เจาะลึกโขนยุครัตนโกสินทร์ ผ่าห้วงปริศนา สู่กระแสมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าเฟื่องฟูในสมัยใหม่

โขน ทศกัณฐ์ นั่งเมือง
ทศกัณฐ์นั่งเมือง ท่าที่ 1 (ภาพจาก ละครฟ้อนรำ ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำเต้น)

สำหรับผู้ที่สนใจนาฏศิลป์การแสดง หรือแม้แต่กลุ่มประชาชนทั่วไปจำนวนไม่น้อยน่าจะเริ่มตั้งข้อสังเกตกันว่า ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 จนถึงต้นปี 2563 รอบ 6 เดือนมานี้มักพบเห็นการแสดง “โขน” ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มต่างๆ มากมายหลายแห่ง คงต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าปลื้มปีติที่มาพร้อมกับความรู้สึกชวนสงสัยเล็กน้อย

การแสดงโขนที่ว่าเกิดขึ้นกระจายกันหลายแห่งนั้น คงต้องยกมาเอ่ยถึงเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ในช่วงต้นปีมีโขน ตอน “ศึกสัทธาสูร-วิรุญจำบัง” แสดงในงาน“เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (งานอุทยาน ร.2) ประจำปี 2563” ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์

Advertisement

ถัดมาไม่กี่สัปดาห์ ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ก็ปรากฏการแสดงโขน ตอน “อินทรชิตแผลงศรพรหมาศ” แสดงโดยกลุ่มศิลปินวังหน้า ในงาน “Singha Park Chiangrai International Balloon Fiesta 2020″ เห็นชื่อสถานที่แสดงโขนที่เชียงรายก็ต้องบอกว่า บรรยากาศการแสดงย่อมไม่ธรรมดา นี่ยังไม่รวมถึงการแสดงโขนของหน่วยงานราชการอย่างกรมศิลปากรที่มีแสดง โขน ตอน ชุดปราบกากนาสูร ที่โรงละครแห่งชาติในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และยังมักจัดอยู่เป็นระยะ ขณะที่นักท่องเที่ยวทั่วไปหากต้องการชมโขน ปัจจุบันศาลาเฉลิมกรุงก็จัดแสดงโขนในวันจันทร์ถึงศุกร์ วันละ 5 รอบอยู่เช่นเคย

เป็นเรื่องน่ายินดีที่กระแสโขนในปี 2563 เฟื่องฟูแพร่หลาย พบเห็นการแสดงได้ทั่วทุกหนแห่ง และคงเป็นเรื่องดีไม่น้อยที่ประชาชนชาวไทยจะได้รับทราบเส้นทางลมหายใจของโขนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งปรากฏอย่างเด่นชัดในยุคนี้ ผ่านความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย กว่าจะมาเป็นโขนอันสวยงาม นาฏกรรมล้ำค่าชนิดนี้มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

นาฏกรรมล้ำค่าอันเป็นที่รู้จักในนาม “โขน” คือนาฏศิลป์เก่าแก่ที่ปรากฏในแถบอุษาคเนย์ มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน ในสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานหลายชิ้นเกี่ยวกับการแสดงชนิดนี้สืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในยุคสมัยนี้นาฏกรรมเก่าแก่ยังมีบทบาทอย่างมากในราชสำนักและมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน บางช่วงที่ว่าก็มีความเป็นมาความเป็นไปน่าค้นหาเพิ่มเติม

ไม่ว่าโขนจะมีต้นกำเนิดจากที่ใดก็ตาม สำหรับโขนในไทยมีปรากฏหลักฐานในเอกสารทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินต้นๆ ปรากฏการแสดงหรือการละเล่นอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “เล่นดึกดำบรรพ์” หรือ “ชักนาคดึกดำบรรพ์” (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, 2525)

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สันนิษฐานว่า การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์อาจเป็นการเล่นแบบ “โขนโรงใหญ่” ครั้งแรกก็เป็นได้ เนื่องจากมีองค์ประกอบเข้าข่ายลักษณะชักนาคดึกดำบรรพ์ อันเป็นการแสดงตำนานตอนที่พระนารายณ์กวนเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนมในคติแบบฮินดู) เพื่อทำน้ำอมฤต เป็นการแสดงที่มีฝ่ายยักษ์และเทวดา ฉากใหญ่โต (เป็นเขาพระสุเมรุ) และบทร้องเดินเรื่องโดยที่นักร้องไม่ได้ร่วมแสดง โดยรวมถือเป็นการแสดงละครหรือตำนาน เพื่อถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงมีพระชนมายุยืนนาน

