“ผลประโยชน์อื่นใด” ของจอมพลสฤษดิ์ : เม้มงบลับ ซุกเงินหลวง หนุนพวกพ้อง เอื้อนายทุน

เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 แล้วนั้น สิ่งที่จะช่วยค้ำจุนอำนาจทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์คือฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่มั่นคง วิธีการคือ จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจเข้าไปปรับเปลี่ยนกลไกของรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง ผู้ใกล้ชิด และนายทุน เป็นต้นว่า การดำเนินนโยบายเอื้อต่อการหาผลประโยชน์ การแก้ไขกฎหมาย การปรับเปลี่ยนโยกย้ายส่วนราชการให้รวมศูนย์ภายใต้คำสั่งโดยตรงของจอมพลสฤษดิ์ และการใช้อำนาจหรือคำสั่งโดยมิชอบ

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ไม่ได้พึ่งสร้างฐานอำนาจทางเศรษฐกิจหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 แต่จอมพลสฤษดิ์ และ “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์” ได้แสวงหาผลปผระโยชน์มาก่อนหน้านี้ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา มีหลายบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นอันเป็นแหล่งรายได้ให้จอมพลสฤษดิ์ โดยเฉพาะสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เป็นขุมทรัพย์มหาศาลของจอมพลสฤษดิ์เลยก็ว่าได้

ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ทุนขุนนางไทย (พ.ศ.2500-2516)” ของรัตพงษ์ สอนสุภาพ ได้ศึกษาแหล่งเงินรายได้ของจอมพลสฤษดิ์ โดยใช้ข้อมูลส่วนใหญ่จาก “รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินของรัฐในมรดกของจอมพลสฤษดิ์” ซึ่งทำให้เห็นว่า จอมพลสฤษดิ์และผู้ใกล้ชิดใช้วิธีการต่าง ๆ ผ่านกลไกของรัฐเข้าช่วยเหลือในการแสวงหาผลประโยชน์จำนวนมาก

ภาพเหตุการณ์ที่จอมพลสฤษดิ์นำคณะนักศึกษาเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบรัฐบาล ภาพหลังจากการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500

หนุนพวกพ้อง เอื้อนายทุน

จอมพลสฤษดิ์ได้ดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ คือการตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม” เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2502 ซึ่งเมื่อนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ทำให้ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่ก่อตั้งใหม่ 142 โรง, โรงงานเก่าขยายโรงงาน 48 โรง และโรงงานที่ได้รับการส่งเสริม 190 โรง โดยเป็นของคนไทย 68 โรง ร่วมทุนกับต่างชาติ 96 โรง และเป็นของต่างชาติ 8 โรง

จอมพลสฤษดิ์เข้าควบคุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ อย่างใกล้ชิด การที่จอมพลสฤษดิ์สนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมก็เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เพราะหากอุตสาหกรรมขยายตัวก็หมายถึงผลประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

อย่างกรณีบริษัทไทยเซฟวิ่งทรัสต์ บริษัทการเงินของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งได้นำเรื่องของบริษัทนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนผลักดันให้คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ และสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติว่า ให้เป็นบริษัทนำเข้าทองคำแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ต้องประมูล และยังดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้กับอีกหลายบริษัทเพื่อให้ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ เช่น บริษัทชลประทานซีเมนต์, บริษัทแสนสุรัตน์, บริษัทกรุงเทพไหมไทย, บริษัทบางกอกกระสอบ, บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย และบริษัทไทยแลนด์สเมลติ้งแอนด์รีไพนิ้ง

และจอมพลสฤษดิ์ยังให้การส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทของผู้ใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์อย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร (บริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ), จอมพลประภาส จารุเสถียร (บริษัทกรรณสูต เจเนอรัล แอสเซมบลี), พันเอกเฉลิมชัย จารุพัฒน์ (บริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนตัล, บริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว) และนายสหัท มหาคุณ (ในการผูกขาดธุรกิจผลิตสุรา และธุรกิจต่าง ๆ เช่น บริษัทสุรามหาราษฎร์, บริษัทใต้เซ็งการทอ, บริษัทนำตาลตะวันออก) เป็นต้น

นอกจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ยังได้ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 19 บริษัท ซึ่งยังได้รับการคุ้มครองพิเศษและความช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกด้วย เช่น บริษัทสยามอินเตอร์คอนติเนลตัลโฮเต็ล ขอกู้เงินจากรัฐบาลไทยเพื่อลงทุน หรือบริษัทยูเนียนคาร์ไบค์ที่ได้รับการคุ้มครองพิเศษจากรัฐบาลในการผูกขาดการถลุงแร่ดีบุกเพื่อส่งออก

นอกจากการส่งเสริมการลงทุนข้างต้นแล้ว จอมพลสฤษดิ์ยังได้อาศัยเงินสนับสนุนจาก “บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ในการสนับสนุนธุรกิจของบุคคลใกล้ชิด โดยหน่วยงานนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อหาเงินทุนจากต่างประเทศมาสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ บริษัทที่ได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่ล้วนเป็นธุรกิจที่ใกล้ชิดกับผู้นำทหาร เช่น บริษัทจี เอส สตีล ของพันเอกถนัด คอมันตร์ ได้รับเงินสนับสนุน 3 ครั้ง ประมาณ 53 ล้านบาท, บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ธุรกิจในอุปถัมภ์ของจอมพลประภาส ได้รับเงินสนับสนุน 30 ล้านบาท, บริษัทสยามเคมีคอลอินดัสตรี ธุรกิจในอุปถัมภ์ของจอมพลถนอม ได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 20 ล้านบาท และบริษัทน้ำตาลมหาคุณ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำทหาร ได้รับเงินสนับสนุน 51 ล้านบาท

บริษัทต่าง ๆ ที่จอมพลสฤษดิ์และผู้ใกล้ชิดตั้งขึ้นมาเป็นจำนวนมากนี้ แม้บางบริษัทจะไม่ปรากฏชื่อจอมพลสฤษดิ์ในฐานะผู้ถือหุ้น แต่บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่นี้จะมีบริษัทที่จอมพลสฤษดิ์ก่อตั้งขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วเข้าถือหุ้นแทน หมายความว่าจอมพลสฤษดิ์ใช้นิติบุคคลเข้าถือหุ้นเพื่อต้องการเสียภาษีเงินได้ให้น้อยลง โดยบริษัทเหล่านั้นก็เป็นบริษัทของผู้ใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์ เช่น ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์, นายบรรเจิด ชลวิจารณ์, นายทองดุลย์ ธนะรัชต์ และนายสงวน จันทรสาขา ซึ่งก็คือ “นอมินี” ของจอมพลสฤษดิ์ทั้งสิ้น

หลายบริษัทที่จอมพลสฤษดิ์ก่อตั้งนั้น บางบริษัทก็ไม่มีเงินทุนเลย แต่ใช้วิธีการเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารที่ตนมีอิทธิพลมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยเครือข่ายธุรกิจของจอมพลสฤษดิ์มีดังนี้

ภาคการเงิน โดยเฉพาะธนาคาร จอมพลสฤษดิ์ใช้เป็นแหล่งเงินทุน แหล่งพักเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบ และเบิกเงินเกินบัญชี เช่น กรณีธนาคารเอเชียและธนาคารสหธนาคาร จอมพลสฤษดิ์ได้ใช้อิทธิพลในการเบิกเงินเกินบัญชีมาใช้ดำเนินธุรกิจอื่น ๆ และกรณีธนาคารทหารไทย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ดำรงตำแหน่งประธานบริหาร ได้แต่งตั้งคนใกล้ชิดมาดำรงตำแหน่ง และใช้ธนาคารเป็นแหล่งพักเงินที่ได้มาจากการสั่งจ่ายเงินราชการโดยไม่ชอบ ซึ่งจะกล่าวต่อไป

ภาคอุตสาหกรรม เช่น บริษัทเหมืองแร่บูรพาสากลเศรษฐกิจ (จอมพลสฤษดิ์ถือหุ้นถึงร้อยละ 45), บริษัทชลประทานซีเมนต์, บริษัทบางกอกกระสอบ, บริษัทยางไร์สโตน, บริษัทบางกอกเบียร์, บริษัทโรงงานกลั่นน้ำมันไทย และบริษัทถ่านและน้ำมันไทย เป็นต้น

