สฤษดิ์ลุยปราบสารเสพติด เบื้องหลังยกเลิก “ฝิ่น” ถึงประหารชีวิตพ่อค้า “เฮโรอีน” ด้วย ม.17

ทหาร บุกทำลาย ไร่ ฝิ่น ดอกฝิ่น ในดอย พื้นที่สูง เชียงใหม่
ทหารไทยบุกทำลายไร่ฝิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2541 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ฝิ่น และ เฮโรอีน เป็นสารเสพติดผิดกฎหมายไทย แต่ฝิ่นก็เป็นแหล่งรายได้ของรัฐมาหลายยุคหลายสมัย ในขณะที่เฮโรอีนก็สร้างรายได้ต่อพ่อค้ายาเสพติดมากเช่นกัน จนถึงที่สุดแล้ว จอมพลสฤษดิ์ต้องปราบปรามการเสพและค้าฝิ่น-เฮโรอีนในไทยอย่างหนัก เพราะถือเป็นเครื่องมือของลัทธิคอมมิวนิสต์ในการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ

ฝิ่น (Opium)

การห้ามเสพฝิ่นปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากข้อมูลของหมอบรัดเลย์ “เรื่องกฎหมายเมืองไทยฉบับหมอบรัดเลย์” ระบุว่า ในสมัยพระเจ้าอู่ทองได้ห้ามการเสพหรือค้าฝิ่น กระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ปรากฏว่า รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระบรมราชโองการลงโทษผู้เสพฝิ่นโดยการยึดทรัพย์และขังคุก ส่วนคนในครอบครัวและทาสก็ต้องตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ปรากฏว่า การเสพฝิ่นระบาดหนักมากที่สุดยุคหนึ่ง (ตรงกับช่วงสงครามฝิ่นในจีน) ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งมาจากคนจีนที่นิยทเสพฝิ่นได้นำเข้ามาแพร่หลายในสยาม ดังนั้น จึงทรงมีพระบรมราชโองการควบคุมฝิ่นอย่างเข้มงวด ทว่า การค้าฝิ่นในสมัยนี้กลับทำรายได้ให้รัฐอย่างงาม จึงได้สั่งฝิ่นเข้ามาจากอินเดียแล้วขายเลหลังให้แก่ผู้ประมูล หรือก็คือนายอากรนั่นเอง และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชโองการห้ามคนไทยเสพหรือค้าฝิ่น ให้ใช้ได้แต่เฉพาะคนจีนเท่านั้น และยังคงเก็บภาษีเข้ารัฐได้จำนวนมาก

ล่วงเลยมาถึงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐยังคงมีรายได้จากฝิ่นอยู่มาก และบุคคลหนึ่งที่แสวงหาผลประโยชน์จากการค้าฝิ่นก็คือ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งใช้อำนาจในฐานะอธิบดีกรมตำรวจควบคุมการค้าฝิ่นในประเทศ ต่อมา ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ราว พ.ศ. 2498 ได้มีความพยายามเลิกการค้าฝิ่น แต่กระทรวงการคลังมีความเห็นแย้งว่า หากยกเลิกการค้าฝิ่นจะกระทบต่อรายได้ของรัฐ เพราะไม่สามารถหารายได้จากส่วนอื่นมาทดแทนได้ ซึ่งอาจทำให้งบประมาณไม่สมดุล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงมีแนวคิดยกเลิกการค้าฝิ่น โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติเข้ามาสำรวจสถานการณ์ฝิ่นในประเทศ โดยได้แนะนำว่าควรทำเป็นขั้นเป็นตอน คือ ประการแรกให้ลดจำนวนการจำหน่านฝิ่นให้น้อยลง, เพิ่มราคาฝิ่นที่จำหน่ายให้ราคาสูงขึ้น, ลดจำนวนร้านจำหน่ายฝิ่นให้น้อยลง และประการสุดท้ายคือยกเลิกการประมูลจัดตั้งร้านค้าฝิ่น โดยก่อนที่จะยกเลิกจำหน่ายฝิ่นนั้นควรให้มีการจดทะเบียนคนเสพฝิ่นเสียใหม่ด้วย

แต่ผลการดำเนินการดังกล่าวได้ผลเพียงน้อยนิด

ภายหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2502 ได้พยายามยกเลิกการเสพหรือค้าฝิ่นอีกครั้งหนึ่ง และด้วยอำนาจเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรีจากมาตรา 17 นั้นก็ทำให้การปราบปรามฝิ่นเป็นไปอย่างรุนแรง ซึ่งเบื้องหลังการปราบฝิ่นนี้ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ วิเคราะห์ไว้ 3 ประการ สรุปได้ดังนี้

