เบื้องหลังการ (เกือบจะ) รัฐประหารของอังกฤษ ในซีรีส์ “The Crown”

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1972 ในการแข่งม้าที่ Longchamp นอกกรุงปารีส ฝรั่งเศส (Photo by STAFF / AFP)

ในภาพยนตร์ชุด “The Crown” ซีซันที่ 3 ตอน “Coup” ได้ฉายให้เห็นความพยายามในการ “รัฐประหาร” ของกลุ่มชนชั้นนำอังกฤษบางส่วน ที่วิตกกังวลกับปัญหาที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ได้ จึงพยายามอาศัยเครือข่ายที่ใกล้ชิดกับราชสำนัก เพื่อยึดอำนาจและจัดการบริหารประเทศเสียใหม่ ในความเป็นจริงแล้วเกิดอะไรขึ้น?

อังกฤษในสมัยนั้นมีนายกรัฐมนตรีชื่อ แฮโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson) จากพรรคแรงงาน เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1964 แม้จะเป็นรัฐบาลที่มีการปฏิรูปและผลักดันกฎหมายอันเป็นประโยชน์หลายฉบับ เช่น การออกกฎหมายให้การรักร่วมเพศไม่เป็นอาชญากรรม, การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย (หากตั้งครรภ์ต่อไปจะส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจ), การยกเลิกโทษประหาร หรือการขยายอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 21 ปี เป็น 18 ปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพรรคแรงงานก็ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาเศรษฐกิจ การขาดดุลงบประมาณ การลดค่าเงินปอนด์ ภาวะเงินเฟ้อ และอุตสาหกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพ ฯลฯ

แฮโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson)

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่สั่นคลอนรัฐบาลแล้ว ปัญหาอีกประการที่เป็นประเด็นสำคัญไม่แพ้กันคือ ความน่าเชื่อถือของ แฮโรลด์ วิลสัน เนื่องจากสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ CIA ได้แจ้งมายัง หน่วยความมั่นคงของอังกฤษ หรือ MI5 ว่า จากข้อมูลลับของแหล่งข่าวที่ปฏิเสธจะเปิดเผยตัวตนบอกว่า แฮโรลด์ วิลสัน เป็นสายลับของสหภาพโซเวียต

นี่จึงเป็นความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในกลุ่มชนชั้นนำอังกฤษบางคน ซึ่งนำมาสู่แผนการล้มล้างรัฐบาล ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรืออาจถึงขั้น “รัฐประหาร”

ในปี 1968 เซซิล คิง (Cecil King) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์และผู้อำนวยการธนาคารแห่งอังกฤษพยายามชักชวนให้ ลอร์ด เมานต์แบตเทน (Lord Mountbatten) เป็นผู้นำการต่อต้านรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี แฮโรลด์ วิลสัน

ลอร์ด เมานต์แบตเทน หรือพระนามเดิมคือ เจ้าชายหลุยส์ หลานทวดในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย มีฐานะเป็นน้าของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นรัฐบุรุษของอังกฤษ และยังเป็นอุปราชคนสุดท้ายของอินเดีย

ในหนังสือ Spycatcher เขียนโดย ปีเตอร์ ไรท์ (Peter Wright) อ้างว่า ในปีดังกล่าว ลอร์ด เมานต์แบตเทน ได้พบกับ เซซิล คิง เพื่อปรึกษาการถอด แฮโรลด์ วิลสัน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ลอร์ด เมานต์แบตเทน ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่ท่านลอร์ดปฏิเสธที่จะร่วมด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ระบุว่า นี่เป็นการทรยศ

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลอีกแหล่งอธิบายว่า เซซิล คิง พยายามสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลผสม และพยายามพูดคุยกับ ลอร์ด เมานต์แบตเทน ซึ่งท่านลอร์ดก็เห็นด้วย และกล่าวว่า “ปัญญาและความสามารถในการบริหารซึ่งไม่มีอยู่ในรัฐสภาจะต้องได้รับการควบคุม บางทีอาจมีบางอย่าง เช่น คณะกรรมการฉุกเฉิน ที่ฉันเคยดำเนินการในอินเดีย”

ลอร์ด เมานต์แบตเทน (Lord Mountbatten)

ขณะที่หนังสือ Walking on Water เขียนโดย ฮิวจ์ คัดลิปป์ (Hugh Cudlipp) ผู้ที่มีส่วนรู้เห็นและใกล้ชิดกับเหตุการณ์นี้มากคนหนึ่ง อธิบายว่า เซซิล คิง กระตือรือร้นที่จะขับไล่ แฮโรลด์ วิลสัน และจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดย ลอร์ด เมานต์แบตเทน

