เมื่อ “นายคร้าม” คนปั้น “ยักษ์วัดแจ้ง” ไปเล่นซอถวายควีนวิกตอเรีย

ซอ นายคร้าม ควีนวิกตอเรีย

เมื่อ “นายคร้าม” คนปั้น “ยักษ์วัดแจ้ง” ไปเล่นซอถวาย ควีนวิกตอเรีย

หลายปีมาแล้วที่ประเทศอังกฤษ ผู้เขียนพบหนังสือหายากเล่มหนึ่งจากเมืองไทยปะปนอยู่ในกองหนังสือเก่าประเภทภาษาต่างประเทศภายในร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่งของย่านถนน CECIL COURT LONDON WC2N 4HE มันอาจดูไม่มีคุณค่าเท่าใดสําหรับโลกยุคใหม่ แต่ด้านจิตใจแล้วมันคือกระจกวิเศษที่สะท้อนภาพเหตุการณ์ในอดีตครั้งรัชกาลที่ 5 อ้างถึงคนไทยกลุ่มหนึ่งที่มาสร้างวีรกรรมไว้ที่ลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2427 อันเป็นต้นทางของหนังสือเล่มนี้

นายคร้าม ซอ ควีนวิกตอเรีย
หน้าปกหนังสือ “คนไทยในราชสำนักอังกฤษ”

บนหน้าปกอันผุพังพิมพ์ชื่อเรื่องไว้อย่างภูมิฐานว่า “คนไทยในราชสํานัก พระนางวิคตอเรีย” แต่ก่อนที่จะพูดถึงพวกเขาก็ต้องเท้าความเสียก่อนว่าคนไทยชุดนี้เป็นคนละชุดกันกับคนไทยอีกคณะหนึ่งสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ไปปรากฏตัวในราชสํานักอังกฤษเช่นกัน

แต่ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกันกล่าวคือ คณะแรกเป็นชุดของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ซึ่งเดินทางไปลอนดอนใน พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) เพื่อถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการของรัชกาลที่ 4 แก่พระราชินีนาถวิกตอเรีย หรือ ควีนวิกตอเรีย

โดยมีหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นล่ามและผู้บันทึกเหตุการณ์ เกิดเป็นหนังสือชื่อนิราศลอนดอน ฉบับหลวงซึ่งก็ถูกอ้างอิงถึงในการเดินทางหนหลังสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งนี้ด้วย

ใครเป็นผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ และพวกเขาไปทําอะไรที่ลอนดอน?

ในปี พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1884) เมื่อคนไทยชุดที่ 2 เดินทางไปนี้ เป็นการไปแบบกึ่งราชการที่ไม่ใช่ผู้แทนของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนในครั้งแรก แต่คราวนี้เป็นภาคเอกชนที่ล้วนเป็นนักดนตรีอาชีพโดยการสนับสนุนของเจ้านายพระองค์หนึ่งคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือ สมเด็จวังบูรพาเป็นผู้ส่งไป เนื่องจากถูกเชิญจากรัฐบาลอังกฤษให้ไปแสดงในงานมหกรรมแสดงสินค้าและดนตรีนานาชาติซึ่งมีขึ้น ณ กรุงลอนดอน ใน พ.ศ. 2427-2428

นักดนตรีที่ถูกคัดเลือกไปล้วนเป็นคนมีฝีมือรวม 19 คน ส่วนใหญ่เป็นครูเพลงที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้นทั้งสิ้น เช่น นายคร้าม และนายยิ้ม เป็นผู้ชํานาญทางซอสามสาย และนายแปลก เป็นผู้ชํานาญทางขลุ่ย เป็นต้น

วีรกรรมของนักดนตรีไทยชุดนี้ นอกจากจะได้ไปทําหน้าที่เผยแพร่ชื่อเสียงของดนตรีไทยในต่างประเทศครั้งแรกแบบเป็นวงใหญ่ครบเครื่องแล้ว ชาวคณะยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ เป็นการเฉพาะเพื่อแสดงฝีมืออันเป็นที่เล่าลือของเครื่องสายไทยว่าสามารถบรรเลงเพลงชาติของอังกฤษที่เรียกว่า God Save The Queen ได้อย่างอัศจรรย์ ซึ่งแม้แต่เครื่องดนตรีต่างชาติอื่นๆ จากอินเดียหรือจีนก็ยังเล่นได้ไม่ดีเท่า

ทั้งเป็นเรื่องแปลก และพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษตลอดจนสมเด็จพระยุพราชต่างก็มีพระราชประสงค์ที่จะได้สดับเครื่องดนตรีไทยที่สรรเสริญประเทศอังกฤษได้ โดยชาวคณะมีโอกาสบรรเลงถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกได้ไปแสดงต่อหน้าที่ประทับของสมเด็จพระยุพราช (ต่อมาเสวยราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 – ผู้เขียน) ณ วังของสมเด็จฯ และครั้งที่ 2 ต่อหน้าพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่าควีน – ผู้เขียน) ณ พระราชวังออสบอร์นบนเกาะไอร์ออฟไวท์

การได้เดินสายแสดงนอกรอบหน้าพระที่นั่งของควีนสร้างความประทับใจต่อพระนางยิ่งนัก แม้นว่าควีนจะทรงอยู่ในช่วงไว้ทุกข์เพราะพระสวามี (เจ้าชาย อัลเบิร์ต) เสด็จทิวงคตลงเป็นเหตุให้สํานักพระราชวังสั่งงดงานรื่นเริงใดๆ ลงทั้งหมด ควีนเองก็ทรงปลีกพระองค์ออกจากสังคมด้วยความเสียพระทัยอย่างรุนแรง ดังนั้น การที่คนไทยชุดนี้สามารถทําให้ควีนแย้มพระสรวลได้ และทรงพระเกษมสําราญได้ ชั่วขณะย่อมเป็นสิ่งมหัศจรรย์ต่อผู้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งแม้แต่ทางราชสํานักก็ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้

