บางลำพู ชุมชนดนตรีไทยที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของกรุงเทพฯ

คณะดุริยประณีต รุ่นจิ๋ว ออกอากาศทางทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม (ภาพจาก บ้านบางลำพู ชุมชนดนตรีไทยฯ)

บางลำพู หรือบ้านบางลำพู ในอดีตชุมชนดนตรีไทยย่านที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ บางลำพูยังเป็นศูนย์กลางของแหล่งบันเทิงที่สำคัญของกรุงเทพฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน เช่น โรงละครร้อง, โรงภาพยนตร์, ร้านค้าเกี่ยวกับดนตรีไทย, ร้ายขายแผ่นเสียง, บ้านนักดนตรีไทยจำนวนมาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทย โดยแบ่งชุมชนพื้นที่ตอนเหนือ และตอนใต้คลองบางลำพู ดังนี้

1. พื้นที่ตอนเหนือคลองบางลำพู

แหล่งบันทิง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทยประกอบด้วย

วิกลิเกตาช่วง หรือวิกไทบรรเลง เป็นวิกลิเกที่คณะบางลำพูทำปี่พาทย์ประกอบการแสดงคณะลิเก

วิกลิเกตลาดนานา เป็นวิกลิเกที่คณะหอมหวลแสดงเป็นประจำ มีแหล่งขายอาหาร มีร้านตู้เกม ร้านเช่าหนังสือนิยาย

ทีวีช่อง 4 สถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศ ที่ตั้งอยู่บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย วังบางขุนพรหม ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์สีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และย้ายไปอยู่ถนนอโศก-ดินแดง

โรงหนังบุศยพรรณ ตั้งอยู่ที่ซอยสามเสน 2 เป็นโรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังต่างประเทศในระยะแรก ภายหลังได้ฉายหนังไทย 2 เรื่องควบ ยุคสมบัติ-อรัญญา ภายหลังถูกเพลิงไหม้จึงเลิกกิจการไป

บ้านนักดนตรีไทย ประกอบไปด้วย

บ้านตระกูลดุริยประณีตและเครือญาติ ที่ตั้งซอยสามเสน 1 (ซอยลำพู) เป็นบ้านปี่พาทย์ ซึ่งมีนักดนตรีไทยจำนวนมาก มีตระกูลดนตรีที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ดุริยประณีต, ดุริยพันธุ์, เขียววิจิตร รุ่งเรือง, พิณพาทย์ และโตสง่า มีหัวหน้าวงดนตรีคือ ครูศุข ดุริยประณีต ภรรยาชื่อ นางแถม ดุริยประณีต มีบุตรหลานเป็นนักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ สังกัดในกรมศิลปากร กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยงานอื่นๆ ปัจจุบันยังคงดำเนินกิจการดนตรีไทยอยู่

บ้านตระกูลเชยเกษ ตั้งอยู่ติดกับบ้านดุริยประณีต เดิมเป็นบ้านดนตรีและทำอุตสาหกรรมสร้างเครื่องดนตรี ซึ่งเป็นญาติข้างฝ่ายนางแถม ลูกหลานบางส่วนเป็นลูกวงบ้านดุริยประณีต

บ้านครูหลุยส์ หรือประทีป อุณกุลฑล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านเลขที่ 25 ถนนลำพู ตำบลสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นครูเครื่องสายเชี่ยวชาญซออู ที่บ้านจัดกิจกรรมซ้อมดนตรีไทยประเภทเครื่องสายเป็นประจำ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ปัจจุบันถึงแก่กรรม และเลิกกิจกรรมการซ้อมไปแล้ว

บ้านแม่พูน ไม่ทราบนามสกุล อยู่ด้านหลังบ้านดุริยประณีต เป็นร้านหล่อลูกฆ้อง ส่งมาให้บ้านดุริยประณีตทำร้านฆ้อง แล้วส่งขายต่อยังนักดนตรีไทยที่สนใจสั่งซื้อต่อไป ปัจจุบันเลิกกิจการแล้ว

บ้านครูละม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา อยู่ริมคลองบางลำพู เป็นนักร้องเพลงหุ่นกระบอกที่มีชื่อเสียง

บ้านครูโองการ กลีบชื่น อยู่ซอยลัดเชื่อมระหว่างวัดสังเวชฯ กับวัดสามพระยา เป็นนักดนตรีปี่พาทย์ที่มีฝีมือทางปี่พาทย์ สามารถบรรเลงได้รอบวง

บ้านเจ้าเทพกัญญา (ณ เชียงใหม่) บูรณพิมพ์ อยู่ใกล้วัดสังเวชฯ เป็นครูเชี่ยวชาญซอสามสาย

