กำเนิดพรรคอนุรักษนิยม-เสรีนิยมในอังกฤษ กับการถ่ายโอนอำนาจจากกษัตริย์สู่รัฐสภา

ภาพวาด สภาสามัญ แห่งรัฐสภา อังกฤษ
สภาสามัญ แห่งรัฐสภาอังกฤษ วาดโดย Thomas Rowlandson ค.ศ. 1808

อังกฤษ เป็นประเทศที่มีรูปแบบการปกครองน่าศึกษาประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะการถ่ายโอนอำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ที่รัฐสภา ซึ่งกระบวนการนี้ใช้ระยะเวลาหลายร้อยปี ดำเนินไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาประเทศ จนดูเหมือนว่า อังกฤษแทบไม่มีการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่เมื่อเทียบกับการปฏิวัติฝรั่งเศสหรือปฏิวัติรัสเซีย

รัฐสภาใต้อำนาจกษัตริย์

รัฐสภาอังกฤษมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นสภาที่ปรึกษาราชการของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่อย่างจำกัดภายใต้พระราชอำนาจ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาการบริหารราชการแผ่นดินและการออกกฎหมายต่าง ๆ สมาชิกสภาส่วนมากเป็นขุนนางและนักบวช

อย่างไรก็ตาม รัฐสภายังมีบทบาทการเมืองที่สามารถทัดทานพระราชอำนาจได้บางประการ เพราะตามกฎบัตรแมกนาคาร์ตา เมื่อ ค.ศ. 1215 ระบุว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเก็บภาษีได้ตามประเพณีดั้งเดิม หากมีพระราชประสงค์เก็บภาษีเพิ่มเติมจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

แม้รัฐสภาจะอยู่ใต้พระราชอำนาจในการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงจำเป็นต้องประนีประนอมกับรัฐสภามาเสมอ โดยเฉพาะการเปิดประชุมสภาเพื่อขออนุมัติการเก็บภาษี ในหลายรัชสมัย พระมหากษัตริย์ทรงไม่เรียกเปิดประชุมสภาเพื่อป้องกันผลกระทบจากการประชุมที่อาจไม่เป็นดังพระราชประสงค์ ตัวอย่างเช่น ในรัชสมัยสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 ตลอดเวลา 45 ปี ในพระราชบัลลังก์ ทรงเรียกประชุมรัฐสภาเพียง 14 ครั้ง บางครั้งทรงไม่เรียกประชุมรัฐสภายาวนานกว่า 5 ปี หรือในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงไม่เรียกประชุมรัฐสภายาวนานกว่า 11 ปี

สมาชิกรัฐสภาของอังกฤษมาจากการเลือกตั้งในแต่ละเขต พวกเขาเริ่มมีพัฒนาการการเป็น “นักการเมืองมืออาชีพ” นับตั้งแต่ รัชสมัยสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 โดยเฉพาะกลุ่มพวกผู้ดีชนบท ซึ่งพวกเขาไม่เดือดร้อนเรื่องฐานะ จึงสามารถอุทิศตนในการทำหน้าที่ในรัฐสภาที่กรุงลอนดอนได้อย่างเต็มที่ พวกเขาจึงเริ่มมีความชำนาญทางการเมือง สั่งสมประสบการณ์และเล่ห์เหลี่ยมมากขึ้น จนนำไปสู่การเป็นนักการเมืองมืออาชีพในยุคต่อมา

ความขัดแย้งสองสถาบัน

การปะทะกันระหว่างรัฐสภากับพระมหากษัตริย์เริ่มปรากฏความรุนแรงอย่างเด่นชัดในรัชสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งราชวงศ์สจ๊วต ต่อเนื่องถึงรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ผู้เป็นพระราชโอรส ทั้งสองพระองค์ทรงไม่เห็นความสำคัญของรัฐสภาในการช่วยบริหารประเทศ ทรงเชื่อมั่นในความคิดเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ (Divine Kingship) นั่นคือ พระมหากษัตริย์ได้รับมอบอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นผู้ปกครอง ส่วนราษฎร์มีหน้าที่ปฏิบัติตามเท่านั้น