ภาคการค้าและบริการ เช่น บริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ, บริษัทบางกอกสากลการค้า, บริษัทสหพาณิชย์สามัคคี และบริษัทผดุงสิงห์พาณิชย์ เป็นต้น

โดยบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้มีทุนจดทะเบียนต่ำสุดคือ 1 ล้านบาท ไปจนถึงมากสุดที่ 70 ล้านบาท บางบริษัทจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ก่อตั้งเอง บางบริษัทจอมพลสฤษดิ์ก็เข้าถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทว่า หลายธุรกิจของจอมพลสฤษดิ์รุ่งเรืองในยุคที่จอมพลสฤษดิ์มีอำนาจเท่านั้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม บางธุรกิจถูกยึดเป็นทรัพย์สินของรัฐ บางธุรกิจก็ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก และไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการธุรกิจที่ไร้ทิศทางและถูกครอบงำ ซึ่งไม่สามารถแข่งกับธุรกิจคู่แข่งที่ดำเนินการอย่างเสรีได้

ฮุบที่ดิน

จอมพลสฤษดิ์ได้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนและผู้ใกล้ชิด เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งได้จำกัดการถือครองที่ดินไว้ การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อ้างว่าขัดต่อนโยบายการส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมในประเทศของภาคเอกชน โดยจอมพลสฤษดิ์ได้เข้าไปถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งในกรุงเทพฯ พื้นที่ 300 แปลง รวม 131 โฉนด ในต่างจังหวัดพื้นที่รวม 22,000 ไร่ รวม 300 โฉนด

อย่างกรณีผืนป่าในจังหวัดสุพรรณบุรีและชัยนาท ซึ่งอยู่ใกล้กับเขื่อนชัยนาท พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่รกร้างของกรมประชาสงเคราะห์ โดยหวังจะจัดสรรเป็นที่ดินทำกินแก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน แต่เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีบันทึกถึงจอมพลสฤษดิ์ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีทำเลดี เหมาะแก่การใช้สอย จอมพลสฤษดิ์จึงไปตรวจสอบแล้วสั่งให้ร้อยเอกวีรชาติ อุทยานานนท์ ไปแจ้งแก่ที่ดินอำเภอให้จัดสรรพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สงวนสำหรับเลี้ยงสัตว์

หลังจากนั้นจึงได้มีการปรับแต่งหน้าดิน โดยแจ้งความประสงค์ต่อทางจังหวัดว่าเพื่อประโยชน์ทางราชการ ต่อมา พื้นที่นั้นจำนวน 5,004 ไร่ 2 งาน 30 วา รวม 12 โฉนด ได้ตกอยู่ในการถือครองของจอมพลสฤษดิ์และบุคคลใกล้ชิด โดยจอมพลสฤษดิ์ถือครองเองถึง 3,104 ไร่ 2 งาน 30 วา

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เม้มงบลับ ซุกเงินหลวง

จากข้อมูลข้างต้นเป็นแหล่งรายได้ของจอมพลสฤษดิ์จากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งได้ผลประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนกลไกของรัฐให้เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ ทว่าแหล่งรายได้ของจอมพลสฤษดิ์ที่มาจากราชการโดยตรงมีถึง 7 แหล่งสำคัญ คือ

1. เงินจากสลากกินแบ่งรัฐบาล

จอมพลสฤษดิ์ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสลากกินแบ่งรัฐบาลได้สั่งจ่ายเงินราชการลับของกองสลาก ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2502 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 รวม 30 ครั้ง เป็นเงิน 238,000,000 บาท และสั่งจ่ายเงินรายได้ของกองการพิมพ์ของกองสลาก ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ถึงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2506 เพื่อบำรุงการกุศลสาธารณะ 2 ครั้ง เพื่อราชการลับ 1 ครั้ง รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท

รวมแล้ว จอมพลสฤษดิ์สั่งจ่ายเงินของกองสลากทั้งหมด 240,000,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวที่อ้างว่าเพื่อราชการลับและเพื่อบำรุงกุศลสาธารณะนั้น จากรายงานการสอบสวนฯ ปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ได้นำไปเข้าบัญชีส่วนตัวและนำไปใช้จ่ายเป็นการส่วนตัว

2. เงินค่าส่วนลดสลากกินแบ่งรัฐบาลของโควตากองทัพบก

นอกจากจอมพลสฤษดิ์จะเป็นประธานกรรมการบริหารกองสลากแล้ว บรรดาผู้ใกล้ชิดของจอมพลสฤษดิ์ยังเข้าไปควบคุมดูแลกองสลากด้วย เช่น นายโชติ คุณะเกษม, นายทองดุลย์ ธนะรัชต์ และนายมงคล ศรียานนท์ เป็นต้น โดยเงินค่าส่วนลดสลากกินแบ่งรัฐบาลของโควตากองทัพบกนี้ เป็นแหล่งรายได้ของจอมพลสฤษดิ์กับ “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์” มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 โดยจอมพลสฤษดิ์นำไปใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและอุปถัมภ์ผู้ใต้บังคับบัญชา

จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ “สำนักงานปิยะมิตร” ที่ตนตั้งขึ้นมาเป็นผู้จัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลแก่กองทัพบกและหน่วยงานสังกัดกองทัพบกทั้งหมด ปรากฏว่าเงินค่าส่วนลดสลากกินแบ่งรัฐบาลนี้ กองทัพบกไม่ได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใด โดยจอมพลสฤษดิ์ได้นำเงินเหล่านี้ไปใช้เป็นการส่วนตัว เป็นจำนวนเงินกว่า 33,218,672 บาท

3. เงินราชการลับจากกรมการเงินทหารบก

นับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ได้สั่งจ่ายเงินราชการลับจากกรมการเงินทหารบก ดังนี้

สั่งจ่ายเข้าบัญชีส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์ 8,820,000 บาท, จอมพลสฤษดิ์รับเงินสดไปเอง จำนวน 400,000 บาท (แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้ใช้ในราชการลับ), สั่งจ่ายผิดประเภทซึ่งไม่ใช่ราชการ 50,000 บาท, สั่งจ่ายผิดประเภท ให้ราชการแต่ไม่ใช่ราชการลับ 130,000 บาท, สั่งจ่ายทำราชการลับแต่ไม่ปรากฏหลักฐานประกอบ 1,400,00 บาท และสั่งจ่ายในการส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์ 4,250,000 บาท

รายละเอียดข้างต้นอ้างอิงจากรายงานการสอบสวนฯ ฉบับที่ 2 แต่จากรายงานการสอบสวนฯ ฉบับที่ 10 ให้ข้อมูลว่า จอมพลสฤษดิ์ได้นำเงินราชการลับจากกรมการเงินทหารบกไปเข้าบัญชีส่วนตัวและใช้จ่ายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,520,000 บาท

4. เงินราชการลับจากกรมการเงินกลาโหม

ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ถึงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์สั่งจ่ายเงินราชการลับของกระทรวงกลาโหมหลายครั้ง กล่าวคือ จอมพลสฤษดิ์สั่งจ่ายในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม 2 ครั้ง, ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2 ครั้ง, ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด 5 ครั้ง, ในฐานะผู้รักษาพระนคร 1 ครั้ง และไม่ได้ระบุตำแหน่ง 1 ครั้ง รวมเป็นเงิน 27,000,000 บาท

เงินจำนวนดังกล่าวได้สั่งจ่ายเป็นเช็ก 17 ฉบับ โดยเช็ก 15 ฉบับได้นำไปเข้าบัญชีส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์ในธนาคารต่าง ๆ เป็นเงิน 26,600,000 บาท ส่วนเช็กอีก 2 ฉบับ ฉบับละ 200,000 บาท โดยพลโทเจียม ญาโณทัยได้นำเช็กใบแรกไปขึ้นเป็นเงินสดแล้วนำมามอบให้จอมพลสฤษดิ์ เช็กอีกใบหนึ่งขึ้นเงินนำเงินไปฝากในบัญชีของพลโทเจียม