ประการที่หนึ่ง จอมพลสฤษดิ์ต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้กับตนเองว่า ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์จากการค้าฝิ่นอย่างที่พลตำรวจเอกเผ่ากระทำ และต้องการให้ประชาชนเห็นว่าตนเองกำจัดการทุจริตของพลตำรวจเอกเผ่าให้หมดไป

ประการที่สอง จอมพลสฤษดิ์ต้องการเอาอกเอาชาติมหาอำนาจตะวันตก เพราะฝิ่นเป็นเครื่องมือของคอมมิวนิสต์ในการบ่อนทำลายเศรษฐกิจ สุขภาพ และขวัญกำลังใจของประเทศต่าง ๆ ในโลกเสรีประชาธิปไตย

ประการที่สาม ทักษ์ เฉลิมเตียรณ อธิบายว่า “แต่ประการที่สาม ซึ่งมิใช่จะมีความสำคัญน้อยที่สุดก็คือ จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าการยกเลิกยาเสพย์ติดเป็นส่วนหนึ่งของงานพ่อขุนในด้านการยกระดับศีลธรรม”

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ต่อมาคณะปฏิวัติได้ออกประกาศฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2502 เป็นต้นไป โรงงานผลิตฝิ่นต้องถูกปิดอย่างถาวรในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2502 และจะมีการจัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาเพื่อเลิกการติดฝิ่น

เมื่อถึงกำหนดในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2502 เวลา 24.00 น. เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตเข้าควบคุมร้านจำหน่ายฝิ่น และตรวจรับฝิ่น มูลฝิ่นที่เหลืออยู่ รวมถึงยึดกล้องสูบฝิ่นและอุปกรณ์อื่นทั้งหมด ต่อมา ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 ได้นำกล้องสูบฝิ่นจากทั่วประเทศ จำนวนกว่า 43,445 กล้อง มาเผาทำลายที่ท้องสนามหลวง เป็นการ “ฌาปนกิจ” อย่างเป็นพิธีรีตรองท่ามกลางเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่และสักขีพยาน

จอมพลสฤษดิ์กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “…วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 จึงนับว่าเป็นประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์วันหนึ่ง เพราะเป็นวันที่เริ่มบทใหม่ตอนใหม่สังคมใหม่ของประวัติศาสตร์ชาติไทย เราจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า บัดนี้เราเป็นชาติอารยะ เกียรติ์ของชาติจะพ้นจากการถูกเหยียดหยาม ถูกประจานด้วยการที่เอกสารหนังสือพิมพ์ต่างประเทศบางฉบับ จะนำเอารูปคนกำลังสูบฝิ่นไปเผยแพร่อีก…

…การเสพฝิ่นและการค้าฝิ่นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และข้าพเจ้าถือว่าเป็นความผิดอันร้ายแรง ผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องรับโทษอย่างหนัก หากเป็นคนต่างด้าวจะต้องถูกเนรเทศด้วย… ข้าพเจ้ามีความจำเป็นต้องทำการปราบปรามอย่างเด็ดขาด จะเสียอะไรก็เสียแม้แต่ชีวิต ข้าพเจ้าถือเสมอว่าการเสพฝิ่นเป็นภัยอันตรายอันร้ายแรงอย่างที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ…”

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงลักลอบเสพหรือค้าฝิ่นอยู่ โดยเฉพาะพ่อค้าฝิ่นที่ยังคงแสวงหาผลประโยชน์จากฝิ่นได้อีกมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นช่องทางส่งต่อหรือขนย้ายฝิ่นไปจำหน่ายยังต่างประเทศ แม้เจ้าหน้าที่จะทำการปราบปรามแต่ก็ไม่ได้ผลเด็ดขาด เนื่องจากการใช้เล่ห์กลหลบเลี่ยงการจับกุม รวมทั้งได้รับการคุ้มครองจากผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ทหารไทยบุกทำลายไร่ฝิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2541 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

เฮโรอีน (Heroin)

