“บุญเท่ง ทองสวัสดิ์” ส.ส.ไร้พ่ายชนะรวดทุกสมัย ทำอย่างไรถึงเป็นผู้แทนราษฎรนานสุดในไทย

นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี ขณะเข้ารับสายสะพายชั้นสูง (ภาพจาก สำเนาหนังสือพระราชทานเพลิงศพนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์, 2542)

ถ้าในโลกฟุตบอลมีความสำเร็จที่เรียกว่า “แชมป์ไร้พ่าย” เป็นคำนิยมยกย่องทีมที่คว้าแชมป์ลีกโดยไม่แพ้ใครตลอดทั้งฤดูกาล ในทางการเมือง หากจะมีแชมป์ไร้พ่าย ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่า 17 สมัยติดต่อกัน (งานวิจัยทางการเมืองบอกว่าชนะทุกครั้งที่ลงเลือกตั้ง) คงต้องชี้นิ้วไปที่บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เจ้าของฉายาปู่สภา ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า ได้เป็นผู้แทนทุกสมัยที่ลงสมัครเลือกตั้ง

หากพูดถึงนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งของไทยตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ชื่อของบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อย่างน้อยต้องถูกเอ่ยถึงในทำเนียบนี้บ้างหากดูจากสถิติ ชื่อเสียง ผลงาน และการรับรู้ของคนในวงการการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือ โดยเฉพาะฟอร์มในทางการเมืองที่เจ้าตัวได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกสมัยติดต่อกัน รวมแล้วยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2480 จนถึง พ.ศ. 2535

หากนับในเชิงสถิติ นายบุญเท่ง บรรยายในใบปลิวหาเสียงเลือกตั้งส.ส. จังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 2 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นครั้งที่นายบุญเท่ง เพิ่งยุติการลงสมัครและส่งดร.ธารทอง ทองสวัสดิ์ บุตรสาว ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. เป็นทายาททางการเมืองแทน นายบุญเท่ง ระบุว่า “ผมขอกราบขอบพระคุณพี่น้องชาวลำปางทุกท่าน ที่ได้ศรัทธา และให้ความกรุณาแก่ผมเป็นผู้ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรในสภาแห่งรัฐมาถึง 18 สมัย นับปีแรกที่เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันนี้ เป็นปีที่ 59 แล้ว”

ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2476 ตัวเลขสถิติดังกล่าวอาจทำให้นายบุญเท่ง ครองแชมป์ส.ส.ที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทยไปอีกนาน จากประวัติเส้นทางทางการเมืองที่เขาลงเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2480 มาจนถึง พ.ศ. 2535 นายบุญเท่ง ไม่เคยรู้จักกับคำว่า “สอบตก” มาก่อน

เส้นทางเข้าสู่การเมือง

นายบุญเท่ง เกิดที่จังหวัดลำปาง การศึกษาในวัยเด็กก็ได้รับทุนเรียนดีจากอำเภอ มาเรียนต่อที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 และศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 เมื่อ พ.ศ. 2475 การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ที่เน้น 3 สาขาวิชาคือ กฎหมาย, รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ นอกเหนือจากเบ้าหลอมจากสถาบันการศึกษาแล้ว ช่วงที่นายบุญเท่ง ศึกษาในกรุงเทพฯ ก็เช่าบ้านอยู่ร่วมกับนายทอง กันทาธรรม ส.ส.จังหวัดแพร่ในสมัยนั้น แน่นอนว่า ได้เรียนรู้เรื่องราวทางการเมืองจากนายทอง ในทางอ้อมด้วย

หน้าที่การงานในช่วงเริ่มต้นก็เข้ารับราชการเป็นผู้ฟังคดีประจำศาล หรือโปลีสสภา หรือตำแหน่งในไทยว่าอัยการตำรวจประจำศาลแขวงเหนือ (ชื่อเรียกในสมัยนั้น) หลังทำงานได้ 1 ปี ก็เกิดเปลี่ยนแปลงกฎหมาย สืบเนื่องจากผลของเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นเริ่มมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ในพ.ศ. 2476

นายบุญเท่งสนใจลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยแต่อายุไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนดจึงพลาดการลงเลือกตั้งครั้งแรกของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในไทย แต่ระหว่างนั้นก็ติดตามความเคลื่อนไหว และเตรียมการหาเสียงสำหรับเลือกตั้งครั้งต่อมาอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม นายบุญเท่ง ต้องถอยให้กับนายสรอย ณ ลำปาง ที่ว่ากันว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าลำปาง มีความผูกพันกับครอบครัวของนายบุญเท่ง (คนข่าวเก่า, 2538)

