“สะพานพระราม” ในตำนาน “รามายณะ” ถูกสร้างโดยกองทัพวานรเมื่อ 1.75 ล้านปีก่อน?

ลิง วานร กรุงลงกา
ภาพกองทัพวานรสร้างถนนไปกรุงลงกาโดย K Venkatappa ,Nivedita, Sister, 1867-1911; Coomaraswamy, Ananda Kentish, 1877-1947 (Myths of the Hindus & Buddhists (1914)) [Public domain], via Wikimedia Commons

“สะพานพระราม” ในตำนาน “รามายณะ” ถูกสร้างโดยกองทัพวานรเมื่อ 1.75 ล้านปีก่อน?

ข่าวนาซา (NASA องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ) เผยแพร่ภาพถ่ายสะพานโบราณอายุกว่า 1.75 ล้านปี ที่เชื่อมต่ออินเดียกับศรีลังกา ถูกนำกลับมาเผยแพร่ใหม่อีกครั้งโดยเว็บไซต์ News Hubs เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2016 แม้ว่าข่าวดังกล่าวจะถูกกล่าวถึงมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อินเตอร์เน็ตเริ่มเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก

สะพานพระราม ตามตำนานรามายณะอ้างว่า กองทัพวานรของหนุมานเป็นผู้สร้างขึ้น โดยก่อรากฐานด้วยท่อนไม้ก่อนก่อทับด้วยก้อนหินชิ้นน้อยใหญ่ เพื่อให้กองทัพของพระรามสามารถเดินทางข้ามทะเลไปช่วยนางสีดาจากทศกัณฐ์ถึงกรุงลงกาได้

ภาพถ่ายของช่องแคบพัล์กระหว่างอินเดียและศรีลังกา (NASA)
ภาพถ่ายของช่องแคบพัล์กระหว่างอินเดียและศรีลังกา (NASA)

เมื่อราวปลายปี 2002 นาซาได้เผยแพร่ภาพถ่ายจากอวกาศของช่องแคบพัล์ก (Palk Strait) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวสันทรายที่เชื่อมต่อเกาะศรีลังกาและอินเดียอย่างชัดเจน และภาพดังกล่าวถูกนำไปเชื่อมโยงกับตำนานรามายณะที่กล่าวมาข้างต้น

พร้อมกับแต่งเติมเรื่องราวเข้าไปอีกว่า นาซาเป็นผู้ยืนยันว่า สะพานดังกล่าวสร้างขึ้นโดยมนุษย์เมื่อกว่า 1.75 ล้านปีที่ผ่านมาตรงกับยุคของพระรามตามตำนานความเชื่อของชาวอินเดีย

แต่ เจ วี นาฬิกา (J V Narlikar) ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ของอินเดียได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับทาง Times of India ว่า ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารอ้างอิงใดๆ ที่จะยืนยันได้ว่า แนวสันทรายที่ปรากฏเชื่อมต่อระหว่างอินเดียและศรีลังกาดังกล่าว มีส่วนเกี่ยวข้องกับสะพานตามตำนานรามายณะ

ด้านนักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการชาวอินเดีย อาร์ เอส ชาร์มา (R S Sharma) กล่าวว่า ลำพังรามายณะก็ไม่ได้มีความเก่าแก่อะไรขนาดนั้น แล้วการอยู่อาศัยของมนุษย์เมื่อ 1.75 ล้านปีก่อนก็ยังไม่มีด้วย”

Times of India ยังรายงานว่า นาซาได้ออกมาปฏิเสธอย่างชัดเจนว่า ทางหน่วยงานไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับต้นกำเนิดหรืออายุของแนวเกาะขนาดเล็กเหล่านี้ และไม่อาจบอกได้ว่ามนุษย์เป็นผู้มีส่วนในการเกิดขึ้นของพวกมันหรือไม่

