เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก มีแนวคิดการเมืองอย่างไร

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบันทึกชื่อ “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี” ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของไทย และยังเป็นผู้มีบทบาทในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาและด้านวรรณกรรม แต่ข้อมูลว่าด้วยความคิดเห็นทางการเมืองของท่านนั้นอาจยังต้องอาศัยการสืบเสาะและประมวลความคิดเห็นให้เป็นรูปเป็นร่างในระดับหนึ่ง

“เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี” (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หรือที่เรียกขานกันว่า “ครูเทพ” เป็นนักการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงการศึกษามีผลงานด้านการประพันธ์ผลงานในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรา วรรณกรรม หรือโคลง นอกจากนี้ ในรายชื่อผลงานราชการของท่านยังมีราชการพิเศษที่สำคัญในแวดวงการเมืองอยู่ด้วย นั่นคือ การดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2475

Advertisement

ในช่วงโค้งสำคัญด้านการเมือง ภายหลังจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น 70 ราย หนึ่งในนั้นมีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอยู่ด้วย การประชุมสภาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ประชุมได้เลือก มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง

แม้ว่าในการประชุมสภาวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2475 ที่ประชุมเลือกเจ้าพระยาพิชัยญาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แทนเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

หลังจากนั้น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรียังกลับเข้ามาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2475 ไปจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ซึ่งท่านได้ลาออกจากตำแหน่งไป

หากกล่าวถึงเส้นทางในทางราชการแล้ว ท่านทำงานอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทย จากยุคศักดินาไปถึงยุคปฏิกิริยากฎุมพี ซึ่งกลุ่มขุนนางเข้ามายึดอำนาจ การศึกษาแนวคิดทางการเมืองของ “ครูเทพ” นั้น ส่วนหนึ่งมีหลักฐานจากงานเขียนและวรรณกรรมหลากหลายชิ้น แน่นอนว่าการศึกษาแนวคิดของบุคคลจากงานเขียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และยังเป็นเรื่องซับซ้อน แต่การวิเคราะห์งานโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้ง อย่างน้อยย่อมสามารถสะท้อนแนวความคิดของผู้เขียนได้ระดับหนึ่ง

สำหรับการวิเคราะห์แนวคิดทางการเมืองของ “ครูเทพ” ที่ผ่านมา ชัยศิริ สมุทวณิช ผู้เขียนบทความ “โลกทัศน์ทางการเมืองในวรรณกรรมของครูเทพ” พยายามศึกษาแนวคิดทางการเมืองของครูเทพในแต่ละยุคผ่านงานเขียนและชิ้นงานบทกวี ลำนำต่างๆ มาสกัดเรียงแนวคิดทางการเมืองของครูเทพในช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่รับใช้ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงช่วงขุนนางปฏิกิริยากฎุมพี

ผลการศึกษาชี้แจงว่า สำหรับยุคต้นซึ่งครูเทพ ทำงานในระบบสังคมศักดินาก็เป็นที่แน่ชัดว่าท่านถวายความจงรักภักดี อย่างไรก็ตาม ชัยศิริ มองว่า ท่านไม่ได้ยึดติด และยังมองเห็นความเปลี่ยนแปลงตามภาวะแวดล้อมอยู่ด้วย อิทธิพลทางความคิดสำคัญที่ ชัยศิริ มองว่า เป็นผลทำให้ครูเทพ หลุดจากแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม คือ โลกทัศน์แบบพุทธปรัชญา มีแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ เห็นได้จากแนวคิดเรื่องกรรม อนิจจังของสรรพสิ่ง ซึ่งมักพบเห็นได้จากบทโคลงกลอนหลายเรื่อง และสังเกตได้ว่าอิทธิพลเหล่านี้ส่งผลต่อลักษณะการมองสภาพการเมืองในสังคมไทย

ครูเทพ วิเคราะห์ลักษณะระบบการเมืองในแง่ของรูปแบบวัฎจักร เช่นในบท วัฏฏโก โลโก (เขียนขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2477) ครูเทพวิพากษ์ลักษณะการเมืองหลายรูปแบบเอาไว้ ซึ่งล้วนแต่ชี้ให้เห็นข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละระบบ

ท้ายที่สุดแล้ว ชัยศิริ มองว่า ระบบการเมืองที่ครูเทพเลือกนิยมมีแนวโน้มว่าจะเป็น “สังคมนิยมประชาธิปไตย” อันเนื่องมาจากการพิจารณาอิทธิพลทางศาสนา อิทธิพลทางความคิดของท่านในช่วงที่ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ และเมื่อผนวกเข้ากับมุมมองความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าท่านมีลักษณะในกลุ่มเคลื่อนไหวก้าวหน้า ต้องการการเปลี่ยนสังคมไปในแนวทางพัฒนาการแบบอนุโลม มากกว่าการปฏิวัติเหมือนเช่นกลุ่มคอมมิวนิสต์

เนื้อหาส่วนหนึ่งของ วัฏฏโก โลโก มีว่า

“Communism
เป็นทางนำรุดหน้าบ้าบิ่นใหญ่
จะลุโลกศรีอารย์ในทันใด
ใช้วิธีปฏิวัตรตัดตะบม
รวมทุนรวมแรงรวมงาน
รวมสถานที่จัดตั้งรัฐสะสม
ถือเกณฑ์รวมร่วมโลกโภคอุดม
เลิกนิยมชาติ ชั้น, วรรณ, เขาเรา”