เหตุการณ์ความขัดแย้งในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีปัญหามาจากความขัดแย้งทางศาสนา ระหว่างคนสามกลุ่มคือ คาทอลิก พิวริตัน และแองกลิคัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ต้องการผ่านกฎหมายที่สนับสนุนผลประโยชน์ของฝ่ายตน ซึ่งพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ไม่ได้ทรงดำรงตนเป็น “ตัวกลาง” ในการแก้ปัญหานี้ แต่ทรงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งดังกล่าวด้วย

ปัญหาอีกประการในรัชสมัยนี้คือ การเก็บภาษี พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงมีพระราชประสงค์ให้รัฐสภาอนุมัติการเก็บภาษีเพิ่มเติมเพื่อนำเงินไปทำสงคราม แต่รัฐสภาไม่เห็นชอบ พระองค์จึงแก้ปัญหาด้วยการยุบสภา จากนั้นจึงทรงหาเงินด้วยสารพัดวิธี ซึ่งเป็นการใช้พระราชอำนาจมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผ่านรัฐสภา ผิดกฎหมายจารีตของอังกฤษ และริดรอนสิทธิ์เสรีภาพของประชาชน

พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่ง อังกฤษ
พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (Charles I of England)

เหตุการณ์จุดแตกหักระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กับรัฐสภาเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1641 เมื่อรัฐสภาผ่านกฎหมายจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยกำหนดให้ต้องเรียกประชุมรัฐสภาอย่างน้อย 51 วัน ในทุก ๆ 3 ปี ต่อมารัฐสภาได้เปิดประชุมสภาอีกครั้ง มีการอภิปรายอย่างดุเดือด และผ่านกฎหมายที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ในช่วงปิดประชุมสภา 11 ปี (ค.ศ. 1629-1640)

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1642 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ไม่พอพระทัยจากการที่รัฐสภาจำกัดพระราชอำนาจ จึงทรงนำกำลังทหารรักษาพระองค์ล้อมอาคารรัฐสภาหมายจะจับแกนนำที่เป็นสมาชิกรัฐสภา ทว่าแกนนำหนีรอดไปได้ ฝ่ายรัฐสภาและประชาชนที่สนับสนุนได้เริ่มระดมพลเพื่อต่อสู้กับฝ่ายกษัตริย์ ขณะที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 เสด็จฯ หนีออกจากกรุงลอนดอน และเริ่มระดมพลเช่นกัน

สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1642-1649 ฝ่ายรัฐสภามีโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เป็นผู้นำทหารคนสำคัญ ที่สามารถเอาชนะฝ่ายนิยมกษัตริย์ได้ สุดท้ายพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกจับ และถูกตัดสินประหารชีวิต

หลังจากนั้นอังกฤษจึงเข้าสู่สมัยสาธารณรัฐ มีตำแหน่งประมุขคือ “Lord Protector” ได้แก่ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ และ ริชาร์ด ครอมเวลล์ (ลูกชายของโอลิเวอร์) ตามลำดับ ตั้งแต่ ค.ศ. 1649-1660 จากนั้นจึงได้รื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ โดยได้ทูลเชิญพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ผู้เป็นพระราชโอรสพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ขึ้นปกครองอังกฤษต่อไป