เมื่อปี 2015 ข่าวนี้ก็ถูกนำมาเผยแพร่อีกครั้ง ซึ่ง The Epoch Times กล่าวเท้าความว่าในปี 2007 ข่าวนี้ได้เกิดเป็นประเด็นใหญ่เมื่อพรรคภารติยะ ชนตะ (BJP) ซึ่งเป็นพรรคฮินดูชาตินิยมของอินเดียได้อ้างชื่อนาซาว่าเป็นผู้ยืนยันอายุของสะพานดังกล่าวเช่นเดิม

แต่ไมเคิล บรูคัส (Michael Brukus) โฆษกของนาซาในขณะนั้นได้ออกมาปฏิเสธข้ออ้างของพรรค BJP เช่นเคย และ New Scientist กล่าวว่า กลุ่มฮินดูชาตินิยมในขณะนั้นถึงขนาดผลักดันกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้ประกาศว่าสันทรายแห่งนี้เป็นอนุสรณ์ทางศาสนา

ขณะที่รายงานที่เพิ่งเผยแพร่ในปี 2016 ของ News Hubs กล่าวว่า “ลักษณะโค้งงออย่างเฉพาะตัวและอายุของโครงสร้างชี้ว่ามันถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ และงานวิจัยทางโบราณคดีก็พบว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ในศรีลังกามาตั้งแต่ยุคบุพกาลราว 1,750,000 ปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับอายุของสะพานแห่งนี้”

อย่างไรก็ดี เมื่อ 1.75 ล้านปีก่อน ยังไม่มีมนุษย์สมัยใหม่ (Homo sapiens) กำเนิดขึ้นแต่อย่างใด มีเพียงมนุษย์โฮโมอิเรกตัส (Homo erectus) ที่คาดกันว่าสามารถสร้างเครื่องมือหินได้ และเพิ่งจะเริ่มรู้จักการใช้ไฟเมื่อราว 1 ล้านปีก่อน ก่อนสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 2 แสนปีที่แล้ว (ข้อมูลจาก Encyclopedia Britannica)

มนุษย์กลุ่มนี้มีหลักฐานของการพัฒนาโครงสร้างทางสังคม การสื่อสาร และการแบ่งแยกระหว่างพื้นที่ของการใช้ชีวิตและการทำงาน อันเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ยุคใหม่เก่าแก่ที่สุดราว 7.5 แสนปีก่อนเท่านั้น (Homo Erectus Invented “Modern” Living?: Mati Milstein, National Geographic) ซึ่งนั่นก็ถือว่าเก่าแก่มากแล้ว เนื่องจากเดิมเชื่อกันว่า พฤติกรรมดังกล่าวมีแต่ในกลุ่มมนุษย์สมัยใหม่ซึ่งเริ่มขึ้นในยุคหินกลาง (ราว 2.8 แสนปีก่อน)

ข้ออ้างที่จะระบุว่า แนวสันทรายที่เชื่อมต่อระหว่างอินเดียกับศรีลังกาเป็นสะพานพระรามที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์เมื่อกว่า 1.75 ล้านปีก่อน จึงบกพร่องหลายอย่างตั้งแต่การกำหนดอายุ เนื่องจากองค์กรที่ถูกอ้างถึงได้ออกมาปฏิเสธแล้ว และแม้ว่าตำนานรามายณะจะมีมานานก่อนการบันทึกที่เป็นลายลักษณ์ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะพิสูจน์ข้ออ้างดังกล่าวได้

ลำพังการอ้างว่า มีการพบมนุษย์โบราณอายุ 1.7 ล้านปีในศรีลังกาก็ไม่เพียงพอ เพราะไม่มีหลักฐานการรวมกลุ่มสังคมในยุคนั้นที่ซับซ้อนขนาดที่จะสามารถร่วมกันก่อสร้าง “สะพานพระราม” ซึ่งข้ามทะเลความยาวกว่า 30 กิโลเมตรได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2559