ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ชื่อเรียกกีฬายอดฮิตของมวลมนุษยชาติอย่าง “ฟุตบอล” (football) นั้นทั้งตรงตัวและเข้าใจง่าย เพราะเห็น ๆ กันอยู่ว่ามันคือกีฬาที่ใช้เท้า (foot) เล่นกับลูกกลม ๆ (ball) แต่ทำไมคนอเมริกันถึงเรียกว่าฟุตบอลว่า “ซอคเกอร์” (soccer) กันนะ?
เมื่อเอ่ยถึงสิ่งบ่งชี้ความ “ไม่กินเส้น” ระหว่างภาษาอังกฤษแบบบริติชกับอเมริกัน คงไม่มีอะไรชัดเจนเท่าการเรียก “ฟุตบอล” ของอังกฤษ กับ “ซอคเกอร์” ของสหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่งคนอังกฤษเองก็ดูภูมิใจหนักหนาว่าตนคือต้นกำเนิด หรืออย่างน้อยก็ต้นแบบกีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ที่แพร่หลายทั่วโลก
ขณะที่คนอเมริกันมีฟุตบอลของตัวเองเรียกว่า “อเมริกันฟุตบอล” (American Football) แม้จะไม่ใช่การใช้เท้าเล่นลูกบอลก็ตาม
จากข้อมูลนี้ หากไม่คิดอะไรมาก ย่อมได้คำตอบทันทีว่า โอ… นี่ไง เหตุผลที่คนอเมริกันเรียกฟุตบอลว่าซอคเกอร์ เพราะพวกเขามีฟุตบอลของตัวเองอยู่แล้ว แต่นั่นก็ยังไม่เคลียร์ทุกปมปัญหาอยู่ดี เพราะคำถามที่ตามมาคือแล้วคำ ๆ นี้มาจากไหน?
เรื่องของเรื่องคือ ซอคเกอร์เป็นคำที่มีต้นกำเนิดบนเกาะอังกฤษและเป็นคำบริติชแท้ด้วยซ้ำ!
ไฉนซอคเกอร์จึงหายไปจากสารบบคำศัพท์ของอังกฤษ แต่ไปอยู่กับสหรัฐอเมริกาและอีกบางประเทศ (แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ) ที่ได้อิทธิพลจากสหรัฐฯ คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่พัฒนาการของกีฬาชนิดนี้ในแต่ละประเทศ
ฟุตบอล-ซอคเกอร์
แม้ว่าฟุตบอลหรือการเล่นบอลด้วยเท้าจะถือกำเนิดมาหลายศตวรรษ แต่ฟุตบอลในแบบที่เรารู้จักเพิ่งเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1863 เมื่อสมาคมฟุตบอล (The Football Association หรือ FA) แห่งอังกฤษจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เพื่อกำหนดกติกาของการเล่นให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน พร้อมให้เรียกชื่ออย่างเป็นทางการของกีฬาชนิดนี้ว่า Association Football
ในยุคนั้น Association Football คือกีฬาได้รับความนิยมสูงที่สุดในอังกฤษ ขณะเดียวกันก็มีกีฬาอีกประเภทคือ รักบี้ หรือ รักบี้ฟุตบอล (Rugby Football) ที่ให้ผู้เล่นวิ่งไปพร้อมกับถือลูกบอลเพื่อทำประตู ที่ได้รับความนิยมไล่เลี่ยกันอยู่
และด้วยสุนทรียศาสตร์ทางภาษาของวัยรุ่นบริติช เมื่อราวทศวรรษ 1880 นักศึกษาอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้เริ่มบัญญัติศัพท์ใหม่ (อย่างไม่เป็นทางการ) สำหรับเรียก Association Football กับ Rugby Football เพื่อให้เรียกง่ายและกระชับขึ้น นั่นคือ Assoccer และ Rugger
โดยที่ แอซซอคเกอร์ (assoccer) ค่อย ๆ แผลงจนเป็นคำว่า ซอคเกอร์ (soccer/socker) ในเวลาต่อมา
ดูเหมือนคำว่าซอคเกอร์จะแพร่หลายออกนอกรั้วมหาวิทยาลัยอย่างรวดเร็ว จนคนทั่วเกาะอังกฤษเข้าใจตรงกันว่าเมื่อใดที่เอ่ยคำนี้ มันก็คือ Association Football หรือฟุตบอลที่เรารู้จักกันนั่นแหละ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ซอคเกอร์ เป็นเพียงชื่อเรียกอย่างลำลองเท่านั้น