ด้วยลักษณะข้างต้น ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ สันนิษฐานเพิ่มเติมไว้ว่า การแสดงนี้อาจทำได้ไม่บ่อยนัก และอาจปรากฏไม่กี่ครั้งในแต่ละรัชกาล ไม่นานนักก็เริ่มเลือนหาย คงเหลือไว้แต่แสดงเรื่องรามเกียรติ์

สำหรับการแสดงโขน (ที่แน่นอนว่าต้องเล่นเรื่องรามเกียรติ์) เป็นที่ทราบกันดีว่า มีองค์ประกอบเกี่ยวข้องกับคติทางฮินดูเรื่องพระนารายณ์อวตาร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางฮินดู ดังนั้น ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา จึงมีการแสดงโขนเป็นมหรสพหลวง เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โขนที่ถือเป็นแบบฉบับสำคัญคือ “โขนหลวง” อันมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาดังที่กล่าว สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2

โขน โขนไทย
โขนจากไทยแสดงที่ออสเตรเลีย (ภาพจาก AFP)

“โขน” ในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2

สำหรับนาฏกรรมช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จะเป็นช่วงที่เพิ่งสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ ทรงมีพระราชภารกิจมากหลาย โดยเฉพาะการศึกสงครามที่ติดพันมา แต่ยังทรงสร้างสรรค์เรื่องรามเกียรติ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ แต่งขึ้นใหม่ในรูปบทละครที่ครบสมบูรณ์ อีกทั้งยังฟื้นฟูการแสดงละครในอย่างจริงจัง มีละครผู้หญิงทั้งวังหลวงและวังหน้า (สมหมาย จันทร์เรือง, 2562)

แต่ด้วยการเล่น “โขน” เป็นนาฏกรรมแห่งราชสำนัก ถือเป็นประเพณีตั้งแต่กรุงเก่า ไม่อนุญาตให้ฝึกฝนทั่วไป ผู้ที่จะเล่นได้ต้องเป็นบุคคล อาทิ มหาดเล็กที่โปรดให้มาฝึก มาจากตระกูลผู้ดี ฉลาด แต่เมื่อชายหนุ่มฝึกหัดแล้วได้ความคล่องแคล่ว อาจด้วยว่าเป็นประโยชน์ต่อทักษะการต่อสู้ เวลาต่อมาจึงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่ ผู้ว่าราชการเมืองหัดโขนของตัวเองได้

เมื่อมาถึงแผ่นดินสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มผ่อนคลาย การศึกสงครามไม่มากเทียบเท่าก่อน รัชกาลที่ 2 ทรงสนพระราชหฤทัยในศิลปะหลายแขนงตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ในรัชสมัยของพระองค์จึงถือว่าเป็นอีกช่วงที่ศิลปะหลายแขนงเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็น นาฏกรรม วรรณกรรม ฯลฯ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์รามเกียรติ์หลายตอนด้วย เช่น นางลอย พรหมาสตร์ และยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ใหม่สำหรับเฉพาะตอนที่ใช้แสดง

“โขน” สมัยรัชกาลที่ 3

สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ช่วงเวลานี้เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า การเมืองการปกครองมั่นคง ในเอกสารเรื่อง “นาฏศิลป์และละครไทย” โดยม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายไว้ว่า

“ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดการมหรสพต่างๆ ทรงเห็นว่า เป็นการบำรุงบำเรอที่ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและผิดหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นการบำรุงบำเรอตนเองเกินกว่าเหตุ โขนหลวงจึงร่วงโรยไปพักหนึ่งตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ลงมา…”

เป็นที่ปรากฏในบันทึกเอกสารว่า เมื่อรัชกาลที่ 3 เสวยราชย์ โปรดเกล้าฯ ให้เลิกละครหลวง ไม่ทรงเล่นละครตลอดรัชกาล สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายไว้ใน “ตำนานละครอิเหนา” ตอน ตำนานละครครั้งรัชกาลที่ 3 ว่า “…ถึงโขนข้าหลวงเดิม ซึ่งโปรดให้ฝึกหัดไว้เมื่อครั้งยังเป็นกรม เมื่อเสด็จผ่านพิภพแล้วก็โปรดให้เลิกเสียด้วย แต่การเลิกละครหลวงครั้งนั้น กลับเป็นเหตุให้เล่นละครกันขึ้นแพร่หลายกว่าแต่ก่อน” (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, 2464)