เวลาต่อมาได้มีการนำฝิ่นไปพัฒนาทำสารเสพติดอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือ “เฮโรอีน” ซึ่งมีความร้ายแรงกว่าฝิ่นมาก โดยช่วงแรกพ่อค้าเฮโรอีนนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วยการซุกซ่อนมากับสินค้า แม้เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะตรวจสอบสินค้าแล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นเฮโรอีน ในขณะที่ผู้ที่เคยติดฝิ่นก็หันมาเสพเฮโรอีนแทน เฮโรอีนจึงค่อย ๆ ได้รับความนิยม เมื่อมีความต้องการสูงขึ้น พ่อค้าบางรายเห็นว่าแทนที่จะนำเข้าจากต่างประเทศจึงตั้งโรงงานผลิตเสียเอง นั่นทำให้การแพร่ระบาดของเฮโรอีนขยายตัวเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ

ต่อมา วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ตำรวจสถานีนครบาลปทุมวันบุกจับกุมแหล่งผลิตเฮโรอีนรายใหญ่ ที่บ้านเลขที่ 33/1 จุฬาลงกรณ์ซอย 12 ปทุมวัน พระนคร (กรุงเทพฯ) ยึดของกลางจำนวนมากทั้งเฮโรอีนและอุปกรณ์การผลิต และจับกุมผู้ต้องหาคือ นายเลี่ยงฮ้อ แซ่เล้า กับพวกอีก 3 คน

จอมพลสฤษดิ์ได้ดำเนินการสอบสวนด้วยตนเอง ปรากฏว่านายเลี่ยงฮ้อให้การปฏิเสธ แต่พวกอีก 3 คนยอมรับสารภาพและยืนยันว่า นายเลี่ยงฮ้อเป็นนายทุนและตัวการสำคัญ แต่นายเลี่ยงฮ้อยังคงยืนกรานปฏิเสธ

แต่จากพยานและหลักฐานปรากฏชัดว่า นายเลี่ยงฮ้อเป็นนายทุนและตัวการสำคัญในการผลิตเฮโรอีน จอมพลสฤษดิ์จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตร 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และโดยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ออกคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการประหารชีวิตนายเลี่ยงฮ้อ ทั้งนี้เพราะ เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ สวัสดิภาพของประชาชน และไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ประชาชน

นายเลี่ยงฮ้อถูกประหารเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 เวลา 18.00 น. ส่วนพวกอีก 3 คน ถูกดำเนินคดี จนถึงที่สุดแล้วศาลทหารกรุงเทพฯ พิพากษาจำคุกคนละ 8 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 673,160 บาท

นายเลี่ยงฮ้อได้เขียนจดหมายสั่งเสียถึงภรรยาว่าให้เลี้ยงดูลูกต่อไป โดยแนะนำให้ทำงาน ฝากเงินไว้กับธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ย และบอกว่าเพื่อน ๆ ของเขาสามารถหวังพึ่งและช่วยเหลือได้ ข้อความในจดหมายตอนหนึ่ง ดังนี้

“ข้าพเจ้าจะตายแล้ว ขออย่าให้เสียใจ คนเราจะพ้นจากการ เกิด เจ็บ ตาย อักษร 3 ตัวไม่พ้น… การจัดงานศพขอให้ประหยัด การเก็บศพที่ใดแล้วแต่จะจัดการ คนตายแล้วอย่าเสียใจ อะไร ๆ ก็ขอให้ทำอย่างง่าย ๆ… การค้าขายเสี่ยงอันตรายอย่าทำเป็นอันขาด ขอให้ถือฉันเป็นตัวอย่าง ฉันถึงที่ตายแล้วแน่นอน พี่น้องเพื่อนฝูงคงช่วยเหลือดูแลให้ ส่วนการส่งโพยไปเมืองจีนก็อย่าให้ขาด หนังสือฉบับนี้เป็นคำสั่งสุดท้าย ฉันเห็นว่าเราทุกคนก็ต้องตายทั้งนั้นไม่ช้าก็เร็ว ลาก่อน”

จอมพลสฤษดิ์ปราบปรามเฮโรอีนอย่างเอาจริงเอาจังไม่แพ้เมื่อครั้งปราบฝิ่น โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 จอมพลสฤษดิ์กล่าวถึงการปราบปราบเฮโรอีนว่า

“กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูตัวฉกาจของเราที่สร้างอันตรายให้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ… เฮโรอีนยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ ข้าพเจ้าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในหน้าที่อธิบดีกรมตำรวจจึงจำเป็นต้องดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2548). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ฒ ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

โฉมหน้าประวัติศาสตร์ ชุดประชาธิปไตยเลือด. (2517). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยาม.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2563