ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ผู้แทน” ของประชาชน ที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า สส. หรือชื่อเต็ม ๆ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั้น เป็นคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่แทนประชาชนด้านนิติบัญญัติ ในการออกกฎหมายและตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล แต่รัฐสภามิได้ประกอบด้วยสมาชิกจากสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว เพราะระบบรัฐสภาที่ใช้กันในหลายประเทศทั่วโลกนั้นจะใช้ระบบสภาคู่ และอีกสภาหนึ่งที่อยู่คู่กับสภาผู้แทนราษฎรคือ วุฒิสภา ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐสภา
ในประเทศไทยจะเรียกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ที่สหรัฐอเมริกาจะมีการเรียกชื่อเล่น ๆ ว่า สภาบน (บ้างเรียกสภาสูง) กับสภาล่าง อันมีที่มาจากห้องประชุมของทั้งสองสภาในอดีตที่อยู่คนละชั้นกัน ขณะที่ประเทศสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (ต่อไปจะเรียกว่าอังกฤษเพื่อความสะดวก) จะเรียกสภาผู้แทนราษฎร ว่า สภาสามัญ (House of Commons) และเรียกวุฒิสภาว่า สภาขุนนาง (House of Lords)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา มีที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน แต่ สว. หรือสมาชิกวุฒิสภาของทั้ง 3 ประเทศนั้นมีที่มาต่างกัน
ในสหรัฐอเมริกา-วุฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ในอังกฤษ-สภาขุนนางมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด สำหรับประเทศไทย “วุฒิสภา” มี สว. ทั้งมาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง (ยึดตาม สว. ชุดล่าสุดก่อนรัฐประหาร พ.ศ. 2557) ซึ่งอีกไม่นาน สว. ของไทยก็จะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดเช่นเดียวกับอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม อำนาจ สว. ไทยชุดใหม่ของ พ.ศ. 2562 มีอำนาจอย่างมากเช่นเดียวกับวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา แต่ สว. ไทยกลับมาจากการแต่งตั้งเหมือนสภาขุนนางของอังกฤษ ซึ่งสภาขุนนางอังกฤษไม่ได้มีอำนาจมากเช่นในไทยและสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะอธิบายถึงที่มาและหน้าที่ของวุฒิสภา/สภาขุนนางของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพื่อเทียบกันให้เห็นว่า “สภาสูง” ที่มีที่มาต่างกันจะมี “อำนาจ” มากน้อยต่างกันอย่างไร
“วุฒิสภา” แห่งสหรัฐอเมริกา
วุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา (Senate) หรือที่เรียกว่าสภาบนหรือสภาสูง เป็นหนึ่งในสภาของรัฐสภาสหรัฐอเมริกาที่รวมกับสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่าง โดยวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และวุฒิสภามีชื่อเรียกเล่นว่า “the house that never dies”
สมาชิกวุฒิสภาจะมีวาระ 6 ปี มีจำนวนทั้งหมด 100 คน จากทั้งหมด 50 รัฐ รัฐละ 2 คน วุฒิสมาชิกจะครบวาระไม่พร้อมกัน โดยทุก 2 ปี จำนวนวุฒิสมาชิก 1 ใน 3 จะต้องเลือกตั้งใหม่ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงเรียกสภาแห่งนี้ว่าสภาไม่มีวันตาย ปัจจุบันวุฒิสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งยาวนานมากที่สุดในขณะนี้คือ Patrick J. Leahy พรรคเดโมแครต รัฐเวอร์มอนต์ ที่ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกมาแล้ว 44 ปี ได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1975 และจะหมดวาระใน ค.ศ. 2023
รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกากำหนดคุณสมบัติ 3 ประการสำหรับผู้ที่จะเป็นวุฒิสมาชิกคือ 1) ต้องมีอายุอย่างน้อย 30 ปี 2) ต้องมีสัญชาติสหรัฐอเมริกา โดยต้องมีสัญชาติมาแล้วอย่างน้อย 9 ปี และ 3) ต้องมีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่วุฒิสมาชิกเป็นตัวแทนในการเลือกตั้ง