ชัยศิริ วิเคราะห์ว่า ท่านเห็นว่าวิธีการรวบรัดเป็นวิธีสุดโต่ง และมองสังคมนิยมแบบ Corporate State ว่าเหมาะสม เนื่องจากรวมเอกภาพระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ไว้

เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษามาก่อน กรณีที่มาสัมผัสงานทางการเมืองแล้ว ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับ สถิต เสมานิล นักหนังสือพิมพ์สมัยเก่าและกว้างขวางไว้อย่างน่าสนใจ ในหนังสือรวมบันทึกชื่อ “วิสาสะ” บท “หนังสือพิมพ์ในยุค ร.7” ระบุว่า สัมภาษณ์ที่บ้านเทพทับ ถนนนครสวรรค์ เวลาบ่ายหนึ่ง เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2471

“ฉันได้ฟังกับหูรู้แก่ตาที่มีพระราชปรารภเรื่องการปกครองด้วยมีรัฐสภา…การปกครองรูปนั้นเธอคงรู้แล้วว่าราษฎรเลือกตั้งผู้แทนเข้าเป็นเม็มเบอร์ของปาร์ลิเมนต์ คือสภาปรึกษาราชการแผ่นดิน กฎหมายที่ออกไปบังคับกับราษฎรก็มีราษฎรยอม แล้วรัฐบาลได้รู้ความตื้นลึกของราษฎรที่กฎหมายจะออกไปบังคับเขา เพราะว่ามีผู้แทนราษฎรปรึกษา ราษฎรที่เป็นเม็มเบอร์ในสภา อาจมีนักเลงโต อาจมีนักธรรมที่คนในตำบลนับถือก็ชั่งปะไร ถึงเขาจะไปนั่งปรึกษาออกกฎหมายแต่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ก็ไม่ทำให้เสียประโยชน์โดยเหตุที่ฝ่ายปกครอง จะได้รู้ภาวะอันแท้จริงของราษฎรที่กฎหมายจะออกไปบังคับ

สมมุติว่าจะเก็บภาษีเกวียน เพิ่มอากรค่านา รัฐบาลจะไปรู้ดีกว่าคนทำนายังไง ว่าผลที่ชาวนาทำมาหาได้ ถึงขั้นจะต้องเสียภาษีเสียอากรเพิ่มหละหรือ อย่างนี้จะได้อาศัยเสียงเม็มเบอร์ผู้แทนชาวนา ซึ่งอาจเป็นคุณมากกว่าเม็มเบอร์ที่มีดีกรีจากนอกด้วยซ้ำ”

นอกจากนี้ ท่านเจ้าพระยาผู้ผ่านราชการอำนวยการศึกษาของแผ่นดิน วิจารณ์ผู้มีวุฒิอันได้แต่การสอบไล่ได้ประกาศนียบัตร และหรือปริญญาบัตรสูง ว่าใช่ว่าจะเป็นเครื่องสำแดงว่า มีภูมิปัญญาสมกับวุฒิบัตรที่ได้ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นมุมมองที่กว้างไปกว่าด้านการเมือง จึงเห็นสมควรต่อการคัดข้อความช่วงหนึ่งในบทสัมภาษณ์อันมีใจความว่า

“พูดถึงดีกรีหรือประกาศนียบัตร ฉันก็ว่าไม่ใช่เครื่องหมายบอกความปรีสามารถ ที่แท้ก็คือตั๋วเดินทางเท่านั้นเอง…ฉันเองก็ไม่ได้ดีกรีวิเศษวิโสอะไรมายังเป็นถึงเสนาบดีได้ คนอื่นๆอีกถมไป…ฉันพบเห็นมาก็มาก ที่อยู่ในปกครองฉันที่กระทรวงศึกษาธิการก็มี ที่กระทรวงอื่นก็มี นักเรียนนอกสู้นักเรียนในที่เรียนเพียงชั้นมัธยมไม่ได้ก็มากๆ แต่ตามทางนิติแล้วก็ต้องยกย่องผู้เล่าเรียนสูงให้สูงกว่าผู้เล่าเรียนต่ำกว่า เพราะคนมีปัญญามีสามารถที่ไม่ได้ดีกรีจะรู้ได้จากผลงานก่อน ซึ่งไม่แน่เสียด้วย

คนได้ดีกรี ถึงจะไม่แน่ว่ามีปัญญามีสามารถงานในหน้าที่เขาก็มีตั๋วผ่านทางเข้าประตูไปสู่ที่นั่ง ก็ต้องยอมเขา ไม่รับรองไม่ได้เป็นอันขาด คนไม่มีการศึกษาแต่มีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองใจเป็นคนใฝ่ใจในความรอบรู้ อยู่ในสันดานก็มีความรู้ดี ดีสู้คนที่ได้ดีกรีสูงจากนอกและดีกว่าได้…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สถิตย์ เสมานิล. วิสาสะ (ว่าด้วยการหนังสือพิมพ์ไทยยุครัชกาลที่ 5, 6 และ7). สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์, 2514

ชลธิรา สัตยาวัฒนา และคณะ. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ครูเทพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม. 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2562