เมื่อสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจะพบว่ามีผู้ศึกษานาฏกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 เอาไว้ในรูปแบบงานวิทยานิพนธ์ชื่อ “รูปแบบนาฏกรรม” เป็นวิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย ภาควิชานาฏยศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยธรรมจักร พรหมพ้วย ผู้วิจัยบรรยายข้อมูลการศึกษาในแง่เชิงปริมาณของนาฏกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 (ทั้งในราชสำนักและงานราษฎร) มีลักษณะแตกต่างจากปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ว่า

“จำนวนชนิดของนาฏกรรมลดลงจากเดิม ไม่พบการแสดง เช่น ถิปลำ ม้าล่อช้าง ชวารำหน้า ปรบไก่ หุ่นลาว งิ้วญวน จีนเงาะ คงเหลือเพียงการแสดงที่ต้องมีตามจารีต เช่น ใช้เป็นมหรสพในการพระราชพิธีและพระราชประเพณีของหลวง หรือได้รับความนิยมจึงทำให้อยู่รอดและคงเหลือสืบมา”

เมื่อจำแนกลงลึกไปเป็นประเภทของนาฏกรรมแล้ว ในส่วนละคร ผู้วิจัยอธิบายว่า ละครเอกชนต่างนำเรื่องและแบบแผนละครรัชกาลที่ 2 มาใช้และหัดกันอย่างเปิดเผย เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงห้าม

สำหรับนาฏกรรมเฉพาะเจาะจงในราชสำนักอย่างโขน ในสมัยที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว รัชกาลที่ 3 พระราชทาน “โขนกรมเจษฎ” หรือโขนของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (สมัยนั้น เจ้านายมีนาฏกรรมสำหรับพระเกียรติยศ มีหัดโขนในสำนักของตัวเอง) ซึ่งเป็นโขนของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ไปยังพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2546, 351)

โขนสำรับนี้มีครูโขนคือ ครูเกษ พระราม ซึ่งถือกันว่าเป็นครูโขนคนสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นประธานไหว้ครูโขนและละครหลวง อีกทั้งยังมีเอกสารตำราใช้เป็นแบบแผนการไหว้ครูสืบทอดกันต่อมา

เมื่อสำรวจเรื่องความนิยมโดยทั่วไปแล้ว ผู้วิจัยมองว่า แม้จะมีโขนเล่นในงานโกนจุกของชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ด้วยรูปแบบที่เล่นกันมานานและแสดงตอนเดิมซ้ำไปมา ย่อมมีส่วนทำให้ความนิยมของโขนในสมัยรัชกาลที่ 3 ลดน้อยลง กลับเป็นละครและสักรวาเข้ามาแทนที่

อย่างไรก็ตาม โขนในราชการและมหรสพสมโภชก็ยังปรากฏให้เห็นทั่วไป บันทึกของจีนกั๊กยังกล่าวถึงลักษณะรูปแบบโขนในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่าใช้นักแสดงทั้งชายและหญิงรวมกันกว่าร้อยคน แต่งกายด้วยผ้าปักทองและสวมเครื่องประดับกันมากมาย (คำให้การจีนกั๊กเรื่องเมืองบาหลี, เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2561)

ข้อเท็จจริงหนึ่งเรื่องความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจการค้าในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์สนพระทัยเรื่องติดต่อการค้าขาย อาจสะท้อนผ่านผลการศึกษาด้านหนึ่งที่พบว่า รัชกาลที่ 3 ไม่ได้ทรงสนใจนาฏกรรมหลวงและส่วนของราษฎร (หมายถึงว่ามิได้ห้ามถึงขั้นปราบปรามแบบเข้มงวด ดังจะอธิบายต่อไป) จึงทำให้เกิดผลแง่หนึ่งว่า นาฏกรรมจึงเริ่มมีลักษณะเสรีมากขึ้น ไม่ได้เคร่งครัดและคงลักษณะตามแบบแผนในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2 และเมื่อประกอบกับการเปลี่ยนระยะเวลารับราชการจาก “เข้าเดือนออกเดือน” เป็น “เข้าเดือนออกสามเดือน” จึงทำให้(ราษฎร)มีเวลารับชมมหรสพมากขึ้น

นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังเป็นช่วงเวลาที่นาฏกรรมเผยแพร่ออกมาภายนอกวัง มีละครหลวงต่างออกมาภายนอก ศิลปะชั้นสูงแบบหลวงแพร่กระจายได้รับความนิยมกันอย่างหลากหลายอีกด้วย

โขน ผู้รับบท ทศกัณฐ์
ภาพประกอบเนื้อหา – นักแสดงโขนผู้รับบททศกัณฐ์ ถ่ายเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554 กรุงเทพฯ ( AFP PHOTO / PHILIPPE HUGUEN)

