“บุญเท่ง ทองสวัสดิ์” สส.ไร้พ่าย 17 สมัย ชี้ การซื้อเสียงเป็น “วัฒนธรรมหนึ่งของคนไทยเสียแล้ว”

บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ รัฐสภา
นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ขณะให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่รัฐสภา

บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองในหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเท่าใด เพราะไม่ได้ทำตัวเป็นที่หวือหวา หรือสร้างกระแสในพื้นที่ข่าวให้เป็นที่จับตามองของสื่อและประชาชน แต่บุญเท่งเป็นบุคคลที่ทำงานด้วยความสามารถอย่างเต็มที่ และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศในหลายๆ ด้านมากว่า 50 ปี และเป็นปูชนียบุคคลสำคัญของชาติคนหนึ่ง

บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทย 17 สมัยติดต่อกันยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2480 จนถึง พ.ศ. 2535 นับว่าครองแชมป์ สส. ยาวนานที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย

นอกจากจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกันหลายสมัยแล้ว “ปู่บุญเท่ง” ยังดำรงตำแหน่งทางนิติบัญญัติสำคัญๆ หลายตำแหน่ง เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 เป็นกรรมาธิการร่างกฎหมาย และกรรมาธิการอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง ส่วนด้านฝ่ายบริหารบุญเท่ง ก็ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ดังนี้

ปี พ.ศ. 2489 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร รัฐบาล นายควง อภัยวงศ์

ปี พ.ศ. 2491 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐบาล นายควง อภัยวงศ์

ปี พ.ศ. 2518 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

ปี พ.ศ. 2519 เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

ปี พ.ศ. 2526 เป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

อ่านประวัติของบุญเท่งได้ที่นี่ “บุญเท่ง ทองสวัสดิ์” สส.ไร้พ่ายชนะรวดทุกสมัย ทำอย่างไรถึงเป็นผู้แทนราษฎรนานสุดในไทย

บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

นายบุญเท่งให้สัมภาษณ์กับ ธวัช คำธิตา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ในหลากหลายประเด็น โดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อใหญ่ๆ คือ ก. ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนักการเมือง การหาเสียงและการซื้อเสียง, ข.แนวคิดทางการเมือง และประสบการณ์ในอดีต, ค. แนวความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ ง. ข้อคิดเห็นทางการเมืองโดยทั่วไป

การสัมภาษณ์ครั้งนี้บุญเท่ง อายุ 86 ปีแล้ว (เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2454) โดยการสัมภาษณ์นี้อยู่ภายใต้บริบทการเมืองเนื่องด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เป็นครั้งแรกที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ มีจำนวน สส. ทั้งหมด 500 คน จากแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน จากแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ กับข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนักการเมือง การหาเสียงและการซื้อเสียง

คำถาม : ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับระบบบัญชีรายชื่อพรรค หรือปาร์ตี้ลิสต์ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?

นายบุญเท่ง ตอบว่า ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ไม่ได้ประโยชน์อะไรมาก เพราะยังคงถูกครอบงำโดยพวกนายทุนที่คอยอุดหนุนพรรคการเมืองเช่นเดิม เป็นความพยายามของนายทุนที่มีเงินแล้วใช้เงินเข้ามาแสวงหาอำนาจปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มพรรคพวกตนเอง โดยไม่ต้องสมัครหรือหาเสียง แต่ก็ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี

คำถาม : ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับการซื้อ-ขายเสียงที่เป็นไปอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ในสมัยของท่านมีไหม? ร้ายแรงอย่างนี้หรือไม่?

“การซื้อเสียงขายเสียงเป็นวิธีที่แก้ไม่ตก มันเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนไทยไปเสียแล้วมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว” นายบุญเท่ง กล่าว และอธิบายต่อไปว่าสังคมสมัยนี้กับสมัยก่อนแตกต่างกันมาก การซื้อเสียงขายเสียงสมัยนี้ก็รุนแรงกว่า คนมองที่ประโยชน์ของตนมากกว่าของส่วนรวม และตอบทิ้งท้ายคำถามนี้ว่า 

เขามองเห็นคนที่เอาเงินมาจ่ายร้อยหรือสองร้อยบาทเป็นคนดี คนเสียสละ เขามองคนที่เอาเงินมาให้ว่าทําประโยชน์สูง การมองประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมืองของคนสมัยนี้มันลดน้อยลง”

คำถาม: รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ป้องกันการซื้อเสียงโดยให้มีการนับคะแนนใหม่ที่อําเภอ แทนการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ท่านคิดว่าวิธีนี้จะป้องกันการซื้อเสียงได้หรือไม่?