วิกและทอรี

แม้เข้าสู่รัชสมัยใหม่หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุด ทว่าความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกษัตริย์และรัฐสภายังไม่มีทีท่าว่าจะจบ เมื่อรัฐสภาพยายามออกพระราชบัญญัติผู้ต้องห้ามการสืบราชบัลลังก์ (Exclusion Bill) ซึ่งมีเจตนาห้ามมิให้เจ้าชายเจมส์ ดยุคแห่งยอร์ก พระอนุชาในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ครองราชบัลลังก์สืบต่อพระเชษฐา เนื่องจากเจ้าชายเจมส์ ดยุคแห่งยอร์ก ทรงนับถือนิกายคาทอลิก ดังนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 จึงทรงกระทำอย่างพระมหากษัตริย์ในยุคก่อน ๆ คือทรงตอบโต้ด้วยการยุบสภา แต่เมื่อเปิดประชุมรัฐสภารอบใหม่ รัฐสภาได้มีการพิจารณาเรื่องนี้อีก พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ก็ทรงตอบโต้ด้วยการยุบสภาอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยตั้งแต่ ค.ศ. 1679-1681

สมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนกฎหมายนี้ถูกเรียกว่าพวก “วิก” (Whigs) มาจากชื่อเรียกพวกกบฏในสกอตแลนด์ที่นับถือนิกายเพรสไบทีเรียน ส่วนสมาชิกรัฐสภาที่ต่อต้านถูกเรียกว่าพวก “ทอรี” (Tories) มาจากชื่อเรียกโจรไอริสที่นับถือนิกายคาทอลิก เมื่อหาทางออกไม่ได้ ในช่วง ค.ศ. 1681-1685 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 จึงทรงไม่เรียกเปิดประชุมสภาอีก (จนสิ้นรัชกาล)

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1680 เป็นต้นมา พวกวิกและทอรีพยายามแย่งอำนาจกันทั้งในรัฐสภา คณะเสนาบดี คณะรัฐมนตรี มาโดยตลอด แม้แรกเริ่มพวกวิกจะเป็นกลุ่มสนับสนุนการปกครองที่ให้ความสำคัญกับรัฐสภา ส่งเสริมการค้าเสรี และให้เสรีภาพทางศาสนา ส่วนพวกทอรีจะเป็นกลุ่มสนับสนุนพระมหากษัตริย์ การปกป้องการค้า ไม่ยุ่งเกี่ยวโลกภายนอก และนิยมนิกายแองกลิคัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดดังกล่าวนี้ไม่อาจนำมานิยามกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มได้ แนวคิดทางการเมืองของพวกเขาจะเปลี่ยนไปตามบริบทหรือสถานการณ์แวดล้อม และในแต่ละกลุ่มก็ไม่ได้มีความคิดเป็นเอกภาพเท่าใดนัก

พระมหากษัตริย์ยังคงพยายามประนีประนอมกับนักการเมืองทั้งสองฝ่าย บางสมัยก็ทรงจัดคณะรัฐมนตรีชุดผสมขึ้น ในช่วงเวลานี้เองที่รัฐสภาก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองอย่างสำคัญ เช่น ในรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ทรงทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศส ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินและเสียงสนับสนุนในการทำสงคราม จึงทรงยอมสละพระราชอำนาจพิเศษที่จะเรียกประชุมหรือยุบสภาตามพระทัย ด้วยการทรงเห็นชอบให้ผ่านกฎหมาย 3 ปี (Triennial Act ค.ศ. 1694) ซึ่งกำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาใหม่อย่างน้อยในทุก ๆ 3 ปี

นอกจากนี้แล้วรัฐสภายังเป็นผู้ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ อันสะท้อนให้เห็นว่า อำนาจทางการเมืองและการปกครองหลายอย่างที่เคยเป็นพระราชอำนาจหรือพระราชวินิจฉัยในพระมหากษัตริย์ได้ค่อย ๆ ถูกถ่ายโอนไปอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐสภามากขึ้นเรื่อย ๆ

