ใครเป็นแม่หนุมาน? เทียบวรรณคดีไทย VS รามายณะ คลายความสับสน

นางมณโฑ นอนกับ ทศกัณฐ์ ในกรุงลงกา หนุมาน ลอบเข้าไปผูกผมขณะหลับ (จิตรกรรมฝาผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

บทพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรื่อง “รามเกียรติ์” ซึ่งถือเป็นฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์ที่สุดนั้น ได้กล่าวถึงพระฤๅษีโคดมและนางกาลอัจนาสองสามีภรรยา มีบุตรสาว 1 คน ชื่อนางสวาหะผู้ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดลิงเผือกที่เรารู้จักกันในนาม “หนุมาน” ทหารเอกของพระราม นอกจากนี้ยังมีลูกชายอีก 2 คนที่เกิดจากนางกาลอัจนา ผู้ซึ่งถูกพระดาบสโคดมสาปให้กลายเป็นลิงป่า และต่อมาได้รับฉายาว่า “พาลี-สุครีพ”

หากเรานำเรื่องราวที่ปรากฏในวรรณกรรมไทยไปเปรียบเทียบกับรามายณะที่แต่งโดยวาลมีกิแล้ว จะพบว่าเรื่องราวและตัวบุคคลต่างๆ ในตอนดังกล่าวมีความสับสนอยู่ โดยในฉบับภาษาสันสกฤตนั้น พระฤๅษีกับภรรยาไม่ได้มาเกี่ยวดองอะไรกับหนุมาน พาลี หรือสุครีพ และหากจะศึกษาในรายละเอียดจะพบว่า ในสำนวนไทยมีเรื่องราวของครอบครัวพระดาบสกับครอบครัวลิงมาเล่าปะปนกันเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งในที่นี้ยังไม่ได้รวมเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ

(รูปที่ 2) ตอนล่างของภาพแสดงพระฤๅษีโคดมกำลังออกไปหาผลไม้ในป่า และตอนบนแสดงพระอินทร์กำลังเหาะจากไปหลังเข้าหานางกาลอัจนา (ที่มา : จิตรกรรมฝาผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ)

ท้องเรื่องสำนวนภาษาไทยกล่าวถึงพระฤๅษีโคดมผู้ซึ่งมีประวัติเดิมเป็นกษัตริย์นามท้าวโคดม ครองกรุงสาเกด ไร้โอรสธิดา พาให้เกิดความเบื่อหน่ายในราชสมบัติ จึงตัดสินพระทัยสละสิ้นซึ่งทรัพย์สมบัติทั้งหลายไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่ามาเป็นเวลากว่า 2,000 ปี จน “หนวดนั้นยาวดังหญ้ารก ปกทรวงพระอาจารย์ฌานกล้า” [1]

แต่แล้วชะตาก็ต้องมาพลิกผันอีกครั้งเมื่อวันหนึ่งพระฤๅษีมาได้ยินนกกระจาบสองตัวผัวเมียที่มาทำรังอยู่ในเคราของตนพูดถึงบาปของตนเอง ด้วยความสงสัยว่าตนเองบำเพ็ญเพียรมานานปี เหตุใดจึงยังมีบาปติดตัวอีก

พอรู้ความจริงจากปากของนกกระจาบว่าบาปเกิดจากการที่ตัวพระฤๅษีเดิมเป็นกษัตริย์ที่ไร้ผู้สืบทอดราชสมบัติ เมื่อมาบวชเสียแล้ว กรุงสาเกดจึงขาดกษัตริย์ปกครองไปอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้เองฤๅษีโคดม “จึงตั้งกองกูณฑ์บูชาไฟ โดยไศวเรืองศรี เกิดเป็นนางงามดั่งพระอุมา” [2] ให้ชื่อว่า “นางกาลอัจนา” อยู่กินฉันสามีภรรยากับพระดาบสจนได้บุตรสาวชื่อ “นางสวาหะ”

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้แสดงเรื่องราวตอนนี้ของฤๅษีโคดมไว้บนผนังเหนือทางเดินด้านประตูทิศเหนือ ซึ่งภาพจิตรกรรมอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อันเนื่องมาจากได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย

อย่างไรก็ดีเราคงจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความงามของภาพตอนดังกล่าว ตัวภาพแสดงเหตุการณ์ตอนพระฤๅษีโคดมกำลังทำพิธีชุบนางกาลอัจนา วาดไว้บนผนังที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหลังภาพประสูตินางสีดา โดยทางตอนหน้าแสดงภาพฤๅษีกำลังยื่นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกับตุ๊กแกถูกเสียบไม้เข้าไปในกองไฟ ถัดขึ้นไปทางด้านบนแสดงภาพฤๅษีกับภรรยาอยู่ในห้องของส่วนอาคารด้านหน้า และแสดงภาพพระอินทร์ที่ลอบเข้าหานางกาลอัจนาในอาคารด้านหลัง (รูปที่ 1)

ถัดไปทางด้านขวามือของกำแพงแสดงภาพพระอินทร์เหาะจากไปในขณะที่ด้านล่างเป็นฤๅษีโคดมที่กำลังออกไปหาผลหมากรากไม้ (รูปที่ 2)

นางสวาหะนั้นเป็นบุตรีคนเดียวของพระฤๅษี อย่างไรก็ตามนางกาลอัจนายังได้ให้กำเนิดบุตรชายอีกสองคน ซึ่งไม่ใช่ลูกที่เกิดจากพระดาบสโคดม แต่เกิดจากพระอินทร์และพระอาทิตย์ โดยที่เทวดาทั้งสองต่างผลัดกันมาพบนางกาลอัจนาตอนพระฤๅษีออกไปหาอาหารในป่า

ตามท้องเรื่องพระอินทร์กำลังต้องการจะแบ่งภาคลงมายังโลกมนุษย์เพื่อคอยช่วยพระนารายณ์ที่จะอวตารลงมาเป็นพระรามปราบทศกัณฐ์ จึงลอบลงไปพบภรรยาของฤๅษีขณะพักผ่อนอยู่เพียงผู้เดียวในกระท่อม อันเป็นผลทำให้นางได้ให้กำเนิดลูกชายกายสีเขียวอ่อนดังสีมรกตเหมือนผู้เป็นพ่อ ไม่ช้าพระอาทิตย์ก็ดำเนินการเช่นเดียวกับพระอินทร์ ลูกชายคนที่สองของนางกาลอัจนาก็มีสีกายเป็นสีแดงเฉกเช่นพระสุริยาผู้พ่อ ส่วนฤๅษีโคดมนั้นก็รักใคร่เด็กชายทั้งสองมากโดยไม่ได้เฉลียวใจเลยแม้แต่น้อย

(รูปที่ 3) ภาพแสดงนางสวาหะกำลังเดินร่ำไห้ตามฤๅษีโคดมผู้พ่อซึ่งกำลังอุ้มบุตรชายทั้งสอง (ที่มา : จิตรกรรมฝาผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ)

แต่ความลับก็ไม่เคยเป็นความลับไปได้ตลอด ในวันหนึ่งขณะที่ฤๅษีโคดมพาลูกทั้งสามคนไปอาบน้ำ ก็มาได้ยินลูกสาวคนโตบ่นว่า

“อนิจจาหลงรักลูกเขา

ช่างเอาอุ้มชูแล้วให้ขี่

ลูกตนให้เดินปฐพี

ไม่ปราณีบ้างเลยพระบิดา” [3]

ภาพจิตรกรรมตอนนี้วาดไว้บนผนังที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (รูปที่ 3) ด้านหลังภาพแสดงการประสูติโอรสทั้ง 4 ของท้าวทศรส ฤๅษีเกิดความสงสัยจึงสอบถามลูกสาวและได้เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกระท่อมระหว่างที่ตนเองไม่อยู่

กระนั้นก็ต้องพิสูจน์ความจริงกันอีกครั้งโดยเสี่ยงทายทิ้งลูกทั้งสามลงกลางน้ำ หากเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตนก็ขอให้ว่ายน้ำกลับมาหา แต่ถ้าไม่ก็ขอสาปให้กลายเป็นลิงป่าไป (รูปที่ 4) ในภาพจิตรกรรมแสดงลิงสองตัวกายสีเขียวและสีแดงกำลังขึ้นฝั่งทางด้านหนึ่ง และฤๅษีโคดมกำลังอุ้มลูกสาวขึ้นจากน้ำอีกทางด้านหนึ่ง

