ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | วริษา กมลนาวิน ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
เผยแพร่ |
หมายเหตุ : ดัดแปลงมาจากบทความเรื่อง “การวิเคราะห์ระบบเสียงวรรณยุกต์ของชาวกรุงศรีอยุธยาจากเสียงเจรจาโขนและจินดามณี” ของผู้เขียน ในวารสารศิลปศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในวโรกาสพระชนมายุ 80 พรรษา (ดูรายละเอียดในเอกสารอ้างอิง)
ในหนังสือ “อยุธยายศยิ่งฟ้า” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ (2544) คุณสุจิตต์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสำเนียงภาษาโขนไว้ดังนี้
“…สำเนียงเจรจาโขน คือสำเนียงหลวง ที่ชาวกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นพูดจากันในชีวิตประจำวัน รวมทั้งในราชสำนักด้วย (น.248)
...สำเนียงพูดของคนส่วนใหญ่ในยุคอยุธยาน่าจะมีหางเสียงลากยาวกว่าปัจจุบัน และควรจะเป็นสำเนียงอย่างที่ทุกวันนี้เรียกว่า “เหน่อ” อย่างสำเนียงสุพรรณบุรี-เพชรบุรี มีหลักฐานอยู่ในบทละครนอกสมัยอยุธยาที่เขียนลงในสมุดข่อย ลงวรรณยุกต์ไว้จะใกล้เคียงกับสำเนียง “เหน่อ”
หลักฐานอีกอย่างหนึ่งคือลีลาเจรจาโขน เพราะโขนเป็นการละเล่นศักดิ์สิทธิ์ มีการเปลี่ยนแปลงน้อย เพราะต้องรักษา “ขนบ” ของโขนยุคอยุธยาอย่างแข็งแรงรวมทั้งเจรจาโขนก็ต้องรักษาลีลาสำเนียงดั้งเดิมไว้จนถึงทุกวันนี้ ถ้าเทียบกับลีลาเจรจาโขนกับสำเนียง “เหน่อ” แล้ว จะได้ยินเป็นสำเนียงเดียวกันไม่ผิดเพี้ยน หากลองให้ชาวบ้านนอกเมืองสุพรรณบุรีปัจจุบันลองเปล่งสำเนียงปกติในชีวิตประจำวันแต่ว่าตามบทเจรจาโขน ก็จะฟังเป็นสำเนียงที่คนเจรจาโขนปฏิบัติอยู่นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้จึงน่าเชื่อว่าราษฎรส่วนใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาพูดจากันด้วยสำเนียงอย่างหนึ่ง ที่ปัจจุบันเรียกว่า “เหน่อ”…” (น.251)
หมายเหตุ : ผู้เขียนเป็นผู้เน้นข้อความที่คุณสุจิตต์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้
คำกล่าวของคุณสุจิตต์มีประเด็นน่าสนใจและก่อให้เกิดคำถามดังนี้
1. ความเห็นที่ว่าสำเนียงพูดของคนส่วนใหญ่ในยุคอยุธยาน่าจะมีหางเสียงลากยาวกว่าปัจจุบันนั้น หากมาจากข้อสังเกตที่ว่าเพราะบทเจรจาโขนมีลักษณะลากเสียงยาวก็ดูยังมีข้อน่าสงสัยอยู่ เพราะการละเล่นโขนเป็นศิลปะที่มีท่าร่ายรำประกอบ การขับร้องอันประกอบไปด้วยบทพากย์ บทเจรจา และบทร้องเป็นองค์ประกอบที่ผู้พากย์เจรจาจะต้องออกเสียงให้ตรงจังหวะท่ารำของผู้แสดงอย่างผสมกลมกลืน มิใช่เป็นบทสนทนาในชีวิตประจำวันดังเช่นการแสดงละครหรือภาพยนตร์ทั่วไป บทเจรจาโขนจึงย่อมต้องมีลักษณะน้ำเสียงช้าลงกว่าคำพูดปกติ นอกจากนี้บทเจรจาโขนเป็นกลอนที่มีข้อความร่ายยาว โดยผู้เจรจาต้องคำนึงถึงสัมผัสที่คล้องจองกันด้วย ฉะนั้นจึงไม่น่านำการ “ลากเสียงยาว” ของบทเจรจาโขนมาเป็นหลักในการตีความว่าสำเนียงภาษาในสมัยกรุงศรีอยุธยาน่าจะลากเสียงยาวกว่าในปัจจุบันได้