นายกรัฐมนตรี

เมื่ออังกฤษเปลี่ยนราชวงศ์จากสจ๊วตสู่แฮนโนเวอร์ กษัตริย์สองพระองค์แรกคือ พระเจ้าจอร์จที่ 1 และพระเจ้าจอร์จที่ 2 ซึ่งมีความเป็น “เยอรมัน” มากกว่าอังกฤษ และทรงประทับที่ราชรัฐแฮนโนเวอร์มากกว่าประทับในกรุงลอนดอน ดังนั้น อำนาจการบริหารประเทศจึงค่อย ๆ ถ่ายโอนจากพระมหากษัตริย์ไปสู่คณะรัฐมนตรี ซึ่งยังต้องมีความรับผิดชอบต่อรัฐสภาโดยตรง ในช่วงเวลานี้เองที่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ บุคคลแรกที่นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษคือ เซอร์ โรเบิร์ต วัลโพล

เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ที่ทรงพระราชสมภพในอังกฤษ จึงทรงมีความเป็น “อังกฤษ” มากกว่าพระราชบิดาและพระอัยกา ทรงมีบทบาทในการควบคุมคณะรัฐมนตรีของพระองค์ค่อนข้างมาก และทรง “เลือก” ได้ว่าจะให้ใครดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขึ้นอยู่กับพระราชนิยม วิธีการหนึ่งของพระองค์คือ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันว่าจะทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อสื่อเป็นนัยว่าให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั้นลาออกไปเสีย นอกจากนี้ ในบางครั้งก็ทรงใช้พระราชอำนาจบีบบังคับสมาชิกรัฐสภาให้สนับสนุนการผ่านกฎหมายหรือบุคคลที่ทรงเลือกจะให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

ทั้งนี้ ขั้วการเมืองอังกฤษแม้จะแบ่งออกเป็นพรรควิกและพรรคทอรี แต่ในแต่ละขั้วก็มีความขัดแย้งในอุดมการณ์กันอยู่ เช่น วิลเลียม พิตต์ (ผู้บุตร) นายกรัฐมนตรีในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 3 เขามาจากพรรคทอรี แต่เข้ามีแนวคิดแบบเสรีนิยมหัวก้าวหน้าเหมือนพรรควิก

ดังนั้น ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในยุคนี้ นอกจากจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถ ได้รับการยอมรับและมีเสียงสนับสนุนในรัฐสภามากพอ (เพื่อผ่านกฎหมายและการสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ) แล้ว ยังต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความโปรดปรานและความไว้วางพระทัยจากพระมหากษัตริย์อีกด้วย

วิลเลียม พิตต์ (ผู้บุตร) นายกรัฐมนตรีในสภาสามัญแห่งรัฐสภา เมื่อ ค.ศ. 1793

อนุรักษนิยมและเสรีนิยม

ใน ค.ศ. 1832 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในอังกฤษ นั่นคือรัฐสภาได้ออกพระราชบัญญัติปฏิรูป (Great Reform Bill) ซึ่งถูกผลักดันโดยพรรควิก กฎหมายนี้คือการปฏิรูประบบการเลือกตั้งที่ล้าหลังหลายร้อยปีให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น เขตเลือกตั้งที่บางเขตแทบไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือแผ่นดินที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ แต่กลับยังมีการเลือกตั้งในเขตนั้นอยู่ จึงปฏิรูปเสียใหม่ให้ผู้แทนเขตสอดคล้องกับจำนวนประชากร กฎหมายนี้ยังทำให้นายทุนหรือเจ้าที่ดินที่มีอิทธิพลคอยชี้นำว่าจะส่งใครเป็นผู้แทนเขตหมดอิทธิพลลงไปมาก

นอกจากนี้ยังขยายสิทธิ์เลือกตั้งแก่ผู้ครองเรือนเพศชายที่มีคุณสมบัติการครอบครองทรัพย์สินตามกำหนด ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มขึ้นกว่า 250,000 คน แม้คุณสมบัติการครอบครองทรัพย์สินนี้จะทำให้ชนชั้นแรงงานยังคงไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้นับเป็นการปฏิรูประยะแรก ๆ ที่ทำให้อำนาจทางการเมืองจากกลุ่มนายทุนหรือเจ้าที่ดินขยายไปสู่ชนชั้นกลางมากยิ่งขึ้น