(รูปที่ 4) หลังจากโยนลูกทั้งสามคนลงน้ำเพื่อพิสูจน์ความจริง บุตรชาย 2 คนก็กลายเป็นลิงขึ้นฝั่งหนีหายเข้าป่า ในขณะที่ฤๅษีโคดมอุ้มนางสวาหะบุตรสาวแท้จริงของตนขึ้นจากฝั่ง (ที่มา : จิตรกรรมฝาผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ)

ฝ่ายฤๅษีโคดมอุ้มลูกสาวกลับกระท่อมไปต่อว่านางกาลอัจนาพร้อมทั้งสาปให้นางกลายเป็นหิน (รูปที่ 5) จนกว่าพระรามจะนำหินก้อนนี้ไปถมเป็นทางข้ามมหาสมุทรไปยังเกาะลังกา ให้ถูกฝังจมอยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่ได้ผุดเกิด ซึ่งตรงนี้เราจะรู้สึกถึงความแค้นของฤๅษีที่ไม่มีวันให้อภัยได้

ฝ่ายนางกาลอัจนาก็เช่นกัน ด้วยความโกรธแค้นลูกสาวที่เปิดโปงความลับนี้จนเป็นที่เดือดร้อน นางจึงสาปนางสวาหะลูกสาวตนให้ไป “อ้าปากยืนตีนเดียว เหนี่ยวกินลม” [4] อยู่ในป่าเชิงขอบเขาจักรวาลและให้ทรมานอยู่อย่างนั้นจนเมื่อนางสามารถมีลูกเป็นลิงที่เก่งกาจกล้าหาญจึงจะพ้นคำสาปนี้และได้ไปเกิดใหม่

(รูปที่ 5) ตอนล่างของภาพแสดงพระฤๅษีอุ้มนางสวาหะกลับมาที่กระท่อมเพื่อต่อว่านางกาลอัจนา (ที่มา : จิตรกรรมฝาผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ)

เมื่อถึงคราวที่พระอิศวรจะแบ่งภาคลงไปยังโลกมนุษย์เพื่อช่วยพระนารายณ์ที่จะอวตารลงไปเป็นพระรามปราบทศกัณฐ์ พระอิศวรมีพระบัญชาสั่งให้พระพายนำอาวุธต่างๆ ตามที่อ้างในโคลงพระราชนิพนธ์อันได้แก่ คทาเพชร ตรีเพชร จักรแก้ว เป็นต้นรวมไปถึงกำลังของพระองค์ นำลงไปซัดเข้าปากนางสวาหะพร้อมทั้งกำหนดให้พระพายเป็นบิดาของลิงที่จะเกิดมาด้วย

ภาพจิตรกรรมแสดงนางสวาหะที่ถูกสาปกำลังยืนเท้าเดียวเปลือยกายท่อนบน ผมยาวประไหล่ลู่ลมอยู่บนยอดเขา ยืนหันหน้าไปทางพระพายที่กำลังเหาะมาหาเพื่อจะมาทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระอิศวร (รูปที่ 6) ตามท้องเรื่องนางสวาหะตั้งท้องนาน 30 เดือนจึงคลอดลูกออกมาทางปากเมื่อ “ปีขาลเดือนสามวันอังคาร” โดยเราจะเห็นว่านางสวาหะกำลังอุ้มลูกลิงสีขาวถือตรีศูลอันเล็กๆ อยู่ในมือ วาดถัดลงมาทางตอนล่างของภาพจิตรกรรม

(รูปที่ 6) นางสวาหะถูกสาปให้มายืนตีนเดี่ยวกินลมบนยอดเขา ทางด้านซ้ายของภาพเป็นพระพายกำลังเหาะมาหา และถัดลงมาทางด้านล่างแสดงภาพนางสวาหะกับลูกลิงเผือก (ที่มา : จิตรกรรมฝาผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ)

