
ผู้เขียน | ฮิมวัง |
---|---|
เผยแพร่ |
ไฉนแรงงานไพร่พลลิงของพระราม ใน “รามเกียรติ์” ต้อง “จองถนน” หนทางสู่ “กรุงลงกา” ไม่ใช้วิธีอื่น?
ใน รามเกียรติ์ การจะบุกไป กรุงลงกา มิใช่เรื่องยากเย็นอะไรสำหรับฝ่ายพระราม ที่มีไพร่พลลิงที่มีฤทธิ์เดชมากมาย ทั้งสุครีพ หนุมาน พาลี ฯลฯ เพียงแค่ใช้พลังอิทธิฤทธิ์ก็เหาะไปถึงกรุงลงกาภายในพริบตา หรือมีอีกหลากวิธี เช่น ให้โน้มพระเมรุบรรพตใช้เป็นทาง, วิดน้ำในทะเลให้แห้งข้ามไป, ให้ลิงขยายร่างใหญ่โต นำไพร่พลลิงใส่มือข้ามไป, นิมิตเป็นสำเภาใหญ่ใช้ข้ามไป หรือแม้แต่เอาหางพาดเชื่อมสองฝั่ง ให้ไพร่พลลิงไต่ข้ามไป
แต่ลิงนามว่า ชามพูวราช กราบทูลพระรามว่า การจะทำสิ่งเหล่านั้นไม่สมพระเกียรติยศ สมควรให้ไพร่พลลิงไปขนหินมาทิ้งลงทะเล หรือ “จองถนน” ข้ามไปยังกรุงลงกา ซึ่งพระรามก็ทรงเห็นชอบด้วยกับแผนการนี้
พระรามทรงมอบหมายให้สุครีพไปทำการจองถนน สุครีพจึงสั่งให้นิลพัทคุมไพร่พลลิงเมืองชมพู หนุมานคุมไพร่พลลิงเมืองขีดขิน ผลัดกันรับส่งนำหินทิ้งลงทะเลให้เป็นถนนข้ามไปยังกรุงลงกา
แต่นิลพัทกับหนุมานเกิดทะเลาะวิวาทต่อสู้กัน จนเกิดเสียงดังกัมปนาท “พสุธาอากาศไหวหวั่น โพยมพยับอับแสงสุริยัน คลุ้มควันมืดฟ้าธาตรี” พระรามรับสั่งให้พระลักษมณ์ไปตรวจสอบดู พบว่านิลพัทกับหนุมานต่อสู้กัน จึงนำตัวมาเข้าเฝ้าพระราม
พระรามเมื่อทรงทราบก็กริ้วมาก “ได้ฟังคั่งแค้นแน่นอุรา โกรธาดั่งไฟบรรลัยกาล” รับสั่งว่า ใช้ให้ไปจองถนน แต่เหตุใดต่างตนจึงอวดกล้า กระทำเรื่องไม่กลัวพระราชอาญาเช่นนี้ หากแม้นว่าไม่ติดพันสงคราม จะตัดเศียรประหารชีวิตเสีย
สุครีพกราบทูลขอให้ทรงผ่อนผัน มิให้ลงพระราชอาญาถึงตาย จึงกราบทูลถวายคำแนะนำ พระรามทรงเห็นชอบด้วยคำแนะนำนี้ จึงมีพระบัญชาให้นิลพัทไปรักษาเมืองขีดขิน คอยส่งเสบียงอาหารให้กองทัพทุกเดือน หากไม่จัดส่งเสบียงตามกำหนด “กูจะผลาญให้ม้วยชีวัน” ส่วนหนุมานให้ไปจองถนนให้เสร็จภายใน 7 คืน หากไม่เสร็จตามกำหนด “กูจะผลาญชีวีให้วายปราณ” เช่นกัน
ครั้นถึงริมฝั่งชลธาร แต่ศรีหนุมานชาญสมร
จึ่งพาพลทั้งสองพระนคร ไปยังสิงขรหิมวา
หยุดอยู่แทบเชิงคีรี จึ่งสั่งโยธีซ้ายขวา
ให้เข้าง้างขนศิลา แต่บรรดามาจงครบกัน

จากนั้น หนุมานเป็นผู้ควบคุมไพร่พลลิงทั้งหมดไปขนหินเพื่อมาจองถนน
บัดนั้น จึ่งหมู่วานรพลขันธ์
ต่างตนวิ่งวุ่นพัลวัน ยืนยันเข้าหักคีรี ฯ
บ้างหาบบ้างแบกทุกตัวลิง ช่วงชิงถุ้งเถียงกันอึงมี่
โห่ร้องก้องกึกเป็นโกลี กระบี่เต้นโลดไปมา
ไพร่พลลิง (ซึ่งคงมีจำนวนมหาศาล) ต่างเข้าแย่งเอาหินมาแบกมาหาม โห่ร้องเสียงดังกึกก้อง กระโดดโลดเต้นไปมา
บัดนั้น วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
เข้าช้อนเอาเขาหิมวา ด้วยกำลังศักดาเชี่ยวชาญ ฯ
