โขน วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ยูเนสโกตัดสิน วิน-วิน ทั้งไทยและกัมพูชา

ภาพประกอบเนื้อหา - นักแสดงโขนผู้รับบททศกัณฐ์ ถ่ายเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554 กรุงเทพฯ ( AFP PHOTO / PHILIPPE HUGUEN)

จากดราม่าเรื่อง “โขน” ที่จบไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับการที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้ทั้ง “โขนไทย” และ “โขนกัมพูชา” ขึ้นทะเบียนบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทำให้เกิดความสับสนงงงวยกันทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชาว่าตกลงแล้ว “โขนเป็นของใครกันแน่?”

อันที่จริงแล้ว ประเด็นเรื่องถิ่นกำเนิดโขนเคยเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันดุเดือดมายาวนาน และดูเหมือนจะปะทุขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ ดังเช่นในช่วงเดือนมีนาคม 2560 หลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรมไทยประกาศจะขอขึ้นบัญชีโขนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับโลก ก็ได้เกิดกระแสความไม่พอใจของชาวกัมพูชา โดยทั้งแหล่งข่าวและประชาชนกัมพูชาทั่วไปออกมาให้ข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ ว่าที่จริงแล้ว “โขนเป็นของกัมพูชา” ดังจะเห็นได้จากข่าวใน “พนมเปญโพสต์” สื่อใหญ่ภาษาอังกฤษของกัมพูชาที่เผยแพร่ข้อความส่วนหนึ่งว่า

“ละโคนโขลของกัมพูชาเป็นละครรำที่นำเรื่องราวมาจาก Reamker บทประพันธ์ของกัมพูชาซึ่งนำโครงเรื่องมาจากมหากาพย์รามายณะในภาษาสันสกฤตอีก ที-และโขนหลวงของไทยก็เชื่อกันว่ามีรากกำเนิดมาจากรูปแบบของกัมพูชา”

แหล่งข่าวนี้ยังได้กล่าวอ้างถึงข้อมูลในหนังสือ “Acting: An International Encyclopedia of Traditional Culture” (การแสดง: สารานุกรมนานาชาติว่าด้วยวัฒนธรรมตามจารีต” โดย เบธ ออสเนส (Beth Osnes) ซึ่งให้ข้อมูลตอกย้ำที่มาของโขน ว่า

“ถูกขโมยไประหว่างที่ไทยเข้ารุกราน และถูกนำกลับไปยังประเทศไทยเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับราชสำนัก”

นอกจากสื่อของกัมพูชาเองแล้วก็พบว่าชาวกัมพูชาทั่วไปก็มีความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับเหตุการที่เกิดขึ้น ดังที่ได้มีโพสต์ภาษาอังกฤษแชร์กันโดยทั่วในเฟซบุ๊กว่า

“ละโคนโขล (Lakhon Khol) หรือระบำหน้ากากเป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา 100% มันคือมรดกจากบรรพชนชาวขแมร์จากยุคที่สยาม (ประเทศไทย) ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ มันเก่าแก่ยิ่งกว่าประเทศที่เรียกตัวเองว่าไทย แม้ว่าเราจะสูญเสียบันทึกเอกสารเกี่ยวกับการละเล่นนี้ไปในช่วง สงครามกลางเมือง และสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่มันยังคงได้รับการบันทึกและรับรู้กันว่าเป็นระบำตามจารีตของกัมพูชา เราไม่เห็นด้วยและจะไม่ยอมให้ไทยมาอุทธรณ์ต่อยูเนสโกว่าระบำตามจารีตขแมร์ เป็นระบำดั้งเดิมของตน โปรดแสดงความรับผิดชอบและทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง เราจะไม่ยอมยุติข้อเรียกร้องนี้จนกว่าจะได้รับความยุติธรรมด้วยการยอมรับว่า ละครโขนหรือระบำหน้ากากเป็นของขแมร์/กัมพูชา”

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเรื่องที่ว่าโขนมีต้นกำเนิดมาจากกัมพูชานี้ แม้แต่นักวิชาการไทยอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ เองก็ยังเห็นด้วย เพราะในหนังสือ วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “โขนอยุธยาจากขอม” สุจิตต์ได้ให้คำอธิบายที่มาของวัฒนธรรมโขนในไทยว่า

