“ครูเทพ” ผู้ขับดันสู้ เมื่อโรงเรียนไทยยุคแรกจะให้เด็กเล่นฟุตบอลแต่มีคนไม่เห็นด้วย

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

กีฬาฟุตบอลในสมัยนี้เป็นกีฬาอันดับหนึ่งในโลกไปแล้ว แต่ก่อนที่คนไทยจะพบเห็นการเล่นฟุตบอลทั่วทุกมุมเมืองตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงแมตช์ผู้สูงวัย ยุคแรกเริ่มกระบวนการศึกษาในประเทศไทยยังไม่สนับสนุนให้เล่นกีฬาชนิดนี้ในโรงเรียน แต่จากการสืบค้นหลักฐาน นักวิชาการส่วนหนึ่งชี้ว่า มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ราชทินนามเมื่อเป็นที่สุด) คือบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการผลักดันให้เล่นกีฬาชนิดนี้ในโรงเรียนในช่วงแรก

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้มีการปฏิรูปการศึกษาโดยตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกในพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2414 อาจารย์ใหญ่ท่านแรกคือพระยาศรีสุนทรโวหาร นับเป็นช่วงเวลาแห่งการตั้งต้นการปฏิรูปการศึกษาในไทย ภายหลังโรงเรียนหลวงที่จัดตั้งขึ้นแพร่หลายตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ช่วงเวลานั้นการศึกษาของประเทศไทยถือได้ว่าเจริญก้าวหน้าตามลำดับ

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ประกาศตั้ง “กรมศึกษาธิการ” ขึ้น โดยยังเป็นกรมหนึ่งในราชการฝ่ายพลเรือน ทรงโปรดฯ ให้โอนโรงเรียนต่าง ๆ มาขึ้นกับกรมศึกษาธิการ ขณะที่ผู้บัญชาการกรมศึกษาธิการใน พ.ศ. 2430 คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

อีกไม่กี่ปีต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นโดยรวมกรมศึกษาธิการเข้ากับกรมธรรมการ (มีหน้าที่ด้านการศาสนา) เข้าเป็น “กระทรวงธรรมการ” เมื่อ พ.ศ. 2435 หลังจากนั้นจึงมีโรงเรียนมูลศึกษาขึ้นในวัดทั้งหัวเมืองและในเมืองหลวง

ช่วงเวลานั้นเองเป็นช่วงที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เริ่มจากเป็นนักเรียนสอนในโรงเรียนตัวอย่าง

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี มีนามเดิมว่า สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นบุตรของ พระยาไชยสุรินทร์ (เจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้เป็นเสนาบดี กระทรวงเกษตรและพระคลัง ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อพ.ศ. 2427 ท่านอายุได้ 8 ปี บิดาท่านก็ถึงแก่กรรม ฐานะทางบ้านได้รับผลกระทบ มารดาของท่านเป็นผู้เลี้ยงดูท่านและเหล่าน้องชายโดยอาศัยรายได้จากงานเย็บปักผ้าทั่วไป ในวัยเด็กนายสนั่นไม่เพียงต้องช่วยมารดาทำงาน ยังต้องช่วยสอนหนังสือน้องด้วย

นายสนั่นผ่านการเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โรงเรียนสวนสุนันทาลัย และโรงเรียนตัวอย่าง (จาก พ.ศ. 2432-2435) เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของผู้สำเร็จวิชาครูชุดแรก ได้รับพระราชทานรางวัล เมื่อ พ.ศ. 2437 กระทรวงธรรมการยังคัดเลือกนายสนั่น ส่งไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ในช่วง พ.ศ. 2439 ได้รับการอบรมจากเซอร์โรเบิร์ต มอแรนท์ ข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ ซึ่งเป็นอาจารย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และสำเร็จได้รับประกาศนียบัตรวิชาครูจากโรงเรียนฝึกหัดครู เบอโรโรด ใกล้กรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ. 2441

สุจิตรา สุดเดียวไกร บรรยายในหนังสือ “ครูเทพ” (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ว่า ท่านเป็นคนรักษาสุขภาพ และสนใจกีฬา ชอบเล่นเทนนิสตั้งแต่วัยหนุ่ม ช่วงที่มีอายุก็มักเตะตะกร้อกับคนในพื้นที่ ในภายหลังท่านยังเป็นผู้แต่งเพลง “กราวกีฬา” ซึ่งเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยจดจำได้อย่างดี

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรียังมีอุปนิสัยส่วนตัวที่เรียบง่าย เมตตากรุณา ไม่ถือตัวว่าเป็นใหญ่ในราชการ ท่านยังคงใช้รถม้าคันเดิมในช่วงที่ข้าราชการเริ่มเปลี่ยนไปใช้รถยนต์กันอย่างแพร่หลายแล้ว