โดย เซซิล คิง เชื่อว่า ประเทศกำลังมุ่งหน้าไปสู่การล่มสลายทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุที่เขาต้องการให้ ลอร์ด เมานต์แบตเทน ก้าวขึ้นมามีอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ฮิวจ์ คัดลิปป์ อธิบายว่า เขา, เซซิล คิง และ ลอร์ด เมานต์แบตเทน นัดพบกันในบ่ายวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 1968 ที่บ้านของท่านลอร์ดในกรุงลอนดอน โดยมี โซลลี ซักเกอร์แมน (Solly Zuckerman) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลเข้าร่วมด้วย และเมื่อมีการอธิบายแนวคิดล้มล้างรัฐบาลดังกล่าว ลอร์ด เมานต์แบตเทน ก็หันไปหา โซลลี ซักเกอร์แมน แล้วถามว่า “โซลลี คุณยังไม่ได้พูดอะไรเลย คุณคิดอย่างไรกับเรื่องทั้งหมดนี้”

โซลลี ซักเกอร์แมน มีท่าทีต่อต้านอย่างรุนแรง กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการทรยศ และตำหนิ ลอร์ด เมานต์แบตเทน ว่า ไม่ควรกระทำตัวเช่นนี้ และเขาจะไม่ยอมมีส่วนร่วมกับแนวคิดนี้เป็นอันขาด ขณะที่ เซซิล คิง กับ ลอร์ด เมานต์แบตเทน ก็พยายามพูดแก้ตัว เป็นการกลบเกลื่อนเรื่องที่เพิ่งพูดคุยกัน อย่างไรก็ตาม แผนการทำรัฐประหารไม่เคยไปไกลกว่าบทสนทนาที่เกิดขึ้นในวันนั้น

หลายปีต่อมา นักเขียนสองคนคือ Barrie Penrose และ Roger Courtiour ซึ่งกำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับแผนการต่อต้านรัฐบาล แฮโรลด์ วิลสัน ได้ให้ข้อมูลอ้างว่า เจ้าหน้าที่ MI5 ระดับสูงคนหนึ่งได้เผยข้อมูลกับพวกเขาว่า มีบางอย่างที่สำคัญกว่าเบื้องหลังการยึดอำนาจมากกว่าที่ผู้คนจะคิด และเรื่องที่ ฮิวจ์ คัดลิปป์ เขียนบันทึกเกี่ยวกับสนทนาในปี 1968 เกี่ยวกับแนวคิดการยึดอำนาจทางทหารนั้นเป็นเรื่องจริง

Charles Higham นักเขียนอีกคนหนึ่งได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนที่หมกมุ่นเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับแผนการนี้คือ มาร์เซีย วิลเลียมส์ (Marcia Williams) เลขานุการของ แฮโรลด์ วิลสัน ซึ่งเธอได้พูดกับสื่อมวลชนในระยะต่อมาว่า ลอร์ด เมานต์แบตเทน เป็นผู้มีส่วนสำคัญในแผนการนี้ และอ้างว่า ท่านลอร์ดติดแผนที่บนผนังที่สำนักงานของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จะปฏิบัติแผนการอย่างไร มาร์เซีย วิลเลียมส์ ยังบอกอีกว่า เธอกับแฮโรลด์ วิลสัน เคยปรึกษาหาจุดที่ฝ่ายตรงข้ามจะติดตั้งปืนในการทำรัฐประหารอีกด้วย

การสนทนาในวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 1968 เป็นสิ่งที่เด่นชัดที่สุดครั้งเดียวที่กล่าวถึงการล้มล้างรัฐบาล ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจเป็นการยึดอำนาจทางทหาร หรือการรัฐประหาร ทว่า ยังเป็นที่คลุมเครือว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีส่วนสำคัญในเรื่องทั้งหมดนี้อย่างไร จะเป็นดังทีภาพยนตร์ชุด “The Crown” ฉายให้เห็นหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม Alex von Tunzelmann นักประวัติศาสตร์ อธิบายเรื่องนี้ว่า โซลลี ซักเกอร์แมน ไม่ใช่คนที่พูดคุยกับ ลอร์ด เมานต์แบตเทน แต่เป็นองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เองต่างหาก ดังนั้น แม้บทบาทของพระองค์ยังคลุมเครือ แต่ในอนาคตอาจมีหลักฐานที่ตีแผ่ความพยายามในการรัฐประหารครั้งนี้ให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเราอาจได้เห็นบทบาทของพระองค์ว่า ทรงทำอย่างไรกับเหตุการณ์นี้บ้าง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Did Lord Mountbatten lead a coup against Harold Wilson? True story featured in The Crown season 3

Lord Mountbatten: Did Prince Philip’s uncle attempt to lead a coup against Harold Wilson’s government?

The Crown: Did Lord Mountbatten really plot to overthrow Harold Wilson in a coup?


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2563