ขณะที่นายบุญเท่ง เองก็ให้ความเคารพนับถือ นายสรอย ขอร้องให้นายบุญเท่ง ถอนตัวออกจากการเลือกตั้ง (ธวัช คำธิตา, 2541) เพื่อเปิดทางให้ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย (จังหวัดลำปางมีผู้แทนราษฎรได้คนเดียว และคนที่เป็นอยู่ในขณะนั้นก็คือนายสรอย ที่ประสงค์จะรับสมัครเลือกตั้งไปอีกสมัย)

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2480 นายบุญเท่ง เบนเป้าหมายไปลงสมัครที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องด้วยชะตาหรืออาจเป็นเหตุทางการเมืองก็ได้ที่ทำให้นายบุญเท่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงรายเดียวและได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกด้วยวัยเพียง 25 ปีเท่านั้น เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องผู้สมัครรับเลือกตั้งรายอื่นว่าด้วยข้อขัดข้องเกี่ยวกับขนาดของรูปถ่ายไม่ตรงตามที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนด สุดท้ายแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งรายอื่นไม่มีสิทธิ์รับเลือกตั้งไป

เหตุการณ์ครั้งนี้เองเป็นจุดออกตัวทางการเมืองที่ทำให้นายบุญเท่ง โลดแล่นในแวดวงการเมืองยาวนานกว่า 50 ปี สร้างสถิติมากมายในวงการการเมือง รวมไปถึงผลงานมากมายในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตรในพ.ศ. 2489 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2491 และก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2518 อย่างไรก็ตาม นายบุญเท่ง ถูก “ป๋า” ปลดจากตำแหน่งสมัยรัฐบาล “เปรม 4” หลังจากนั้น เส้นทางการเมืองก็ทำให้นายบุญเท่ง โยกย้ายพรรคบ่อยครั้งจนได้รับฉายา “ปู่เด้ง” ไป (ฐานเศรษฐกิจ, 2535)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาบทบาทและผลงานการเป็นส.ส. ในภาพรวมแล้ว นายบุญเท่ง ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยเป็นเรื่องใหญ่โตในทางการเมือง และไต่เต้าไปถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏรจากวันที่ 9 พฤษภาคม 2522 – 19 มีนาคม 2526

มาถึงประเด็นที่น่าสนใจซึ่งมีผู้ทำวิทยานิพนธ์ศึกษากลยุทธ์ทางการเมืองของนายบุญเท่ง ผู้ไม่เคยรู้จักคำว่า “สอบตก” ตลอดเส้นทางการเมือง ธวัช คำธิตา ผู้จัดทำงานค้นคว้าอิสระเรื่อง “กลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินงานทางการเมืองของนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์” บรรยายว่า นายบุญเท่ง เป็นผู้ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตยและต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จ และชนะเลือกตั้งทุกครั้ง โดยนายบุญเท่ง ยืนหยัดต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการทหารตั้งแต่ยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร

กลยุทธ์หาเสียงที่น่าสนใจ

สำหรับกลยุทธ์ในการหาเสียงสมัยนั้น ตัวอย่างเช่น ใช้ศาลาวัดเป็นกองบัญชาการในการหาเสียง ไม่ต้องเช่าตึก และสถานที่ ด้วยความที่นายบุญเท่งคลุกคลีกับพระและวัดมาตั้งแต่เด็กจึงใช้ชีวิตได้อย่างสมถะ ไม่ได้สิ้นเปลืองเงินทองเหมือนนักการเมืองทั่วไป

นายบุญเท่ง ยังเข้าถึงชาวบ้านด้วยการเดิน พบปะแบบถึงตัว เยี่ยมเยียนแบบเป็นกันเอง แสดงความจริงใจโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อเสียง ทำให้ชาวบ้านรู้จักหน้าตา ด้วยวิถีแบบ “ติดดิน” นายบุญเท่งใช้วิธีนี้จนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว แม้ว่าจะมีผู้สมัครจากจังหวัดอื่นใช้วิธีเดียวกันจนได้รับฉายา “ทองดี อดสละเตียวตี๋น” (อดสละ คืออดทน เตียวตี๋น คือเดินด้วยเท้า) เขาคนนี้คือ ทองดี อิสระชีวิน นั่นเอง

