“ฐานันดร” ของดนตรีไทย “ชนชั้น” ในงานศิลป์ อิทธิพลจากมนุษย์สร้าง

วงมโหรี วงดนตรี "ผู้ดี" สุภาพนุ่มนวลทั้งผู้บรรเลง และลีลาของเพลง

บทความนี้คัดย่อจาก “ฐานันดรของดนตรีไทย” ซึ่งเป็นบทความหนึ่งในหนังสือประชุมบทความทางวิชาการดนตรี ที่อาจารย์ สงัด ภูเขาทอง เคยเขียนไว้ในวาระต่าง ๆ รวบรวมพิมพ์ขึ้นในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของอาจารย์สงัด เมื่อ พ.ศ. 2534 โดยมีการจัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำ เพื่อสะดวกในการอ่าน


ก่อนอื่นใคร่ขอชี้แจงเกี่ยวกับความเป็นมาของ “ฐานันดร” เอาไว้ก่อนแต่จะไม่ขอวินิจฉัยถึงคุณ หรือโทษของความมี “ฐานันดร” เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึก

ที่จริงคําว่า ฐาน หรือ ฐานะ หมายถึงที่ตั้งหรือตําแหน่ง เมื่อประสมกับคําว่า อันตร ที่แปลว่า ระหว่าง ก็ใช้ในความหมายของภาษาไทยว่า ความแตกต่างในทางบรรดาศักดิ์ คํามีความหมายค่อนข้างสูง ไม่ได้ใช้ในความหมายที่ว่า ระหว่างที่ตั้ง หรือ ระหว่างตําแหน่ง

อันความแตกต่างของฐานันดรเป็นเรื่องของความรู้สึกทางใจของคนที่รู้จักนําเอาสิ่งต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกันในด้านคุณค่า อาจเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นของอย่างเดียวกันหรือคนละอย่างก็ได้ เช่น การวัดค่าระหว่างบุคคลด้วยกัน เช่นการวัดความเป็นผู้ดี นิยมวัดกันด้วย “สาแหรก“ สาแหรกเป็นที่รองกระจาดมัดด้วยหวาย ทําเป็น 4 สาย หรือ 4 มุมรวม 2 ข้างเป็น 8 สาย หรือ 8 สาแหรก

คํานี้ได้นํามาใช้ในเชิงประชด เช่น “แม่ผู้ดี 8 สาแหรก” แสดงว่า เป็นผู้ดีครบ หากใครถูกประณามว่าเป็นผู้ดี 3 สาแหรก หรือ 5 สาแหรกก็มิใช่ผู้ดีที่แท้จริง นอกจากนี้ มนุษย์ยังถูกแบ่งเป็น ทาส บ่าว ไพร่ นาย ผู้หญิง ผู้ชาย เผ่าชนต่าง ๆ แล้วขยายตัวออกไปสู่สิ่งอื่น เช่น เครื่องอุปโภค บริโภค ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงระบบการปกครอง รู้สึกว่าแต่ละอย่างย่อมมีฐานันดรทั้งสิ้น หรือเรียกอย่างภาษาปัจจุบันว่า “ชนชั้น”

การกําหนดฐานันดรหรือชนชั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนหรือสิ่งอื่นใดก็ตาม มีอยู่ 2 วิธีคือ 1. กําหนดโดยสายตรง คือกําหนดลงไปว่าสิ่งนั้น ๆ มีค่าสูงต่ำมากน้อยเพียงใด  2. กําหนดโดยสายสืบ คือต้องอาศัยสิ่งอื่นที่ตนเกาะอยู่เป็นเครื่องกําหนด เช่น คําพูด คําพูด อย่างเดียวกัน หากคนชั้นต่ำใช้จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าคนชั้นสูงใช้จะมีความรู้สึกเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือค่าของคําไม่เท่ากัน

เท่าที่กล่าวมาเสียยืดยาว ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ฐานันดรหรือชนชั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร มีผลต่อความรู้สึก ต่อความคิดของคนอย่างไร และมีผลสะท้อนต่อดนตรีไทยอย่างไร

ดนตรีไทยก็มีลักษณะอย่างดนตรีของชาวตะวันออกทั่วไปคือการนําเอาความเชื่อทางไสยศาสตร์อิทธิปาฏิหาริย์ของภูติผีเทวดาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งภูติผีเทวดาเหล่านั้นก็มีฐานะบรรดาศักดิ์สูงต่ำไม่เท่ากัน มีอิทธิฤทธิ์หน้าที่แตกต่างกันตามแต่ที่มนุษย์ได้ตกลงเอาไว้ก่อน แล้วก็เก็บเอามาเป็นความเชื่อดูประหนึ่งว่าไร้เหตุผล แต่ก็มีผลทางจิตใจหรือทางจิตวิทยาและยังคงรักษาเป็นจารีตประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบางอย่างก็ยังมีคุณค่า แต่บางอย่างนอกจากจะไม่มีคุณค่าแล้วยังถ่วงความเจริญทางดนตรีไทยก็ยังมี

