ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สื่อในยุค 2500 ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดคือ “หนังสือพิมพ์” แม้แต่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีหนังสือพิมพ์อยู่ในกำมือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ตนเอง และใช้โจมตีศัตรูทางการเมือง แต่ขณะเดียวกัน จอมพล สฤษดิ์ ก็ถูกนักหนังสือพิมพ์โจมตีอย่างเผ็ดร้อนเช่นกัน จนถึงกับเคยบ่นว่า “ด่ากันเหลือเกิน ด่ากันอย่างไม่มีชิ้นดี”
อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ “อิสสระ” ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ จอมพล สฤษดิ์ อย่างร้อนแรง โดยมักเรียก จอมพล สฤษดิ์ ในเชิงล้อเลียนว่า “ลิง” บัญญัติคำเรียกว่า “ไอ้ลิงม้ามแตก” “ไอ้ลิงบ้ากาม” “ไอ้พวกชาติสังคัง”
เนื่องจาก จอมพล สฤษดิ์ เกิดปีวอก ใช้สัญลักษณ์ประจำตัวเป็นรูปหนุมานกลางหาวท่ามกลางดาวกับเดือน นักหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นจึงนำลิงมาเปรียบแทนตัว จอมพล สฤษดิ์ ในประเด็นนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อธิบายว่าสื่อความหมายถึง “ความจงรักภักดี”
เพราะว่า “ตราของจอมพลสฤษดิ์นั้นเป็นสีชมพู แสดงว่าเกิดวันอังคาร มีภาพหนุมานแผลงฤทธิ์หาวเป็นดาวเป็นเดือน ท่านี้ฝรั่งเรียกว่า Rampant แปลว่า ผยอง จะแปลว่าแปลงฤทธิ์ก็คงจะได้ ท่านจอมพลคนนี้จะเกิดปีวอก แต่การที่เลือกรูปหนุมานผู้เป็นทหารเอกพระรามเป็นตราประจำตัวนั้นเข้าทีนัก หนุมานนั้นซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระรามโดยไม่เห็นแก่บำเหน็จรางวัลอย่างไร ใคร ๆ ก็รู้”
ขณะที่ สายชล สัตยานุรักษ์ ตีความทัศนะของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ว่าเป็นการยกย่อง จอมพล สฤษดิ์ ว่ามีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ โดยเปรียบเทียบ จอมพล สฤษดิ์ กับหนุมาน ทหารเอกของพระราม ซึ่งได้ช่วยพระรามในการกำจัดปรปักษ์ของพระองค์ด้วยความจงรักภักดี
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ อาจเป็นการพูด “ดักคอ” จอมพล สฤษดิ์ ก็เป็นได้ ด้วยเพราะบริบทในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2501 นั้น มีการเล่นข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า จอมพล สฤษดิ์ จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี
เมื่อมีการนำลิงมาเปรียบแทนตัว จอมพล สฤษดิ์ ดังกล่าว นักหนังสือพิมพ์จากหนังสือพิมพ์ประชาชน จึงได้วาดภาพการ์ตูนล้อเลียนโจมตีเชิง “แซะ” จอมพล สฤษดิ์ โดยวาดเป็นรูปลิงเอาหางรัดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นัยว่ากำลังจะทำลายระบอบประชาธิปไตย อีกด้านหนึ่งมีกลุ่มประชาชนกำลังผลักดันค้ำสู้อยู่ นัยว่าไม่ให้ประชาธิปไตยพังทลาย ด้านขวาสุดเป็นภาพ ควง อภัยวงศ์ กำลังกอดเข่าอยู่เฉย ๆ ขณะที่ด้านซ้ายสุดเป็นภาพ นายพลเดอโกลล์ (Charles de Gaulle) ที่ช่วงเวลานั้นกำลังเข้ามาแก้ไขปัญหาในฝรั่งเศสด้วยอำนาจเด็ดขาด อันเป็นเหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ไทยในสมัยนั้นนำมาเปรียบเทียบกับสภาพการเมืองไทย
โดยมีข้อความใต้ภาพล้อนี้ว่า “สนุกแหง๋ ๆ ถ้าท่านได้ชมลครลิงคณะ ‘จิ้งจกป่าจาก’ แสดงเรื่องอ้ายหน้าลิงกำลังฆ่าประชาธิปไตย แสดงแน่ ๆ โปรดรอฟังกำหนดแสดงที่แน่นอนในเร็ววันนี้”
นักหนังสือพิมพ์จากหลากหลายสำนักโจมตี จอมพล สฤษดิ์ อย่างดุเดือด ซึ่ง จอมพล สฤษดิ์ เองก็ทราบดี จนถึงกับกล่าวว่า “ด่ากันเหลือเกิน ด่ากันอย่างไม่มีชิ้นดี…ว่ากันมากอย่างนี่เองที่คุณเผ่าถึงได้เอาไปยิงทิ้งมากต่อมาก” และ
“ผมเห็นควรจะให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการพิมพ์อย่างยิ่ง ผมเองก็ทนไม่ไหว ถ้าหนังสือพิมพ์ลงได้เรียกรัฐมนตรีว่า ‘อ้าย’ แล้วก็ต้องนับว่าเกินเลยไปมากทีเดียว…มันใส่ร้ายป้ายสีเช่นนี้ ผมรู้สึกว่า ทำให้หนังสือพิมพ์ทั่วไปเสียชื่อเสียงหมด คุณก็เห็นแล้วว่าผมไปทำประโยชน์ให้แก่ชาติ แล้วกลับมาเล่นงานผมอย่างนี้ ไม่เป็นธรรมเสียแล้ว ผมถึงได้ให้สัมภาษณ์ที่สภาว่าด่าทหารมาก ๆ เข้า เขาทนไม่ไหวไปหาที่โรงพิมพ์ไม่รู้นะ”
ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 การรัฐประหารที่ จอมพล สฤษดิ์ เรียกว่าเป็น “การปฏิวัติ” นั้น อันดับแรก ๆ ในการดำเนินการ คือ การจัดการและจับกุมนักหนังสือพิมพ์จำนวนมาก โดยนักหนังสือพิมพ์ที่โดนจับส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ จอมพล สฤษดิ์ และโจมตีสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์บางฉบับได้มองเห็นการจะเป็นไปในภายภาคหน้าก่อนแล้วว่าจะมีการจับกุมนักหนังสือพิมพ์ครั้งใหญ่ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและอำนาจของ จอมพล สฤษดิ์ ดังมีการพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์อิสสระไว้ตั้งแต่ฉบับแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 หรือนานกว่า 7 เดือนก่อนเกิดการปฏิวัติ ความว่า “สฤษดิ์กลัวรัฐบาลจะเจ๊งรีบกลับ จะจับ นสพ. ครั้งใหญ่หลังเลือกตั้งแล้ว”
อ่านเพิ่มเติม :
- “ประธานบริษัท” คราบผู้นำเผด็จการ : ธุรกิจแหล่งทุนอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
- “เย้ยฟ้าท้าดิน” เพลงประจำตัวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
- เพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด ฉบับ “สฤษดิ์-เผ่า” กับควันหลงวาทะ “ทำไมมึงทำกับกู..พูดกันดีๆ ก็ได้”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อิทธิเดช พระเพ็ชร. (พฤศจิกายน, 2564). ประติมากรรมน้ำแข็ง : จาก “ขวัญใจ” สู่ “ตัวร้าย” ภาพลักษณ์ทางการเมืองของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 : ฉบับที่ 1.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2564