ดนตรีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างไร? รู้ได้จากบันทึกชาวต่างชาติ

เอกสารของชาวต่างชาติที่บันทึกเกี่ยวกับประเทศไทยที่มีการเผยแพร่ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องสภาพบ้านเมือง, วิถีชีวิตและจิตใจของประชาชน, สภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากร, ราชสำนักและการบริหารประเทศ แต่ที่เรากำลังจะกล่าวถึงเป็นเรื่องคือ มุมมองต่อ “ดนตรีไทย” กลับที่ไม่ค่อยมีเผยแพร่มากนัก

อาจารย์สงัด ภูเขาทอง ผู้เขียนบทความ “ชาวต่างชาติในอดีต เขามองดนตรีไทยอย่างไร” เป็นทั้งนักดนตรี และอาจารย์สอนวิชาดนตรีไทยอยู่ที่วิทยาครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) จึงสนใจและอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้อย่างดี

อาจารย์สงัดท่านบอกว่า หลักฐานเกี่ยวกับเครื่องดนตรีไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยามีเพียงบทไหว้ครูสำหรับการแสดงหนังใหญ่ที่ว่า “ชัยศรีโขลนทวารเบิกบานประตู ฆ้องกลองตะโพนครู ดูเล่นให้สุขสำราญ” หรือในบทปี่พาทย์ที่ว่า “พลโห่ ขานโห่ทั้งผอง พิณพาทย์ตะโพน กลอง ดูเล่นให้สุขสำราญ”

ส่วนเอกสารต่างชาตินั้น หนึ่งคือ บันทึกของลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตตฝรั่งเศส ส่วนอีกหนึ่งคือ บันทึกของชาวเปอร์เซีย ที่เรียกว่า “สำเภาสุลัยมาน” ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยพระนารายณ์มหาราช

เริ่มจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ที่บันทึกไว้ว่า “ชาวสยามเรียกว่า ?  ?นั้นล้วนผูกไว้ต่อ ๆ กัน ทุกอันกับไม้สั้น ๆ และตั้งเป็นวงมีขอบไม้ รูปร่างเหมือน ง่ามเหล็ก ยึดล้อเก้าอี้ คนตีเครื่องดนตีอันนี้นั่งขัดสมาธิอยู่ตรงกลาง ตี ? ด้วยไม้ 2 อัน อันหนึ่งถือมือขวา อีกอันถือมือซ้าย” [เครื่องหมาย “?” เป็นการแทนที่โดยผู้เขียน]

ท่านผู้อ่านว่า “?” ที่เราตั้งใจลบชื่อนั้น คือเครื่องดนตรีชนิดใด

อาจารย์สงัดบอกว่านั้นคือ “ฆ้องพาทย์” และอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ฆ้องที่กล่าวถึง จะต้องเป็นฆ้องที่ตีเป็นทำนอง คือมีหลายเสียง มิใช่ฆ้องเพื่อตียืนเสียงเป็นจังหวะ อาจจะเป็รฆ้องวงวอย่างปัจจุบันก็ได้ แต่เราไม่ทราบว่าเดิมที่เดียวจะมีกี่ลูก อาจจะมี 11 ลูก..”

เครื่องดนตรีชนิดต่อไปลาลูแบร์บันทึกว่า “? นั้นรูปร่างเหมือนถัง คนตีเอาเชือกโยงแขวนคอไว้ข้างหน้า  และตีทั้ง 2 ข้างด้วยกำมือ” [เครื่องหมาย “?” เป็นการแทนที่โดยผู้เขียน]

เครื่องดนตรีที่รูปร่างเหมือนถังนี้ อาจารย์สงัดบอกว่ามันคือ “ตะโพน”

ลาลูแบร์ ยังกล่าวถึง เครื่องดนตรีหลายชนิดในขบวนแห่ของเจ้านายดังนี้ “เห็นมีคนตั้งร้อยหมอบอยู่เป็นแถว ๆ บางถือแตรเล็ก ๆ อันน่าเกลียดไว้สำหรับอวด แต่ไม่ใช้สำหรับเป่า ข้าพเจ้าออกติดใจว่า จะทำด้วยไม้ด้วยซ้ำไป นอกจากนั้นอีกเป็นอันมากมีกลองใบย่อม ๆ วางไว้ตรงหน้าแต่ไม่เห็นได้ตี”  [เน้นโดยผู้เขียน]

