ตามรอย “นายคร้าม” คนไทยคนแรกๆ ที่ได้ดู “ฟุตบอล” ที่อังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

นักดนตรีไทย สโมสรฟุตบอล Nottingham Forest
นักดนตรีไทย

ใน พ.ศ. 2427 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 คณะดนตรีไทยได้รับเชิญให้ไปแสดงในงานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือ “นายคร้าม” ผู้ชำนาญซอสามสาย ที่ได้รับคัดเลือกไปพร้อมกับนักดนตรีผู้มีฝีมือและมีชื่อเสียงในสยามยุคนั้นรวม 19 คน

วีรกรรมของนักดนตรีคณะนี้เป็นที่ลือลั่น แพร่ชื่อเสียงของดนตรีไทยไปทั่วในต่างประเทศ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ เคยบรรเลงดนตรีไทยถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และสามารถบรรเลงเพลงชาติของอังกฤษ คือ เพลง God Save The Queen ได้อย่างอัศจรรย์

รูปนักดนตรีวงเล็กในอดีต ชายคนซ้ายสุดเล่นซอสามสาย

และการเดินทางไปประเทศอังกฤษนี้เอง นายคร้าม ได้บันทึกรายงานการเดินทางเป็นสำนวนร้อยแก้วที่อ่านเข้าใจง่าย ด้วยภาษาธรรมดาๆ บอกเล่าเรื่องราวสิ่งที่พบเห็นในประเทศอังกฤษหลากหลายเรื่อง เช่น ไปทำการแสดงที่อัลเบิร์ตฮอลล์, ไปแสดงดนตรีไทยถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และเจ้าชายแห่งเวลส์ (ต่อมาเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7), เรื่องจิปาถะเกี่ยวกับคนอังกฤษ เช่น “ผัวเมียชาวอังกฤษ”, “เปรียบเทียบการศึกษาของอังกฤษและไทย”, “ว่าด้วยเรื่องรถและสภาพบ้านเมืองชาวอังกฤษ”, “ว่าด้วยอัชฌาสัยการค้าของคนอังกฤษ”

แต่เรื่องที่จะนำมาเสนอในที่นี้ คือ เรื่อง “ความพิศวงเมื่อได้ดูการเล่นฟุตบอล” นายคร้ามบันทึกไว้ดังนี้

สโมสรฟุตบอล Nottingham Forest เมื่อปี ค.ศ. 1906 (ภาพจาก www.nottinghamforest.co.uk)

“ความพิศวงเมื่อได้ดูการเล่นฟุตบอลล์

แล้วเขาจึงออกมากระทำคำนับทุก ๆ คน แล้วพาดูเครื่องมือที่ทำการต่าง ๆ แล้วเขาอนุญาตว่าท่านที่มากับท่านดอกเต้อร์เวลานี้ ท่านชอบรูปไหน แผ่นไหน ท่านจงหยิบเอา ตามปรารถนาแห่งท่านทุกคนเถิด ข้าพเจ้าหามีความรังเกียจในท่านที่มาหาข้าพเจ้าในวันนี้ไม่ แล้วข้าพเจ้าก็หยิบเอาคนละอันบ้างสองอันบ้างตามชอบอัชฌาสัยทุก ๆ คนแล้ว ก็พากันกลับมาบ้านท่านผู้นั้น เลี้ยงดูตามธรรมเนียมหน่อยหนึ่ง แล้วก็กลับมาตามทางเก่า

แต่ทางรถที่ไปนั้นเปนเขาต่ำบ้างสูงบ้าง แล้วมาถึงตะพานข้ามแม่น้ำใหญ่อีกแห่งหนึ่ง แล้วเลี้ยวเข้าไปข้างซ้าย ข้าพเจ้าเห็นชาวเมืองนั้นยืนอยู่เปนวงใหญ่ประมาณหมื่นเศษ แล้วขับรถเข้าไปดู หมดด้วยกันต้องเสียค่าติ๊กเก้ตทุกคน แต่ด๊อกเตอร์ออกให้ทั้งสิ้น ครั้นเข้าไปดูเห็นพวกอังกฤษเล่นลูกบอลกันเหมือนอย่างเล่นตะกร้อ แต่ว่าแต่งตัวเป็นสองพวก ๆ หนึ่งใส่เสื้อเขียว พวกหนึ่งใส่เสื้อแดง เล่นกันเหมือนตีคลี มีแพ้แลชนะกันอย่างคลี ดูอยู่ครู่หนึ่งข้าพเจ้าหนาวเหลือทนก็ออกจากที่นั้น มาพักหนึ่งถึงโฮเต็ลที่พักห้าโมง พอได้เพลารับประทาน ๆ แล้ว ก็เข้าไปทำดนตรีที่ในโรงคอนเสิตที่ในเมืองนอตกิงแฮมดังเคยมาแต่ก่อนนั้น”

ในยุคนั้นกีฬาฟุตบอลยังไม่แพร่หลายในสยามสมัยรัชกาลที่ 5 กีฬาชนิดนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทย และกว่าจะเริ่มเล่นฟุตบอลกันในกรุงเทพฯ ก็ล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งนายคร้ามไม่เคยเห็นการเล่นฟุตบอลมาก่อน จึงอธิบายว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่เล่นตะกร้อผสมตีคลี

สโมสรฟุตบอล Nottingham Forest เมื่อปี ค.ศ. 1967 แข่งกับสโมสรฟุตบอล Everton (FA Cup) (ภาพจาก www.nottinghamforest.co.uk)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา. (ตุลาคม, 2555). คนไทยในราชสำนักวิคตอเรีย หนังสือเกียรติประวัติชาวสยามพลัดหลงอยู่ที่ลอนดอน. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33 : ฉบับที่ 12.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2564