จากเนื้อเรื่องดังกล่าวทำให้พอจะอนุมานได้ว่าในรามเกียรติ์ที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 นี้ ฤๅษีโคดมเป็นตาของหนุมานทหารเอกพระรามนี่เอง แต่ถ้าหากนำเนื้อเรื่องส่วนนี้ไปเปรียบเทียบกับ “รามายณะ” ที่แต่งโดยวาลมีกิ จะเห็นได้ว่ามีหลายตอนที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคคลหรือรายละเอียดของเหตุการณ์ตามท้องเรื่อง

ฉบับสำนวนดั้งเดิมของอินเดียนี้ก็มีพระดาบสชื่อโกตะมะ (Gautama) ผู้ซึ่งชะตาชีวิตต้องมาพัวพันกับพระอินทร์เหมือนข้างสำนวนไทยเราเช่นกัน จะเห็นว่าชื่อทางสำนวนไทยเรายังรักษาเค้าชื่อเดิมอยู่มาก ส่วนภรรยาชื่ออหลยา (Ahalya) นักพรตคู่นี้ผู้บำเพ็ญเพียรเป็นอยู่กลางป่ามาเป็นเวลานาน แต่แล้วชีวิตที่ดำเนินมาอย่างสันโดษตามสถานภาพของนักพรตก็ต้องมาพบกับอุปสรรคใหญ่หลวง

ด้วยพระอินทร์ผู้ซึ่งมีความหลงใหลในความงามของนางอหลยามานานแล้วไม่สามารถฝืนความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ บันดาลตนเองให้อยู่ในเครื่องทรงนักพรตเป็นฤๅษีโกตะมะเข้าหานางอหลยาในจังหวะที่สามีนักพรตไม่อยู่ ฝ่ายนางอหลยาผู้ซึ่งรู้ดีว่าบุคคลที่มาปรากฏข้างหน้าตนในขณะนั้นไม่ใช่ฤๅษีสามีตนก็ไม่ได้ขัดขืนประการใด

อย่างไรก็ตาม ฤๅษีกลับมาพบพระอินทร์เสียก่อนจึงได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โกตะมะโกรธมากตำหนิพระอินทร์ว่ากระทำในสิ่งที่ตนเองได้ห้ามผู้อื่นไม่ให้ทำ อันความผิดครั้งนี้จะมีผลให้พระอินทร์ไม่สามารถมีบุตรได้ ทันทีที่ฤๅษีกล่าวจบ เครื่องเพศของพระอินทร์ก็ตกลงกับพื้นดิน

จากนั้นฤๅษีโกตะมะสาปภรรยาให้ถูกจองจำอยู่ ณ กระท่อมแห่งนั้นเป็นเวลาหลายพันปี อยู่ในสภาพอากาศธาตุไม่มีผู้ใดมองเห็นได้ยกเว้นพระราม บริโภคอากาศได้อย่างเดียวและต้องนอนบนขี้เถ้าเพื่อบำเพ็ญตบะจนกว่าพระรามจะเดินทางผ่านมาในป่าแห่งนี้ และเป็นเพียงผู้เดียวที่สามารถมองเห็นนาง โดยนางจะต้องต้อนรับพระรามด้วยการยกน้ำยกอาหารมาให้พระราม เพื่อให้พ้นคำสาปกลับคืนสู่สภาพเดิมเป็นผู้ไม่ถูกความหลงใหลครอบงำอีกต่อไปและกลับมาบำเพ็ญพรตกับฤๅษีโกตะมะดังเดิม [5]

จะพบว่าในรามเกียรติ์ฉบับสำนวนไทยยังพอจะมีเค้าความเดิมอยู่ตรงชื่อพระฤๅษีโคดมกับโกตะมะกับชีวิตที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับพระอินทร์ หรือการที่ฤๅษีสาปภรรยาตนเองให้ถูกจองจำ แม้ว่าฤๅษีโกตะมะในฉบับที่เขียนโดยวาลมีกิจะไม่ได้มีลูกสาวที่ชื่อสวาหะ และทั้งไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอะไรกับหนุมานก็ตาม

เราก็พบว่าชื่อนางกาลอัจนาผู้ซึ่งเป็นยายของหนุมานในสำนวนไทยนั้น แสดงเค้าชื่อจริงของแม่ของหนุมานในสำนวนที่แต่งขึ้นโดยวาลมีกิ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งข้อสังเกตไว้แล้วในหนังสือบ่อเกิดรามเกียรติ์ [6] ในฉบับภาษาสันสกฤตมีการอ้างชื่ออัญชนา (Anjana) ลิงเพศเมียผู้ซึ่งเคยเป็นนางอัปสรปุนชิกัสถะลา (Punjikasthala) มีความงามเป็นที่เลื่องลือไปทั้งตรีโลกในแต่ปางก่อน