นายบุญเท่ง แสดงทัศนะว่าการเปลี่ยนวิธีนับคะแนนมานับที่อำเภออาจจะช่วยป้องกันการซื้อเสียงได้เล็กน้อยเท่านั้น เพราะการซื้อเสียงขายเสียงกับการนับคะแนนเป็นคนละเรื่องกัน หากต้องการที่จะซื้อเสียง เขาเหล่านั้นก็จะพยายามซื้อเสียงให้ได้ การกระทำเช่นนี้มันจึงอยู่ที่ผู้ซื้อกับผู้ขาย และไม่สามารถแก้ไขได้

คำถาม: การหาเสียงเลือกตั้งในปัจจุบันมักจะใช้วิธีการรุนแรงและสกปรก บางครั้งมีการทำร้ายหรือข่มขู่ผู้สมัครหรือหัวคะแนน อยากทราบว่าในสมัยท่านการหาเสียงเป็นอย่างไร?

นายบุญเท่ง ตอบว่า สมัยก่อนไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือความสกปรกในการแข่งขันกัน แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะใช้ความสามารถ ทั้งการพูดและการกระทำที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่าตนเป็นคนฉลาด เป็นคนซื่อสัตย์ พูดจริง ทําจริง และต้องการเข้าไปเป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน แต่ตรงกันข้ามกับปัจจุบันที่เข้าไปเป็นผู้แทนแล้วรักษาหรือแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองมากกว่า

บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ส.ส.ลำปาง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย

คำถาม : นักการเมืองสมัยนี้ใช้เงินเป็นเครื่องมือไปสู่อํานาจ จึงมีคําว่า “นักธุรกิจการเมือง” ท่านคิดว่าการเมืองไทยในอนาคตจะขจัดสิ่งนี้ได้หรือไม่?

นายบุญเท่ง ตอบว่า “คิดว่าเป็นการยากมากเต็มทีที่จะขจัดสิ่งเหล่านี้ คงหาทางขจัดไม่ได้ แต่ในอนาคตคนคงจะเบื่อหน่ายก็จะเลิกกันไปเอง แก้ไขในตอนนี้สมัยนี้คงไม่ได้”

คำถาม: ความสําเร็จของการเลือกตั้งเท่าที่ผ่านมามักจะต้องผูกติดหรืออาศัยหัวคะแนน คือ กํานัน หรือ ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งควรจะวางตัวเป็นกลาง แต่ก็ไม่ได้ทําเช่นนั้น ท่านคิดว่า การเลือกตั้งในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้หรือไม่?

“การเปลี่ยนแปลงคงทําไม่ได้ เพราะความเข้าใจของคนที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่มีคนมองประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว เราก็ต้องพึ่งพากํานันหรือผู้ใหญ่บ้าน เมื่อกํานันหรือผู้ใหญ่บ้านวางตัวไม่เป็นกลาง ไม่ดี ต่อไปชาวบ้านก็จะไม่นับถือ” นายบุญเท่ง ยังอธิบายต่อไปว่าที่มักได้ยินข่าวบ่อย ๆ เกี่ยวกับการสังหารผู้ใหญ่บ้าน กํานัน หรือประธาน อบต. นั้นมีเหตุมาจากคนเลิกนับถือ 

แนวคิดทางการเมือง และประสบการณ์ในอดีตของ บุญเท่ง ทองสวัสดิ์

คำถาม : อยากทราบถึงวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่สุดในชีวิตทางการเมืองของท่านที่ผ่านมา และยังจําฝังใจท่านโดยตลอด

นายบุญเท่ง ตอบว่า การปกครองในระบอบเผด็จการทหารร้ายแรงมาก เพราะมีการสังหารกันอยู่ตลอดเพื่อก้าวสู่อำนาจ และกล่าวถึง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ว่า “พลเอกเผ่าฆ่าคนเก่งหาอํานาจปราบกันวุ่นวายแต่คนก็กลัว” ดังนั้น บุญเท่งจึงดําเนินชีวิตทางการเมืองโดยความพยายามหลีกเลี่ยงการกระทำใดที่จะกระทบตัวเอง โดยยึดหลักหลัก “การรักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

คำถาม : “โควต้ารัฐมนตรี” เป็นอย่างไร? ในอดีตมีหรือไม่? ถ้ามีคนจะเป็นรัฐมนตรีต้องทําแบบไหน จึงจะอยู่ในโควต้า การเลือกตั้งแบบใหม่ที่จะล้มเลิกโควต้ารัฐมนตรี ท่านคิดว่าดีหรือไม่ อย่างไร?

