“เลือกตั้ง 2500” การเลือกตั้งสกปรก จุดกำเนิดคำพูดสุดฮิต “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

ฝูงชน ชุมนุม ประท้วง เลือกตั้ง เลือกตั้งสกปรก 2500
ภาพประกอบเนื้อหา - การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งสกปรก 2 มีนาคม 2500 (ภาพจากหนังสือแผนชิงชาติไทย)

“เลือกตั้ง 2500” เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศใน พ.ศ. 2500 ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ และถูกมองว่าเป็น “การเลือกตั้งสกปรก” หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น ก็มีประโยค “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” ซึ่งเป็นหนึ่งในคำพูดฮิตติดปากคนไทยมากกว่า 60 ปี เจ้าของคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2451-2506) 

เลือกตั้ง 2500 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ แต่ประชาชนทั่วไปกลับเรียกกันว่าวัน “เลือกตั้งสกปรก” ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย และสร้างความขมขื่นให้ประชาชนพลเมืองเป็นอย่างยิ่ง ชนิดไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ตลอดชีวิตในวงการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่เคยคิดจะสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 จะมาถึงนั้น เขาเกิดความคิดจะสมัครรับเลือกตั้งขึ้นมาบ้าง

ความคิดแรกเริ่มเดิมที เขาคิดจะปลีกตัวไปสมัครที่จังหวัดนครนายก ซึ่งชื่อของจังหวัดเป็นมงคล เพราะมีคําว่า “นายก” อยู่ด้วย และเป็นจังหวัดที่มี ส.ส. ได้เพียงคนเดียว คงจะไม่มีนักการเมืองคนอื่นลงสมัครแข่งขันอย่างเอาจริงเอาจังเป็นแน่ แต่เมื่อประกาศว่าจะสมัคร ส.ส. ในหน้าหนังสือพิมพ์เพียงไม่กี่วัน นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศท้าทายทันทีว่า

“ผู้ยิ่งใหญ่ขนาดนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. ต้องสมัครที่จังหวัดพระนครสู้กับ ตาปู่ควงซี จะหลบเลี่ยงไปสมัครในจังหวัดเล็ก ๆ อย่างนั้นให้เสียศักดิ์ศรีทําไม”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนมาลงสมัคร ส.ส. ที่จังหวัดพระนคร เพื่อสู้กับนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งครั้งนั้น ปรากฏว่าการโกงคะแนนกันมาก การนับคะแนนบางแห่งทํากันสองวันสองคืนก็ยังไม่เสร็จ หน่วยเลือกตั้งบางแห่งทําหีบคะแนนหายก็มี กว่าจะติดตามเอาหีบคะแนนคืนมาได้ต้องใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน

จอมพล ป. ยื่นใบสมัครเพื่อลงเลือกตั้งเป็นผู้แทนจังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2500 (ภาพจาก 6 จอมพลไทย ยุคระบอบประชาธิปไตย)

ผลของ เลือกตั้ง 2500 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ในเขตพระนคร พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.พิบูล สงคราม ชนะถึง 7 ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ได้มาเพียง 2 ที่นั่ง เมื่อรวมคะแนนเสียงทั่วประเทศแล้ว พรรรคเสรีมนังคศิลามีคะแนนมากที่สุด 86 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ 30 ที่นั่ง, พรรรคเสรีประชาธิปไตย 12 ที่นั่ง, พรรคธรรมาธิปัตย์ 9 ที่นั่ง, พรรคเศรษฐกร 9 ที่นั่ง, พรรคชาตินิยม 3 ที่นั่ง, พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค 2 ที่นั่ง, พรรคอิสระ 2 ที่นั่ง และไม่สังกัดพรรคอีก 7 ที่นั่ง รวม 160 ที่นั่ง

เมื่อพรรคเสรีมนังคสิลาได้คะแนนเสียงข้างมากเพียงพอ จึงเป็นโอกาสของจอมพล ป. ที่จะจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง เพียงแต่ว่ายังไม่ทันจะได้ดำเนินการอย่างใด ความขัดแย้งก็ปะทุขึ้นก่อน

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องจากกระแสข่าวที่ว่า ฝ่ายเสรีมนังคศิลาชนะการเลือกตั้งในพระนคร อย่างไม่สะอาด และมีการทุจริตเกิดขึ้นทั่วไป โดยการใช้ “ไพ่ไฟ” ก็คือบัตรเลือกตั้งปลอมที่ลงคะแนนแล้วให้กับผู้สมัครพรรคเสรีมนังคศิลา ใส่ไปในหีบบัตรเลอืกตั้งเป็นจำนวนมาก และ “พลร่ม” ก็คือใช้กลุ่มบุคคลเวียนลงคะแนนให้เสรีมนังคศิลาหลายรอบ

นอกจากนี้ยังมีการถ่วงเวลาทำให้การนับคะแนนล่าช้าถึง 2 วัน 2 คืน ดังที่มีการวิจารณ์ว่า

“ไม่มีครั้งใดที่เสียงโจษจันของประชาชนและหนังสือพิมพ์จะสอดคล้องต้องกันเกือบเป็นเสียงเดียวเหมือนกันเช่นทัศนะที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ นับตั้งแต่ความระแวงที่ว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ และความท้อใจที่เห็นเหตุการณ์ ในวันเลือกตั้ง” (พิมพ์ไทย 1 มีนาคม 2500)