บ้านพระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิม วาทิน) อยู่ริมถนนสามเสน ใกล้กับสะพานนรรัตน์ฯ เป็นนักดนตรีประจำกรมมหรสพ เชี่ยวชาญเครื่องหนังและระนาดทุ้ม

บ้านครูเปรม สวนรัตน์ อยู่บริเวณวัดใหม่อมตรส เป็นครูเครื่องสายถนัดในการสร้างจะเข้ส่งร้านดุริยบรรณ มีบุตรสาว 2 คน ที่มีชื่อเสียงทางดนตรีคือ ครูละเมียด จิตตะเสวี (เชียวชาญจะเข้ และซอ) และ ครูละม่อม ดุริยชีวิน (เชี่ยวชาญซอด้วง)

บ้านครูเตียง ธนโกเศศ อยู่บริเวณวัดใหม่อมตรส เป็นครูเครื่องสายประเภทซอด้วง มีบุตรสาวที่มีชื่อเสียงทางด้านดนตรีไทย คือ ครูเบญจรงค์ ธนโกเศศ เชี่ยวชาญซอด้วง

บ้านครูปลั่ง-ครูไปล่ วรรณเขจร อยู่บริเวณวัดใหม่อมตรส เป็นครูเครื่องสายสองคนพี่น้องถนัดประเภทซอด้วงซออู้ รับราชการที่กรมศิลปากร

บ้านครูมนตรี ตราโมท อยู่บริเวณวัดใหม่อมตรส เป็นครูปี่พาทย์ที่มีชื่อเสียง เจ้าแห่งเพลงระบำ ศิลปินแห่งชาติ 2528 ต่อมาย้ายไปอยู่ที่ซอยโสมส่องแสง จังหวัดนนทบุรี

บ้านครูจ่าง แสงดาวเด่น อยู่บริเวณวัดใหม่อมตรส เป็นครูเครื่องสายเชี่ยวชาญจะเข้ มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงคือ ครูระดี วิเศษ สุรการ

บ้านพระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) อยู่บริเวณตลาดนานา เป็นครูเครื่องสาย เชี่ยวชาญ ซออู้ และถนัดการเป่าปี่ใน

บ้านหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน) อยู่บริเวณวัดใหม่อมตรส เป็นครูเครื่องสายเชี่ยวชาญซอด้วง ซออู้ และซอสามสาย

บ้านครูจำนง ส่งศรีวัฒน์ อยู่บริเวณตลาดนานา ต่อมาย้ายไปอยู่บางแค เป็นครูเครื่องสายเชี่ยวชาญซอด้วง ซออู้ ไวโอลิน และขิม

ร้านไร่จันทร์นวล ตั้งอยู่ริมถนนสามเสนด้านข้างวัดใหม่อมตรส จัดให้มีการเรียนการสอนดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทยโดย อาจารย์เตือน พาทยกุล และ อาจารย์บำรุง พาทยกุล

2. พื้นที่ตอนใต้ของคลองบางลําพู

แหล่งบันเทิง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทย ประกอบด้วย

ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า เคยเป็นสถานที่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ดนตรี นาฏศิลป์ อภิปราย สัมมนา เป็นประจำทุกเย็นวันศุกร์ อยู่นานหลายปี

ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ถนนราชดำเนินกลาง เป็นร้านค้าขององค์การค้าคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จำหน่ายเครื่องเขียน อุปกรณ์การศึกษา วิดีโอ แถบบันทึกเสียงที่เกี่ยวกับดนตรีไทย เครื่องดนตรีไทย และอื่นๆ

ร้านดุริยบรรณ ถนนตะนาว สี่แยกคอกวัว เป็นร้านขายเครื่องดนตรีไทยทุกชนิด โน้ตเพลง รวมทั้งแถบบันทึกเสียง มีบริการเทียบเสียงเครื่องดนตรีโดยครูอาวุโส

สถานีวิทยุ ท.ท.ท. ถนนราชดำเนินกลาง สี่แยกคอกวัว เป็นแหล่งที่แสดงดนตรี รายการบันเทิงต่างๆ เลิกกิจการไปเมื่อครั้งที่มีเหตุการณ์วันมหาวิปโยค พ.ศ. 2516 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลาคม

กรมประชาสัมพันธ์ ที่ตั้งเดิมถนนราชดำเนินกลาง ตรงข้ามกับโรงแรมรัตนโกสินทร์ มีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เป็นแหล่งที่ผลิตข่าวและรายการสาระบันเทิงต่างๆ มากมาย เมื่อ พ.ศ. 2535 เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กรมประชาสัมพันธ์ถูกเพลิงไหม้บางส่วน จึงย้ายที่ทำการไปอยู่ถนนวิภาวดีรังสิต

