นิยาม “ความเป็นชาย” ของสังคมนายใน สมัยรัชกาลที่ 6

รัชกาลที่ 6 ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับราชองครักษ์ (ภาพจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพพระยาอนิรุทธเทวา)

ความเป็นชาย (Masculinity) คือ คุณสมบัติ พฤติกรรม และบทบาทของผู้ชาย มีสังคมเป็นผู้กำหนดความหมาย ใช้มาตรฐานในการกำหนดที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัย วัฒนธรรมและสภาพสังคม จึงทำให้สิ่งที่เรียกว่าความเป็นชายมีอยู่หลากหลายรูปแบบ

อย่างสังคมชายล้วนที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน จนเกิดความสัมพันธ์ฉันเพื่อนระหว่างเพศเดียวกันที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ ความรักความผูกพัน รู้จักนิสัยใจคอซึ่งกันและกัน ที่ก่อให้เกิดความกล้าที่จะต่อสู้และพร้อมเผชิญต่อสิ่งอันตรายถึงชีวิตอย่างสงคราม ก็ถูกนับเป็นรูปแบบหนึ่งของความเป็นชาย

Advertisement

เช่นความตั้งใจของรัฐบาลที่ตั้งใจเกณฑ์ทหารมารวมกลุ่มกันในค่ายทหารเพื่อสร้างความแข็งแกร่งอดทนและสร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดความรักในพวกพ้อง วิธีดังกล่าวช่วยส่งเสริมความเป็นชาตินิยมและการเชื่อฟังจงรักภักดีต่อผู้นำกลุ่มชายล้วน ที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากต่อความมั่นคงของชาติ

เหมือนกับ นายใน ที่เป็นสังคมชายล้วนของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ทั้งการกิน หลับนอน ทำงาน เล่น ออกกำลังกาย เดินทางไกล ฝึกซ้อมรบ เผชิญทั้งทุกข์และสุขร่วมกัน เพื่อให้เกิดความผูกพันและรักพวกพ้องให้เหมาะสมกับความเป็นชายเช่น เสือป่า ที่มีการเกณฑ์นายในทุกคนให้เป็นเสือป่า ภายใต้ชื่อ กองเสือป่ารักษาพระองค์ หรือกองเสือป่าหลวง มีรัชกาลที่ 6 เป็นผู้บังคับบัญชา

การอาศัยอยู่ในค่ายซ้อมรบ ภายใต้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัดตลอด 24 ชั่วโมง ห้ามออกจากบริเวณค่ายแม้จะเป็นเวลาว่างก็ตาม นายในจึงไม่สามารถออกไปสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นได้นอกจากคนในกลุ่มเสือป่าด้วยกันเอง เวลาส่วนใหญ่จะฝึกซ้อมรบและเดินทางไกล ยามว่างนายในก็จะจับกลุ่มเล่นกีฬา เช่น วิ่งวัว วิ่งเปี้ยว ตี่จับ ขี่ม้าชิงเมือง และฟุตบอล เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ขณะเดียวกันการเดินทางยิ่งห่างไกลเท่าไรเส้นทางก็จะเป็นป่ามากขึ้น ทำให้เหล่านายในคอยดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และระวังภัยอันตรายให้กันมากขึ้น แสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใยในหมู่นายใน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยเหล่าเสือป่าที่สโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต(ภาพจาก www.vajiravudh.ac.th)

จากกิจกรรมดังกล่าวช่วยให้นายในมีความสัมพันธ์ที่รักใคร่สนิทสนมกันเองในหมู่คณะและแบบสองต่อสอง เช่น กรณีพระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมืองได้พรรณนาหลังจากเจ้าพระยารามราฆพถึงแก่อสัญกรรมว่า “…ร่วมเล่น ร่วมสนุก ร่วมงาน ร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ตั้งแต่สมัยปฐมวัยจนถึงปัจฉิมวัย แม้ว่าในตอนท้ายแห่งอายุเราจะต้องแยกจากกันโดยธรรมชาติธรรมดา แต่ความติดต่อสัมพันธ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจก็คงมีอยู่เป็นอันดี…” (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก กองเรือใหญ่ เจ้าพระยารามราฆพ (.. เฟื้อ พึ่งบุญ).  พระนคร : พระจันทร์, 2510. หน้า 34.)