อาจารย์สงัดอธิบายว่า เครื่องดนตรีมากมายนั้นน่าจะเป็นวงกลองชนะ ในพระราชพิธีใดพระราชพิธีหนึ่ง  ส่วนแต่เล็ก ๆ อันน่าเกลียด คือ ปี่ไฉน ส่วนกลองใบย่อม-กล่องชนะ นั่นเอง

ส่วนบันทึกของชาวเปอร์เชียหรือ “สำเภาสุลัยมาน” นั้นกล่าวถึงเครื่องดนตรีไทยในพิธีต้อนรับแขกเมืองว่า

“มีเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งรูปร่างเหมือนหม้อ แต่ทำจากเหล็กและแก้วเสียง คนพื้นเมืองเล่นโดยตีด้วยแท่งเหล้กยาว ๆ แต่เป็นคราวเคราะห์ของพวกเราที่เครื่องดนตรีนี้เสียงสูงจนฟังแล้วจะเป็นบ้าตาย เสียงดนตรีที่ออกมาจากเครื่องนี้ฟังดูแปร่ง จนเราเรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า นกเข้าเจ้าทะเลาะ เครื่องดนตรีอีกอันหนึ่งซึ่งใช้กันในพิธีต้อนรับคือ ขลุ่ย เป็นที่น่าเศร้าใจที่รูซึ่งเจาะไว้ในขลุ่นนั้น มีแต่ทำให้เกิดเสียงสูงจนฟังแล้วหูแทบหนวก..”

โดยรวมคนเปอร์เชียเห็นว่าเครื่องดนตรีไทย หรือเพลงไทยนั้นเสียงสูงมาก ฟังแล้วหนวกหูและเครียดมากกว่าไพเราะ จะว่าคนเล่นฝีมือไม่ถึงก็คงไม่ใช่ เพราะเป็นคณะที่มารับแขกเมืองก็คงต้องคัดสรรแล้ว อย่างน้อยก็ต้องมีฝีมือระดับมาตรฐาน เรื่องนี้เราคงต้องไปฟังคำอธิบายอาจารย์สงัดที่ว่า

“ที่เขาได้พรรณนาออกมาเช่นนั้น แสดงว่าเขารู้สึกหนวกหูอย่างทารุณ วงดนตรีที่บรรเลง จะเป็นวงปี่พาทย์ที่เป็นธรรมดาจะต้องมีเสียงดังครึกโครม เขาได้กล่าวถึงเครื่องดนตรีหลายอย่าง เช่น เขากล่าวถึงเครื่องดนตรีที่มีรูปร่างเหมือนหม้อ ดู ๆ น่าจะเป็นมโหรทึก แต่เมื่อกล่าวว่าทําด้วยเหล็กและแก้ว ตีด้วยแท่งเหล็กยาว ๆ ก็น่าจะเป็นระนาดเอกมากกว่า

คือรางระนาดอาจจะคล้ายกับหม้ออะไรสักอย่างของเขา เช่น หม้อตะเกียงอาละดิน ส่วนไม้ที่เห็นเป็นแท่งเหล็กยาว ๆ คงเป็นไม้ตีชนิดไม้แข็ง มองไกล ๆ ประสมกับได้ยินเสียงคิดว่าคงทําด้วยเหล็กกระมัง เพราะมีเสียงสูง จนฟังแล้วแทบจะเป็นบ้าตาย ถ้าเป็นเสียงมโหรทึกก็ไม่น่าจะมีเสียงสูงอย่างนั้น…

ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรู้สึกของกลุ่มชนที่แตกต่างกัน ย่อมมีความรู้สึกต่อศิลปะไม่เหมือนกันด้วย อย่างเช่น เครื่องดนตรี ถ้าเป็นชาวแถบเอเซียตะวันตกหรือแถบอินเดีย เขานิยมประเภทเครื่องสายที่มีเสียงเบา เมื่อเขามาฟังอย่างเครื่องดนตรีของชาวตะวันออกที่เป็นเครื่องที่มีเสียงดัง เขาจึงฟังหนวกหูดุจเพลงตะวันตกบางเพลง ผู้ฟังที่เป็นเด็กวัยรุ่นเมืองกรุงฟังแล้วสนุก แต่ถ้าไปบรรเลงให้ชาวไร่ชาวนาฟัง เขาอาจจะบอกว่าเหมาะกับจะเอาไปไล่ควายเสียมากกว่า”


ข้อมูลจาก

สงัด ภูเขาทอง. “ชาวต่างชาติในอดีตเขามองดนตรีไทยอย่างไร” ใน ประชุมบทความทางวิชาการดนตรี พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2534


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563