กองการสังคีต กรมศิลปากร ถนนราชินี เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่รวบรวมนักดนตรีและนาฏศิลป์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ พ.ศ. 2539 เปลี่ยนเป็นสถาบันนาฏดุริยางคศิลป์

วิทยาลัยนาฏศิลป ถนนราชินี เป็นสถานศึกษาที่ผลิตนักดนตรี นาฏศิลป์ เพื่อเข้ารับราชการในกรมศิลปากร

โรงหนังศรีบางลำพู เป็นโรงภาพยนตร์ ตั้งอยู่ถนนพระสุเมรุ ใกล้กับตลาดทุเรียน ฉายภาพยนตร์ฝรั่งตั้งแต่รุ่นหนังเงียบ จนถึงหนังพูด

โรงละครร้องแม่บุนนาก กัลยาณมิตร ตรอกไก่แจ้ ถนนพระสุเมรุ เป็นโรงละครร้องที่มีต้นแบบจากละครร้องแบบสมเด็จฯ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แสดงกันเป็นประจำ เลิกกิจการเมื่อประมาณสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2484

วิกลิเกตลาดทุเรียน เป็นวิกลิเกคณะหมื่นสุขสำเริงสรวล ในปัจจุบันเลิกเล่นไปแล้ว ตลาดทุเรียนเปลี่ยนเป็นตลาดนรรัตน์ ซึ่งขายพวกเสื้อผ้า นาฬิกา และอื่นๆ

ร้าน ต. เง๊กชวน ถนนพระสุเมรุ เป็นร้านขายแผ่นเสียงเพลงไทย เพลงพื้นเมือง และอื่นๆ ปัจจุบันเลิกกิจการ แบ่งตึกให้ร้านขายทองและร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนที่เหลือยังใช้ชื่อร้านเดิม แต่ขายขนมเบื้องชาววังแทน

โรงเรียนผู้ใหญ่วัดชนะสงคราม เป็นโรงเรียนของรัฐบาล ซึ่งภาคค่ำเปิดการเรียนการสอนศึกษาผู้ใหญ่ ศึกษานอกโรงเรียน มีการเรียนการสอนส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับดนตรีไทย โดยอาจารย์นงค์ และ อาจารย์ต้องจิตต์ ส่งศรีวัฒน์ ปิดการเรียนการสอน ประมาณ พ.ศ. 2534

บ้านนักดนตรีไทย ประกอบไปด้วย

บ้านเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) ถนนพระอาทิตย์ เป็นบ้านที่รวบรวมนักดนตรีและนาฏศิลป์ สังกัดกระทรวงวัง ซึ่งปัจจุบันโอนย้ายเป็นกรมศิลปากร

บ้านตระกูลโตสง่า อยู่บริเวณวัดบวรรังษี (วัดบวรนิเวศ) เป็นบ้านปี่พาทย์ที่มีชื่อเสียง ประกอบไปด้วย ครูอุไท ครูพุ่ม ครูสุพจน์ และรุ่นปัจจุบันมีนักดนตรีที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ณรงค์ฤทธิ์ และชัยยุทธ ภายหลังย้ายไปอยู่ที่วัดราษฎร์บำรุง หนองแขม

บ้านครูสังวาลย์ กุลวัลกี อยู่ซอยรามบุตรี เป็นครูเครื่องสาย เชี่ยวชาญจะเข้

บ้านครูเผือด นักระนาด อยู่บริเวณถนนตะนาว เป็นนักปี่พาทย์ เชี่ยวชาญทางระนาดเอก

บ้านครูบุญยงค์ เกตุคง ครูบุญยัง เกตุคง อยู่บริเวณถนนสิบสามห้าง ทั้งสองที่มีความสามารถในทางปี่พาทย์ ครูบุญยงค์ เชี่ยวชาญระนาดเอก ครูบุญยังเชี่ยวชาญระนาดทุ้ม และทั้งคู่เป็นนักลิเก ได้เป็นศิลปินแห่งชาติทั้งพี่และน้อง

บ้าน ม.ร.ว. จำรัสศรี สนิทวงศ์ อยู่ถนนพระอาทิตย์ เป็นนางร้องไห้ และเชี่ยวชาญซอด้วง

 


ข้อมูลจาก

ณรงค์ เขียนทองกุล. บ้านบางลำพู ชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของกรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2541


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2564