กำเนิด FIFA และ “ฟุตบอลโลก” มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

(ภาพจาก pixabay.com / Wikimedia Commons)

ฟุตบอลโลก (World Cup) หรือ FIFA World Cup มหกรรมกีฬาที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดในโลก ถือเป็นการแข่งขันกีฬาของมวลมนุษยชาติที่ยิ่งใหญ่พอ ๆ กับกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ หากว่ากันด้วยกระแสความนิยม ในโอกาสที่ฟุตบอลโลก 2022 ณ ประเทศกาตาร์ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เรามาย้อนดูประวัติของการแข่งขันฟุตบอลโลกว่าเริ่มต้นอย่างไร และมีข้อมูลน่ารู้หรือสถิติที่น่าสนใจใดบ้าง

การแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1872 ที่เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ เป็นการพบกันระหว่างทีมฟุตบอลของอังกฤษและสก็อตแลนด์ ภายหลังได้พัฒนาไปสู่การแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศในชื่อ British Home Championship ระหว่างดินแดนในสหราชอาณาจักรซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ในฤดูกาล 1883-1884

การแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อกีฬาฟุตบอลถูกเพิ่มในรายการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1900 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เดิมทีกำหนดให้นักกีฬามาจากนักฟุตบอลสมัครเล่น ไม่ใช่นักฟุตบอลอาชีพ ก่อนจะเปลี่ยนมาอนุญาตให้นักฟุตบอลอาชีพร่วมการแข่งขันได้ในปี 1992 ทั้งนี้ มีข้อบังคับว่านักฟุตบอลต้องอายุไม่เกิน 23 ปี โดยมีผู้เล่นที่อายุเกินในทีมได้มากสุด 3 คนเท่านั้น

ปี 1904 มีการก่อตั้ง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Federation International Football Association, FIFA) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยแนวคิดและความตั้งใจให้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกนอกเหนือจากรายการที่แข่งขันกันในโอลิมปิกซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในปี 1906 ที่สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มคนเหล่านี้เห็นว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนทั้งโลก แต่ข้อจำกัดและระเบียบของฟุตบอลในแข่งขันกันในโอลิมปิกทำให้เป็นเพียงการแข่งขันของนักกีฬาในระดับมือสมัครเล่นเสียเป็นหลักอยู่

สำนักงานของฟีฟ่า (FIFA) ซึ่งขณะนั้นมีประธานคนแรกเป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ รอแบร์ เกอแร็ง (Robert Guerin) มีความพยายามผลักดันให้เกิดการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกให้ได้ แต่ด้วยประสบการณ์และปัจจัยส่งเสริมที่ไม่มากพอทำให้การดำเนินการในระยะแรกของฟีฟ่ายังไม่บรรลุผล

ระหว่างนั้น ปี 1909 เซอร์โทมัส ลิปตัน (Thomas Lipton) ได้จัดให้มีการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยรางวัลของเขาที่เมืองตูรินซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างสโมสรฟุตบอลจากหลาย ๆ ประเทศ แม้ไม่ใช่ระดับทีมชาติแต่บางทีมถือเป็นตัวแทนของประเทศตนเอง เรียกได้ว่าทัวร์นาเมนต์นี้เป็นหนึ่งในพัฒนาการของการเกิดฟุตบอลโลกก็ไม่ผิดนัก มีทีมฟุตบอลระดับอาชีพจากอิตาลี เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มาเข้าร่วม

การแข่งขันชิงถ้วยรางวัลของเซอร์โทมัส ลิปตันแม้จะถูกสมาคมฟุตบอลอังกฤษปฏิเสธการเข้าร่วม แต่มีสโมสรเวสต์ อ็อกแลนด์ ทาวน์ (West Auckland Town) เป็นตัวแทนจากฝั่งอังกฤษมาแทน ซึ่งปรากฏว่า เวสต์ อ็อกแลนด์ฯ จะคว้าแชมป์รายการนี้ได้แล้ว พวกเขายังรักษาแชมป์ในปี 1911 ได้ด้วย

ปี 1914 ฟีฟ่าได้รับสิทธิ์เข้าไปดูแลและรับผิดชอบการจัดการแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิก ต่อมาในการแข่งขันโอลิมปิดฤดูร้อนปี 1920 มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทวีปขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่ออียิปต์เข้าร่วมการแข่งขันกับทีมจากยุโรปอีก 13 ประเทศ ขณะที่ปี 1924 และ 1928 ทีมชาติอุรุกวัย จากอเมริกาใต้ ได้เข้าร่วมการแข่งขัันด้วยและเป็นผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ครั้ง การได้บริหารจัดการทัวร์นาเมนต์เหล่านี้ของฟีฟ่า ทำให้พวกเขาสั่งสมประสบการณ์และความเป็นมืออาชีพเพิ่มขึ้นตามลำดับ