สำหรับบทบาทเกี่ยวกับด้านการศึกษาในไทย ครูเทพเริ่มต้นตั้งแต่การเป็นนักเรียนสอนในโรงเรียนตัวอย่างและเป็นครูผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครู ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ ท่านกลับมารับราชการเป็นข้าราชการในกรมศึกษาธิการ โดยเป็นผู้สอนในวิชาครู เป็นพนักงานแต่งแบบเรียนอันเป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นผู้น้อย จากนั้นจึงเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นผู้ตรวจจัดการเล่าเรียน เจ้ากรมราชบัณฑิตย์ เจ้ากรมตรวจ และอีกหลายตำแหน่งจนกระทั่ง พ.ศ. 2459 ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

หากกล่าวโดยสรุปแล้ว บทบาทในงานราชการตามตำแหน่งงานด้านการศึกษาของไทยแล้ว ท่านถือเป็นรากของหลายสิ่งที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ เป็นกรรมการผู้จัดตั้งและวางระเบียบในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) เป็นผู้จัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน อันถือว่าเป็นรากของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย (โรงเรียนข้าราชการพลเรือนวิวัฒนาการเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านด้านการเมืองและการปกครอง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถือเป็นผู้ริเริ่มความคิดก้าวหน้าหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ เป็นผู้ริเริ่มให้โรงเรียนต่าง ๆ เล่นฟุตบอล

สุจิตรา สุดเดียวไกร บรรยายว่า การเล่นฟุตบอลในโรงเรียนในไทยเริ่มจากเป็นส่วนหนึ่งของพลศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดครู ต่อมาท่านเริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนชิงโล่รางวัลกรมศึกษาธิการ ซึ่งในระยะแรกมีผู้ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าอาจเป็นสาเหตุให้เด็กบาดเจ็บและเสียการเรียน

“แต่ท่านก็ต่อสู้และให้เหตุผลชี้แจง ฟุตบอลจึงเป็นที่นิยมเล่นแพร่หลายมาจนถึงบัดนี้” สุจิตรา บรรยายในตอนหนึ่งของหนังสือ “ครูเทพ”

ผลงานสำคัญในแวดวงการศึกษาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีซึ่งหลายคนจดจำได้คือ พระราชบัญญัติประถมศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2468 ว่าด้วยการศึกษาแบบเปิดเสรีแก่คนทั้งประเทศ ให้เด็กทุกคนเรียนประถมศึกษาโดยไม่เลือกเพศ เชื้อชาติ ฐานะและศาสนา เยาวชนไทยมีความเสมอภาพในด้านการศึกษาไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายจีนหรือแขก ทุกคนจะรับการศึกษาตามอัตภาพและความสามารถ

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ช่วงนั้นการศึกษาของไทยก็เปลี่ยนแปลงไปมาก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีมอบลิขสิทธิ์หนังสือแบบเรียนภาษาไทยชื่อว่า “แบบเรียนใหม่” ที่แบ่งเป็น 2 ภาคให้กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2476 แบบเรียนมีคำอธิบายวิธีสอนกำกับอย่างชัดแจ้ง มุ่งสอนด้วยการฝึกปฏิบัติให้ได้ผลลัพธ์อย่างจริงจัง

แบบการสอนอ่านใหม่ประกอบการเรียนอีกชุดหนึ่ง (มี 7 เล่ม) ยังเป็นผลงานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เนื้อหาในแบบสอนอ่านมุ่งเสริมสร้าง “ความเป็นพหูสูตร” ให้เด็กทุกระดับ อบรมให้เด็กเป็นพลเมืองดี และได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้ใช้ในโรงเรียนได้

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แสดงเจตจำนงว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าการอบรมพลเมืองควรเป็นไปในทางอบรมให้มีน้ำใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักกีฬา และเป็นพลเมืองดี ประการต้นจะให้คนอยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล และประการที่ 2 ที่ 3 จะให้คนที่เป็นที่ไว้ใจได้ ถ้าใครประกอบด้วยคุณธรรมทั้ง 3 ประการนี้แล้ว ผู้นั้นจะเป็นนายเป็นบ่าว เจ้าหรือเป็นข้าก็ควรใช้ได้ทั้งนั้น”

นอกจากนี้ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ยังเป็นผู้ริเริ่มการอาชีวศึกษา โดยท่านเห็นว่า สามัญศึกษาและวิสามัญศึกษาจำเป็นต้องมีควบคู่กัน และขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ไม่เพียงแค่ในทางปฏิบัติ ท่านยังเป็นนักวิชาการ และออกแบบตำราซึ่งเคยใช้สอนในหลักสูตรของกระทรวงธรรมการอีกหลายเล่ม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“ครูเทพ” (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี). คณะทำงาน สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม, 2558

“แบบเรียนไทย”. กองบรรณาธิการ. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2562