เมกะโปรเจกต์ “ดนตรีไทย” ปี 2473-2485 ระดมบรมครูเพลง บันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากล

คณะกรรมการประชุมบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากล หน้าพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย บริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติปัจจุบัน (หลวงประดิษฐไพเราะ-แถวหลังคนที่ 2 จากซ้าย)

ดนตรีไทย เดิมมีวัฒนธรรมที่ใช้วิธีสืบทอดกันแบบปากต่อปากเป็นสำคัญ ไม่มีการบันทึกโน้ต จวบจนเมื่อครั้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกบัณฑิตยสภา ได้มีการริเริ่มให้จดบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลในปี 2473 โดยเชิญครูเพลงหลายท่านมาร่วมในโครงการใหญ่นี้

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับสั่งให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวัง เจ้ากรมปี่พาทย์หลวงในขณะนั้น จัดหาครูดนตรีไทย และผู้เชี่ยวชาญการจดโน้ตเพลง มาร่วมกันบรรเลง บอกเพลง และบันทึกโน้ต “ดนตรีไทย” เอาไว้เป็นหลักฐาน

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2473 ณ ท้องพระโรงวังวรดิศ การจดโน้ตสากลก็เริ่มขึ้น หากการจดบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตดำเนินมาจนถึง พ.ศ. 2475 ก็มีอันต้องยุติไป เนื่องจากเหตุผลหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง, ปัญหาการปลดข้าราชการกรมมหรสพเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ, พระอาการป่วยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฯลฯ

ต่อมาใน พ.ศ. 2479 งานบันทึกโน้ตเพลงได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้นงานดุริยางค์ไทยดุริยางค์สากลมาขึ้นอยู่กับกรมศิลปากร รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อการนี้เรียกว่า คณะกรรมการตรวจสอบเพลงไทยบันทึกโน้ตเป็นสากล มี หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง, พระเจนดุริยางค์ และหลวงประดิษฐไพเราะ ร่วมกันทำหน้าที่เป็นผู้ทำการแทนประธานในการประชุมปรึกษาหารือและตรวจสอบ, พระยาภูมีเสวิน เลขานุการฝ่ายดนตรีไทย และนายเล็ก จิตรมั่นคง เลขานุการฝ่ายดนตรีสากล

เมื่อเจ้าหน้าที่บอกเพลงแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้จดบันทึกเป็นโน้ตสากลก็บันทึกลงไว้ การบอกเพลงและจดบันทึกเพลงนี้ดำเนินตามแนวทางของวงปี่พาทย์ เพราะถือว่าทางของปี่พาทย์เป็นทางหลักและกว้างขวาง

ครั้งแรกบันทึกตามแนวฆ้องวงใหญ่ แล้วให้คณะกรรมการตรวจสอบดูก่อน เพราะฆ้องวงใหญ่เป็นหลักของวงปี่พาทย์ เมื่อคณะกรรมการรับรองว่าถูกต้องแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ต้องมาแยกแนวบันทึกตามแนวของเครื่องดนตรีแต่ละเครื่องเช่น ปี่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก ฯลฯ โดยถือเอาแนวฆ้องวงใหญ่เป็นหลักบันทึก แล้วก็ทดลองให้นักดนตรีสากลผู้ไม่มีความรู้ทางเพลงไทย ร่วมกันบรรเลงไปตามตัวโน้ตที่จดไว้นั้น และเพื่อให้คณะกรรมการฟังตรวจสอบความผิดถูกได้ง่าย

กรรมการคณะนี้ นอกจากมีหน้าที่ฟังเพลงที่เจ้าหน้าที่ได้จดบันทึกไว้ และตรวจสอบพิจารณาแก้ไขเพลงนั้นๆ ให้ถูกต้องเหมาะสมตามลักษณะและวิชาการดนตรีไทยดังกล่าว ยังมีหน้าที่ค้นคว้าเพลงเก่าๆ และหลักฐานอื่นๆ มาให้เจ้าหน้าที่บันทึกไว้อีกด้วย

รวมเพลงที่ตรวจสอบบันทึกไว้ได้มีราว 475 เพลง แต่บทเพลงที่คณะกรรมการได้ทดลองตรวจสอบฟังกันดูแล้ว และบันทึกไว้ครบทุกแนว (complete score) คงมีอยู่ประมาณไม่ถึง 100 เพลง

ในจำนวนนั้น มีเพลงสำคัญๆ ที่ได้รับการบันทึกถึงมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มเพลงเรื่อง เช่น เพลงเรื่องฝรั่งรำเท้า, เพลงเรื่องตะนาว, เพลงเรื่องจีนแส, เพลงเรื่องสุรินทราหู, เพลงเรื่องกระเดียด, เพลงเรื่องสี่ภาษาใต้, เพลงเรื่องเขมรใหญ่ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีเพลงละคร เพลงหน้าพาทย์ และเพลงเสภาอีกเป็นจำนวนมาก ที่ปรากฏอยู่ในบันทึก

เพลงเหล่านี้ มีครูคนสำคัญผู้บอกทางบรรเลงเฉพาะเครื่องดนตรีอยู่หลายท่าน เช่น

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)-ทางปี่พาทย์ทุกเครื่อง, จางวางทั่ว พาทยโกศล-ฆ้องวงใหญ่, พระเพลงไพเราะ (โสมสุวาทิต)-ระนาดเอก ฆ้องเล็ก ระนาดทุ้ม, ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์-ฆ้องวงใหญ่, หลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนวิลัย)-ฆ้องวงใหญ่, พระประณีตวรศัพท์ (เขียน วรวาทิน)-ปี่ ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ระนาดทุ้ม, หลวงสร้อยสำเนียงสนธิ์ (เพิ่ม วัฒนวาทิน)-ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก, ขุนสำเนียงชั้นเชิง (มล โกมลรัตน์)-ตะโพน, ครูเทียบ คงลายทอง-ปี่, ครูสงัด ยมะคุปต์-ระนาดทุ้ม, ครูบุญธรรม (มนตรี) ตราโมท-ระนาดทุ้มไท้ ทุ้มเหล็ก ฯลฯ