และกรณี กลุ่มของเนื่อง สาคริก, อั้น บุนนาค, เฉลิม เศวตนันทน์ และชิด บุนนาค ที่ได้รับพระบรมราโชวาทในคราวถวายตัวเป็นมหาดเล็กกองตั้งเครื่อง เมื่อ พ.. 2461 ต่างปลื้มปีติกอดคอกันและกัน พร้อมกล่าวคำมั่นสัญญาต่อกันว่า ถ้าพวกเราทั้ง นี้คนใดได้ความรู้ใหม่มาจะต้องรีบนำมาเผยแพร่ให้ทีมของเราเรียนรู้ทุกครั้ง ซึ่งทั้ง 4 คน ต่างปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดมา (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) .., ..., ... ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ..2551, หน้า 165-166.) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรักความผูกพันระหว่างนายในที่อาศัยอยู่ร่วมกันตลอดเวลา จนเกิดมิตรภาพที่แน่นแฟ้น ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของความเป็นชายเช่นกัน

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 6 ทรงพยายามอย่างมากในการผลิตและนิยามความเป็นชาย ภายในกลุ่มนายในของพระองค์ โดยใช้หลัก ราชาชาตินิยม ที่ผู้ชายจะต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความกล้าหาญยอมสละชีพเพื่อชาติและพระมหากษัตริย์ สำหรับสร้างอำนาจและความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ นายในหลายคนจึงไม่ได้มีเพียงแค่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นลึกซึ้งระหว่างกัน แต่ถึงกับยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์และระบอบราชาธิปไตย (Monarchy) เลยทีเดียว

โดยเอกลักษณ์อย่างหนึ่งเกี่ยวกับความเป็นชาย ของนายในที่พิเศษกว่าสังคมอื่น คือการยอมรับผู้ชายที่มีลักษณะและกริยาท่าทางเหมือนผู้หญิง หรือชอบแต่งกายแบบผู้หญิง แสดงให้เห็นถึงความอ่อนโยนและมิตรภาพที่แน่นแฟ้นของนายในที่ทุกคนต่างเปิดใจยอมรับในตัวตนของแต่ละคน ไม่มีการรังเกียจเพศวิถีและรสนิยมทางเพศ ซึ่งแตกต่างจากความเป็นชาย ของตะวันตกที่นิยมเรื่องความแข็งแกร่งและประพฤติตนให้สมกับเป็นสุภาพบุรุษ 

นอกจากนี้ “ความเป็นชาย” ของนายในยังสะท้อนถึงการได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมการแสดงละครในวังที่ผู้หญิงแสดงเป็นผู้ชายส่วนผู้ชายแสดงเป็นผู้หญิง จึงทำให้สังคมในวังต่างคุ้นเคยและยอมรับต่อการแต่งตัวข้ามเพศ เช่น การเล่นละครโขนที่ต้องใช้ผู้ชายทั้งหมดแสดงเป็นผู้หญิง ก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้ชายที่ชอบแต่งกายแบบผู้หญิง หรือมีลักษณะท่าทางรูปร่างหน้าตาคล้ายผู้หญิงเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น พระยาอนิรุทธเทวาที่คนใกล้ชิดทั้งเพื่อนและภรรยาได้กล่าวพ้องกันว่ามีเอวบางร่างน้อย กริยาท่าทางคล้ายผู้หญิงและเป็นนางละครชายที่สมจริง (กรมศิลปากร.  ประมวลบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคปกิณกะ. พระนคร : พระจันทร์, 2494)   

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงซ้อมรบเสือป่า ณ ค่ายหลวงบ้านไร่ เมืองราชบุรี (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แม้กระทั่งรัชกาลที่ 6 ทรงก็เคยแต่งหญิง เช่น การแสดงละครพูดเรื่อง มิตรแท้ (My Friend Jarlet) ของ Arnold Golsworthy และ E.B. Norman ซึ่งทรงแสดงเป็น มารี เลอรูซ์ นางเอกของเรื่องและเป็นตัวละครโปรดของพระองค์ ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.. 2443 (ปิ่น มาลากุล, ..,  โรงละครและการแสดงละครใน สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2540, หน้า 543.)

 ดังนั้นความเป็นชายตามนิยามของนายใน และรัชกาลที่ 6 จึงมองข้ามเรื่องเพศวิถี แต่มุ่งสนใจในการแสดงออกทางเพศสภาพและสถานภาพทางสังคม ยึดหลักเข้มแข็งและอ่อนโยน ที่ผู้ชายต้องมีความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ และรักพวกพ้อง ไม่มีการรังเกียจหรืออคติต่อคนในกลุ่มที่มีเพศวิถีและรสนิยมแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์พิเศษของสังคมชายล้วนของรัชกาลที่ 6 และนายใน ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นชายแบบชายรักชายเหมือนชาติตะวันตก 


อ้างอิง :

กรมศิลปากร. ประมวลบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคปกิณกะ. พระนคร : พระจันทร์, 2494

ชานันท์ ยอดหงส์นายในสมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. รื้อสร้างมายาคติความเป็นชายในสังคมไทยการทบทวนความเป็นชายในสังคมสยาม. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2562, จาก http://www.sac.or.th/conference/2017/blog-post/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2562