ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัญหาเด็กและเยาวชน ในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำความผิดเพราะอยากลงข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์!?
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า รัฐบาลสฤษดิ์ถือเป็นรัฐบาลในฝันของเหล่าอนุรักษนิยมที่เชื่อมั่นในเสถียรภาพของบ้านเมืองอันสงบราบคาบ ทั้งยังจงรักภักดีหาใครเสมอเหมือน แตกต่างจากยุคก่อนหน้าและยุคหลังสฤษดิ์ที่รัฐบาลอ่อนแอเกิดความวุ่นวายจลาจล ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชนชั้นนําและชนชั้นผู้ได้ประโยชน์เอง
ปัญหาอันดับหนึ่งที่แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็รู้สึกว่าถูกคุกคามไปด้วยนั้นก็คือ การดํารงอยู่ของฝ่ายซ้ายในนามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ส่วนปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลวิตกไม่แพ้กันก็คือ ปัญหาเด็กและเยาวชน
ในยุคที่สื่อสารมวลชนขยายตัวและมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายการขายข่าว จากข่าวการเมืองมาเป็นข่าว “อาชญากรรม” ยิ่งทําให้ประเด็นดังกล่าวเป็นที่รับรู้และตระหนักกันในวงกว้าง เช่น ข่าวการรวมกลุ่มของอันธพาลวัยรุ่นเชียงใหม่เป็นแก๊งที่ชื่อว่า “แก๊งอินทรีขาว” จนเกิดการเลียนแบบเป็น “แก๊งอินทรีแดง” “แก๊งอินทรีเหลือง” ขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ ในปี 2501, เด็กวัยรุ่นอยุธยาขว้างระเบิดใส่ในเวทีงานวางศิลาฤกษ์พิพิธภัณฑสถานของจังหวัดในปีเดียวกัน
หรือที่เป็นข่าวครึกโครมในปี 2504 เมื่อนักเรียนชายฟาดกระเป๋าใส่นักเรียนหญิงที่ตนเองพยายามจะ “แทะโลม” แต่นักเรียนหญิงไม่พอใจถึงกับ “บ้วนน้ำลายใส่” แรงฟาดทําให้ระเบิดที่อยู่ในกระเป๋าเกิดระเบิดขึ้น นักเรียนหญิงคนหนึ่งถูกสะเก็ดระเบิดตัดคอหวิดขาด เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
เหตุการณ์ดังกล่าวร้ายแรงมากจนหนังสือพิมพ์รายงานว่า จอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “เรื่องนี้เห็นจะต้องรุนแรงที่สุด ถึงแม้จะไม่ถึงมาตรา 17 แต่ก็ต้องรุนแรงเต็มที่ที่จะลงโทษเยาวชนได้” ปัญหาดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงจนถึงขั้นมีผู้เสนอผ่านหนังสือพิมพ์ให้รางวัล 2 ล้านสําหรับผู้ที่สามารถแก้ปัญหาเยาวชนได้ภายใน 3 เดือน
ขณะที่งานวิจัยก็พบว่าเยาวชน “เสื่อมลงมากทั้งทาง กาย วาจา ใจ เช่น พูดจาหยาบคาย ไม่สุภาพอ่อนโยน ชอบเที่ยวเตร่ไปในทางที่ไม่ดี ชอบสูบบุหรี่ แต่งกายไม่สุภาพ จิตใจฟุ้งซ่าน หรือคิดแต่ทางเพ้อฝันไม่ดีงาม มักก่อเหตุวุ่นวาย ทะเลาะวิวาทแบ่งสีแบ่งชั้น”
โดยชี้เหตุแห่งปัญหาว่ามาจากครอบครัวที่ไม่เอาใจใส่ และอิทธิพลจากสื่อที่มีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก โดยเฉพาะสื่อตะวันตกอันได้แก่ ภาพยนตร์ ที่มักเป็นที่เลียนแบบกัน การวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการคุมเข้มเรื่องพื้นที่ของเด็กทางกายภาพ ตั้งแต่เรือนร่างไปจนถึงพื้นที่ทางสังคมต่าง ๆ นานา
จากการวิจัยในคดีเด็กและเยาวชนที่จัดทําในปี 2509 พบคดีอาญาในเด็กและเยาวชนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นลักทรัพย์ ทําร้ายร่างกาย วิ่งราวชิงทรัพย์ พกอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน กระทําอนาจาร ข่มขืนกระทําชําเรา การพนัน มั่วสุม ก่อการจลาจล รักในวัยเรียน และไปในสถานที่อโคจร
เมื่อเทียบกับต้นทศวรรษ 2500 แล้วปัญหากลับขยายตัวไปมากแม้รัฐจะได้มีความตื่นตัวที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไปแล้วก็ตาม สิ่งที่เพิ่มเติมมาจากเดิมก็คือ เด็กไปเที่ยวเตร่ในสถานที่อโคจร ได้แก่ โรงแรม โมเต็ล โรงหนัง สนามม้า สนามมวย สนามโบว์ลิ่ง ตลอดจนไนต์คลับ อันเนื่องมาจากการขยายตัวของสถานบันเทิงที่มากับช่วงสงครามเวียดนาม
