ผลพวงออก “ลอตเตอรี่” สมัยพระเจ้าสีป่อ จนศีลธรรมสังคมพม่าเสื่อมโทรมรุนแรง

ลอตเตอรี่ พม่า สมัย พระเจ้าสีป่อ
ภาพกราฟฟิกที่ตกแต่งเพื่อประกอบเนื้อหา

ในสมัย “พระเจ้าสีป่อ” ราชสำนัก “พม่า” เผชิญปัญหาเงินในท้องพระคลังขาดแคลน หนทางในการแก้ไขปัญหาคือ การออกรางวัลสลากหรือ “ลอตเตอรี่” เพื่อนำเงินรายได้เข้าท้องพระคลัง แต่ลอตเตอรี่นี้กลับส่งผลลบต่อสังคมพม่าอย่างรวดเร็ว

เรื่องลอตเตอรี่นี้ นางกำนัลของพระราชินีศุภยาลัตเล่าว่า เสนาบดีคนหนึ่งเป็นผู้ริเริ่มขึ้น ในตอนนั้นเงินในท้องพระคลังขาดแคลน ไม่หลั่งไหลเข้ามาเหมือนเคย และพระราชินีศุภยาลัตก็ทรงใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ไปกับเครื่องประดับเพชรนิลจินดาและเรื่องอื่น ๆ วันหนึ่งเสนาบดีผู้นั้นจึงกราบทูลเสนอให้ออกลอตเตอรี่ต่อพระเจ้าสีป่อ

Advertisement

เสนาบดีอ้างว่า ลอตเตอรี่เป็นวิธีหารายได้ที่ค่อนข้างจะเป็นธรรม และหลายชาติก็ทำกัน การออกลอตเตอรี่ก็ให้รางวัลแก่ผู้ถูกรางวัล รัฐบาลจ่ายรางวัลอย่างซื่อสัตย์ แต่จะเก็บเงินบางส่วนไว้เป็นค่าธรรมเนียม นำเงินเข้าท้องพระคลัง ขณะที่ชาวบ้านเองก็ถือเอาการพนันลอตเตอรี่นี้เป็นที่สนุกสนานกันมาก จ่ายเงินด้วยความเต็มใจ ชาวบ้านจึงย่อมจะไม่โอดครวญ ดังนั้น พระเจ้าสีป่อ ทรงเห็นดีด้วย ลอตเตอรี่จึงถือกำเนิดขึ้น

ลอตเตอรี่พม่าสมัยพระเจ้าสีป่อ

ลอตเตอรี่มี 2 ประเภท คือ ลอตเตอรี่ประเภทเล็ก ออกรางวัลทุกวันตอนเที่ยง การออกลอตเตอรี่ประเภทนี้จะมีการใส่ลูกบอล 60 ลูก ไว้ในภาชนะ โดยจะมีลูกหนึ่งเป็นสีทอง เวลาออกรางวัล เสียงฆ้องจะดังขึ้น ภาชนะบรรจุลูกบอลถูกหมุนไปรอบ ๆ เมื่อคนออกรางวัลขาน “หมายเลข 1” ลูกบอลก็จะถูกปล่อยออกมา จะทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่หมายเลข 1-60 หรือจนกว่าลูกบอลสีทองจะถูกปล่อยออกมา หากตรงกับการขานหมายเลขใด หมายเลขนั้นคือหมายเลขถูกรางวัล

สำหรับลอตเตอรี่ประเภทใหญ่ ออกรางวัลทุกเดือน มีหมายเลขมากถึง 3,000-4,000 ใบ รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายรางวัล โดยมีรางวัลที่หนึ่งมูลค่ากว่า 10,000 รูปี การออกลอตเตอรี่จะมีพิธีการออกรางวัลใหญ่โต ผู้ถูกรางวัลจะถูกพาตัวขึ้นไปนั่งบนหลังช้างที่ตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วแห่ไปตามท้องถนนให้ผู้คนชื่นชมสรรเสริญ นางกำนัลของพระราชินีศุภยาลัตอธิบายว่า การถูกรางวัลลอตเตอรี่ใหญ่เป็นเรื่องพิเศษ แต่ไม่สนุกเท่ากับลอตเตอรี่เล็กที่มีให้เสี่ยงโชคกันทุกวัน

ลอตเตอรี่เป็นที่นิยมกันถ้วนทั่ว ผู้คนต่างแห่กันมาที่กรุงมัณฑะเลย์เพื่อเสี่ยงโชค แม้แต่เจ้านายในราชสำนักเองก็ไม่เว้น เสี่ยงโชคจนถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว นำเครื่องประดับไปขาย นางกำนัลของพระราชินีศุภยาลัตเล่าว่า

…ใครต่อใครในวังก็พากันซื้อ เจ้าหญิงบางองค์ถึงกับคลั่งเลยก็ว่าได้และตามซื้อสลากทุกวัน พอเงินหมดก็ไปขอเพิ่มจากพระราชินี พอพระราชินีไม่ให้อีกแล้วก็เอาเครื่องประดับเพชรพลอยทองหยองทุกสิ่งอย่างที่มีไปจำนำ แม้จะไม่เคยถูกรางวัลเลยแต่ก็ยังมุพนันเป็นบ้าเป็นหลัง บางคนถึงกับไปหาหมอดูและแทงพนันตัวเลขที่พวกหมอดูบอกมา และบางคนจะคอยสังเกตดูลางบอกเหตุต่าง ๆ นานา บ้างก็ใช้วิธีทำนายฝัน… พวกเจ้าหญิงไม่เคยถูกลอตเตอรี่เลย… บางองค์หมดตัวจนพระราชินีถึงกับกริ้ว…”

