หลังเหตุการณ์ ร.ศ.130 รัชกาลที่ 6 ทรงตั้ง “กรมทหารรักษาวัง” เพราะทรงไม่วางพระทัยกองทัพ

ส่วนหนึ่งของ “คณะ ร.ศ. 130” (ภาพจากปฏิวัติ ร.ศ. 130, สำนักพิมพ์มติชน,2556)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจทางการทหารหลายกิจการ เช่น การก่อตั้งกองเสือป่า ราชนาวีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงการนำสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สร้างภาพลักษณ์ทางการทหารให้แก่พระองค์เอง

แต่มีพระราชกรณียกิจทางการทหารสำคัญเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้เป็นประเด็นพูดถึงกันเท่าใดนัก หากมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการสร้างภาพลักษณ์ทางการทหารให้แก่พระองค์ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อบรรดาทหารในกองทัพ

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติไม่นานนัก ได้เกิดเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ทหารจำนวนหนึ่งได้ลุกขึ้นมาก่อกบฏ แม้ว่าการก่อกบฏในครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เหตุการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในพระราชบัลลังก์ของในพระองค์ เพราะนับเป็นครั้งแรกของราชวงศ์ที่สถาบันกษัตริย์ถูกท้าทายพระราชอำนาจจากสามัญชน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ชุดกรมทหารรักษาวัง (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

หลังจากนั้นเพียง 3 เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่แน่พระราชหฤทัยต่อความจงรักภักดีของทหารในกองทัพบก และความหวาดกลัวว่าจะเกิดกบฏขึ้นอีก ด้วยเหตุนี้ “กรมทหารรักษาวัง” จึงได้ถูกสถาปนาขึ้นเพื่อทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยเป็นการส่วนพระองค์แทนที่ทหารจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และด้วยความมุ่งหวังส่วนพระองค์ว่ากรมทหารรักษาวังนี้จะเป็นหลักประกันต่อความมั่นคงในพระราชบัลลังก์ในพระองค์

กรมทหารรักษาวังที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่มีรูปแบบการจัดกำลังเช่นเดียวกับการจัดกำลังพลของทหารราบในสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยแบ่งออกเป็น 2 กองพัน คือ กองพันที่ 1 ประจำการอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง และกองพันที่ 2 ประจำการอยู่ที่พระราชวังดุสิต มีสมุหราชองครักษ์เป็นผู้บังคับการ ทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการ โดยใช้เงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินงบประมาณสำหรับบริหารกิจการภายในกรมทหารรักษาวัง และมีศาลทหารรักษาวังสำหรับพิจารณาคดีโดยเฉพาะ ทำให้สายการบังคับบัญชาของกรมทหารรักษาวังแยกออกจากกระทรวงกลาโหม

ในส่วนของกำลังพลนั้นโอนย้ายจากข้าราชบริพารที่สังกัดอยู่ในกรมวังนอกเดิมเข้ามาเป็นทหารรักษาวัง รวมถึงนายทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหมบางนายซึ่งทางกรมทหารรักษาวังได้ขอให้โอนย้ายมาสังกัดกรมทหารรักษาวัง นอกจากนี้แล้วยังมีข้าราชการในพระราชสำนัก รวมทั้งมหาดเล็กในพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมัครเข้าเป็นทหารรักษาวัง

ด้วยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงต้องการให้กรมทหารรักษาวังทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยและเป็นกองทัพส่วนพระองค์ ดังนั้น บรรดาผู้บังคับบัญชาของกรมทหารรักษาวังจึงเป็นบุคคลที่พระองค์ไว้วางพระราชหฤทัย โดยเฉพาะบรรดามหาดเล็กในพระองค์ที่ทำงานรับใช้ใกล้ชิดพระองค์มาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร เช่น พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ดำรงตำแหน่งจเรทหารรักษาวัง พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แมค เศียนเสวี) ดำรงตำแหน่งรองจเรทหารรักษาวัง หรือพระยาอนิรุทเธวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารรักษาวัง เป็นต้น