งานวิจัยชิ้นหลังนี้ชี้สาเหตุว่ามาจากการเพิ่มของจํานวนประชากร และการอพยพจากชนบทเข้าสู่เมืองหลวง รวมไปถึงปัญหาของการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ทั่วถึงทําให้ค่าครองชีพสูง ที่น่าสนใจก็คือ ข้อกล่าวหาอันแสนจะยอดนิยมนั่นคือ การชี้ว่าสื่อมวลชนยังเป็นตัวร้ายในการเผยแพร่สิ่งยั่วยุทางกามารมณ์และอาชญากรรม จากคดีระเบิดจนนักเรียนหญิงเสียชีวิต จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้ให้ความเห็นขณะนั้นว่า “หนังสือพิมพ์นั่นแหละเป็นเหตุหนึ่ง ฉะนั้นผมจึงขอร้องเป็นการส่วนตัว อย่าลงข่าวรูปเยาวชนต่อไปอีกเลย เด็กบางคนอยากเก่งมีรูปในหน้าหนังสือพิมพ์ ก็เลยพากันทําผิด”
และที่น่าสนใจก็คือว่า ขณะที่รัฐบาลเปิดรับการเข้ามาของทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม การไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างประเทศเช่นนั้น กลับกลายเป็นปมที่ชนชั้นนําไทยรู้สึกว่าเป็นภัยและขัดกับวัฒนธรรม ไทย ในงานวิจัยครั้งนี้ได้มีการสะท้อนปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากปัจเจกภาพมากขึ้น ได้แก่ ความเห็นแก่เงินเป็นสําคัญ ที่ทําให้ครอบครัวแตกแยก คนยึดถือหลัก “ทําดีได้ดี ทําชั่วได้ชั่ว” น้อยลง เด็กขาดศรัทธาต่อคุณงามความดี จึงก่อให้เกิดอาชญากรรม การวิเคราะห์ปัญหาครั้งนี้ทําให้เห็นมิติที่สลับซับซ้อนขึ้นว่าปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นผลกระทบจากการพัฒนาซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สําคัญ
จากการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลอํานาจนิยมสมัยนั้นจึงมีคําตอบไปอยู่ที่การเน้นความเข้มงวดของ กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การพิจารณาให้บังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเด็กและนักเรียน พ.ศ. 2481 ให้ประกาศใช้ทั่วประเทศทุกจังหวัดช่วงปี 2504 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบนักเรียน บังคับให้ใช้มาตรฐานอย่างเดียวกันทั่วประเทศ โดยให้เริ่มใช้ในสิ้นปีการศึกษา 2505 เพื่อป้องกันการประพฤติเหลวไหล
รวมไปถึงการแต่งกายอันรุ่มร่ามไม่เหมาะสม กวดขันเรื่องความประพฤติที่ไม่สมควรของนักเรียนทั้งชายและหญิงตามร้านกาแฟและเต้นรําอัน “ผิดกิริยาที่ดีของคนไทย” รวมถึงการแต่งกายตามแบบดาราภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “เสื้อผ้าประหลาด” และการใช้ถ้อยคําไม่น่าฟังในที่สาธารณะ
หรือการห้ามเด็กและเยาวชนจัดรายการสถานีวิทยุ อันนํามาซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทายชื่อเพลง ทายชื่อผู้ร้อง หรือการขอเพลง ซึ่งฝ่ายรัฐเห็นว่าไม่เหมาะสมกับสภาพของนักเรียน ไม่นับว่าบางครั้งนําไปสู่การทะเลาะวิวาทเสื่อมเสีย บทลงโทษนั้นร้ายแรงถึงขั้นที่ผู้ใดฝ่าฝืน อาจมีโทษสถานหนักถึงกับให้ออกจากสถานศึกษา
นี่คือการจํากัดพฤติกรรมผ่านเรือนร่างและการจํากัดกิจกรรมในที่สาธารณะของเด็กและเยาวชน ในสังคมที่ผู้ใหญ่มีความอดทนต่ำต่อเสรีภาพในการแสดงออกของเด็กและเยาวชน การตระหนกถึงปัญหาโดยไม่แยกแยะในการจัดการแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น จึงนํามาซึ่งการใช้อํานาจในการบังคับและปิดกั้นการแสดงออกเอาเสียดื้อ ๆ
อย่างไรก็ตาม นอกจากไม้แข็งที่รัฐได้นํามาใช้ปิดกั้นความเหลวไหลของเด็กและเยาวชนแล้ว รัฐยังใช้ไม้นวมไปพร้อม ๆ กันด้วย นั่นคือการสร้างความเป็นเด็กในอุดมคติที่จะเป็นกําลังสําคัญของชาติในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม :
- สฤษดิ์ลุยปราบสารเสพติด เบื้องหลังยกเลิก “ฝิ่น” ถึงประหารชีวิตพ่อค้า “เฮโรอีน” ด้วย ม.17
- “ครูเทพ” ผู้ขับดันสู้ เมื่อโรงเรียนไทยยุคแรกจะให้เด็กเล่นฟุตบอลแต่มีคนไม่เห็นด้วย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “กาละเทศะในวันเด็กแห่งชาติ และความเป็นเด็กในพลเมืองไทยยุคพัฒนา” เขียนโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2563