พอจะเห็นได้ว่า เมื่อสืบข้อมูลเกี่ยวกับนาฏกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว แม้ว่าอาจมีกระแสลดลงไปบ้างเมื่อพิจารณาจากหลักฐานว่า ไม่มีการเล่นโขนละครแบบเอิกเกริก อันเป็นผลเนื่องมาจากความเป็นเปลี่ยนแปลงตามสภาพในสังคมด้วย และเนื่องจากโปรดฯ ให้เลิกละครหลวง โขนหลวงอาจไม่ได้เฟื่องฟูในยุคนี้ แต่ในแง่นาฏกรรมในสังคมโดยรวมแล้วก็มีพลวัตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งไม่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะกริ้วกราดหรือทรงห้ามปรามอย่างใด ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์ไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรังเกียจการเล่นละครเป็นส่วนพระองค์จึงทรงเลิกละครหลวงเสีย เมื่อทรงทราบว่าใครหัดละครขึ้น ก็ย่อมจะทรงติเตียนเป็นธรรมดา แต่มิได้มีพระราชประสงค์จะให้เลิกละครเสียทั้งนั้นทีเดียว เพราะละครเป็นการเล่นสำหรับบ้านเมืองมาแต่โบราณ แม้มีงานมหรสพของหลวงก็ยังต้องเล่นละครอยู่ตามประเพณี

ข้อที่ทรงรังเกียจเฉพาะแต่การที่ผู้มีบรรดาศักดิ์หัดละคร แต่ฝ่ายข้างผู้ที่หัดเล่นละครก็มีข้ออ้างอย่างหนึ่งว่า แบบและบทละครซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงไว้เป็นของประณีตบรรจงไม่เคยมีเสมอเหมือนมาแต่ก่อน ถ้าทอดทิ้งเสียไม่มีใครฝึกหัดให้ละครเล่นรักษาไว้ แบบแผนละครหลวงก็จะสูญไปเสีย ความที่กล่าวข้อนี้เป็นความจริง ก็เหมือนเป็นเครื่องป้องกันอีกอย่าง 1 แม้พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจการเล่นละคร จึงมิได้ทรงห้ามปรามผู้อื่นโดยพระราชานุภาพ” (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2546, 351)

“โขน” สมัยรัชกาลที่ 4

เวลาต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นโขนหลวงละครหลวง ด้วยทรงเห็นว่าเป็นสิ่งคู่พระบารมีและเสริมพระเกียรติ (มัทนี รัตนิน, 2525) มีพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และพลเรือนหัดละครผู้หญิงได้อย่างเปิดเผย อีกทั้งยังให้เข้ามาแสดงถวายในพระบรมมหาราชวัง แต่ห้ามบังคับเด็กชายหญิงให้มาเล่นละครเหมือนแต่ก่อน และห้ามใช้เครื่องประดับพระยศอย่างกษัตริย์และเจ้าฟ้า

ใน พ.ศ. 2396 มีช้างเผือกช้างแรกมาสู่พระบารมีในสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกของ “พระยานิกรบดินทรมหากัลยาณมิตร” ซึ่งเขียนไว้ในประกาศพระบรมราชโองการ ว่าด้วย “เก็บภาษีโขนละคอนและการละเล่นอื่นๆ” พ.ศ. 2404 มีเนื้อหาตอนหนึ่งเชื่อมโยงความเชื่อเกี่ยวกับละครหลวงเป็นสิ่งคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับช้างเผือกว่า

“…ลครข้างใน (ละครใน-กอง บก. ออนไลน์) เป็นของสำหรับกันกับช้างเผือก ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีช้างเผือกนั้นเกลือกจะเป็นด้วยไม่มีลครข้างในกระมัง ขอพระราชทานได้ฝึกหัดจัดให้มีขึ้นไว้ตามธรรมเนียม”

ความเชื่อข้างต้น สันนิษฐานกันว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากคติแบบฮินดู ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คือพระผู้เป็นเจ้าอวตารมาเกิด ละครผู้หญิงในพระบรมมหาราชวังคือ นางอัปสรสวรรค์ร่ายรำถวาย เช่นเดียวกับการเล่นในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาจทำให้เป็นของต้องห้าม (มัทนี รัตนิน, 2525)

เมื่อรัชกาลที่ 4 พระราชทานให้บรรดาคณะโขนให้ฝึกหัดแสดงอย่างเปิดเผย ย่อมทำให้นาฏกรรมในไทยคึกคักและเริ่มทำให้บรรยากาศอบอวลด้วย “เสรีภาพ” พร้อมเข้าสู่สิ่งใหม่ๆ