“พิธีกวนเกษียรสมุทรของราชสำนักขอมกัมพูชา เป็นต้นแบบให้ราชสำนักไทยสยามอยุธยา ที่นับถือศาสนาผี – พราหมณ์ – พุทธ มีการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราพิเษก ซึ่งจะมีพัฒนาการเป็นโขนต่อไป”

ทศกัณฐ์นั่งเมือง ท่าที่ 1 (ภาพจาก ละครฟ้อนรำ ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำเต้น)

ถึงแม้เรื่องที่ว่าโขนไม่ได้ถือกำเนิดในประเทศไทยจะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสุจิตต์ ยังได้ขยายความต่อไปอีกว่ารากเหง้าเดิมของโขนในรูปแบบปัจจุบันนี้ก็คือการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมของอินเดียและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์ กล่าวคือเครื่องแต่งกายมาจากอินเดียและเปอร์เซีย ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นคำว่า “โขน” นั้นได้มาจากคำพื้นเมืองตระกูลชวา-มลายูว่า “Lakon” หรือ “Lakun” หรือคำบาหลีว่า “Legong” สำหรับท่าโขนและปี่พาทย์รับโขนก็ได้มาจากวัฒนธรรมการเต้นและการดนตรีของชาวอุษาคเนย์เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว นอกจากนี้การพากย์โขนที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์นั้นก็มีแบบแผนมาจากกัมพูชา และการเจรจาโขนแต่งด้วยร่ายยาวนับเป็นร้อยกรองก็เป็นของพื้นเมืองดั้งเดิมตระกูล ลาว-ไทย

จากคำอธิบายข้างต้นนี้ สุจิตต์จึงได้ให้ข้อสรุปว่า “โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์ มีรากเหง้าความเป็นมาร่วมกัน จะแยกโดด ๆ มิได้ ว่าเป็นสมบัติของใครของมัน หรือของที่นี่ ที่โน่น ที่นั่น”

ทั้งนี้ข้อสรุปดังกล่าวก็อาจช่วยบรรเทาดราม่าการแย่งกันแสดงความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมโขน เพราะแท้จริงแล้วโขนไม่ใช่ของไทยหรือของกัมพูชาแต่เป็นวัฒนธรรมร่วม ไม่ควรมีใครออกมาแสดงความเป็นเจ้าของ อีกทั้งการที่ไทยหรือกัมพูชาเสนอให้องการยูเนสโกประกาศให้โขนขึ้นทะเบียนบัญชีมรดกวัฒนธรรมก็ไม่ใช่วิธีการแสดงความเป็นเจ้าของแต่อย่างใด หากแต่เป็นความพยายามที่จะคงรักษาวัฒนธรรมนี้เอาไว้ดังที่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ขณะนั้น ได้กล่าวไว้ว่า

“…การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เป็นความภาคภูมิใจของประเทศที่นำเสนอให้ขึ้นทะเบียนไม่ใช่การจดลิขสิทธ์หรือการแสดงความเป็นเจ้าของ ที่สำคัญการแสดงโขนของกัมพูชาและการแสดงโขนในประเทศไทยต่างมีแบบแผนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองและเป็นเครื่องแสดงความภาคภูมิของประเทศ”

 


อ้างอิง :

“โขน, ละคร”. จากหนังสือ “วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์นาตาแฮก. 2559

“จบดราม่า… “โขนไทย-โขนเขมร” ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทั้งคู่ รมว.วัฒนธรรมยืนยันไม่ซ้ำซ้อนกัน”. ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ <https://www.prachachat.net/spinoff/culture/news-258122>

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “โขน มาจากไหน”. เอกสารประกอบการเสวนา เนื่องในงานสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2556 ณ สังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2556
<http://www.sujitwongthes.com/…/u…/2013/04/khon3april1530.pdf>

“Thai claim to dance draws ire”. The Phnom Penh Post.
<http://www.phnompenhpost.com/nat…/thai-claim-dance-draws-ire>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2561