ปราบนักเลง-อันธพาลแบบ “จอมพลสฤษดิ์” ในวิถีพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เผด็จการ ทหาร เลือกตั้ง จอมพลผ้าขาวม้าแดง
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (16 มิถุนายน 2451-8 ธันวาคม 2506) [ภาพจาก อสท., ปีที่ 4 ฉบับที่ 5 (ธันวาคม 2506)]

ประเทศไทยในยุค พ.ศ. 2500 ได้รับขนานนามว่าเป็น “ยุคพัฒนา” ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากการปฏิวัติ การพัฒนาหลายอย่างรวมไปถึงเรื่องปราบปราม นักเลง อันธพาล ในยุคนั้น ถูกนักวิชาการนำมาวิเคราะห์อย่างน่าสนใจ

ท่ามกลางความจำเป็นหลายประการสำหรับการเร่งพัฒนาประเทศให้ทันสมัย อันเป็นผลมาจากภัยคอมมิวนิสต์และการเข้ามามีบทบาทของสหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมในประเทศโดยรวมแบบก้าวกระโดด เกิดการสร้างสาธารณูปโภคสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ให้กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท กลายเป็นวลีว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังมีการออกกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อสร้างสังคมและพัฒนาประเทศตามทัศนะของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

หนังสือ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” โดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ อธิบายถึงทัศนะการพัฒนาประเทศสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ได้อย่างน่าสนใจ โดยชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาประเทศในยุคสมัยจอมพล สฤษดิ์ นั้นมุ่งเน้นไปที่การกินดี อยู่ดี และมีงานทำของประชาชน ควบคู่ไปกับความสะอาด ความเรียบร้อย ความเป็นอารยประเทศ และความเป็นพ่อบ้าน/พ่อเมือง ดังที่จอมพลสฤษดิ์เคยกล่าวไว้ว่าความสะอาดและความเรียบร้อยของหมู่บ้านหรือเมือง ย่อมหมายถึงคนในเมืองนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองและทันสมัย ดังจะเห็นได้จากโครงการสร้างบ้านเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยในสมัยนั้น อาทิ

การจัดระเบียบรถสามล้อ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความไม่เรียบร้อยในสังคมไทย ทำให้ถนนในเขตพระนครสกปรก และจำต้องขจัดไปให้หมดสิ้น ดังในคำแถลงการณ์ที่จอมพล สฤษดิ์ กล่าวว่า

“ปัญหาเรื้อรังอีกเรื่องหนึ่งคือ สามล้อ ซึ่งเป็นความหนักใจของรัฐบาลมาช้านาน เรื่องที่สามล้อจะกีดขวางทำความชักช้าแก่การจราจร หรือเป็นเป็นความไม่สวยงามแก่พระนคร”

ด้วยเหตุนี้เอง จอมพล สฤษดิ์จึงสั่งให้เลิกสามล้อในพระนคร พร้อมกับช่วยให้คนถีบสามล้อได้กลับตัวใหม่ไปสู่การเป็นเกษตรกร โดยนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งนิคมชนบทขึ้น และรัฐบาลก็ได้จัดหาเงินกู้ให้เพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่เพื่อ “การผลิตทางด้านการเกษตร”

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

อีกทั้งตามทัศนะส่วนตัวของท่านนายก เห็นว่าโสเภณีเป็นผู้ส่งเสริมอาชญากรรม อันนำมาสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมไทย จึงมีคำสั่งให้จับกุมโสเภณีทั้งหมดไปฝึกอบรม ด้วยการส่งไปยังสถานฝึกอาชีพให้ใหม่ตามที่ต่างๆ สถานที่ฝึกอบรมสองแห่งตั้งขึ้นเป็นพิเศษที่ปากเกร็ดและบ้านเกร็ดตระการ เพื่อที่จะสั่งสอนและฝึกโสเภณีให้มีอาชีพและหน้าที่ทางสังคมใหม่

อีกหนึ่งประการสำคัญที่จอมพล สฤษดิ์ เห็นว่าเป็นปัญหาที่ทำให้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมในชาติแปดเปื้อนไป นั่นคือ เรื่องของอันธพาล

หลังจากรัฐประหาร พ.ศ. 2501 จอมพล สฤษดิ์ออกคำสั่งว่า อันธพาลผู้ที่ก่อกวนในเขตพระนครจะต้องถูกจับกุมและนำมาอบรม คำประกาศฉบับที่ 21 ของคณะปฏิวัติระบุว่า อันธพาลเป็นการบ่อนทำลายสังคมและประชาชนทั่วไป และว่าการที่จะขจัดพวกอัธพาลเหล่านี้ออกไปให้หมดสิ้นนั้นเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยส่งเสริมความผาสุกของราษฎร 

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

การปราบปรามพวกนักเลงอันธพาลนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้น นักวิชาการด้านการเมืองมองการกระทำและนโยบายของจอมพล สฤษดิ์ ในฐานะรูปแบบของ “พ่อที่ต้องกำราบ และอบรมลูกที่เสเพล” มิได้กระทำด้วยความเกลียดชัง หากแต่ต้องทำเพื่อทำให้ “บ้านเมือง สุขสบาย” ดังโอวาทของจอมพล สฤษดิ์ ที่กล่าวกับผู้ที่ต้องโทษเมื่อวันปล่อยตัว ความว่า

“ข้าพเจ้าไม่ได้เกลียดชังท่านทั้งหลายเพราะท่านจะเป็นอันธพาลหรือเป็นอะไร ท่านก็เป็นเพื่อนร่วมชาติร่วมประเทศของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถืออยู่เสมอ ว่าชาติเป็นเสมือนครอบครัว อันใหญ่ จะเป็นบุญหรือกรรมก็ตามที่ ข้าพเจ้าเผอิญต้องมารับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวในเวลานี้ ข้าพเจ้าให้ความรักใคร่ไมตรีทั่วถึงกันทุกคน แต่ถ้าคนในครอบครัวนี้เองทําความเดือดร้อนแก่คนส่วนใหญ่ในครอบครัว ข้าพเจ้าก็ต้องกําหราบปราบปราม การกระทําของข้าพเจ้าในการสั่งจับท่านมาคุมขัง ก็เพื่อปราบปรามให้ท่านเป็นคนดีต่อไป”

ถึงแม้ในยุคจอมพล สฤษดิ์ จะมีการแก้ปัญหาอันธพาลอย่างเข้มข้นด้วยวิธีแบบเด็ดขาด แต่ปฏิเสธได้ยากว่ารูปแบบของ “อันธพาล” ยังคงอยู่ในสังคมไทย แต่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม อันจะสังเกตได้จากข่าวสังคมบ้านเมืองในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562