โขน ตอน ถวายลิง
โขน ถวายลิงที่ 1 (ภาพจาก ละครฟ้อนรำ ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำเต้น)

พัฒนาการ “โขน” สมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเทวศร์วงษ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) เมื่อครั้งเป็นเจ้าหมื่นสรรเพ็ชภักดี บัญชาการกรมมหรสพและฟื้นฟูโขนหลวงขึ้น แต่ติดขัดเล็กน้อยเรื่องครูโขนที่เป็นเพศชายเริ่มสูงวัยกันแล้ว เหลือแต่ครูละครใน (ใช้เพศหญิงแสดง) ที่ยังเชี่ยวชาญแสดงเรื่องรามเกียรติ์ จึงใช้มาหัดโขนให้

เมื่อเป็นเช่นนี้ อิทธิพลละครในจึงเริ่มเข้ามาสู่โขนแบบดั้งเดิม เช่น ตัวพระตัวนางหรือเทวดาเปิดหน้าโขนแล้วผัดหน้าเหมือนละคร ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เชื่อว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมา การแสดงโขนจึงมีแบบแผนของละครในแทรกเข้ามาด้วย การดำเนินเรื่องก็ร้องโดยต้นเสียง และมีตัวรำอยู่ตลอด การเจรจาหรือพากย์ก็มีเป็นครั้งคราว

โดยรวมแล้ว นาฏกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหัวโค้งสำคัญ เป็นการบรรจบกันระหว่าง “ยุคเก่า” และ “ยุคใหม่” ในช่วงที่อิทธิพลจากตะวันตกมีเพิ่มขึ้น และถือเป็นรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ต้นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่ในไทยที่ออกดอกออกผลในเวลาต่อมา

ผลสืบเนื่องจากหัวโค้งสำคัญถึงปัจจุบัน

หากกล่าวโดยย่อ ภายหลังสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โขนก็เฟื่องฟูขึ้นตามลำดับ กระทั่งมาจนถึงยุคปัจจุบันที่ปรากฏการแสดงโขนโดยหน่วยงานต่างๆ มากมาย อาทิ ในปี 2563 การแสดงโขนสำหรับประชาชนเข้าชมในงาน “งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (งานอุทยาน ร.2) ประจำปี 2563” ณ อุทยาน ร.2 อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม จัดวันที่ 1 และ 2 กุมภาพันธ์ 2563 รายการแสดงในวันที่ 1 ก.พ. มีการแสดงศิลปะมากมาย รวมถึงโขน ตอน ศึกสัทธาสูร-วิรุญจำบัง โดยศิลปินสำนักการสังคีต กรมศิลปากร เเละสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

ขณะที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประชาชนทั่วไปจะมีโอกาสชมการแสดงโขนกลางแปลงในงาน “Singha Park Chiangrai International Balloon Fiesta 2020″ อันเป็นงานแสดงบอลลูนที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย จัดระหว่างวันที่ 12-16 กุมภาพันธ์ 2563

งานนี้ไม่ได้มีเพียงแค่บอลลูนที่ประชาชนให้ความสนใจ กิจกรรมอีกอย่างในงานคือการแสดงโขนกลางแปลง ตอน “อินทรชิตแผลงศรพรหมาศ” แสดงโดยกลุ่มศิลปินวังหน้า (กลุ่มผู้ศึกษาศิลปะโขน ละคร ดุริยางค์ และคีตศิลปไทย จากวิทยาลัยนาฏศิลป ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นวังหน้า รวมถึงผู้เคยทำงานเกี่ยวกับการแสดง และยังมีบุคคลภายนอกที่สนใจการแสดงแขนงนี้มารวมตัวทำงานเผยแพร่ส่งเสริมนาฏกรรมชนิดนี้)

การแสดงโขนกลางแปลงในงานนี้จะแสดงกลางสนามกว้าง ท่ามกลางบรรยากาศในธรรมชาติ มีฉากยกทัพ และการรบที่ใช้นักแสดงจำนวนมาก บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบการยกทัพ เดินเรื่องด้วยคำพากย์และเจรจา การแสดงโขนในงานบอลลูนครั้งที่ผ่านมาล้วนได้เสียงตอบรับที่ดีจากคนท้องถิ่น นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ

ผลตอบรับจากโขนที่จัดแสดงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตอกย้ำเป็นอย่างดีว่า นาฏกรรมอันล้ำค่านี้ได้รับความนิยมในวงกว้าง กระแสในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาอย่างกรณีองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศขึ้นทะเบียน “โขนในไทย” ในบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ช่วงเวลานั้นก็ทำให้โขนในไทยเป็นกระแสสืบเนื่องต่อมา