การที่ทหารส่วนใหญ่ในกรมทหารรักษาวังล้วนแต่เป็นข้าราชบริพารที่ถูกโอนย้ายมาจากกรมวังนอก ทำให้บรรดาทหารเหล่านี้ไม่มีความรู้ในเรื่องยุทธวิธีทางการทหาร หากจะมีอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อยจากการเข้ารับการฝึกเสือป่า ทำให้ทหารในสังกัดกรมทหารรักษาวังจำเป็นต้องเข้ารับการฝึกทหารเพื่อให้มีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับทหารโดยทั่วไป นอกจากนี้เพื่อเป็นการฝึกทหารในกรมทหารรักษาวังให้มีศักยภาพทัดเทียมกับทหารในสังกัดของกระทรวงกลาโหม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้มีการเปิดสอนหลักสูตรนายสิบตามแบบกองทัพบก โดยคัดเลือกผู้เรียนจากบรรดาพลทหารที่มีความสามารถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ทหารในกรมทหารรักษาวัง

สำหรับเครื่องแต่งกายของกรมทหารรักษาวังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบเครื่องแต่งกายของทหารกรมทหารรักษาวังด้วยพระองค์เอง ด้วยพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของกรมทหารรักษาวังแต่เดิมที่มีภาพลักษณ์ของพลเรือนให้มีภาพลักษณ์ของทหาร อย่างไรก็กรมทหารรักษาวังเป็นกองทหารส่วนพระองค์ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพบกแต่อย่างใด

เครื่องแบบของทหารในสังกัดกรมทหารรักษาวังจึงมีเอกลักษณ์และความแตกต่างอย่างชัดเจนกับทหารบก เช่น หมวกของกรมทหารรักษาวังจะใช้หมวดสักหลาดสีดำรูปค็อกแฮ็ต (Cocked Hat) โดยสวมตามแนวขวางแบบฝรั่งเศส แทนที่หมวกแบบเฮลเม็ต (Helmet) สีขาวที่ใช้กันในกองทัพบก รวมทั้งให้ใช้กระบี่ไทยฝักหนังสีดำ แทนที่กระบี่ยาวฝักทองขาว ในเวลาที่แต่งเครื่องแบบกรมทหารรักษาวังเต็มยศ รวมไปถึงการใช้สัญลักษณ์แทนพระองค์ให้ปรากฏอยู่ในเครื่องแบบของกรมทหารรักษาวัง อย่างการเปลี่ยนดุมเสื้อของทหาร จากเดิมที่ใช้ดุมทองเกลี้ยง ก็ให้เปลี่ยนเป็นดุมทองที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร. แทน

กรมทหารรักษาวังนอกจากจะมีส่วนในการสร้างภาพลักษณ์และพระราชอำนาจทางการทหารในฐานะกองทัพส่วนพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงใช้กรมทหารรักษาวังในการแทรกแซงกิจการภายในกองทัพบกอย่างเรื่องการเกณฑ์ทหาร โดยที่กรมทหารรักษาวังได้ทำการเกณฑ์ทหารเช่นเดียวกับกองทัพบก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการช่วยเหลือไม่ให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงวัง และข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารในสังกัดของกองทัพบก

เมื่อสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว กรมทหารรักษาวังตกอยู่สภาพเดียวกับกองเสือป่าที่กลายเป็นส่วนเกินของระบบราชการ เพราะเป็นสิ่งที่ถือกำเนิดขึ้นด้วยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อเป็นกำลังทหารส่วนพระองค์ และใช้ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ทางการทหารให้แก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดังนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลดความสำคัญของกรมทหารรักษาวังลงด้วยการลดทอนอัตรากำลังพลของกรมทหารรักษาวัง และเมื่อเข้าสู่ยุคคณะราษฎร กรมทหารรักษาวังก็ยุบเลิกไปด้วยหน่วยทหารภายใต้สังกัดของกองทัพบกแทน


ขอเชิญร่วมฟังเสวนา “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” : คณะทหารหนุ่มกับแนวทาง “ประชาธิปไตย” ในสยาม วิทยากรโดย ผศ. ดร. ณัฐพล ใจจริง, ผศ. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ คุณเอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐-๑๖.๓๐ น. ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี
.
กรุณาสำรองที่นั่งล่วงหน้า โทร. ๐ ๒๕๘๐ ๐๐๒๑ – ๔๐ ต่อ ๑๒๐๖, ๑๒๒๐ (ที่นั่งมีจำนวนจำกัด) หรือ inbox แจ้งชื่อ-นามสกุล มาที่เพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม

ข้อมูลจาก

เทพ บุญตานนท์. “กรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” : พลเรือนในเครื่องแบบทหาร, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2559


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563