และผู้มีบทบาทสำคัญในการจดบันทึกและคัดลอกโน้ตเพลงแนวต่างๆ อีกหลายท่าน เช่น

ขุนสนิทบรรเลงการ (จง จิตตเสวี)-โน้ตปี่ ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่, ขุนสำเนียงชั้นเชิง (มล โกมลรัตน์)-เครื่องหนังและเครื่องจังหวะทุกชนิด, ครูพิสมัย (พิษณุ) แช่มบาง-จดโน้ตเพลงและคัดลอกทุกเครื่องมือ, ครูบุญเอื้อ (เอื้อ) สุนทรสนาน-โน้ตปี่ ฆ้องวงใหญ่ ระนาดทุ้ม, ครูศรีโพธิ์ ทศนุต-คัดลอกทุกเครื่องมือ, ครูกมล แพทยคุณ-โน้ตฆ้องวงใหญ่ คัดลอกทุกเครื่องมือ ฯลฯ

การบันทึกจัดทำและตรวจสอบเพลงไทยลงไว้เป็นโน้ตสากลดังกล่าวนี้ เริ่มประชุมบันทึกและตรวจสอบเพลง ณ โรงโขนหลวงมิสกวัน เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2479 (จัดทำกันต่อมาถึง พ.ศ. 2485 จึงยุติ)

การทำงานในช่วงแรกของ พ.ศ. 2479 คณะกรรมการรื้อฟื้นเพลงชุดทำขวัญ และโหมโรงเย็น ที่เคยทำค้างคาไว้สมัยการบันทึกโน้ต พ.ศ. 2473-2475 มาพิจารณาตรวจสอบกันใหม่ โดยมีการนำเพลงที่มีอยู่มาตรวจสอบทั้งชื่อเรียก ลักษณะเนื้อร้อง ทำนอง จังหวะ และการเรียงลำดับเพลง เมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบแล้วก็ให้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นจึงนำเพลงอื่นๆ มาพิจารณาตรวจสอบกันต่อไป

หากระหว่างทำงานบันทึกโน้ตครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2475-2485) เกิดเหตุการณ์ผันผวนในการทำงานขึ้นหลายอย่าง ทั้งการบริหารบ้านเมือง นโยบายรัฐบางต่อดนตรีไทย สงครามโลก และที่น่าเศร้าก็คือการเสียชีวิตของคูรอาจารย์ที่เป็นหลักในการบอกเพลงหลายท่าน

นอกจากนี้โน้ตเพลงที่ทำก็มีการจัดพิมพ์เพียง เพลงชุด “โหมโรงเย็น” และ “ทำขวัญ” เท่านั้น ส่วนต้นฉบับโน้ตเพลงไทยจำนวนมาก เก็บรักษาอย่างปกปิดมิดชิด ที่ไม่อาจทราบว่าอยู่ในสภาพใด

อย่างไรก็ตาม งานบันทึกโน้ตเพลงไทย สำหรับผู้สนใจก็ยังมีแหล่งข้อมูลสำคัญให้ศึกษา เช่น งานวิทยานิพนธ์เรื่อง The Traditional music of Thailand ของเดวิด มอร์ตัน (David Morton) ซึ่งเคยเดินทางมาไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2501-2503 เพื่อเก็บข้อมูลดนตรีไทยกับทางกรมศิลปากร สำนักเพลงบ้านครูหลวงประดิษฐไพเราะ ได้สำเนาต้นฉบับโน้ตเพลงลงไมโครฟิล์ม 5 ม้วน (3,887 หน้า) นำกลับไปวิเคราะห์ที่อเมริกา

ต้นฉบับไมโครฟิล์มเพลงดังกล่าว เก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุด UCLA Institute of Ethnomusicology และมีการทำสำเนาเผยแพร่ต่อไปยังสถาบันดนตรีอื่นๆ ด้วยทั้งในอเมริกา และอังกฤษ

ปัจจุบัน งานไมโครฟิล์มส่วนหนึ่งที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของบรรดาครูบาอาจารย์ทางดนตรีไทยในอดีต มีคัดลอกสำเนาลายมือจากไมโครฟิล์มลงเป็นโน้ตคอมพิวเตอร์ คณะทำงานของ ดร. ปัญญา รุ่งเรือง จาก Kent State University, Ohio และได้มีการพิมพ์เผยแพร่ออกมาเป็นรูปเล่มโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2544 ภายใต้ชื่อโครงการฟื้นฟูโน้ตเพลงไทยฉบับครู (The Lost Thai Music Manuscript Restoration Project)

นอกจากนี้ ที่ห้องสมุดดนตรี ทูลกระหม่อมบริพัตร หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ก็มีข้อมูลสำเนาต้นฉบับโน้ตเพลงบางเพลงที่ถ่ายเอกสารอย่างเป็นทางการเก็บรักษาไว้ โดยที่ผู้สนใจใคร่รู้สามารถใช้บริการอ่านหรือทําสำเนาเพื่อการศึกษาได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ :

บทความนี้เขียนเก็บความจาก อานันท์ นาคคง, อัษฎาวุธ สาคริก. หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2544.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2566