กระทั่งศตวรรษที่ 20 คนทั้งโลกเรียกรักบี้ฟุตบอลอย่างง่าย ๆ ว่า “รักบี้” กันจนติดปาก Association Football จึงได้สิทธิ์คำสั้น ๆ ตรง ๆ ตัวว่า “ฟุตบอล” ไปทันที ซึ่ง ณ จุดนั้นเองที่ คำว่า “ซอคเกอร์” ของเหล่าวัยรุ่นบริติชไม่มีความจำเป็นต้องเรียกให้เกิดความวุ่นวายสับสนอย่างไม่จำเป็นแล้ว
แต่ทางฟากฝั่งทวีปอเมริกา ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้วที่กีฬาประเภทหนึ่งซึ่งมีส่วนผสมระหว่างรูปแบบการเล่นฟุตบอลกับรักบี้ได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นที่นิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในสหรัฐฯ ที่สำคัญคือคนอเมริกันเล่นกันแพร่หลายกว่ากีฬา 2 ประเภทข้างต้นอันมีต้นแบบจากอังกฤษเสียอีก กีฬานี้เรียก “กริดไอรอนฟุตบอล” (Gridiron Football) หรือต่อมาก็คือ อเมริกันฟุตบอล นั่นเอง
เรื่องของเรื่องคือ ดูเหมือนคนอเมริกันจะไม่ค่อยจำชื่อแรก (Gridiron) กันนัก เรียกติดปากกันสั้น ๆ เพียง “ฟุตบอล ๆ ๆ” โดยไม่กังวลว่าจะสับสนกับฟุตบอลที่เล่นด้วยเท้าจริง ๆ เพราะมีชื่อลำลองที่เข้าใจกันอย่างซอคเกอร์อยู่แล้ว
นักฟุตบอล (football) ชาวอเมริกันจึงเรียกกีฬาของพวกเขาว่า ซอคเกอร์ เป็นหลัก ขณะที่สมาคมฟุตบอลสหรัฐฯ ซึ่งก่อตั้งเมื่อทศวรรษ 1910 ก็ปล่อยเลยตามเลยต่อเสียงของคนในประเทศด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมซอคเกอร์แห่งสหรัฐอเมริกา (the United States Soccer Football Association) อย่างเป็นทางการในปี 1945 พร้อมยกเลิกคำว่าฟุตบอลสำหรับกีฬาประเภทนี้โดยปริยาย
ด้านอังกฤษ (และวัยรุ่นบริติชที่สูงวัยกันแล้ว) เมื่อเห็นสหรัฐฯ เรียกอย่างเป็นทางการอย่างนั้น ประกอบกับการวิวัฒน์ด้านภาษาของทั้งสองชาติที่เกิดความแตกต่างและห่างเหินกันในหลายจุด โดยเฉพาะสำเนียงและการเปล่งเสียงคำต่าง ๆ ด้วยอคติทางภาษา พวกเขาจึงถอดซอคเกอร์ออกจากคลังคำศัพท์อย่างเป็นทางการบ้าง ลอยแพคำที่ตนสร้างขึ้นให้เป็นของคนอเมริกันอย่างหน้าชื่นตาบานเพราะความชาตินิยม
“ฟุตบอล” กับ “ซอคเกอร์” ของคนอเมริกัน จึงแยกทางกันอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่นั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “อัศวินสีส้ม” ฉายาฟุตบอลทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ทำไมต้องสีส้ม?
- ตามรอย “นายคร้าม” คนไทยคนแรกๆ ที่ได้ดู “ฟุตบอล” ที่อังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
- ย้อนรอยการก่อตัวของฟุตบอลอังกฤษ-สเปน สู่มหาอำนาจยุโรป พลิกโฉมลูกหนังยุคใหม่
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
John M. Cunningham, Encyclopaedia Britannica. Why Do Some People Call Football “Soccer”?. Retrieved July 31, 2024. (Online)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 กรกฎาคม 2567