เมื่อจะต้องมาเกิดเป็นลิงก็เป็นถึงลูกกษัตริย์ลิงที่ชื่อกุญชระ (Kunjara) มีสามีลิงชื่อเกสริน (Kesarin) สาเหตุของการต้องมาเกิดเป็นลิงนั้นเรายังหาไม่พบ รู้เพียงว่าแม้จะต้องคำสาปให้เกิดมาเป็นสัตว์ แต่ก็สามารถแปลงกายเป็นอะไรก็ได้ ครั้งหนึ่งนางแปลงร่างเป็นหญิงสาวสวยไปเดินเล่นบนยอดเขาแห่งหนึ่ง พระพาย (Maruta) เทพแห่งลม ก็ต้องมาหลงเสน่ห์นาง พยายามแทะโลมทุกวิถีทางจนนางลิงในคราบหญิงสาวต้องต่อว่าพระพายที่จะมาทำลายความซื่อสัตย์ของเธอที่มีต่อสามีลิง

ซึ่งพระพายก็ไม่สิ้นความพยายามขอต่อรองว่าจะฝากลูกชายที่มีความเก่งกล้าสามารถเหนือลิงอื่นๆ มาเกิดกับนาง ซึ่งหลังจากนั้นนางอัญชนาก็ได้ไปคลอดลูกชายที่เกิดจากพระพายในถ้ำแห่งหนึ่ง [7] ลูกลิงตัวนี้จะได้ฉายาต่อมาว่าหนุมัท (Hanumat) เพราะกรามหักหลังจากที่ไปตกลงบนดินเพราะถูกพระอินทร์โกรธและเนรมิตสายฟ้าฟาดระหว่างกำลังเหาะอยู่ในอากาศนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดรายละเอียดที่แตกต่างกันอีก เช่น ตอนกำเนิดพาลี สุครีพ ลิงสองพี่น้องในสำนวนไทยที่ต่างจากสำนวนของวาลมีกิ ตรงที่พาลีเป็นภาคอวตารที่ถูกแบ่งโดยตรงจากพระอินทร์ และสุครีพจากพระอาทิตย์ [8]

ในระหว่างที่เหล่าเทวดาทุกชั้นฟ้ามาประชุมกันเพื่อหาทางลงไปช่วยพระนารายณ์ปราบราวณะ (Ravana) (ทศกัณฐ์) บนโลกมนุษย์ หรือกรณีชื่อ “อัญชนา” ลิงแม่หนุมัท ผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์ต่อสามีของตน ก็กลายมาเป็นนางกาลอัจนาและเป็นยายหนุมานไปในข้างสำนวนไทย โดยมีคำ “กาล” ที่แปลว่าเสนียด จัญไร เพิ่มมาหน้านามอันมาจากสิ่งที่ได้กระทำไป

อย่างไรก็ดีพระดาบสในสำนวนดั้งเดิมยังมีการรู้อภัย ให้โอกาสภรรยาของตนได้แก้ตัวบ้าง ส่วนนางสวาหะนั้นก็คือภรรยาของพระอัคนี (Agni) [9] และไม่ได้มามีส่วนรู้เห็นในครอบครัวของฤๅษีโกตะมะเลยในรามายณะที่แต่งโดยวาลมีกิ

ที่ดูน่าสนใจไม่น้อยเช่นกันก็คงจะเป็นภาพสลักเล่าเรื่องรามายณะตอน Ahalya-uddhara ที่เทวคฤหะ (Deograh) ในแคว้นมัธยมประเทศ ที่สลักขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 10 และภาพสลักตอนเดียวกันที่เทวสถานปัทธารา กาฑิ (Patthara Ghati) ที่นาลันดา (Nalanda) อันเป็นภาพแสดงการปลดปล่อยนางอหลยาให้คืนสู่สภาพเดิมโดยพระราม [10]