28 พฤษภาคม 1928 ที่ประชุมฟีฟ่าที่อัมสเตอร์ดัมภายใต้การนำของ จูล ริเมท์ (Jules Rimet) มีมติว่า พวกเขาจะจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติด้วยตนเอง โดยมีอุรุกวัย ผู้ชนะเลิศฟุตบอลโอลิมปิก 2 สมัยล่าสุดเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จะจัดขึ้นในปี 1930 โดยเป็นปีครบรอบหนึ่งศตวรรษแห่งเอกราชของอรุกวัยด้วย

Uruguay 1930 World Cup

ชาติที่เข้าร่วมฟุตบอลโลกครั้งแรกมาจากการคัดเลือกและเชิญให้มาร่วมการแข่งขันโดยฟีฟ่า ไม่ได้มีระบบทัวร์นาเมนต์ย่อยเพื่อคัดเลือกทีมที่เข้ารอบมาเจอกันในรอบสุดท้ายแบบฟุตบอลสมัยปัจจุบัน แต่เนื่องจากอุรุกวัยเป็นประเทศที่อยู่ห่างไกลจากชาติยุโรปมาก ต้องเดินทางข้ามหาสมุทรแอตแลนติกไปยังทวีปอเมริกาใต้ (ขณะนั้นเดินทางด้วยเรือ) ทำให้ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่เลือกที่จะเมินเฉยต่อคำเชิญจากทางฟีฟ่า มีเพียงฝรั่งเศส เบลเยียม โรมาเนีย และยูโกสลาเวียเท่านั้นที่รับคำเชิญในช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนการแข่งขัน

ฟุตบอลโลกครั้งแรกจึงประกอบด้วย 13 ทีม จาก 7 ชาติอเมริกาใต้ 4 ชาติยุโรป และ 2 ชาติอเมริกาเหนือ การแข่งขัน 2 นัดแรกเกิดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม ปี 1930 เป็นทีมชาติฝรั่งเศสที่เอาชนะทีมชาติเม็กซิโก 4-1 และทีมชาติสหรัฐอเมริกาเอาชนะทีมชาติเบลเยียม 3-0 ผลคือทีมชาติอุรุกวัยที่เล่นในระดับสูงต่อเนื่องกันมาหลายปีกลายเป็น “แชมป์โลก” ชาติแรกในการแข่งขันฟุตบอลโลก

ฟุตบอลโลก 3 ครั้งแรกนั้นมีการแข่งขันในทุก ๆ 4 ปี คือปี 1930, 1934 และ 1938 ก่อนจะเว้นว่างไป 12 ปี ระหว่างปี 1938-1950 (ฟุตบอลโลก 1942 และ 1946) เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้ ถ้วยรางวัลระหว่างปี 1930-1970 เรียกว่า Jules Rimet Trophy ตามชื่อประธานฟีฟ่าชาวฝรั่งเศสผู้ริเริ่มการแข่งขัน ถ้วยรางวัลนี้ถูกส่งมอบให้บราซิลในปี 1970 เพราะพวกเขาเป็นชาติแรกที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ถึง 3 สมัย คือ ปี 1958, 1962 และ 1970 จากนั้นฟีฟ่าได้ใช้ถ้วยรางวัลแบบใหม่ เรียกว่า FIFA World Cup สำหรับมอบให้แก่ผู้ชนะในการแข่งขัน และใช้แบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน

Jules Rimet กับถ้วยฟีฟ่าแบบเก่า บนแสตมป์ของประเทศนิการากัว (ภาพจาก Wikimedia Commons)

รูปแบบการแข่งขันฟุตบอลโลกของฟีฟ่ายังเป็นต้นแบบของกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่เริ่มจัดการแข่งขันในลักษณะ “World Cup” คือ มีทีมชาติจากทั่วโลกมาแข่งขันกีฬาประเภทเดียวเพื่อหาแชมป์โลกนั่นเอง

ระหว่างปี 1934 ถึง 1978 ฟุตบอลโลกจัดแข่งกันโดยมี 16 ทีม ก่อนขยายเป็น 24 ทีมในปี 1982 และเป็น 32 ทีมในปี 1998 เพื่อเพิ่มโอกาสให้ทีมจากทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาเหนือได้เข้ารอบมากขึ้น จึงมีหลายครั้งที่ทีมชาติเหล่านี้สอดแทรกเข้ามาในรอบลึก ๆ ด้วย อย่างไรก็ตามชาติยุโรปและอเมริกาใต้ยังคงเป็นมหาอำนาจในการแข่งขันนี้เสมอ

ความนิยมในกีฬาฟุตบอลทำให้การแข่งขันฟุตบอลโลกทุก ๆ ครั้งได้รับเสียงตอบรับและเป็นกระแสระดับโลกเสมอมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนสำคัญมาจากความคิดริเริ่มของฟีฟ่าที่ปรับหลักเกณฑ์การแข่งขันให้ต่างจากฟุตบอลโอลิมปิกแบบเดิม คือ ไม่จำกัดอายุนักฟุตบอล การแข่งขันฟุตบอลโลกจึงเป็นรายการที่มีแฟนบอลมีโอกาสได้เห็นนักเตะฝีเท้าระดับสูงและมีสตาร์ดังอันดับต้น ๆ ของโลกมาร่วมโม่แข้งกัน ขณะที่รายการโอลิมปิกมักจะเป็นแข้งดาวรุ่งอายุน้อยซึ่งส่วนหนึ่งยังไม่มีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักนัก

ลำดับเหตุการณ์และแชมป์โลก

ปี 1930 เจ้าภาพ: อุรุกวัย แชมป์: อุรุกวัย เอาชนะอาร์เจนติน่า 4-2

ปี 1934 เจ้าภาพ: อิตาลี แชมป์: อิตาลี เอาชนะเชโกสโลวาเกีย 2-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ

ปี 1938 เจ้าภาพ: ฝรั่งเศส แชมป์: อิตาลี เอาชนะฮังการี 4-2

ปี 1950 เจ้าภาพ: บราซิล แชมป์: อุรุกวัย เอาชนะบราซิล 2-1

ปี 1954 เจ้าภาพ: สวิตเซอร์แลนด์ แชมป์: เยอรมนีตะวันตก เอาชนะฮังการี 3-2

ปี 1958 เจ้าภาพ: สวีเดน แชมป์: บราซิล เอาชนะสวีเดน 5-2

ปี 1962 เจ้าภาพ: ชิลี แชมป์: บราซิล เอาชนะเชโกสโลวาเกีย 3-1

ปี 1966 เจ้าภาพ: อังกฤษ แชมป์: อังกฤษ เอาชนะเยอรมนีตะวันตก 3-2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ

ปี 1970 เจ้าภาพ: เม็กซิโก แชมป์: บราซิล เอาชนะอิตาลี 4-1

ปี 1974 เจ้าภาพ: เยอรมนีตะวันตก แชมป์: เยอรมนีตะวันตก เอาชนะเนเธอร์แลนด์ 2-1

ปี 1978 เจ้าภาพ: อาร์เจนติน่า แชมป์: อาร์เจนติน่า เอาชนะเนเธอร์แลนด์ 3-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ

ปี 1982 เจ้าภาพ: อิตาลี แชมป์: อิตาลี เอาชนะเยอรมนีตะวันตก 3-1

ปี 1986 เจ้าภาพ: เม็กซิิโก แชมป์: อาร์เจนติน่า เอาชนะเยอรมนีตะวันตก 3-2

ปี 1990 เจ้าภาพ: อิตาลี แชมป์: เยอรมนีตะวันตก เอาชนะอาร์เจนติน่า 1-0

ปี 1994 เจ้าภาพ: สหรัฐอเมริกา แชมป์: บราซิล ดวลจุดโทษเอาชนะอิตาลี 3-2

ปี 1998 เจ้าภาพ: ฝรั่งเศส แชมป์: ฝรั่งเศส เอาชนะบราซิล 3-0

ปี 2002 เจ้าภาพ: เกาหลีใต้และญี่ปุ่น แชมป์: บราซิล เอาชนะเยอรมนี 2-0

ปี 2006 เจ้าภาพ: เยอรมนี แชมป์: อิตาลี ดวลจุดโทษเอาชนะฝรั่งเศส 5-3

ปี 2010 เจ้าภาพ: แอฟริกาใต้ แชมป์: สเปน เอาชนะเนเธอร์แลนด์ 1-0 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ

ปี 2014 เจ้าภาพ: บราซิล แชมป์: เยอรมนี เอาชนะอาร์เจนติน่า 1-0 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ

ปี 2018 เจ้าภาพ: รัสเซีย แชมป์: ฝรั่งเศส เอาชนะโครเอเชีย 4-2

จากการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้ง 21 ครั้งที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีเพียงประเทศจากทวีปยุโรปและอเมริกาใต้เท่านั้นที่ได้เป็นแชมป์โลก ประกอบด้วย 3 ชาติจากอเมริกาใต้ และ 5 ชาติจากยุโรป มีบราซิลเป็นทีมที่ครองแชมป์สูงสุดถึง 5 สมัย เยอรมนีกับอิตาลี 4 สมัย อุรุกวัย, อาร์เจนติน่า และฝรั่งเศส 2 สมัย สุดท้ายคืออังกฤษกับสเปนชาติละ 1 สมัย

ทั้งนี้ บราซิลเป็นเพียงชาติเดียวที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกครบทั้ง 21 ครั้ง ถือเป็นประจักษ์พยานที่บ่งบอกถึงความคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลของชาวบราซิล (รวมถึงชาวลาตินอเมริกาชาติอื่น ๆ ) ได้เป็นอย่างดี

สำหรับฟุตบอลโลก 2022 นี้ มาร่วมเชียร์-ร่วมลุ้นกันว่าชาติใดจะเป็น “แชมป์โลก” ประจำทัวร์นาเมนต์นี้ จะเป็นชาติ “หน้าใหม่” หรือ “หน้าเก่า” คงได้รู้กัน…

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Adam Augustyn, The Editors of Encyclopaedia Britannica : World Cup football tournament

England Football Online : The world’s first official international football match

FIFA World Cup ORIGIN : FIFA.com. Fédération Internationale de Football Association. (PDF)

Footballhistory.org : The history of FIFA World Cup

Shrewsbury & Atchem Borough Council : ‘The First World Cup’ The Sir Thomas Lipton Trophy


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565