รูปนักดนตรีวงเล็กในอดีต ชายคนซ้ายสุดเล่นซอสามสาย

ควีนทรงพอพระทัยการเล่นซอสามสายของ นายคร้าม อย่างมาก ถึงกับได้พระราชทานเหรียญรูปพระนางวิกตอเรียและผ้าทําด้วยแก้วพันพระมาลา พร้อมด้วยพระบรมฉายาลักษณ์มีลายเซ็นพระหัตถ์ และพระฉายาลักษณ์ของเจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นที่ระลึกแก่นายคร้ามและครูยิ้มเป็นกรณีพิเศษในวันนั้น ซึ่งแม้แต่อัครราชทูตสยามประจําราชสํานักเซ็นต์เจมส์ก็ยังมิเคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นส่วนพระองค์เช่นนั้น

นายคร้าม เป็นดาราคนสําคัญในคณะนักดนตรีชุดนี้และยังมีความสามารถพิเศษอื่นๆ ที่ควรได้รับการสรรเสริญต่อไปอีก คือ

ก.ป็นผู้จดบันทึกรายงานการเดินทางด้วยสํานวนร้อยแก้วที่อ่านเข้าใจง่ายด้วยภาษาพื้นๆ แบบราษฎรธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องการเล่าเรื่องให้คนทางบ้านหรือมิตรสหายฟัง จึงเปิดเผยและเต็มไปด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแพรวพราวไม่เหมือนจดหมายเหตุทั่วๆ ไป

ข. นายคร้าม เป็นศิลปินโดยกําเนิด เป็นบุตรหลวงปรมัยฯ คนในสกุลนี้ล้วนมีอาชีพสืบทอดกันมาเป็นช่างศิลป์อยู่ในกรมช่างสิบหมู่ รับราชการสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนมาสิ้นสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 (นายคร้ามมี บุตรี 2 คน แต่ไม่มีบุตรชายสืบสกุล – ผู้เขียน)

เฉพาะตัวนายคร้ามเองนอกจากเป็นนักดนตรีชั้นครูแล้วก็ยังมีความชํานาญในศิลปะแทบทุกแขนงที่ไม่เหมือนใคร คือ เป็นช่างปั้น ช่างเขียน ช่างกลึง ช่างแกะสลัก และมักจะถูกเรียกตัวไปใช้ในทางราชการเนืองๆ พร้อมกับผลงานที่คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึง ตามคําบอกเล่าในคํานําของหนังสือเล่มนี้คือ

“งานชิ้นสําคัญอันเป็นฝีมือของนายคร้ามและสกุลวงศ์ที่ยังปรากฎแก่คนทั่วไปเวลานี้คือ รูปปั้นยักษ์วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) โดยฉะเพาะตัวที่มีชื่อว่าทศกรรณฐ์และสหัสสเดชะที่หน้าโบสถ์ที่ยังปรากฎอยู่ทุกวันนี้ได้ปั้นโดยสกุลวงศ์นี้เป็นลําดับมาสามชั่วคน ครั้งหลังที่สุดเป็นฝีมือนายคร้าม โดยที่ต่อมายักษ์สองรูปนั้นซึ่งปั้นโดยหลวงปรมัยฯ ได้หักพังลงภายหลังที่หลวงปรมัยฯ ดับศูนย์ลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ต้องพระราชประสงค์จะให้ สกุลวงศ์เดิมเป็นผู้กระทํา ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้นายคร้ามเป็นผู้ซ่อมแซมใหม่ ด้วยเหตุที่รูปปั้นเริ่มทรุดโทรมลงมาก นายคร้ามจึงต้องรื้อของเดิมออกทั้งสองรูป เหลือแต่โครงและได้ก่อปั้นขึ้นใหม่และการก่อปั้นยักษ์สองรูปนี้ได้กระทําภายหลัง เมื่อนายคร้ามกลับจากประเทศอังกฤษแล้วไม่นานนัก”

ยักษ์วัดแจ้งที่นายคร้ามปั้นไว้ภายหลังกลับจากอังกฤษ เป็นผลงานชั้นครูที่ ร.5 ทรงตั้งพระทัยให้เขาสืบทอดฝีมือซึ่งถูกปลูกฝังมาจากบรรพบุรุษ (ภาพจาก ไปรษณียบัตรเก่าพบที่อังกฤษ)

ค. ผลงานระดับประเทศด้านอื่นๆ ของนายคร้ามและได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวรรณคดีไทยทั้งยังเป็นภาพลักษณ์ของสยามรัฐซ่อนอยู่ภายในปูชนียสถานสําคัญที่คนส่วนใหญ่มองข้ามและไม่เคยรู้ที่มาก็คือภาพเรื่องรามเกียรติ์บนผนังตามระเบียงในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และนายคร้ามอีกเช่นกันที่เป็น ผู้ปั้นยักษ์ภายในวัดเดียวกันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“คนไทยในราชสำนักวิคตอเรีย หนังสือเกียรติประวัติชาวสยามพลัดหลงอยู่ที่ลอนดอน”. จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ หน้าหนึ่งในสยาม”. โดย ไกรฤกษ์ นานา. สำนักพิมพ์มติชน. 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 25 ธันวาคม 2561