มี “รามายณะ” ฉบับพระรามไม่ใช่นารายณ์อวตาร?

พระราม รามายณะ รามเกียรติ์
(ภาพจาก Los Angeles County Museum of Art)

รามายณะ หรือ “รามเกียรติ์” ฉบับอินเดียมีหลายฉบับหลายเวอร์ชันอย่างมาก และอาจมีมากถึงสามร้อยฉบับ อย่างไรก็ดี แกนของเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวพันกับ พระราม ทศกัณฐ์ หนุมาน ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวละครเด่นของเรื่อง หรืออีกแง่คือ ล้วนบรรจบที่การรบระหว่างมนุษย์ ลิง และอสูร (ยักษ์) ทั้งสิ้น แม้บางฉบับจะไม่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เช่น สีดาลุยไฟ พระลพ-พระกุศครองเมือง ฯลฯ

อันที่จริง ชาวบ้านในอินเดียจำนวนไม่น้อยไม่รู้จัก รามายณะ ฉบับมหาฤๅษีวาลมีกิ ซึ่งเป็นรามายณะเวอร์ชันที่โด่งดังและถูกนำเสนอมากที่สุด (ในระดับโลก) ปัจจัยสำคัญมาจากการเขียนด้วยภาษาสันสกฤตที่คนท้องถิ่นไม่เข้าใจและไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ชาวบ้านจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วอินเดียจึงมีรามายณะฉบับนิทานพื้นบ้านของตนเอง เช่น รามจริตมานัส และรามาวตารัม ซึ่งเขียนด้วยภาษาอวธี (ฮินดูสายหนึ่ง) และภาษาทมิฬ ตามลำดับ

โดยเฉพาะฉบับ “รามาวตารัม” คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งข้อสังเกตว่า “น่าจะเป็นที่มา (ส่วนหนึ่ง) ของ ‘รามเกียรติ์’ ของเรา” เพราะตัวละครจำนวนหนึ่งที่ไม่ปรากฏในฉบับฤๅษีวาลมีกิ เช่น ไมยราพณ์ มูลพลัม กลายเป็นว่าเรามีร่วมกันกับฉบับรามาวตารัมเสียอย่างนั้น…

เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) เคยกล่าวไว้ในหนังสือ อุปกรณ์รามเกียรติ์ ว่า นักวิชาการตะวันตกมั่นใจทีเดียวว่าตำนานพระรามเคยเป็นนิทานชาวบ้านมาก่อน โดย “ราก” ของเรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นใน “คัมภีร์ฤคเวท” อันเก่าแก่ของฮินดู

ที่สำคัญ “พระราม” ในรามายณะฉบับพระเวท คือ “พระอินทร์” เทพแห่งฝน มิใช่อวตารขององค์พระวิษณุหรือพระนารายณ์อย่างที่เห็นในรามเกียรติ์ฉบับบ้านเรา

คัมภีร์พระเวทเผยความสอดคล้องระหว่างทั้งคู่ที่เด่นชัดสุด ๆ นั่นคือ การมี “กายสีเขียว” เหมือนกัน เน้นย้ำด้วยว่าเป็น “สีเขียวคล้ำ” อย่างเมฆฝน เพราะล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของฤดูฝนและความอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ “นางสีดา” คู่ทุกข์คู่ยากของพระรามยังนับได้ว่าเป็น “เทวีแห่งรอยไถ” หรือผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ บ่อเกิดแห่งพืชผลและสรรพชีวิต ซึ่งดูจะไม่ห่างไกลความจริงนักหากพิจารณาจากเรื่องราวการกำเนิดนางสีดา เพราะมีเหตุการณ์ที่พระนางถูกฝังในผอบทองคำใต้ดิน อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของ พระแม่ธรณี ก่อนถูก “ไถคราด” ขึ้นมาโดยท้าวชนก

รามายณะจึงเป็นภาพจำลองตำนานในคัมภีร์ฤคเวท ว่าด้วยพระราม (พระอินทร์) ตัวแทนของเมฆฝน ผู้มาปราบ ทศกัณฐ์ หรือ “วฤตาสูร” อสูรแห่งความแห้งแล้ง แล้วสมรสกับนางสีดา (แผ่นดิน) ได้ทายาทคือ พระลพ (ลว- แปลว่า เก็บเกี่ยว) และพระมงกุฎ หรือกุศะ (หญ้าคา) หรือพืชผลจากการกสิกรรมนั่นแหละ

จะเห็นว่ารากฐานของรามายณะเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับสังคมเกษตรกรรมมากกว่าตำนานวีรบุรุษ รามายณะจึงเริ่มต้นจากการเป็นนิทานศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน ก่อนการนับถือพระรามในฐานะนารายณ์อวตาร

รามายณะ เป็นนิทาน “ขอฝน” ยุคโบราณก็ว่าได้…

อาจารย์คมกฤช นิยามเรื่องราวทั้งหมดนี้ว่า “ฟ้า (เมฆ) สมสู่ดิน โดยเข้ารบกับความแห้งแล้ง แล้วก่อเกิดสรรพชีพ”

ส่วน “การรบ” ยังเป็นแก่นเรื่องสำคัญไม่แพ้การสมรสระหว่างฟ้ากับดิน เนื่องจากสมัยโบราณถือว่าสมรภูมิรบคือ “เวที” แห่งการบูชายัญ การรบพุ่งประหัตประหารจึงเป็น “พิธีกรรม” อย่างหนึ่งของคนอินเดียโบราณ โดยมี ความกล้าหาญ ความสัตย์ ความเมตตา และคุณธรรมนานัปการเป็นองค์ประกอบร่วมเพื่อเสริมมิติทางศีลธรรมให้แก่วีรบุรุษของเรื่องอย่างพระราม

“…มันมีอะไรมากกว่าการเอาชนะเข่นฆ่ากัน ผมว่านี่คือเหตุผลลึก ๆ อันหนึ่งที่การแสดงชั้นสูงของไทยและบางการแสดงชั้นสูงของแขก อย่างโขน จึงกำหนดให้เล่นแต่รามายณะเท่านั้น” อาจารย์คมกฤชกล่าว…

เมื่อรามายณะถูกทำให้เป็นวรรณคดีศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา โดยเฉพาะของลัทธิไวษณพนิกาย ที่นับถือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าที่ทรงอานุภาพสูงสุด “พระราม” จึงแปรไปเป็นร่างอวตารของพระนารายณ์แทนพระอินทร์ ซึ่งถูก “ลดขั้น” ลงมา ส่วนหนึ่งเพื่อเชิดชูพระรามให้เป็นเอกบุรุษ ผู้ถึงพร้อมสมร่างอวตารของเทพเจ้าอยู่ยิ่งใหญ่ตามหลัก “ปุรุโษตมะ” ของฮินดูนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คมกรช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม ผี พราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ : มติชน.

https://www.matichonweekly.com/column/article_4228

https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:172110

https://www.vedantu.com/stories/lord-indra-grants-rama-wish


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2566