ผู้เขียน | เด็กชายผักอีเลิด |
---|---|
เผยแพร่ |
ส่อง “รัฐสภาอินเดีย” รูปแบบสภาของประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
การสถาปนา สาธารณรัฐอินเดีย (Republic of India) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1950 มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และยวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย อินเดียกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนับแต่นั้น ในปี 2022 อินเดียมีประชากรทั้งสิ้น 1.4 พันล้านคน และพวกเขายังคงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
ส่วนสำคัญของประชาธิปไตยอันแข็งแกร่งของอินเดียมาจากระบบรัฐสภาที่เข้มแข็ง และกระจายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและมีอำนาจโดยตรงในการบริหารประเทศ ฝ่ายนิติบัญญัติของอินเดียใช้ระบบ 2 สภาเหมือนชาติประชาธิปไตยอื่น ๆ ทั่วโลก รัฐสภาอินเดียมีประธานาธิบดีใช้อำนาจสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจเต็มในการเรียกประชุมและปิดสมัยประชุม โดยมีที่ประชุมสภาซึ่งเป็นอาคารรัฐสภาแห่งชาติตั้งอยู่ในกรุงนิวเดลี
รัฐสภาอินเดีย (Parliament of India) แบ่งเป็น 2 สภา คือ
1. ราชยสภา (Rajya Sabha) หรือสภาสูง มีสมาชิก 250 คน มี 12 คนในจำนวนนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยการคัดเลือกจากประธานาธิบดี ส่วนสมาชิกที่เหลือมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐและสหภาพดินแดนต่าง ๆ ทั่วอินเดีย สมาชิกราชยสภามีหน้าที่ตรากฎหมายและร่างพิจารณากฎหมาย มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี
รองประธานาธิบดีเป็นประธานสภาสูงโดยตำแหน่ง ราชยสภาจะดำเนินสมัยประชุมอย่างต่อเนื่องและไม่อาจถูกยุบได้โดยอำนาจใด ๆ แต่ประธานาธิบดีอินเดียมีอำนาจสั่งระงับสมัยประชุมของราชยสภาได้
2. โลกสภา (Lok Sabha) หรือสภาล่าง มีสมาชิกเป็นผู้แทนฯทั้งหมด 545 คน แต่ละคนมาจากการเลือกตั้งของแต่ละรัฐและสหภาพดินแดนต่าง ๆ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี สมัยประชุมของโลกสภามีอายุ 5 ปี จากนั้นจะเลือกตั้งใหม่
โลกสภาแตกต่างจากราชยสภาที่สามารถถูกยุบได้โดยประธานาธิบดี โดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี และประธานาธิบดียังสามารถสั่งระงับสมัยประชุมของโลกสภาได้เหมือนกับของราชยสภาอีกด้วย
ในที่ประชุมรัฐสภา ที่นั่งและพรมทางเดินของสมาชิกของราชยสภาเป็นสีแดง ขณะที่โลกสภาจะเป็นสีเขียว สภาทั้งสองมีอำนาจนิติบัญญัติร่วมกัน มีอำนาจหน้าที่เท่าเทียมกันในการเสนอและพิจารณาร่างกฎหมาย หากแต่กฎหมายด้านงบประมาณจะเป็นอำนาจโดยตรงของโลกสภาในการพิจารณา โลกสภายังมีอำนาจหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลด้วย หากมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติ รัฐสภาอินเดีย จึงจะตัดสินด้วยการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา
สำหรับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของดินเดีย จากการที่อินเดียประกอบด้วยรัฐหลายรัฐ จึงมีการจัดตั้งสภาแห่งรัฐขึ้น ทำให้แต่ละรัฐมีสภานิติบัญญัติของตนเอง (สภานิติบัญญัติเหล่านี้จะเลือกผู้แทนฯ ไปอยู่ในราชยสภาในลำดับต่อไป) รัฐขนาดใหญ่บางรัฐอาจมี 2 สภา ซึ่งสมาชิกสภามาจากคะแนนเสียงของประชาชนนั่นเอง ส่วนประมุขของรัฐเรียกว่า ผู้สำเร็จราชการ จากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี แต่ละรัฐยังมีรัฐบาลกลางของตนเอง มีผู้นำรัฐบาลเรียกว่า มุขมนตรี ซึ่งรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติของรัฐนั้น ๆ
จะเห็นว่ารูปแบบสภาของอินเดียทั้งราชยสภาและโลกสภาสามารถเทียบได้กับ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของไทยเรา แต่มีข้อต่างเล็กน้อยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และวาระการดำรงตำแหน่งนั่นอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “สภาฯ ดุ” เมื่อ 80 กว่าปีก่อน เมื่อสมาชิกสภาฯ บางคน “พกอาวุธ” เข้าประชุม
-
ที่มาและอำนาจ “ส.ว.” อังกฤษ-อเมริกัน เลือกตั้งอำนาจมาก-แต่งตั้งอำนาจน้อย?
อ้างอิง :
จรัญ มะลูลีม. (2552). อินเดียศึกษา : การเมืองการปกครอง การต่างประเทศ ศาสนา สังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์.
A. S. Narang. (2000). Indian Government & Politics. New Delhi: Gitanijali Publishing House.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2565