“ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท” จ่ายเงินรางวัลให้ “บุคคลไร้ตัวตน” คดีทุจริตหวยสุดอื้อฉาวสมัย ร.6

ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท ลอตเตอรี่ ยุครัชกาลที่ 6
ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท (ภาพจากหนังสือสิ่งพิมพ์สยาม เอนก นาวิกมูล สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

ตามติดคดีฉาวเรื่อง “ลอตเตอรี่” ที่เปลี่ยนชีวิตคน แต่ “ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท” ในสมัยรัชกาลที่ 6 กลับจ่ายเงินให้บุคคลไร้ตัวตน จนตำรวจต้องสืบหาความจริง

หากพูดถึงลอตเตอรี่หรือสลากกินแบ่งรัฐบาลผู้คนก็จะเห็นเป็นช่องทางรวยอีกช่อง เพราะว่ารางวัลที่ได้รับนั้นมีมูลค่าสูง และด้วยรางวัลเหล่านี้ ทำให้ผู้คนเกิดการขวนขวายหาเลขเด็ดต่าง ๆ ไม่ว่าจะทางโลกก็ดี ทางไสยศาสตร์ก็ดี เพื่อให้พวกเขาได้รางวัลอันมากค่านั้น และด้วยรางวัลเหล่านั้น ทำให้เกิดคดีฉาวที่เกี่ยวข้องกับลอตเตอรี่ในหน้าประวัติศาสตร์ ช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งคดีที่จะกล่าวถึงนี้มีความน่าสนใจ เพราะเกิดจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเหล่าข้าราชการที่ดูแลการออกสลากและรางวัลโดยตรง

ลอตเตอรี่หรือสลากกินแบ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่มีประเด็น คือ ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท ที่ถูกพิมพ์ขึ้นมา 1 ล้านฉบับ ฉบับละ 1 บาท เพื่อใช้ในการระดมทุนจัดหาอาวุธให้กองเสือป่า อย่างไรก็ตาม เรื่องราวถูกผู้คนและหนังสือพิมพ์จับจ้องถึงความไม่น่าเชื่อถือในการจ่ายเงินรางวัล มีการตั้งข้อสงสัยว่าผู้ซื้อสลากและถูกรางวัล 3 รางวัลแรก คือ นายชื่น, นายเส็งและอีกคนหนึ่งที่ไม่ทราบชื่อแน่ชัด ตามลำดับ ที่มีการจ่ายเงินรางวัลไปแล้ว ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่? โดยลอตเตอรี่ระดมทุนนี้ มีต้นคิดและอำนวยการโดยมหาเสวกตรีและนายพลเสือป่า พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี

ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท (ภาพจากหนังสือสิ่งพิมพ์สยาม เอนก นาวิกมูล สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

คดีนี้ถูกตีแผ่เป็นเรื่องใหญ่โตเมื่อหนังสือพิมพ์เกราะเหล็กเกิดประหลาดใจในเลขรางวัลทั้งสาม ขึ้นต้นด้วย 183 ทั้งสิ้น และคณะแก่นเพชรก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี ผ่านการแสดงลำตัดและร้อยแก้ว ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังหนังสือพิมพ์อื่น ๆ ที่พูดถึงเรื่องดังกล่าวอย่างมากหลาย ถึงขั้นที่ว่าจั่วหัวในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ว่า ลากไส้พระยานนทิเสนจนเรื่องไปถึง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น จึงมีบัญชาการให้สืบสวนเจ้าหน้าที่และกรรมการที่ออกลอตเตอรี่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกฝรั่ง

ผลการสืบสวนพบว่า ผู้ได้รับรางวัล ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท ทั้งสามนั้น ไม่มีตัวตนอยู่จริง ซึ่งเป็นความจริงตามที่หนังสือพิมพ์สงสัย

ตำรวจกองพิเศษ (ซึ่งเปลี่ยนชื่อในภายหลังว่าสันติบาล”) ที่ได้สืบสาวเรื่องราวจนได้ข้อเท็จจริง จึงออกหมายจับ พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี, พระยาสิทธิศรสงคราม, หลวงอนุสรณ์นนทิกิจ และขุนสิทธิ์ เพื่อส่งให้ศาลโปริสภา (ศาลแขวงในปัจจุบัน) สอบสวนว่าคดีมีมูลจริง และส่งเรื่องให้กรมอัยการฟ้องต่อศาลอาญา และคดีก็สิ้นสุดที่ศาลฎีกา โดยตัดสินโทษจำคุก พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี จำเลยที่ 1 จำคุก 15 ปี พระยาสิทธิศรสงคราม จำเลยที่ 2 จำคุก 5 ปี หลวงอนุสรณ์นนทิกิจ จำเลยที่ 3 ศาลตัดสินปล่อยตัวทันที และจำเลยที่ 4 คือขุนสิทธิ์ ก็ได้ปล่อยตัวในชั้นศาลฎีกา

คดีลอตเตอรี่เสือป่าที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วงเวลานั้น กล่าวได้ว่าเป็นผลของสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นตัวช่วยเผยแพร่ข้อมูลและข้อสงสัย อันนำไปสู่การเสาะหาความจริงของคดีครั้งนี้ เรียกได้ว่า เป็นกระจกสะท้อนอิทธิพลของสื่อมวลชนต่อสังคมในการผลักดันการทำคดีของคณะตำรวจให้เปิดโปงความฉ้อฉลของคดีดังกล่าวได้สำเร็จ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สถิตย์ เสมานิล. (2514). วิสาสะ (ว่าด้วยการหนังสือพิมพ์ไทยยุครัชกาลที่ 5, 6 และ 7). จัดพิมพ์โดย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2562