นายบุญเท่ง ตอบว่า โควต้ารัฐมนตรีในอดีตไม่มี เพราะพรรคจะเป็นผู้กำหนดตำแหน่งรัฐมนตรีตามความสามารถและความเหมาะสมที่มาพร้อมกับความยอมรับนับถือ ส่วนสมัยนี้ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีโควต้า ปาร์ตี้ลิสต์ จึงต้องมีเงินหนุนพรรคก่อนถึงจะได้เป็น สส. ปาร์ตี้ลิสต์

คำถาม : ทุกครั้งที่มีการสมัครรับเลือกตั้ง สส. หลายคนพูดว่า คุณบุญเท่งไม่ต้องหาเสียงก็ได้รับเลือก ท่านไม่ต้องติดป้ายใช้รถแห่เหมือนคนอื่น คนก็ไปลงคะแนนให้ บางคนก็บอกคุณบุญเท่งนั้นหาเสียงตลอดเวลา ท่านมีกลยุทธ์และแนวทางในการหาเสียงอย่างไร

นายบุญเท่ง ตอบว่า ทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ทําให้เสียชื่อเสียง และแสดงความจริงใจว่าจะเป็นผู้แทนเพื่อประชาชนเข้าไปแก้ไขปัญหา แม้จะไม่สามารถทำได้ 100% ก็ตาม แต่ต้องพูดกับประชาชนด้วยความจริงใจ และต้องทำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ส่วนหัวคะแนนนั้นก็ไม่หวังพึ่ง เพราะคนพวกนี้ก็หวังหาประโยชน์กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง

คำถาม: ในชีวิตของคนเรานั้นไม่มีใครที่จะดีพร้อมสมบูรณ์โดยไม่มีที่ติ หรือเลวทรามจนหาคุณค่าไม่ได้ ท่านเองก็ได้รับคํายกย่องว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า เป็นปูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่มีคุณประโยชน์ต่ออนุชนคนรุ่นหลัง แต่ก็มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ให้สมญานามท่านว่า เท่ง เที่ยงถึง คํานี้มีความหมายอย่างไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ท่านรู้สึกอย่างไรกับคํากล่าวนี้?

นายบุญเท่ง แก้ต่างว่า เพราะตนเป็นรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำงานที่กระทรวง 8 โมงตรง คนเป็นรัฐมนตรีต้องใช้ความคิดความอ่าน ใช้ความเฉลียวฉลาด ต้องติดต่อคน เวลาราชการไม่สามารถนำมาใช้กับรัฐมนตรีได้ เพราะบางทีรัฐมนตรีต้องทำงานถึงดึกดื่น การสั่งงานบางทีจึงต้องขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาตามความเหมาะสม

ข้อคิดเห็นทางการเมืองโดยทั่วไป 

คำถาม : ในอนาคตการเมืองไทยจะไปในทิศทางไหน? ความอยู่รอดของชาติจะเกิดได้ต้องอาศัยอะไร? แนวความคิดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติที่มีการกล่าวถึงในขณะนี้ จะสําเร็จได้มากน้อยเพียงใด ในฐานะที่ท่านผ่านเหตุการณ์สําคัญๆ มามากมาย ท่านคิดว่าคนไทย นักการเมืองไทยควรจะทําอย่างไร?

นายบุญเท่ง ตอบว่า ต้องอยู่แบบนี้แหละ มาตราฐานมันไม่เข้าระดับเขา ต้องอยู่แบบไทย อยู่อย่าง คนไทยนั้นดีแล้ว” 

คำถาม : สิ่งที่ท่านอยากจะฝากไว้สําหรับนักการเมืองรุ่นใหม่ที่รับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองควรต้องตระหนักและพึงสังวรณ์คืออะไร?

นายบุญเท่ง ตอบว่า คนไทยต้องรู้จักรับผิดชอบต่อประโยชน์ส่วนร่วม และต้องศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง ไม่ใช่การรู้แค่ผิวเผิน โดนแสดงทัศนะให้เห็นภาพ ดังความว่า “ไม่ใช่ไปเรียนหนังสือเมืองฝรั่งมา แล้วพูดภาษาฝรั่งได้ 10 ประโยคแล้วไปพูดกับเขา ก็ไม่มีความหมาย มันต้องศึกษาจริงๆ ให้รู้จริงๆ อะไรเป็นอะไร แต่คนไทยรู้ภาษาอังกฤษ 5 คํา ก็มาพูดเข้าใจว่าตนเองเก่งอย่างนี้ก็ไม่ถูก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ธวัช คำธิตา. (2542). หนังสืออนุสรณ์งานศพนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์. กลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินงานทางการเมืองของนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์. การค้นคว้าอิสระ ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สุภัทร คำมุงคุณ. (2562). บุญเท่ง ทองสวัสดิ์, จาก เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2562