“พฤฒสภา” ถึงจุดจบเพราะรัฐประหาร ก่อนเกิด “วุฒิสภา” ยาวมาถึงปัจจุบัน

วิลาศ โอสถานนท์ พฤฒสภา
(ซ้าย) พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ประธานพฤฒสภา ระหว่าง 3 มิ.ย. 2489 - 24 ส.ค. 2489 (ขวา) พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ที่ประชุมพฤฒสภา [ภาพจาก หนังสือ รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี]

ก่อนมี “วุฒิสภา” อย่างทุกวันนี้ ประเทศไทยเคยมี “พฤฒสภา” มาก่อน

คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 และมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นฉบับแรก อันนำมาสู่การเปิดประชุมสภาสมัยแรก ซึ่งตอนนั้นยังคงมีสภาเดียว พร้อมทั้งแต่งตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้น ภายหลังประเทศไทยแยกเป็น 2 สภาครั้งแรกใน พ.ศ. 2489 คือมี “สภาผู้แทน” (เรียกตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ซึ่งไม่มีคำว่า “ราษฎร” ต่อท้าย) และ “พฤฒสภา” หมายถึงสภาสูงหรือสภาอาวุโส

เหตุผลที่ต้องมีพฤฒสภา ก็เพื่อให้เป็นสภาที่ตรวจสอบ กลั่นกรอง ให้คำแนะนำปรึกษา และยับยั้งการใช้อำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทน โดยเฉพาะในด้านนิติบัญญัติ และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีนั่นเอง

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 กำหนดให้พฤฒสภามีสมาชิก 80 คน โดยราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งวาระแรกกำหนดให้มี “องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา” ขึ้น มี ส.ส. ที่อยู่ในตำแหน่งในวันสุดท้ายก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เป็นสมาชิก มีหน้าที่กำหนดวิธีเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งพฤฒสภาครั้งแรกของไทย เกิดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการองค์การเลือกตั้ง บรรยากาศคึกคักไม่เบา ตามที่ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร บอกไว้ในหนังสือ “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี” ว่า “การเลือกตั้งเริ่มตั้งแต่ 9.00 นาฬิกา ต่อจากนั้นก็เริ่มนับคะแนนจนเสร็จสิ้นในวันนั้นเอง ปฏิบัติงานทั้งกลางวันและกลางคืน จนรุ่งสว่างจึงเสร็จสิ้น”

จากนั้น วันที่ 3 มิถุนายน ก็มีการประชุมพฤฒสภาครั้งแรก ที่พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ซึ่งใช้เป็นที่ทำการสำนักงานเลขาธิการพฤฒสภาด้วยเช่นเดียวกัน ที่ประชุมพฤฒสภาลงมติเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เลือก พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ เป็นประธานพฤฒสภา และ นายไต๋ ปาณิกบุตร เป็นรองประธานพฤฒสภา

พฤฒสภาทำหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในประเด็นต่างๆ หลายสิบฉบับ แต่แล้ววันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 “คณะทหารของชาติ” นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ก็ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจปกครองประเทศ มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ส่งผลให้พฤฒสภาต้องถึงจุดจบไปด้วย

รวมระยะเวลาที่สมาชิกพฤฒสภาปฏิบัติหน้าที่ เพียง 1 ปี 5 เดือน 16 วัน เท่านั้น

หลังรัฐประหาร มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ซึ่งฉบับนี้เปลี่ยนชื่อจาก “พฤฒสภา” เป็น “วุฒิสภา” และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่



อ้างอิง

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). พิมพ์ครั้งที่ 2. รัฐกิจเสรี, 2549

สมาชิกพฤฒสภา. สถาบันพระปกเกล้า. ออนไลน์. เข้าถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2562. <http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สมาชิกพฤฒสภา>

พระยาศรยุทธเสนี. สถาบันพระปกเกล้า. ออนไลน์. เข้าถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2562. <http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พระยาศรยุทธเสนี#cite_note-2>

ขัตติยา ทองทา. “พฤฒสภา”. สถาบันพระปกเกล้า ออนไลน์. เข้าถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2566. <http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พฤฒสภา>.

ซันวา สุดตา. “พฤฒสภา”. พิพิธภัณฑ์รัฐสภา. เข้าถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2566. <https://parliamentmuseum.go.th/2564/ar64-senate.html>.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2562