นางกำนัลของพระราชินีศุภยาลัตบรรยายสภาพความคลั่งไคล้ลอตเตอรี่ของชาวพม่า (โดยเฉพาะชาววัง) จากการหา “เลขเด็ด” ด้วยวิธีทำนายฝันว่า …ทุกคืนคนพวกนี้จะเข้านอนด้วยความหวังว่าจะฝันเห็นเลขนำโชค และทุกเช้าก็จะมาเล่าความฝันเปรียบเทียบกัน แล้วก็ช่วยกันตีความหมาย ทุกคนพยายามฝัน แต่ก็ยังชวดรางวัลอยู่ดี…”

ศีลธรรมสังคมพม่าเสื่อมโทรม

ในขณะที่ท้องพระคลังของราชสำนัก “พม่า” กำลังถูกเติมเต็มด้วยเงินรายได้มหาศาลจากลอตเตอรี่ แต่ศีลธรรมในสังคมพม่ากำลังถูกลดทอนและกัดกินลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ตามที่นางกำนัลของพระราชินีศุภยาลัตบรรยายว่า

“…ในเมืองยิ่งแย่หนักเข้าไปใหญ่ ชาวบ้านทั้งผู้หญิงผู้ชายแทงพนันครั้งแล้วครั้งเล่าจนหมดตัว เมื่อเสียไปครั้งแรก พวกเขาก็ไปแทงอีก หวังว่าจะได้ทุนคืน พอชนะขึ้นมาก็คิดว่า วิธีนี้หาเงินได้ง่ายดีกว่าต้องมานั่งค้าขายทํางานทําการหรือทําไร่ไถนา ก็เลยเล่นพนันต่อไปเรื่อย ๆ จนหมดตัว หลายคนถึงกับฆ่าตัวตาย

ลอตเตอรี่ก่อความหายนะไปทั่วอย่างที่ท่านคิดไม่ถึงเลยเชียวละ ตะขิ่น ผัวทะเลาะกับเมีย เมียก็ทะเลาะกับผัว เด็กผู้ชายขโมยข้าวของเพื่อเอาเงินมาแทงพนัน ส่วนพวกเด็กผู้หญิงก็หมดยางอายวิ่งไปแผงขายลอตเตอรี่กันเป็นแถว พวกที่เสียพนันก็กลายเป็นขโมยเป็นโจร บ้างก็คอยซุ่มอยู่แถวโรงลอตเตอรี่คอยดูว่า คนไหนได้รางวัลเพื่อจะเดินตามไปปล้นเงินระหว่างเขากลับบ้าน มีการฆ่าฟันกันเกิดขึ้นทุกวัน ลอตเตอรี่แพร่ลามไปทั่วบ้านทั่วเมืองราวกับไข้หวัด ผู้คนจากต่างเมืองและหมู่บ้านไกล ๆ พากันเดินทางมายังมัณฑะเลย์เพื่อแทงพนันจนทั้งเมืองหลวงเต็มไปด้วยผู้คนที่ไร้บ้านและสิ้นเนื้อประดาตัว…”

ความเสื่อมโทรมนี้ทำให้ราชสำนักต้องประกาศยกเลิกลอตเตอรี่เสีย แม้จะมีเงินรายได้มหาศาลเข้าท้องพระคลัง “…แต่เมื่อทรงได้ยินเรื่องราวของความพินาศล่มจมที่เกิดขึ้นไปทั่วแผ่นดิน และแม้กระทั่งเมื่อ ทอดพระเนตรไปรอบ ๆ พระราชวังและได้เห็นผู้คนมากมายหมดเนื้อหมดตัว เห็นบรรดาเจ้าหญิงสิ้นไร้เครื่องประดับ พวกมหาดเล็กไร้เงิน ลอตเตอรี่จึงถูกยกเลิกไป เพราะถ้าไม่เลิกมีหวังบ้านเมืองคงล่มจมเป็นแน่ การค้าขายคงหยุดชะงัก ไร่นาขาดคนเพาะปลูก และหมู่บ้านคงจะถูกทิ้งร้าง…”

อย่างไรก็ตาม พวกชาววังรู้สึกอดไม่ได้ที่ลอตเตอรี่ถูกยกเลิก เพราะทำให้หมดเรื่องคุย หมดเรื่องเล่นสนุกสนาน นางกำนัลของพระราชินีศุภยาลัตอธิบายว่า อย่างน้อยแล้ว การพนันเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำให้ชาววังได้พักจากเรื่องการวางอุบายและการล้างผลาญกันไม่รู้จบสิ้นของผู้คนในราชสำนักไปได้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน. (2558). H.Fielding. สุภัตรา ภูมิประภาส และสภิดา แก้วสุขสมบัติ ผู้แปล. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2563