รอบ 2 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมสำคัญในแขนงต่างๆ ล้วนมีการแสดงโขนให้ได้ชม แต่ละครั้งมีผู้ชมเข้ามาสัมผัสอย่างเนืองแน่นเสมอ ไม่เพียงกลุ่มผู้ชมที่นิยมศิลปะแขนงนี้อยู่แล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่ และชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศจะเป็นกลุ่มที่พบเห็นในหมู่ผู้ชมได้มากขึ้น ยิ่งสถานที่จัดเป็นสถานที่ในบรรยากาศที่สวยงาม สิ่งแวดล้อมดีผสมผสานสอดคล้องเข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ยิ่งเป็นองค์ประกอบที่หนุนเสริมบรรยากาศการชมนาฏกรรมได้อย่างรื่นรมย์ดังเช่นภาพโขนกลางแปลงที่นำมาให้ชมเป็นตัวอย่าง

สมัยรัชกาลที่ 6

นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่ายุคสมัยนี้ถือเป็นยุครุ่งเรือง หรือกล่าวได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ของศิลปะการแสดงหลายประเภท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นนักปกครองที่ทรงรับดูแลกิจการศิลปะการแสดงด้วยพระองค์เอง นั่นทำให้ศิลปะ อาทิ โขน ละคร และดนตรีปี่พาทย์เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก

ย้อนไปเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงจัดให้มหาดเล็กในพระองค์หัดเล่นโขน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “โขนสมัครเล่น” ในเวลาต่อมา โขนคณะนี้เรียกอีกชื่อว่า “โขนบรรดาศักดิ์”

รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชูปถัมภ์ในศิลปะหลายแขนงไม่เพียงแค่โขนเท่านั้น แต่หากกล่าวถึงด้านโขน พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ซ้อมโขนละคร และให้รถยนต์หลวงรับนักเรียนมหาดเล็กหลวง มาร่วมซ้อมเป็นเสนายักษ์ เสนาลิง หรือบทบาทอื่น ในระหว่างซ้อมโขนละคร มักมีเรื่องราวที่ทำให้ทรงพระสรวลบ่อยๆ

การซ้อมครั้งหนึ่ง ซ้อมในตอนพระรามยกทัพรบทศกัณฐ์ พระรามแผลงศรถูกพวกยักษ์ล้มตายเกลื่อน รบกันถึงย่ำพระทินกรก็ยังหาแพ้ชนะไม่ได้ ทศกัณฐ์จึงเจรจาหย่าทัพว่า รุ่งขึ้นให้มารบกันใหม่ เมื่อทศกัณฐ์ยกทัพกลับเข้ากรุงลงกา เสนายักษ์ที่ต้องศรพระรามล้มลงก็ลุกขึ้นเข้าโรงไป แต่มีเสนายักษ์ตนหนึ่งเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงต้องศรพระรามหลับไปจริงๆ พวกยักษ์เพื่อนๆ กำลังจะเข้าไปปลุก พระองค์ทรงห้ามไว้ และรับสั่งว่า “ปล่อยให้มันนอนตามสบาย”

หลังจากกองทัพพระรามยกพลกลับเข้าโรงกันหมด เสนายักษ์ตนนั้นถึงรู้สึกตัว ลุกขึ้นนั่ง เมื่อไม่เห็นผู้ใดหลงเหลือ จึงทำท่าเร่อร่าวิ่งเข้าโรงไป รัชกาลที่ 6 ทรงพระสรวลและปรบพระหัตถ์ไล่หลัง (วรชาติ มีชูบท, 2561)

พระยาพรหมาธิบาล ทองใบ สุวรรณภารต ผู้เล่นเป็นทศกัณฐ์ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลที่ 6

เมื่อขึ้นครองราชย์ พระองค์โปรดเกล้าฯ โอนกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหรสพมาขึ้นกับกรมมหรสพ รวมถึงกรมโขนแต่เดิม ดังนั้น จึงมีทั้งโขนสมัครเล่นส่วนพระองค์ และโขนหลวงของกรมมหรสพ ทั้งกลุ่มยังเคยมาเล่นรวมกันด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้ครูโขนละครฝีมือดีมีบรรดาศักดิ์และราชทินนาม ช่วงเวลานั้นมีผู้เล่นเป็นทศกัณฐ์ที่มีชื่อเสียงมากคือ พระยาพรหมาธิบาล (ทองใบ สุวรรณภารต) มีคำบอกเล่ากันมาว่า เคยต่อท่ารำทศกัณฐ์ ของเจ้าจอมลิ้นจี่ ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นตัวทศกัณฐ์เลื่องชื่อจากเฒ่าแก่ลำไย น้องสาวของเจ้าจอมลิ้นจี่ ภายหลังเป็นครูยักษ์ในกรมมหรสพที่มีลูกศิษย์สืบทอดมาถึงปัจจุบัน (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 9)