ต่อมาเมื่อพรรคทอรีกลับมาเป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรี เซอร์โรเบิร์ต พีล ได้เปลี่ยนชื่อพรรคทอรีเป็น “พรรคอนุรักษนิยม” (Conservative) ใน ค.ศ. 1834 เขาจึงเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยมคนแรก

เซอร์โรเบิร์ต พีล นายกรัฐมนตรี อังกฤษ
เซอร์โรเบิร์ต พีล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จากพรรคอนุรักษ์นิยม

เป้าหมายของเซอร์โรเบิร์ต พีล ในการเปลี่ยนชื่อพรรคครั้งนี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ว่า นักอนุรักษนิยมเห็นด้วยกับการให้เสรีภาพทางศาสนาแก่พวกคาทอลิก และการปฏิรูปรัฐสภาเป็นเรื่องที่ไม่อาจต่อต้านได้อีกต่อไป อย่างที่พวกทอรีเคยต่อต้านมาโดยตลอด (อย่างเช่นพระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1832) และที่สำคัญคือต้องการให้ชาวอังกฤษเห็นว่าพรรคอนุรักษนิยมเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าพรรค

หลังจากเซอร์โรเบิร์ต พีล ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อังกฤษต้องเผชิญกับการเมืองที่ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากได้เบ็ดเสร็จ ภายในพรรคอนุรักษนิยมได้เกิดกลุ่ม “วิกพีล” หรือกลุ่มพีล ซึ่งค่อนข้างเห็นขัดกับคนกลุ่มใหญ่ในพรรค ขณะที่พรรควิกก็มีวิกกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มหัวรุนแรง กระทั่ง ค.ศ. 1865 พรรควิก กลุ่มพีล และวิกกลุ่มหัวรุนแรง จึงร่วมมือกันจัดตั้ง “พรรคเสรีนิยม” (Liberal) ขึ้น โดยมีจอห์น รัสเซล เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากพรรคเสรีนิยม

จอห์น รัสเซล นายกรัฐมนตรี อังกฤษ
จอห์น รัสเซล นายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคเสรีนิยม

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1860-1880 ตรงกับรัชสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย รัฐสภาอังกฤษออกกฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปรัฐสภาและระบบการเลือกตั้งหลายฉบับ ทำให้สิทธิ์เลือกตั้งขยายไปถึงคนหลายชนชั้นมากขึ้น โดยเฉพาะชนชั้นแรงงานที่เป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ อันเป็นกลุ่มคนที่ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ช่วงเวลานั้น พรรคอนุรักษนิยมและพรรคเสรีนิยมได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นรัฐบาลโดยตลอด ซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจหรือพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์อีกต่อไปแล้ว ในบางสมัย ผู้ที่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นที่โปรดปรานของพระนางเจ้าวิกตอเรียก็มี แต่ในเมื่อนายกรัฐมนตรีได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสภา โดยเฉพาะจากสภาสามัญที่เป็นผู้แทนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน พระมหากษัตริย์จึงมิอาจใช้พระราชอำนาจแทรกแซงได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเมือง “อังกฤษ” มีพัฒนาการการถ่ายโอนอำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์มาสู่รัฐสภาอย่างเป็นขั้นตอน โดยการออกกฎหมายผ่านรัฐสภาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายจารีตประเพณี อำนาจอธิปไตยที่เดิมเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงคนเดียว จึงค่อย ๆ ถ่ายโอนสู่ประชาชนทุกคนในประเทศด้วยกระบวนการทางการเมืองตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สมเกียรติ วันทะนะ. (2560). การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ชาคริต ชุ่มวัฒนะ. (2546). ประวัติความเป็นมาของอังกฤษปัจจุบัน. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

*หมายเหตุ รัฐสภาอังกฤษแบ่งออกเป็นสภาสามัญ (เทียบเคียงกับ ส.ส.) และสภาขุนนาง (เทียบเคียงกับ ส.ว.)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ธันวาคม 2562