เปรียบ “สฤษดิ์” เป็น “หนุมาน” ทหารเอกผู้จงรักภักดีต่อ “พระราม”

หนุมาน กราบ พระราม พระลักษมณ์
หนุมานกำลังก้มกราบพระราม ด้านหลังคือพระลักษมณ์ ภาพวาดราว ค.ศ. 1910-15

“หนุมาน” สัญลักษณ์ของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นทหารเอกผู้จงรักภักดีต่อ “พระราม”

การนำสัตว์ประจำปีเกิดมาใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงอำนาจและบารมีของผู้นำประเทศนั้น นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่นำ “ไก่” มาใช้เป็นสัญลักษณ์ เช่น ปูนปั้นรูปหัวไก่ ที่ทำเนียบรัฐบาล หรือตราประจำจังหวัดพิบูลสงคราม (จังหวัดบันทายมีชัยในกัมพูชา)

ต่อมาในยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำเผด็จการในช่วงทศวรรษ 2500 ก็นำสัตว์ประจำปีเกิดมาใช้สัญลักษณ์ประจำตัวเช่นกัน โดยเป็นรูปหนุมานกลางหาวท่ามกลางดาวกับเดือน เนื่องจาก จอมพล สฤษดิ์ เกิดปี “วอก” หรือ “ลิง” นั่นเอง

การที่ จอมพล สฤษดิ์ นำ “ลิง” มาใช้เป็นสัญลักษณ์นี้ ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนถึงกรณีดังกล่าวลงในเรื่องฝรั่งศักดินา ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ระหว่างกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ถึงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2501 ความว่า

“ตราของจอมพลสฤษดิ์นั้นพื้นสีชมพู แสดงว่าเกิดวันอังคารมีภาพหนุมานแผลงฤทธิ์หาวเป็นดาวเป็นเดือนท่านี้ฝรั่งเรียกว่า Rampant แปลว่า ผยอง จะแปลว่าแผลงฤทธิ์ก็คงจะได้ ท่านจอมพลคนนี้คงจะเกิดปีวอก แต่การที่เลือกรูปหนุมานผู้เป็นทหารเอกพระรามมาเป็นตราประจำตัวนั้นเข้าทีนัก หนุมานนั้นซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระรามโดยไม่เห็นแก่บำเหน็จรางวัลอย่างไร ใคร ๆ ก็รู้”

และ “มีความซื่อสัตย์จงรักภักดียอมตายให้ได้ มิได้หวังสิ่งไรตอบแทนในทางวัตถุ เป็นความสัมพันธ์ทางใจโดยแท้…

อาบเหงื่อต่างน้ำทำสงคราม   ให้พระรามใช้สอยน้อยหรือนั่น

ฆ่ายักษ์ตายยับลงนับพัน   จะรางวัลสิ่งไรก็ไม่มี”

1 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (16 มิถุนายน 2451-8 ธันวาคม 2506) [ภาพจาก อสท., ปีที่ 4 ฉบับที่ 5 (ธันวาคม 2506)]
อ. สายชล สัตยานุรักษ์ วิเคราะห์เรื่องนี้ว่าเป็นการยกย่อง จอมพล สฤษดิ์ ว่ามีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ โดยเปรียบเทียบ จอมพล สฤษดิ์ กับ “หนุมาน” ทหารเอกของ “พระราม” ในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งหนุมานได้ช่วยพระรามกำจัดปรปักษ์ของพระองค์ด้วยความจงรักภักดี

ตรงนี้มีนัยยะสื่อให้เห็นว่า จอมพล สฤษดิ์ ช่วยกำจัด จอมพล ป., พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ และบรรดาอัศวินของพลตำรวจเอก เผ่า ทั้งนี้โดยมิได้หวังสิ่งใดตอบแทน และการที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ยกย่อง จอมพล สฤษดิ์ ในแง่มุมดังกล่าวก็นับเป็นการวางรากฐานด้านความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนยอมรับบทบาทผู้นำของ จอมพล สฤษดิ์ ในเวลาต่อมา

“จะเห็นได้ชัดเจนว่าตลอดระยะเวลาที่ จอมพล สฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2501-2506) ความชอบธรรมของจอมพลสฤษดิ์อยู่ที่การแสดงความเป็นผู้นำที่ไม่มีความปรารถนาในอำนาจ แต่เสียสละความสุขและผลประโยชน์ส่วนตัวมาทำงานเพื่อบ้านเมือง มีความจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อพระมหากษัตริย์ นับถือศาสนาพุทธซึ่งทำให้เป็นบุคคลอันกอปรไปด้วยคุณธรรมของ ‘ผู้นำแบบไทย’ อันทำให้สามารถปกครองด้วยอำนาจเด็ดขาดอย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลให้ ‘ชาติไทย’ เต็มไปด้วยระเบียบ ความมั่นคง ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้า”

แต่อีกด้านหนึ่ง นักหนังสือพิมพ์ที่เป็นปฏิปักษ์กับจอมพลเผด็จการผู้นี้มาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2501 ก็ใช้ “ลิง” ด่า จอมพล สฤษดิ์ ต่าง ๆ นานา เช่น “ไอ้ลิงม้ามแตก”, “ไอ้ลิงบ้ากาม”, “อ้ายหน้าลิงกำลังฆ่าประชาธิปไตย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สายชล สัตยานุรักษ์. (2550). คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย” เล่ม 2 ยุคจอมพลสฤษดิ์ถึงทศวรรษ 2530. กรุงเทพฯ : มติชน.

อิทธิเดช พระเพ็ชร. (พฤศจิกายน, 2564). ประติมากรรมน้ำแข็ง : จาก “ขวัญใจ” สู่ “ตัวร้าย” ภาพลักษณ์ทางการเมืองของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 : ฉบับที่ 1.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2565