ในสมัยนี้ยังปรากฏพระราชนิพนธ์บทโขน บทละคร ในรัชกาลที่ 6 หลายรูปแบบ พระราชนิพนธ์บทโขนและละครภาษาไทยล้วนมีจำนวนมากมาย มีทั้งที่พระราชนิพนธ์ตั้งแต่ทรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจนถึงช่วงขึ้นครองราชย์รวมเวลา 31 ปี เมื่อนับจำนวนปริมาณแล้ว ถึงกับมีผู้คาดการณ์กันว่า พระองค์พระราชนิพนธ์ละคร 1 เรื่อง ทุก 2 เดือน (Pin Malakul, 1975)

ส่วนการแสดงโขนในสมัยนี้ก็ถือได้ว่าเป็นช่วงรุ่งเรืองและเฟื่องฟูอย่างมาก ทั้งกระบวนท่ารำที่เป็นแบบแผน มีองค์ประกอบความงามของการแสดงศิลปะหลายแขนงครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวละคร บทขับร้องแบบละครใน บทพากย์เจรจาแบบโขน เครื่องแต่งกายแบบพระราชประดิษฐ์ เนื้อเรื่องที่ปรับปรุงให้ทันสมัย โดยเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งทรงศึกษาอย่างลึกซึ้ง และพระราชนิพนธ์บทพากย์เจรจา บทโขน และบทละครเรื่องรามเกียรติ์อีกหลายชุด

นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร และนายวง กาญจนวัจน กรมมหรสพ (ภาพจาก ละครฟ้อนรำ ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำเต้น)

ยุคหลังรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 8

ตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 8 ไทยเผชิญหน้าวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากสงครามโลก และเมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตในพ.ศ. 2468 ที่ประชุมเสนาบดีมีมติยุบกรมมหรสพ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริเรื่องรักษาศิลปะการแสดงมหรสพ โปรดเกล้าฯ ให้กรมมหรสพในรัชกาลที่ 6 เข้าไปอยู่ในกระทรวงวังเมื่อ พ.ศ. 2469 หลังจากนั้น ศิลปินที่โอนเข้ามาอยู่ในกระทรวงวังได้รวบรวมบุตรหลานมาฝึกหัดโขนละคร ในยุคนั้นมีพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ครูโขนละครคนสำคัญ ก็กลับมาเข้ารับราชการเป็นผู้กำกับปี่พาทย์และโขนหลวงในสังกัดกระทรวงวัง

พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ครูละครหลวง

พ.ศ. 2478 กระทรวงวังปรับปรุงระบบบริหารราชการครั้งใหญ่ โอนงานช่างกองวังนอกและกองมหรสพไปอยู่ในสังกัดกรมศิลปากร ข้าราชการที่เป็นศิลปินก็ย้ายมาด้วย โขนของกรมมหรสพ กระทรวงวังจึงเป็น “โขนกรมศิลปากร” มาตั้งแต่นั้น

ในรัชสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การเล่นโขนก็เงียบเหงาอีกครั้ง หลังสงครามจบลงก็มีความพยายามฟื้นฟูโขนกลับมา แต่ด้วยปัญหาเรื่องคนซึ่งขาดช่วงไป ผู้เล่นที่เชี่ยวชาญจริงเหลือไม่มากนัก ไม่สามารถจัดแสดงโขนชุดใหญ่ให้สมฐานะ กรมศิลปากรจึงเปิดรับสมัครนักเรียนนักเรียนเข้าโรงเรียนนาฏศิลป ครูอาจารย์ฝึกหัดอบรมนักเรียนและผลิตผู้เล่นมีฝีมือออกแสดงในงานมหรสพต่างๆ และงานในราชการอย่างต่อเนื่อง

สมัยรัชกาลที่ 9 ถึงปัจจุบัน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงร่วมอุปถัมภ์การแสดงโขน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริเรื่องฟื้นฟูโขน และมีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับการส่งเสริมและจัดสร้างเครื่องแต่งกาย โปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาวิธีแต่งหน้าโขนที่เปิดหน้า ส่งผลให้เกิดช่างฝีมือหลายด้าน อาทิ หัวโขน ทอผ้า แกะสลัก ช่างเขียน และช่างแต่งหน้า