ได้แล้วก็พาพลากร โยธาวานรทวยหาญ
ออกจากภูเขาหิมพานต์ ไปยังชลธารด้วยฤทธา ฯ
หนุมานซึ่งมีฤทธิ์เดชมากก็ขนเอาหินก้อนใหญ่ นำไพร่พลลิงออกจากภูเขาในป่าหิมพานต์ไปยังริมฝั่งทะเล
ครั้นถึงฟากฝั่งทะเลวน จึ่งสั่งพวกพลพร้อมหน้า
ให้วางซึ่งก้อนศิลา กองไว้ริมท่าสมุทรไท ฯ
บัดนั้น โยธาวานรน้อยใหญ่
บ้างทิ้งบ้างทุ่มเนื่องไป ลงไว้ริมฝั่งสาคร ฯ
ไพร่พลลิงนำหินมาวางกองไว้ริมฝั่ง แล้วจึงนำไปทุ่มทิ้งลงไปในทะเล
บัดนั้น ฝ่ายนิลราชชาญสมร
ผู้เดียวสำแดงฤทธิรอน ขนก้อนภูผาทิ้งไป ฯ
ศิลาจมเรียบระเบียบกัน เป็นแถวแนวคันถนนใหญ่
อันหมู่โยธีกระบี่ไพร โห่สนั่นหวั่นไหวเป็นโกลี ฯ
หนุมานทิ้งหินก้อนใหญ่ลงทะเล สร้างเป็นแนวถนนใหญ่ พวกไพร่พลลิงต่างก็โห่ร้องสนั่นหวั่นไหว แล้วการจองถนนก็ดำเนินขึ้น ยักษ์ฝ่ายทศกัณฐ์ที่ลาดตระเวนอยู่นั้น เมื่อเห็นลิง “หาบขนเอาก้อนศิลา มาทอดลงคงคาดั่งห่าฝน” ก็ตกใจรีบกลับกรุงลงกาไปแจ้งข่าว เมื่อทศกัณฐ์ทราบข่าวก็ร้อนใจมิใช่น้อย เกรงว่าหากฝ่ายพระรามข้ามมาถึงกรุงลงกาจะเดือดร้อนกันไปทั่วทั้งเมือง จึงวางแผนให้สุพรรณมัจฉาและพวกปลา “ล้างถนนศิลาเสียให้ได้”
เจ้าช่วยระงับดับเข็ญ ให้เย็นทั่วญาติวงศา
จงสั่งบริวารฝูงปลา ให้คาบศิลานั้นไป
ทิ้งเสียในอ่าวชเลวน อย่าให้เป็นถนนขึ้นได้
พ่อจะรางวัลอรไท สิ่งใดมิให้อนาทร
สุพรรณมัจฉาและพวกปลาก็ขนหินนั้นไปทิ้ง จนสุครีพเห็นเป็นที่ผิดสังเกต จึงแจ้งแก่หนุมาน หนุมานเองก็บอกว่า ตนก็คิดสงสัยอยู่เช่นกัน จึงว่ายน้ำลงไปตรวจสอบดู ก็พบสุพรรณมัจฉาและพวกปลา หนุมานเจรจากับสุพรรณมัจฉา พูดจาหวาดล้อมและได้เสียกัน จากนั้นสุพรรณมัจฉาจึงสั่งให้พวกปลาขนหินนำมาวางคืนตามแนวถนนดังเดิม
บัดนั้น ฝ่ายสุครีพหนุมานทหารกล้า
ครั้นเสร็จจองถนนด้วยศิลา ก็ให้โยธาวานร
เร่งรัดทุบปราบราบรื่น พื้นนั้นเรี่ยรายด้วยทรายอ่อน
ปักตรุยเส้นวาแน่นอน แล้วพากันบทจรเข้ามา
เมื่อจองถนนเสร็จสิ้น สุครีพและหนุมานก็ให้ไพร่พลลิงปรับหน้าถนนให้ราบเรียบด้วยทรายอ่อน ปักกรุย (ตรุย) หรือหลักที่ปักรายไว้เป็นเครื่องหมาย ให้พร้อมสำหรับการเดินทัพ จากนั้น
จะยกพหลพลไกร ข้ามมหาสมุทรไทไพศาล
ไปทวีปลงกากรุงมาร สังหารอสูรพาลา
ไม่มีสีวิกาญจน์ยานุมาศ จะเสด็จด้วยบาทอนาถา
จำจะให้เอารถรัตนา ไปถวายผ่านฟ้าทรงจร

อ่านเพิ่มเติม :
- “สะพานพระราม” ในตำนาน “รามายณะ” ถูกสร้างโดยกองทัพวานรเมื่อ 1.75 ล้านปีก่อน?
- “เหาะเกินลงกา” สำนวนเปรียบเทียบดีจาก “รามเกียรติ์” แต่ว่าใครสั่งให้ใครเหาะ
- เจาะลึกโขนยุครัตนโกสินทร์ ผ่าห้วงปริศนา สู่กระแสมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าเฟื่องฟูในสมัยใหม่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2563