เลืิอกตั้ง 2500 จึงได้รับการกล่าวว่า “เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์” (สารเสรี 1 มีนาคม 2500)

การที่หนังสือพิมพ์ต่างๆ ลงข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งทุจริตอย่างครึกโครม ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ เพียงวันเดียวหลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 มีนาคม 2500 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามป้องกันสถานการณ์ โดยการออกประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เช้าวันที่ 2 มีนาคม เพื่อ ขอให้ประชาชนอยูในความสงบและปฏิบัติตามประกาศของทางราชการ”

แต่เหตุการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นัดประชุมที่หอประชุม เพื่อแสดงการคัดค้าน เลือกตั้งสกปรก ในวันนั้นมีการลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยประชาธิปไตยด้วย ต่อมาการประชุมที่จุฬาฯ ได้ขยายตัวกลายเป็นการเดินขบวนจากจุฬาฯ ไปยังกระทรวงมหาดไทย

ฝ่ายนิสิตได้ตั้งข้อเรียกร้อง ดังนี้ ให้เลิกภาวะฉุกเฉินโดยทันที, ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ, ให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 เดือน, ให้สืบสวนเอาผู้กระทำผิดในการทุจริตมาลงโทษ และให้ตอบข้อเรียกร้องนี้ใน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นก็เสนอให้ผู้ได้รับการเลือกตั้งลาออก

ในเย็นของวันที่ 2 มีนาคม 2500 กลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ย้ายการชุมนุม จากหน้ากระทรวงมหาดไทยริมคลองหลอด เดินขบวนไปตามถนนราชดำเนิน จนถึงทำเนียบรัฐบาล และกลายเป็นกระแสการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากประชาชนชาวพระนครหลายหมื่นคนที่ไม่พอใจการเลือกตั้งได้ร่วมเดินขบวนด้วย

การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ครั้งนี้ มีนิสิตจุฬาฯ เป็นฝ่ายริเริ่ม โดยฝ่ายนักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ทราบเรื่องมาก่อน สุวิทย์ เผดิมชิต ประธานกรรมการนักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ขณะนั้นผมกำลังนั่งเขียนข่าวอยู่ที่ น.ส.พ.สยามนิกร คุณสรวง ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม นายกสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือหัวหน้านิสิตจุฬาฯ ได้โทรมาหาผม บอกว่าให้พานักศึกษาธรรมศาสตร์ไปช่วยกัน ทางจุฬาฯ เคลื่อนออกมาแล้วขณะนั้น

ทางธรรมศาสตร์ปิดภาคเรียนเรียบร้อยแล้ว มีแต่นักศึกษาที่มาสอบหรือมาเที่ยวเล่นเท่านั้น ผมรีบโทรศัพท์มาที่โรงพิมพ์ธรรมศาสตร์ และขอพูดกับคุณอิสระ นิติทัณฑ์ประภาส บรรณกรสโมสรไปแจ้งข่าวเดินขบวนให้นักศึกษาที่อยู่มหาวิทยาลัยทราบโดยทั่วกัน และให้ไปรวมกันที่กระทรวงมหาดไทย”

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะดูแลการชุมนุมที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ (ไม่ทราบที่มา)

เบื้องหลังตรงนี้ ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่มาก เพราะตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง จอมพล สฤษดิ์ มิได้ชักชวนให้ทหารในกองทัพบกเลือกพรรคเสรีมนังคศิลา โดยกล่าวว่า

“เมื่อจะเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ แล้ว ขออย่าได้บังคับกะเกณฑ์ให้ไปลงคะแนนให้พรรครัฐบาลเลย บุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็อาจจะเป็นคนดีได้”

ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่พรรคเสรีมนังคศิลาในพระนครได้คะแนนเสียงไม่มาก

ต่อมาเมื่อรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน ได้มอบหมายให้จอมพล สฤษดิ์ เป็นผู้รักษาตามประกาศ แต่จอมพล สฤษดิ์ กลับเดินทางไปพบนิสิตจุฬาฯ ในเช้าวันที่ 2 มีนาคม 2500 และได้ปราศรัยแก่นิสิตจุฬาฯ ทำนองว่า “ถ้ามีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ก็จะหลีกทางให้”

ดังนั้น เมื่อขบวนนิสิตนักศึกษาและประชาชนเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็สั่งให้ทหารเปิดทาง และเป็นผู้นำขบวนไปพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสียเอง และเมื่อปล่อยให้ฝูงชนได้ “ซักฟอก” จอมพล ป. อยู่ระยะหนึ่งแล้ว จอมพล สฤษดิ์ ก็เป็นคนพูดไกล่เกลี่ย จนฝ่ายเดินขบวนย่อมสลายตัว จอมพล สฤษดิ์ ได้กล่าวกับฝูงชนว่า

“ข้าพเจ้าเป็นทหารของชาติ และขอพูดอย่างชายชาติทหารว่า ข้าพเจ้ามีความเห็นใจ ประชาชน สิ่งใดที่มติมหาชนไม่ต้องการ ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมมือด้วย…” และได้ปิดท้ายการปราศรัยของตนว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ศรีพนม สิงห์ทอง. 6 จอมพลไทย ยุคระบอบประชาธิปไตย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 2539

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500). สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, พิมพ์ครั้งที่ 3 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2562