2. คุณสุจิตต์กล่าวว่าสำเนียงเจรจาโขนกับสำเนียงสุพรรณบุรี-เพชรบุรี ที่เราเรียกกันว่า “เหน่อ” นั้น เป็นสำเนียงเดียวกัน “ไม่ผิดเพี้ยน” ในข้อนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยเท่าใดนัก เป็นที่ทราบกันดีว่าธรรมชาติของภาษา (และในที่นี้หมายถึงภาษาพูด) ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงเสมอ ทั้งที่สังเกตได้และไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราคงจะสังเกตเห็นว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่ออกเสียง ร เรือ และ ล ลิง ปะปนกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองเสียงนี้ซึ่งถือเป็นคนละหน่วยเสียงในภาษาไทยกำลังจะวิวัฒนาการมาเป็นหน่วยเสียงเสียงเดียวกันในอนาคต ในทางตรงข้ามหากนำสำเนียงของคนรุ่นปู่ย่าตายายมาเปรียบกับสำเนียงของเด็กรุ่นหลาน เราอาจไม่ได้สังเกตเห็นว่าเสียงวรรณยุกต์ของคนทั้งสองรุ่นแตกต่างกันนัก ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เช่นการเปลี่ยนแปลงของเสียงวรรณยุกต์โทในภาษาไทยกรุงเทพฯ (วรรณา เทียนมี, 2525 และผณินทรา ธีรานนท์, 2545)
ฉะนั้นหากสำเนียงโขนคือตัวแทนสำเนียงของคนอยุธยาในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว สำเนียงของคนอยุธยาหรือคนในจังหวัดใกล้เคียงก็ไม่จำเป็นต้องมีสำเนียงเดียวกันกับสำเนียงภาษาโขน เพราะเสียงย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาดังกล่าวมาแล้ว
อนึ่งประเด็นที่ว่าสำเนียงเจรจาโขนจะเหมือนหรือต่างจากสำเนียงสุพรรณบุรี-เพชรบุรีปัจจุบันหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการนำสำเนียงเจรจาโขนมาเปรียบเทียบกับระบบเสียงวรรณยุกต์ของภาษาไทยถิ่นกลางที่ครอบคลุมจังหวัดต่างๆ ทางภาคกลางของประเทศ ซึ่งได้มีผู้ศึกษาระบบเสียงวรรณยุกต์ไว้หลายจังหวัดด้วยกัน ทั้งในจังหวัดอยุธยาและอ่างทอง (ยาใจ มาลัยเจริญ, 2530) รวมถึงจังหวัดรายรอบ ได้แก่ สุพรรณบุรี (ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์, 2526) นครปฐม (จรรยา นวลจันทร์แสง, 2535) ราชบุรี (ลอรัตน์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, 2525) และเพชรบุรี (อภิญญา พรสิบ, 2537)
เพื่อตอบข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนได้ทำการวิจัยด้วยการเก็บตัวอย่างสำเนียงเจรจาโขนหลวง จากการขับร้องของคุณวิทยา แสงสมมาตร์ นักพากย์เจรจาโขนและนักเชิดหุ่นละครเล็กคณะโจหลุยส์ เธียเตอร์ แล้วนำข้อมูลเสียงเจรจาโขนนั้นมาวิเคราะห์หาระบบเสียงวรรณยุกต์ตามวิธีการวิเคราะห์ระบบเสียงวรรณยุกต์ของภาษาไทยถิ่น ซึ่งเสนอโดยศาสตราจารย์วิลเลียม เจ. เก็ดนีย์ (William J. Gedney, 1972)1
ผู้เขียนพบว่าสำเนียงเจรจาโขนมีลักษณะร่วมของระบบเสียงวรรณยุกต์ของภาษาไทยถิ่นกลางอย่างชัดเจน แต่เมื่อนำระบบเสียงเจรจาโขนมาเปรียบเทียบกับระบบเสียงวรรณยุกต์ของภาษาไทยถิ่นกลาง ปรากฏว่ายังไม่พบระบบวรรณยุกต์ของภาษาไทยกลางถิ่นใดที่มีเสียงวรรณยุกต์ตรงกับสำเนียงเจรจาโขนเลยแม้แต่ถิ่นเดียว ซึ่งนั่นมิได้หมายความว่าสำเนียงโขนมิใช่ตัวแทนของสำเนียงชาวกรุงศรีอยุธยา ในทางตรงข้ามหากสำเนียงโขนเป็นสำเนียงของชาวกรุงศรีอยุธยาจริง ก็มิใช่เรื่องประหลาดที่เราไม่พบสำเนียงนี้ในปัจจุบัน เพราะนับจากช่วงที่มีการละเล่นโขนในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงวันนี้ เวลาได้ล่วงเลยมากว่า 300 ปีแล้ว เสียงพูดจึงย่อมเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา
3. คุณสุจิตต์ตั้งข้อสังเกตว่าโขนเป็นการละเล่นศักดิ์สิทธิ์ สำเนียงโขนจึงมีการเปลี่ยนแปลงน้อย ประเด็นนี้เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด? หากเป็นได้ตามข้อสันนิษฐานดังกล่าวสำเนียงโขนจะมีประโยชน์อย่างมากต่อวงการศึกษาวิชาภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของวิวัฒนาการภาษาไทย เท่าที่ผ่านมานักภาษาศาสตร์ภาษาไทเชิงประวัติ เช่น ฟังกุยลี (Fang Kuei Li, 1977) มาร์วิน บราวน์ (Marvin Brown, 1985) หรือวิลเลียม เก็ดนีย์ (William J. Gedney, อ้างแล้ว) ต่างก็ได้ศึกษาค้นคว้าถึงเรื่องของเสียงในภาษาไทดั้งเดิม (Proto-Tai) ตามหลักวิทยาศาสตร์
กล่าวคือตั้งสมมติฐานในเรื่องของวิวัฒนาการภาษาและหน่วยเสียงโบราณของภาษาไทดั้งเดิมด้วยการนำข้อมูลภาษาไทถิ่นต่างๆ ในปัจจุบันมาศึกษาเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับว่าเสียงในภาษาไทเดิมซึ่งนักภาษาศาสตร์เสนอขึ้นนั้นก็เป็นเพียงข้อเสนอ หรืออาจจะเรียกว่า “เดา” ก็ได้ เพราะในความเป็นจริงเราไม่มีทางทราบได้ว่าเสียงในสมัยก่อนเป็นอย่างไรแน่ แม้จะเป็นการ “เดา” ตามหลักวิชาการ (educated guess) ก็ตาม
ข้อสังเกตของคุณสุจิตต์ที่ว่าสำเนียงโขนน่าจะเป็นสำเนียงของคนในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะโขนเป็นการละเล่นที่ศักดิ์สิทธิ์จึงน่าจะมีการรักษารูปแบบการร้องไว้ให้คงเดิมนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากโขนเป็นการละเล่นเพียงรูปแบบเดียวที่ใช้เล่นกันภายในราชสำนักเท่านั้น การแสดงโขนถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในราชสำนักเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ธนิต อยู่โพธิ์ (2495 : 43) กล่าวว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงการละเล่นโขน ถึงกับจัดให้มีกรมโขนขึ้น และแม้โขนจะถึงยุคเสื่อมลงในช่วงต้นรัชกาลที่ 7 ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เมื่อกรมศิลปากรจัดให้มีการฟื้นฟูการแสดงโขนขึ้นใหม่นั้น ครูผู้สอนก็ยังคงเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงโขนรุ่งเรืองในรัชกาลที่ 6 นั่นเอง
กล่าวโดยสรุปแม้โขนจะผ่านยุคเสื่อมไปบ้างในบางช่วง แต่การละเล่นโขนไม่เคยสูญหายไปอย่างสิ้นเชิง ในทางตรงข้ามเมื่อมีการฟื้นฟูการละเล่นโขนคราใด ผู้สอนและผู้เล่นก็ยังคงถ่ายทอดศิลปะแขนงนี้จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงจึงไม่น่าเกิดขึ้นอย่างมากมายนัก
ประเด็นต่อมาที่น่าคิดก็คือ เราจะมีหลักฐานทางรูปธรรมอะไรอีกบ้างที่พอจะชี้ให้เห็นว่าเสียงเจรจาโขนเป็นสำเนียงของชาวกรุงเก่า?
ผู้เขียนนึกไปถึงจินดามณี ตำราภาษาไทยฉบับเก่าแก่ที่สุดที่แต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ความคล้ายคลึงกันของสำเนียงโขนกับการผันเสียงวรรณยุกต์ในจินดามณี : สำเนียงเดียวกันหรือเรื่องบังเอิญ?
สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ระบุไว้ว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชดำรัสสั่งให้พระโหราธิบดีแต่งหนังสือจินดามณีรวมทั้งพระราชพงศาวดารอื่นๆ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2223 (กรมศิลปากร, 2502) นอกจากนี้ยังมีหนังสือจินดามณีอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในราวปี พ.ศ. 2275 (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2543)
หนังสือจินดามณีทั้งสองฉบับนี้มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่สอนวิธีการผันเสียงวรรณยุกต์และการหัดอ่านออกเสียงชุดคำตามพยัญชนะต้น เนื้อหาดังกล่าวในหนังสือจินดามณีจึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญมากที่แสดงถึงวิธีการออกเสียงวรรณยุกต์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ผู้เขียนจึงได้ทดลองตีความจากคำอธิบายเรื่องการผันวรรณยุกต์จากจินดามณีทั้งสองฉบับ เพื่อหาระบบเสียงวรรณยุกต์ที่ปรากฏในจินดามณี จากนั้นจึงนำระบบเสียงวรรณยุกต์ดังกล่าวมาเทียบกับสำเนียงโขน ผลการศึกษาพบว่าเสียงวรรณยุกต์ของทั้งสามระบบมีความคล้ายคลึงกันหลายประการ ดังนี้
1. พยางค์เป็นที่ขึ้นต้นด้วยอักษรสูง ไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ เช่นคำว่า “ขา” “หู” “หัว” เสียงวรรณยุกต์ทั้งสามระบบมีเสียงสูงระดับ
2. พยางค์เป็นที่ขึ้นต้นด้วยอักษรสูง มีรูปไม้โทกำกับ เช่นคำว่า “ข้า” “ให้” และพยางค์เป็นที่ขึ้นต้นด้วยอักษรต่ำ มีรูปไม้เอกกำกับ เช่นคำว่า “ยิ่ง” “มั่น” เสียงวรรณยุกต์ทั้งสามระบบปรากฏเป็นเสียงต่ำ
3. พยางค์เป็นที่ขึ้นต้นด้วยอักษรกลางและต่ำ ไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ เช่นคำว่า “กา” “ดา” “คา” เสียงเจรจาโขนมีเสียงตก-กลางระดับ ส่วนระบบวรรณยุกต์จากจินดามณีสองฉบับปรากฏเป็นเสียงกลางระดับ
สำหรับโครงสร้างพยางค์ที่พบว่าเสียงวรรณยุกต์ทั้งสามระบบมีสัทลักษณะของเสียงวรรณยุกต์ต่างออกไป ได้แก่ โครงสร้างพยางค์ที่ขึ้นต้นด้วยอักษรสูงและกลาง มีรูปไม้เอกกำกับ เช่นคำว่า “ข่า” “ป่า” โครงสร้างพยางค์ประเภทนี้ เสียงเจรจาโขนใช้วรรณยุกต์ตก-กลางขึ้น จินดามณีฉบับสมเด็จพระนารายณ์ใช้วรรณยุกต์กลางระดับและสูงระดับ ส่วนจินดามณีฉบับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีเสียงวรรณยุกต์กึ่งสูง
ความคล้ายคลึงกันของเสียงวรรณยุกต์ในรูปแบบที่ 1 นั้นไม่น่าจะเกิดจากความบังเอิญ จากการที่ผู้เขียนได้สำรวจระบบเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยถิ่นกลางปัจจุบันเท่าที่มีผู้ศึกษาไว้ ผู้เขียนยังไม่พบภาษาไทยกลางถิ่นใดเลยที่มีเสียงวรรณยุกต์สูงระดับเหมือนเสียงเจรจาโขนและจินดามณีทั้งสองฉบับ คำในภาษาไทยถิ่นกลางที่มีโครงสร้างพยางค์ในรูปแบบที่ 1 นั้น ปัจจุบันส่วนใหญ่มักเป็นเสียงต่ำ-ขึ้น และในบางท้องถิ่นมีเสียงสูง-ตก เสียงสูงระดับที่พบในสำเนียงโขนและจินดามณีจึงน่าจะสะท้อนสัทลักษณะของเสียงวรรณยุกต์ในสมัยนั้น นอกจากนี้เสียงต่ำที่สอดคล้องกันในรูปแบบที่ 2 ข้างต้น ก็ไม่น่าเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญอีกเช่นเดียวกัน โครงสร้างพยางค์ประเภทเดียวกันนี้ส่วนใหญ่เป็นเสียงสูง-ตกในภาษาไทยถิ่นกลางปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามแม้หลักฐานที่ได้ยังไม่อาจทำให้ผู้เขียนสามารถสรุปได้ว่าระบบเสียงวรรณยุกต์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยภาพรวมแล้วจะมีลักษณะอย่างไรบ้าง แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าเสียงวรรณยุกต์ของโครงสร้างพยางค์หลายรูปแบบในสำเนียงโขนกับสำเนียงจากจินดามณีทั้งสองฉบับค่อนข้างสอดคล้องกัน ผู้เขียนจึงเชื่อว่าเสียงวรรณยุกต์จากสำเนียงโขนและจินดามณีน่าจะสะท้อนให้เห็นสัทลักษณะของเสียงวรรณยุกต์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายตามสำเนียงที่ชาวกรุงศรีอยุธยาเคยพูดจริงในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ผู้เขียนยอมรับว่ามีปัญหาหลายประการในการตีความคำอธิบายในหนังสือจินดามณี พระโหราธิบดีเป็นชาวโอฆบุรี2 (จังหวัดพิจิตรปัจจุบัน) ที่เข้ามารับราชการตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ท่านจึงคงต้องพูดสำเนียงถิ่นโอฆบุรีเป็นสำเนียงภาษาแม่ ในขณะเดียวกันเมื่ออยู่ในราชสำนักก็อาจจะใช้สำเนียง “หลวง” เมื่อต้องพูดกับพระมหากษัตริย์ คือสมเด็จพระนารายณ์ และเหล่าขุนนาง ในยามติดต่อพบปะกับคนอีกระดับหนึ่ง เช่น ไพร่หรือทาสภายในกรุงศรีอยุธยา ก็อาจใช้อีกสำเนียงหนึ่งก็เป็นได้ เป็นไปได้หรือไม่ที่คำอธิบายเรื่องการผันเสียงวรรณยุกต์ที่ปรากฏในจินดามณีเป็นสำเนียงพื้นเพเดิมของท่าน คือสำเนียงโอฆบุรี?
ในข้อนี้ผู้เขียนคิดว่าคงจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจินดามณีเป็นแบบเรียนที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชดำรัสสั่งให้ท่านแต่งขึ้นเพื่อสอนอ่านเขียนแก่บุตรหลาน การหัดอ่านออกเสียงวรรณยุกต์จึงน่าจะอิงตามสำเนียงซึ่งเป็นที่ “ยอมรับ” ในสมัยนั้น ฉะนั้นแม้พระโหราธิบดีจะมิใช่ชาวกรุงศรีอยุธยาโดยกำเนิด แต่ผู้เขียนเชื่อว่าท่านคงยึดสำเนียง “หลวง” ในการแต่งวิธีการผันเสียงวรรณยุกต์ที่ปรากฏอยู่ในจินดามณี ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในการตีความของผู้เขียน คือโลกทัศน์ของพระโหราธิบดีซึ่งเป็นพราหมณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อีกทั้งผู้แต่งจินดามณีฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเมื่อ 300 กว่าปีล่วงมาแล้ว ย่อมต่างออกไปจากโลกทัศน์ของผู้เขียนซึ่งเกิดมาในศตวรรษที่ 20 ยกตัวอย่างเช่น พระโหราธิบดีอธิบายไว้ว่า คำว่า “คา” ให้อ่านออกเป็นเสียงกลาง “ค่า” ให้อ่านทุ้มลงไป คำว่า “ค้า” ให้อ่านสูงขึ้นไป ดังนี้
อักษรเสียงกลางก้องต่ำ 24 ตัวนั้น คำต้นให้อ่านเป็นกลาง แล้วอ่านทุ้มลงแล้วอ่านสูงขึ้น ไปตามไม้เอกไม้โท3
ค้า ง้า ซ้า ท้า น้า
คา งา ซา ทา นา
ค่า ง่า ซ่า ท่า น่า
จินดามณี พระโหราธิบดีแต่ง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, กรมศิลปากร 2543 : 24
หากคำอธิบายข้างต้นเป็นคำกล่าวของนักภาษาศาสตร์ชาวไทยในปัจจุบัน เราก็สามารถตีความได้ว่าเสียง “สูง กลาง ต่ำ” หมายถึงเสียงคงระดับ (static tone) ในระดับสูง กลาง และต่ำ เสียง “ทุ้มลง” และเสียง “สูงขึ้น” ก็คือเสียงเปลี่ยนระดับ (contour tone) ที่มีลักษณะตกและขึ้นตามลำดับ แต่เราไม่มีทางทราบว่าคำว่า “ทุ้มลง” และ “สูงขึ้น” ของพระโหราธิบดีผู้แต่งจินดามณีจะตรงกับความเข้าใจของนักภาษาศาสตร์ในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด
จึงได้แต่หวังว่าจะมีผู้รู้มาช่วยกันตีความ ถอดรหัสคำอธิบายของพระโหราธิบดี เพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านข้อเสนอจากการ “เดา” ของผู้เขียนต่อไป
เชิงอรรถ
1. ดูวิธีการวิเคราะห์และผลการศึกษาอย่างละเอียดได้ในวริษา กมลนาวิน (2546)
2. ขอขอบคุณจดหมายถึงบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ในหัวข้อ “พระโหราธิบดี ปราชญ์เมืองเหนือผู้แต่งจินดามณี” ของคุณเคียง ชำนิ ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 10 สิงหาคม 2546 น.20-21 ที่ได้กล่าวถึงภูมิลำเนาเดิมของพระโหราธิบดี ซึ่งทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าจำเป็นต้องนำประเด็นนี้มาพิจารณาประกอบด้วย
3. ในหนังสือจินดามณีมีการผัน “อักษรเสียงกลางก้องต่ำ” ในชุดนี้อีกหลายคำด้วยกัน แต่ผู้เขียนยกมาเพียงเท่านี้เพื่อเป็นตัวอย่าง
เอกสารอ้างอิง
1. กรมศิลปากร. “จินดามณี เล่ม 1-2 และบันทึกเรื่องหนังสือจินดามณี”. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนางพวงเพ็ชร เอี่ยมสกุล, 2502.
2. กัลยา ติงศภัทิย์, ม.ร.ว. “วรรณยุกต์ในภาษาไทยถิ่นสุพรรณบุรี”. วารสารอักษรศาสตร์. ปีที่ 15 มกราคม 2526, 29-44.
3. จรรยา นวลจันทร์แสง. “วรรณยุกต์ภาษาไทยถิ่นอำเภอเมืองนครปฐม”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.
4. ธนิต อยู่โพธิ์. “ตำนานโขนหลวง และนามบรรดาศักดิ์โขนหลวงในรัชกาลที่ 6”. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนายพากย์ พากย์ฉันทวัจน์ (หมื่นพากย์ฉันทวัจน์). กรมศิลปากร, 2495.
5. ผณินทรา ธีรานนท์. “เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9”. วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ปีที่ 21 มกราคม-มิถุนายน 2545, 32-46.
6. ยาใจ มาลัยเจริญ. “วรรณยุกต์ในภาษาไทยถิ่นอ่างทองและอยุธยา”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530.
7. เรณู โกศินานนท์. การดูโขน. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2528.
8. ลอรัตน์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต. “วรรณยุกต์ภาษาไทยถิ่นราชบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.
9. วรรณา เทียนมี. “ลักษณะเสียงวรรณยุกต์ของภาษาไทยในสมัย ร.5-ร.6”. ภาษาและวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2525.
10. วริษา กมลนาวิน. “การวิเคราะห์ระบบเสียงวรรณยุกต์ของชาวกรุงศรีอยุธยาจากเสียงเจรจาโขนและจินดามณี”. วารสารศิลปศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในวโรกาสพระชมมายุ 80 พรรษา. ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2546.
11. สุจิตต์ วงษ์เทศ. “อยุธยายศยิ่งฟ้า”. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2544.
12. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. จินดามณี. กรมศิลปากร, 2543.
13. อภิญญา พรสิบ. “วรรณยุกต์ภาษาไทยถิ่นเพชรบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.
14. Brown, Marvin. From Ancient Thai to Modern Dialects, and Other Writings on Historical Thai Linguistics. Bangkok : White Lotus, 1985.
15. Gedney, W.J. “A checklist for Determining tones in Tai dialects.” In Studies in Linguistics, in Honor of George L. Trager, (Smith M. Estellie, ed.). The Hague : Mouton, 1972. 423-427.
16. Li, Fang Kuei. A Handbook of Comparative Tai. Honolulu : University of Hawaii Press, 1977.
17. Tingsabadh, Kalaya M.R. “A Phonological Study of the Thai Language of Suphanburi Province”. PhD dissertation, University of London, 1980.
18. ________. “Thai Tone Geography”. Essays in Tai Linguistics. Chulalongkorn University, 2001. 205-228.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2560