จุดประสงค์ของการตั้ง วุฒิสภา ขี้นมาก็เพื่อตรวจสอบสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล นั่นจึงทำให้ทั้งสองสภาแทบจะมีอำนาจพอ ๆ กัน วุฒิสภามีอำนาจในการตรวจสอบและออกกฎหมายได้เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร
วุฒิสภาสหรัฐอเมริกามีอำนาจในการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาที่ลงนามโดยประธานาธิบดี โดยจะต้องอาศัยเสียงของวุฒิสมาชิก 2 ใน 3 หากไม่ผ่านการให้สัตยาบันโดยวุฒิสภา สนธิสัญญานั้นจะถือว่าเป็นอันตกไป วุฒิสภาภายใต้คณะกรรมาธิการที่จัดตั้งขึ้นแต่ละคณะยังมีสิทธิ์ในการแต่งตั้งทูต และผู้พิพากษาศาลฎีกา
ประธานวุฒิสภามีบทบาทสำคัญในการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจที่จะพิจารณา และดำเนินการตามกฎหมายในการรับรองหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการควบคุมหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งรวมไปถึงสมาชิกคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลกลางของกระทรวงต่าง ๆ ที่ประธานาธิบดีเสนอชื่อมานั้นต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสภา โดยปัจจุบันมีมากกว่า 1,200-1,400 ตำแหน่งที่จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสภา ผู้ที่ไม่ได้รับการอนุมัติจะไม่สามารถรับตำแหน่งได้
ในกรณีที่มีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นฝ่ายเริ่มดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีบางครั้งประธานาธิบดีก็โดนฟ้องด้วย หากผ่านสภาล่างแล้วก็จะถูกส่งต่อให้วุฒิสภาทำการตรวจสอบข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาข้อกล่าวหานั้น
ตั้งแต่ ค.ศ. 1789 เป็นต้นมา วุฒิสภาได้ถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐไปทั้งหมด 17 คน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงประธานาธิบดีสองคนที่ถูกถอดออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย
ในการสอบสวนที่มีชื่อเสียงที่สุดคือกรณี Water Gate ที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ในปี ค.ศ. 1974 ซึ่งวุฒิสภาได้ดำเนินการสอบสวนอย่างหนัก จนมีทีท่าว่านิกสันจะถูกตัดสินให้มีความผิด นิกสันจึงชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนที่ผลการพิจารณาจะแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งประธานวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ที่เป็นรองประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา แต่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิก และไม่มีอำนาจที่จะอภิปรายหรือลงคะแนนเสียงในญัตติใด ๆ นอกจากจะมีกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากันที่ 50-50
ทั้งนี้ ประธานวุฒิสภาก็ไม่ได้มีอำนาจมาก และมักไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่บ่อยครั้งนัก โดยมักยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติว่า “ประธานวุฒิสภาชั่วคราว” (President Pro Tempore of the Senate) ที่ได้รับเลือกมาจากวุฒิสมาชิกจะทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภาแทน เมื่อรองประธานาธิบดีไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ โดยประธานวุฒิสภาชั่วคราวนี้มักจะคัดเลือกมาจากวุฒิสมาชิกจากพรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภาสูง ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีการคานอำนาจระหว่าง “รัฐบาล” และ “วุฒิสภา” อยู่อย่างชัดเจน