ที่สำคัญคือ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดแสดงโขนถวายมายาวนานนับทศวรรษ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงโขนสู่ประชาชนทุกปี ผศ.ดร. สมหมาย จันทร์เรือง เล่าว่า ทรงเลือกตอนที่จะจัดแสดงด้วยพระองค์เอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ประชาชนเรียกโขนที่จัดแสดงโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ว่า “โขนพระราชทาน” 

มูลนิธิ​ศีล​ปา​ชีพฯ ​จัดการ​แสดง​โขน​ชุด​นางลอย ตาม​พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่ง​เป็น​การ​ซ้อมใหญ่ ใน​รอบ​สื่อมวลชน ที่​ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2553 (ภาพจากศูนย์ข้อมูลมติชน)

เมื่อ พ.ศ. 2562 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2562 ตอน “สืบมรรคา” รอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562

สถาบันและหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนแห่งอื่นที่ยังสนับสนุนศิลปะโขน สืบสานมาจากยุคก่อนทั้งโขนธรรมศาสตร์ กรมศิลปากร ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ มูลนิธิคึกฤทธิ์ก็จัดแสดงโขนใหญ่ประจำปีเมื่อปี 2562 เช่นกัน

ชุมนุม​โขน​ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดง​โขน​ตอน​นางลอย ใน​งาน​รำลึก​การ​จาก​ไป​เป็น​ปี​ที่ 15 ของ ม.ร.ว.​คึก​ฤทธิ์ ปราโมทย์ ณ บ้าน ม.ร.ว.​คึก​ฤทธิ์ เมื่อ 9 ต.ค. พ.ศ. 2552 (ภาพจากศูนย์ข้อมูลมติชน)

เชื่อว่าการแสดงโขนในงานต่างๆ ทั้งที่กล่าวถึงมานี้ไปจนถึงการแสดงที่จะเกิดในอนาคต ล้วนเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือผู้ศึกษาศิลปะ เพื่อร่วมกันสนับสนุนการสืบสานศิลปะอันล้ำค่าให้คงอยู่อย่างยืนยาว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์. “นาฏศิลป์และละครไทย”. ใน ลักษณะไทย ศิลปะการแสดง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2551.

จรรมนง แสงวิเชียร, บรรณาธิการ. โขน ศาลาเฉลิมกรุง. กรุงเทพฯ : ดาวฤกษ์ คอมมิวนิเคชั่นส์. ไม่ปรากฏปี.

ชวลิต สุนทรานนท์. “โขน นาฏกรรมล้ำค่า”. ใน โขน : อัจฉริยนาฏกรรมสยาม. กรมศิลปากร, 2556.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ละครฟ้อนรำ ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำรำเต้น ตำราฟ้อนรำ ตำนานเรื่องละครอิเหนา ตำนานละครดึกดำบรรพ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.

วรชาติ มีชูบท. ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.

มัทนี รัตนิน. “พัฒนาการของนาฏศิลป์และการละคอนสมัยใหม่”. ใน ลักษณะไทย ศิลปะการแสดง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2551.

ธรรมจักร พรหมพ้วย. รูปแบบนาฏกรรมในรัชกาลที่ 3. วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย ภาควิชานาฏยศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  E-Journal Humanities, Social Sciences and arts. 2019. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2563.

ออนไลน์

สมหมาย จันทร์เรือง. “โขนพระราชทาน ‘สืบมรรคา’ : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง. มติชน. ออนไลน์. เผยแพร่ 24 พฤศจิกายน 2562. เข้าถึง 29 มกราคม 2563. <https://www.matichon.co.th/columnists/news_1764227>

____________. “โขนไทยกับมรดกวัฒนธรรมอาเซียน โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง”. มติชน. ออนไลน์. เผยแพร่ 24 ตุลาคม 2562. เข้าถึง 29 มกราคม 2563. <https://www.matichon.co.th/columnists/news_1723859>

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ตำนานละครอิเหนา. วชิรญาณ. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2563. <https://vajirayana.org/%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2>

เอกสารอื่น

M.L. Pin Malakul, “Dramatic Archievement of King Rama VI”, JSS, July 1975. Vol.63 pr.2, p.271. อ้างถึงโดย มัทนี รัตนิน. “พัฒนาการของนาฏศิลป์และการละคอนสมัยใหม่”. ใน ลักษณะไทย ศิลปะการแสดง.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2563