(รูปที่ 7) ภาพสลักแสดงการปลดปล่อยนางอหลยาโดยพระราม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 10 ที่เทวคฤหะ (ที่มา : Kalpana S. DESAI, Iconography of Visnu, New Delhi, Abhinav Publications, 1973, fig.80)

ตามท้องเรื่องรามายณะสำนวนที่แต่งโดยวาลมีกิกล่าวไว้ว่า ก่อนที่พระราม พระลักษมณ์และพระฤๅษีจะเดินทางไปพบกษัตริย์จานะกะ (Janaka) ได้ผ่านไปพบกระท่อมร้าง ซึ่งวิศวามิตรได้เล่าความเป็นมาของเรื่องราวทั้งหมดให้สองพี่น้องทราบ

ในภาพสลักชิ้นแรกที่เทวคฤหะ แสดงพระรามถือคันธนูในมือซ้ายนั่งชันเข่าอยู่ใต้ต้นไม้ทางตอนหน้าด้านขวา ในขณะที่มือขวาเอื้อมไปแตะศีรษะของผู้หญิงที่นั่งหมอบอยู่กับพื้น ซึ่งก็คือนางอหลยา รูปบุคคล 2 คนทางด้านซ้ายของภาพสลัก คือ ฤๅษีวิศวามิตร (Vicvamitra) มีเคราเป็นสัญลักษณ์ของนักบวชนั่งทางด้านหน้า ที่ยืนถัดไปทางด้านหลังคือพระลักษมณ์ (Lakshamana) นั่นเอง มีพื้นหลังเป็นใบพรรณพฤกษาต่างๆ นานา (รูปที่ 7)

ภาพสลักชิ้นนี้แสดงรายละเอียดได้สมบูรณ์มากกว่าชิ้นที่เทวสถานปัทธารา กาฑิ ที่แสดงเพียงพระรามถือคันธนูกำลังเอื้อมมือไปทางนางอหลยาผู้ซึ่งกำลังพนมมืออยู่ทางด้านซ้ายของภาพสลัก โดยไม่แสดงภาพฤๅษีวิศวามิตรและพระลักษมณ์ ลำต้นไม้ที่ปรากฏใกล้ๆ กับคันธนูและกลุ่มใบไม้ที่ประดับไว้ด้านบนทั้งสองมุมน่าจะเพียงพอที่จะระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางป่าแห่งหนึ่งซึ่งเป็นตอนเดียวกัน (รูปที่ 8)

และหากเราจะนำภาพสลักที่เมืองนาลันดานี้ไปเปรียบเทียบกับภาพสลักที่ปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ได้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าอาจจะเป็นบุคคลกำลังหลั่งทักษิโณทกแล้วนั้น [11] (รูปที่ 9) จะเห็นว่าสามารถนำไปเปรียบเทียบกับชิ้นที่เมืองนาลันดาได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปบุคคลถือคันธนูโน้มตัวก้มและยื่นมืออีกข้างไปทางบุคคลที่คุกเข่าอยู่ทางด้านซ้ายของภาพ โดยที่บุคคลดังกล่าวเอื้อมมือสูงขึ้นราวกับว่ากำลังยื่นสิ่งของให้กับบุคคลแรก

ในขณะเดียวกันก็ถือภาชนะคล้ายหม้ออยู่ในมืออีกข้าง ฉากหลังที่แกะเป็นใบพรรณพฤกษาดูหนาแน่น รายละเอียดดังกล่าวทำให้เราเชื่อว่าภาพถ่ายของภาพสลักที่ปราสาทหินพนมรุ้งน่าจะแสดงตอนการปลดปล่อยนางอหลยา เช่นเดียวกับภาพสลักตอนเดียวกันของประเทศอินเดียดังกล่าว ภาพสลักที่ปราสาทหินพนมรุ้งดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าปัจจุบันจะหายสาบสูญไปแล้วนั้น เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่จะยืนยันว่าเราเคยรู้จักนางอหลยา ภรรยาของพระฤๅษีโกตะมะ แห่งรามายณะที่แต่งโดยวาลมีกิมาแล้ว

(รูปที่ 8, ซ้าย) ภาพสลักแสดงการปลดปล่อยนางอหลยาโดยพระราม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ที่เทวสถานปัทธารา กาฑิ เมืองนาลันดา (ที่มา : Kalpana S. DESAI, Iconography of Visnu, New Delhi, Abhinav Publications, 1973, fig.82)
(รูปที่ 9, ขวา) สันนิษฐานว่าเป็น “รูปบุคคลกำลังหลั่งทักษิโณทก(?) ให้แก่บุคคลผู้หนึ่ง บนโคนเสาติดผนังด้านทิศเหนือมณฑปปราสาทประธาน(?) (ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว)” (ที่มา : ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ปราสาทเขาพนมรุ้ง : ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2535.)