ความซับซ้อนของรัฐสภาสหรัฐอเมริกานี้เป็นหนึ่งในกลไกของการถ่วงดุลอำนาจแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญสามฝ่าย คือ นิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร ซึ่งนอกจากจะกำหนดในรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชนชาวอเมริกันก็เป็นผู้มีอำนาจในการถ่วงดุลด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี หากผู้สมัครจากพรรครีพลับลิกันชนะเลือกตั้ง การเลือกตั้งของสมาชิกรัฐสภาทั้งสองสภาก็มักจะเป็นฝ่ายพรรคเดโมแครตที่ได้รับเลือกจากประชาชนเข้ามามากกว่าพรรครีพลับลิกัน อย่างการมีประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพลับลิกัน แต่ในสภาล่างมี สส. จากพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากอยู่
สภาขุนนางแห่งอังกฤษ
สภาขุนนาง (House of Lords) เป็นสภาสูงแห่งรัฐสภาสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เป็นสภาที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นทั้งหมด มิได้ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนแม้แต่คนเดียว และมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและเสนอกฎหมายของรัฐบาลและสภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกสภาขุนนางแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
- ขุนนางสืบตระกูล (Hereditary Peers) เดิมสภาขุนนางจะมีสมาชิกมาจากขุนนางสืบตระกูลเท่านั้น ซึ่งเป็นขุนนางที่ได้ตำแหน่งสืบทอดจากบรรพบุรุษตระกูลเก่าแก่ของอังกฤษ ปัจจุบันถูกกำหนดไว้ให้มี 92 คน
- ขุนนางศาสนา (Lords Spiritual) เป็นสมาชิกสภาขุนนางโดยตำแหน่งบิชอปและอาร์ชบิชอปทั่วประเทศ ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 26 คน
- ขุนนางตลอดชีพ (Life Peerages) ซึ่งได้ออกพระราชบัญญัติให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาขุนนางประเภทนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1958 เป็นขุนนางที่มาจากการแต่งตั้ง เนื่องจากมีความดีความชอบ หรือเป็นบุคคลสำคัญ ๆ ของประเทศ และสามารถลาออกได้
จากข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐสภาอังกฤษ (www.parliament.uk) ระบุว่า (ข้อมูลเมื่อ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2019) มีจำนวนสมาชิกสภาขุนนางทั้งหมด 782 คน
หน้าที่ของสภาขุนนางคือการพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งทุกร่างกฎหมายจะต้องได้รับพิจารณาโดย รัฐสภา ทั้งสองสภาก่อนจึงจะกลายเป็นกฎหมายหรือพระราชบัญญัติได้ สภาขุนนางยังตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบนโยบายต่าง ๆ หรือพิจารณารวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ และจัดทำรายงานเพื่อประกอบการพิจารณาร่างกฎหมาย
อำนาจของสภาขุนนางถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1911 และ 1949 ซึ่งจำกัดและลดอำนาจของสภาขุนนางมาโดยตลอด โดยพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1911 ระบุว่า หากสภาสามัญผ่านร่างกฎหมายใดให้สภาขุนนางพิจารณา หากผ่านไปแล้ว 1 เดือน สภาขุนนางยังไม่ได้มีความคิดเห็นใดออกมาจะถือว่าร่างกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายทันที และห้ามสภาขุนนางแก้ไขร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน แต่มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบยืนตามสภาสามัญเท่านั้น
ส่วนพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1949 ยิ่งลดอำนาจของสภาขุนนางลงไปอีก กล่าวคือ สภาขุนนางไม่สามารถยับยั้งกฎหมายได้ เพียงแต่ชะลอออกไปได้มากถึง 2 ปี
อย่างไรก็ตาม สภาขุนนางมีความเป็นอนุรักษนิยมมากพอสมควร ซึ่งมักถูกกล่าวอ้างว่าสภาขุนนางถูกครอบงำจากพรรคอนุรักษนิยมเสียด้วยซ้ำไป ดังจะเห็นว่าในช่วงที่พรรคแรงงานเข้ามาเป็นรัฐบาล ใน ค.ศ. 1974-1979 มีความพยายามผ่านร่างกฎหมายหลายฉบับ แต่ก็มักถูกสภาขุนนางสกัดกั้นอยู่เสมอ
กระทั่งถึงสมัยนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ จากพรรคแรงงาน จึงได้ออกพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1999 (Parliament Act 1999) เพื่อจำกัดจำนวนขุนนางประเภทขุนนางสืบตระกูลเหลือเพียง 92 คน โดยให้มีการสรรหากันเองภายในสมาชิกตระกูลขุนนางเหล่านั้น และขุนนางกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์สืบทอดตำแหน่งจากรุ่นสู่รุ่นอีกต่อไป ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมสภาหรือออกเสียงลงคะแนนแต่อย่างใด