พลโทเจียมได้ชี้แจงว่า จอมพลสฤษดิ์สั่งโดยวาจาให้เก็บเงินจำนวนนี้ไว้ที่ตนเองเพื่อเป็นค่าจัดซื้อสิ่งของตามความต้องการของจอมพลสฤษดิ์ เช่น ซื้อแหวนเพชรและเครื่องถมทองให้จอมพลสฤษดิ์ กระทั่งใช้จ่ายเงินจำนวน 200,000 บาทนี้เรื่อยมาจนหมดวงเงิน

5. เงินบัญชีจากกองบัญชาการคณะปฏิวัติและงบพิเศษของผู้บัญชาการทหารสูงสุด

เงินส่วนนี้เป็นแหล่งรายได้ของจอมพลสฤษดิ์ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 โดยมีคำสั่งให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินคงคลังหรือเงินงบอื่นใด ซึ่งไม่ใช่งบของกระทรวงกลาโหมเป็นเงิน 10,000,000 บาท จากนั้นกระทรวงการคลังได้ออกเช็กธนาคารแห่งประเทศไทยให้แก่กรมการเงินกลาโหม แล้วจึงนำเงินดังกล่าวไปฝากใน “บัญชีกองบัญชาการคณะปฏิวัติ” เปิดบัญชีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501

หลังจากนั้น จอมพลสฤษดิ์ก็ทำการสั่งจ่ายเงินในลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายครั้ง จนยอดเงินในบัญชีดังกล่าวมีทั้งสิ้น 95,271,353.69 บาท

บัญชีดังกล่าวปิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ซึ่งได้สั่งจ่ายเป็นเช็ก 90 ฉบับ แต่การสั่งจ่ายเช็กดังกล่าวทำถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบราชการเป็นจำนวนเงินเพียงประมาณ 22.9 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการสั่งจ่ายโดยไม่ชอบ กล่าวคือ จ่ายเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์เป็นเงิน 65,500,000 บาท และจ่ายเงินให้บุคคลต่าง ๆ เป็นเงินประมาณ 6.7 ล้านบาท

จากการสอบสวนบุคคลต่าง ๆ ที่ได้รับเงินส่วนนี้ บางคนให้การว่า จอมพลสฤษดิ์ให้ถือเงินส่วนนี้ไว้ใช้จ่ายเป็นการส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์เอง เช่น เป็นเงินตอบแทนที่ได้รับใช้จอมพลสฤษดิ์กับท่านผู้หญิงวิจิตรา, เป็นเงินรางวัลให้นักร้องและนักดนตรี และใช้ซื้อสิ่งของมีค่า เช่น ซื้อแหวนเพชร สร้อยเพชร ฯลฯ จากพระนางเธอลักษมีลาวัณ ที่มีมูลค่า 1 ล้านบาท เป็นต้น

6. เงินราชการลับจากมติคณะรัฐมนตรี

ครั้งแรก จากการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2504 จอมพลสฤษดิ์เสนอต่อที่ประชุมให้อนุมัติการจ่ายเงินงบกลางประเภทเงินสำรองจ่ายจำนวน 2,000,000 บาท ในงบประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2504 เพื่อใช้จ่ายราชการลับ

สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวจากกระทรวงการคลังแล้วนำไปฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจำนวนนี้คือจอมพลสฤษดิ์แต่เพียงผู้เดียว ต่อมาได้สั่งจ่ายเงินดังกล่าวไปยังบัญชีธนาคารธนาหารไทย ชื่อบัญชี “S.M.2” ทว่าเงินดังกล่าวยังคงอยู่ในบัญชีจนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม

7. เงินราชการลับจากสำนักนายกรัฐมนตรี

จอมพลสฤษดิ์ได้ให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงบประมาณโอนเงินจากงบกลางประเภทเงินสำรองจ่ายไปเพิ่มงบประมาณเงินราชการลับของสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี ทั้งหมด 4 ครั้ง จำนวน 54,000,000 ล้านบาท จากนั้นสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีนำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากไว้ในบัญชีชื่อว่า “แผน” ของธนาคารทหารไทย

มีการเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวกว่า 78 ครั้ง เป็นเงิน 12,141,907 บาท เป็นการใช้จ่ายส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์ โดยกว่า 11,701,932 บาท นำไปใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่ใช่ราชการ เงินจำนวนหนึ่งนำไปเป็นรางวัลแก่บรรดาอนุภรรยาและผู้รับใช้ของของจอมพลสฤษดิ์ อีกจำนวนหนึ่งนำไปลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ

สรุปแล้ว แหล่งรายได้หรือเงินของจอมพลสฤษดิ์นั้นมาจากสองทางใหญ่ ๆ คือ จากบริษัทหรือธุรกิจและจากเงินราชการ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งรายได้อีกทางหนึ่งคือเงินอุดหนุนจากสหรัฐอเมริกา แต่จะขอกล่าวถึงในบทความอื่น

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ ท่านผู้หญิงวิจิตรา
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และท่านผู้หญิงวิจิตรา (ภาพจากหนังสือการเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ)

มรดก 2 พันล้าน?

จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 (นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง) ไม่นานจากนั้นทายาทเริ่มวิวาทแย่งชิงมรดก จนกระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 บุตรทั้ง 7 คนของจอมพลสฤษดิ์ได้ฟ้องร้องท่านผู้หญิงวิจิตราที่พยายามตัดสิทธิ์ในส่วนแบ่งที่ถูกต้องของทายาทออกไป

ปรากฏว่า จอมพลสฤษดิ์ในเขียนพินัยกรรมลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ท่านผู้หญิงวิจิตราเพียงผู้เดียว แต่มีข้อแม้ว่าต้องให้เงินลูกเลี้ยง คือเศรษฐาและสมชายคนละ 1 ล้านบาท พร้อมบ้านหนึ่งหลังที่เหมาะสมแก่ฐานะของคนทั้งสอง อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขนี้จะมีผลก็ต่อเมื่อทรัพย์สินที่เป็นเงินสดมีมากกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ ที่นาของจอมพลสฤษดิ์ได้แบ่งให้ให้แก่บุตรชายคนโตทั้งสองคนจำนวนเท่า ๆ กัน

บุตรชายทั้งสองของจอมพลสฤษดิ์กล่าวหาว่าท่านผู้หญิงวิจิตราทำลายพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่ง และอ้างว่าท่านผู้หญิงวิจิตราพยายามรวบรวมทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ที่อาจมีมากถึง 2,874,009,794 บาท รวมกับอสังหาริมทรัพย์มีค่าอีกจำนวนมาก แต่ท่านผู้หญิงวิจิตรากล่าวว่าตนรู้เพียงว่ามีเงินแค่ 12 ล้านบาทเท่านั้น ปมมรดกของจอมพลสฤษดิ์เป็นที่จับจ้องของประชาชนและนักข่าวอย่างมาก จนรัฐบาลจอมพลถนอมต้องเข้ามาแทรกแซง

สุดท้ายแล้ว “โดยที่ปรากฏว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะที่มีชีวิตอยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในราชการโดยมิชอบ กระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์สินของรัฐไปหลายครั้งหลายหน…” จอมพลถนอมจึงอาศัยอำนาจตามาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ยึดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์และท่านผู้หญิงวิจิตราที่มีทั้ง เงินฝากธนาคารทั้งในและนอกประเทศ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรและวัสดุภัณฑ์ หุ้นและหุ้นกู้ทุกชนิด ให้เป็นของรัฐ แต่ไม่รวมทรัพย์สินเดิมและสินส่วนตัวของท่านผู้หญิงวิจิตรา

ทรัพย์สินทั้งหมดที่ยึดได้รวมเป็นเงิน 604,551,276.62 บาท 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

รัตพงษ์ สอนสุภาพ. (2539). ทุนขุนนางไทย (พ.ศ.2500-2516). วิทยานิพนธ์ (ศ.ม.). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2507, จากเว็บไซต์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2548). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ฒ ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563