จะเห็นได้ว่าแม้รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จะเป็นงานที่เพิ่งรวบรวมเขียนขึ้นให้เป็นฉบับที่สมบูรณ์เมื่อ 200 ปีเศษนี้ และอาจจะมีเนื้อหาบางส่วนที่คลาดเคลื่อนไปจากฉบับดั้งเดิมที่แต่งขึ้นโดยวาลมีกิ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้อันเป็นผลจากการเล่าปากต่อปาก จากชนรุ่นหนึ่งไปยังชนรุ่นต่อๆ มา มีการถ่ายทอดเรื่องราวควบคู่ไปกับการต่อเติม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางส่วนไปบ้างหรือถูกนำไปปะปนกับอีกส่วนบ้าง

อย่างไรก็ดีในบางครั้งเราก็พอจะติดตามที่มาของบุคคล ความเป็นมาของเนื้อเรื่อง ที่ยังคงแสดงเค้าความเดิมบ้างไม่มากก็น้อย ดังกรณีของฤๅษีโคดมกับภรรยาที่ชื่อนางกาลอัจนาในฉบับสำนวนไทย ซึ่งมูลเหตุเดิมของการสร้างนางกาลอัจนาขึ้นก็เพื่อหาทายาทสืบสมบัติปกครองกรุงสาเกดแทนพระดาบสโคดม แต่เนื้อเรื่องก็ดำเนินมาจนถึงการกำเนิดบุคคลสำคัญของเรื่องรามเกียรติ์ เช่น หนุมาน พาลี และสุครีพ ในขณะที่เรื่องพระรามสำนวนที่แต่งโดยวาลมีกินั้น การกำเนิดของบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีความสัมพันธ์เช่นของไทยเลย

นอกจากนี้จากการนำเรื่องราวดังกล่าวไปเปรียบเทียบเรื่องพระดาบสโกตะมะกับพระดาบสินีอหลยา และเรื่องการกำเนิดลิงหนุมัท ทหารเอกของพระรามที่ถูกเล่าไว้ในรามายณะโดยวาลมีกิ เราอาจกล่าวได้ว่าเรื่องพระรามของไทยไม่ได้ถูกบิดเบือนไปมากจนแทบจะจำเค้าความเดิมไม่ได้เหมือนบางสำนวน จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แสดงการนำเรื่องราวตอนต่างๆ มาปะปนกัน จึงไม่ยากนักที่เราติดตามที่มาดั้งเดิมของบุคคลต่างๆ ที่ถูกเล่าไว้ในฉบับสำนวนไทย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก. รามเกียรติ์. พระนคร : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2506, หน้า 72.

[2] เรื่องเดียวกัน. หน้า 73.

[3] เรื่องเดียวกัน. หน้า 81.

[4] เรื่องเดียวกัน. หน้า 83.

[5] Balakanda; Sarga XLVIII

[6] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. บ่อเกิดรามเกียรติ์. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2503, หน้า 25.

[7] Alfred Roussel. Le Ramayana de Valmiki; Kiskindhakanda, Sarga LXVI. Paris, Librairie d”Amerique et d”Orient, 1979.

[8] Balakanda; Sarga XVII

[9] Sundarakanda; Sarga XXIV

[10] Kalpana S. DESAI, Iconography of Visnu, New Delhi, Abhinav Publications, 1973, p. 116-117.

[11] ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ปราสาทเขาพนมรุ้ง : ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2535, หน้า 338.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ฤๅษีโคดมเป็นอะไรกับนางอหลยา และใครเป็นแม่หนุมาน” เขียนโดย มลฤดี สายสิงห์, มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2565