั่งยืนอยู่ได้ตราบนั้น การที่ได้ตั้งเสือป่าขึ้นสําเร็จเช่นนี้ทําให้เกิดปิติยิ่ง กว่าได้ทําสิ่งใด ๆ มาแล้ว เพราะรู้สึกว่าได้เปนผู้นําทางให้คนไทยรู้จักรักชาติของตน และรู้จักประโยชน์แห่งความสามัคคี เท่านี้ก็เปนบำเหน็จพอยู่แล้ว เปนอนุสาวรีย์อันมั่นคงยิ่งกว่ารูปฤาวัตถุใด ๆ…

เมื่อรู้สึกเช่นนี้แล้ว การที่ผู้ใดจะกล่าวว่าเรารักเสือป่ายิ่งลูกยิ่งเมียก็ยอม เพราะถ้าแม้มีเมียอย่างปรกติ จะได้ลูกอันพึ่งพาอาไศรยกําลังกันได้เร็วและเปนจํานวนมากเช่นนี้ฤา นี้ใน 3-4 เดือน ลูกเกิดนับด้วยพันและมีกําลังวังชาขึ้นทันตาเห็น…”

กระแสความต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเสือป่าได้แพร่ขยายเข้าไปในหมู่ทหาร ซึ่งเกรงว่าการไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเสือป่าจะเป็นการไม่ทำตามพระราชนิยม จากเดิมที่เสือป่าเปิดรับสมาชิกเฉพาะข้าราชการพลเรือน ก็ต้องเปิดให้ทหารเป็นสมาชิกเสือป่าประเภทวิสามัญ ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎและมีสิทธิเหมือนสมาชิกทั่วไป แต่ไม่ต้องเข้ารับการฝึกทหารเหมือนเสือป่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เทพ บุญตานนท์. การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6, มติชน, 2559

จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส 1 สิงหาคม 2517


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2561