สำหรับการสื่อสารในการหาเสียงของนายบุญเท่ง ก็ใช้วิธีเจรจาแบบสุภาพ ไม่มีนโยบายโจมตีคู่แข่ง อาศัยหลักการ 4 ข้อ คือ พูดในสิ่งที่เป็นความจริง, พูดโดยอาศัยการอิงหลักธรรมทางศาสนา, พูดเพื่อให้เกิดไมตรีต่อทุกคน และพูดแล้วเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย ที่สำคัญคือ พูดยกย่องชมเชยผู้สมัครคนอื่น ไม่ใส่ร้าย ไม่ประณามโจมตี ยกเอาส่วนดีของทุกคนให้ชาวบ้านได้พิจารณา แม้จะไม่ได้สร้างบรรยากาศหวือหวาน่าตื่นเต้นขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในช่วงการเมืองดุเดือด

จุดเด่นประการหนึ่งกล่าวไปแล้วข้างต้นเรื่องการต่อต้านเผด็จการทหารนั้น นายบุญเท่ง ก็มีกลยุทธ์การดำเนินงานทางการเมืองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตามวิถีรัฐสภา ในสมัยที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2487 นายบุญเท่ง เคลื่อนไหวจนรัฐบาลแพ้มติในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับพระราชกำหนดเพชรบูรณ์ และพุทธมณฑล นายกรัฐมนตรีต้องลาออก แต่จอมพล ป. ไม่ยอมลาออก

นายบุญเท่ง ที่เป็นส.ส.ฝ่ายค้านในช่วงเวลานั้น อาสาไปเจรจากับจอมพล ป. และท้ายที่สุดจอมพล ป. ก็ยอมลาออก

ธวัช บรรยายผลการศึกษาสาเหตุข้อหนึ่งที่ทำให้นายบุญเท่งชนะการเลือกตั้งทุกครั้งว่า “เป็นผู้มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ มีคุณธรรม ไม่หลงอำนาจ ฉลาดเฉียบแหลม สุภาพอ่อนโยน และกล้าตัดสินใจ…”

จุดยืนต่อต้านเผด็จการทหาร

ในด้านการต่อต้านเผด็จการทหาร นายบุญเท่ง เป็นผู้ที่คัดค้านการลาออกของรัฐบาลนายควง อภัยวงค์ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2491 หลังจากนายทหารบกระดับสูง 4 นาย ของคณะปฏิวัติชุด พ.ศ. 2480 (คนข่าวเก่า, 2538) มาพบนายควง และบีบบังคับให้รัฐบาลลาออก นายควง เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วนในวันหยุด และเห็นว่าทหารมีอาวุธ หากไม่ลาออกจะต้องมีนองเลือด

นายบุญเท่ง เป็นคนเดียวที่คัดค้านและลุกขึ้นประกาศกลางที่ประชุมว่ารัฐบาลขณะนั้นเป็นรัฐบาลโดยชอบด้วยกฎหมาย ทหารที่มาจี้ให้ลาออกคือเป็นขบถ ต้องจับนายทหารมาลงโทษ วันนั้นมีการเจรจายาวนานไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง นายบุญเท่ง ติดต่อกับทหารเรือ 3 ท่านที่รับปากจะช่วยรัฐบาลไม่ให้เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วคณะรัฐมนตรียืนยันจะลาออก นายบุญเท่งที่มีเสียงเดียวสู้ไม่ไหว แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนและการกระทำที่ยึดมั่นของนายบุญเท่ง

ต่อมาในปี 2500 นายรัศมี จันทร์วิโรจน์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายรัฐบาลทหาร เป็นคู่แข่งของนายบุญเท่ง และใช้วิธีหาเสียงที่โจมตีคุกคามนายบุญเท่ง ไม่ว่าจะเป็นการด่าโจมตี หรือการบีบกดดัน แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นก็เป็นนายบุญเท่ง ที่ได้รับเลือกอยู่ดี

นายบุญเท่ง ถึงแก่อสัญกรรม วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ด้วยวีรกรรม ประวัติ และผลงานในการทำหน้าที่ในทางการเมืองของนายบุญเท่ง อาจพอกล่าวได้ว่า ส.ส.ลำปางท่านนี้เป็นตำนานทางการเมืองของไทยที่หาได้ยาก แต่เชื่อว่า วันหนึ่งน่าจะมีผู้ที่มีใจยึดมั่นอย่างนายบุญเท่ง อีกสักคนในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้


อ้างอิง:

คนข่าวเก่า (นามปากกา). “นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ส.ส.ที่เป็นนานที่สุดในโลก”. สยามรัฐ. 7 มิถุนายน 2538. น. 5

“บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ส.ส.ลำปาง”. ฐานเศรษฐกิจ. ไม่ปรากฏวันที่ พฤษภาคม 2535, น. 23

ธวัช คำธิตา. กลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินงานทางการเมืองของนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์. การค้นคว้าอิสระ ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2562