ในอดีตสภาขุนนางเปรียบเสมือนศาลสูงสุดของประเทศอังกฤษ เพราะมีอำนาจในการพิจารณาฎีกาขั้นตอนสุดท้าย ในกรณีที่เป็นคดีทางอาญาหรือแพ่งและพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อสาธารณชน แต่เมื่อมีการผ่านกฎหมายปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2005 (Constitutional Reform Act 2005) อำนาจนี้จึงถูกโอนให้ศาลฎีกาสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่
ดังนั้น การปฏิรูปรัฐธรรมนูญและการออกพระราชบัญญัติรัฐสภาฉบับต่าง ๆ เหล่านี้ที่ถูกผลักดันโดยสภาสามัญนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีความพยายามจำกัดและลดอำนาจของสภาขุนนางลง
ใน ค.ศ. 2011 มีการจัดทำรายงานการศึกษาโดยรองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสภาขุนนางที่จะให้ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 300 คนเท่านั้น โดย 80% มาจากการเลือกตั้งและ 20% มาจากการแต่งตั้ง แม้จะมีความพยายามที่จะจำกัดอำนาจสภาขุนนาง โดยให้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่และอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปี
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วจะเห็นภาพบางอย่างของอำนาจ สว. ทั้งสองประเทศ สำหรับสหรัฐอเมริกา วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติโดยให้ “วุฒิสภา” มีหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาล จึงไม่แปลกที่รัฐสภาแห่งสหรัฐทั้งสภาสูงและสภาล่างจะมีอำนาจทัดทานประธานาธิบดีและรัฐบาล
ในขณะที่สมาชิกสภาขุนนางของประเทศอังกฤษ กลับมีอำนาจอย่างจำกัดและถูกริดรอนอำนาจลงเรื่อย ๆ มาตลอดนับร้อยปี เพราะสภาขุนนางมิได้เป็น “ตัวแทน” ของประชาชนทั้งประเทศ สภาขุนนางจึงถูกวางไว้บนหลักการว่าควรจะมีอำนาจอย่างจำกัด และควรทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของสภาสามัญให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการผ่านร่างกฎหมายต่าง ๆ
สหรัฐอเมริกามีการเลือกผู้นำรัฐบาลทางตรง จึงจำเป็นต้องมีวุฒิสภาที่มีอำนาจทัดเทียมกับสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสริมสร้างการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ในขณะที่อังกฤษมีการเลือกผู้นำทางอ้อมคือผ่านการเลือกจากสมาชิกสภาสามัญอีกทีหนึ่ง สภาขุนนางของอังกฤษจึงไม่จำเป็นต้องมีอำนาจมาก เพราะมีสภาสามัญคอยถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารอยู่แล้ว
จึงอาจกล่าวได้ว่า การล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองมานาน ส่งผลส่วนหนึ่งให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษหา “รูปแบบ” ที่เหมาะสมกับประเทศตนได้ แต่ก็เป็นพลวัตที่พร้อมปรับตัวไปตามสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
อ่านเพิ่มเติม :
- กำเนิด “พฤฒสภา” สภาที่ 2 ของไทยก่อนเป็นวุฒิสภา เลือกตั้ง-นับกันยันสว่าง แต่อายุแสนสั้น
-
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก มีแนวคิดการเมืองอย่างไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Encyclopedia Britannica. (2019). United States Senate, from www.britannica.com/topic/Senate-United-States-government
________. (2019). House of Lords, from www.britannica.com/topic/House-of-Lords
HISTORY. (2018). U.S. Senate, from www.history.com/topics/us-government/history-of-the-us-senate
House of Lords. (2019), from www.parliament.uk
United States Senate. (2019), from www.senate.gov
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2562