ความเชื่อต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ มีผลกระทบต่อฐานะทางดนตรีไทยทั้งทางด้านวงดนตรี เครื่องดนตรี บทเพลงร้องและทํานองบรรเลง ซึ่งจะได้แยกกล่าวดังต่อไปนี้

1. ในทางด้านวงดนตรี วงดนตรีไทยมีการประสมวงมากมายหลายแบบก็จริงอยู่ แต่ถ้าพิจารณาไปตามฐานันดรของวงจะมีระดับต่าง ๆ ดังนี้

1.1 ระดับชั้นสูงสุดหรือระดับราชา ได้แก่ วงขับไม้ ปัจจุบันเรามีโอกาสได้ฟังได้เห็นยากอย่างยิ่ง นอกจากจะมีการ “แสดง” เป็นครั้งคราวเท่านั้นเพราะถือว่าเป็นของสูง ความสําคัญของวงที่กล่าวมานี้เป็นอย่างไร จะขอยกตัวอย่างข้อเขียนของ พระปฏิเวทย์วิศิษฎ์ (สาย เลขยานนท์) ในนิตยสารศิลปากรรายสองเดือน เล่มที่ 2 ปีที่ 6 พ.ศ. 2505 ดังนี้

วงขับไม้ ที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญ

“บางทีจะมีบางท่านใคร่จะทราบว่า “ช้าลูกหลวง” สําหรับเจ้าฟ้านั้นมีพิธีรีตองอย่างไร ผู้เขียนจึงขอเขียนเพิ่มเติมลงไว้เสียด้วย คือมีความในพระราชนิพนธ์ “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” นั้นว่า อนึ่ง เมื่อเวลาประสูติเจ้าฟ้านั้นครบเดือนเข้าแล้ว พราหมณ์จะยกขึ้นอู่ ต้องว่าคาถาสรรเสริญไกรลาศเหมือนหนึ่งเอาหงส์ขึ้นบนเปล แล้วกล่อมด้วยคาถาของพราหมณ์

และมีเครื่องมโหรีอย่างหนึ่ง เฉพาะทําได้แต่การหลวงและการของเจ้าฟ้า คือ มีซอคันหนึ่ง (ซอสามสาย) มีบัณเฑาะว์ 2 อัน มีคนขับคนหนึ่ง เรียกว่าขับไม้ ตั้งแต่ขึ้นพระอู่แล้ว มีข้าหลวงสําหรับร้องเพลงเห่ในเวลาประทมเรียกว่า “ช้าลูกหลวง” ทํานองและถ้อยคําไม่เหมือนกันกับที่เห่เจ้านายตามธรรมเนียม เป็นคําสูง ๆ เป็นต้นว่า อย่างเช่น พระเสด็จมาผ่านพิภพปกป้องพระวงศานุวงศ์และราษฎร ดังนี้”

วง “ขับไม้” นอกจากจะใช้ในพระราชพิธีช้าลูกหลวงแล้ว ยังนําไปใช้ในพระราชพิธีสําคัญอย่างอื่นอีกเช่น พิธีสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือก หรือพิธีแห่คเชนทรัศวสนาน เป็นต้น

1.2 วงดนตรีระดับเจ้านายหรือขุนนาง ได้แก่ วงมโหรี แม้วงมโหรีดังที่เราเรียกกันอยู่ในปัจจุบัน จะกลายรูปมาจากเดิมอยู่มากแล้วก็ตาม แต่ยังคงรักษาประเพณีของความเป็น “ผู้ดี” เอาไว้ คือการรักษา ความสุภาพ นิ่มนวล ทั้งในด้านผู้บรรเลง และลีลาของเพลง ทํานองเพลงที่นํามาบรรเลงคํานึงถึงความ ไพเราะเยือกเย็นเป็นสําคัญ สมกับที่เป็นวงได้ก่อกําเนิดมาจากชาวรั้วชาววัง ผู้บรรเลงดั้งเดิมก็เป็นผู้อยู่ในรั้วในวังมาก่อนทั้งสิ้นหรือไม่ก็เป็นเหล่าขุนนางที่ถูกอบรมในกิริยามรรยาทสมกับเป็นผู้ดีมีตระกูลที่ส่งผลสะท้อนออกมาในศิลปะของดนตรี

ในด้านเครื่องดนตรีก็เช่นกัน ผู้ที่เคร่งครัดในระเบียบของวงจะขาดซอสามสายไม่ได้ เพราะซอสามสายเป็นสัญลักษณ์สําคัญของความเป็นวงมโหรี แม้แต่เครื่องจังหวะเช่นกลองก็ยังคงใช้โทน รํามะนา ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่กล่าวมานี้มีเสียงเบา เหมาะสําหรับบรรเลงในที่จํากัด

1.3 วงดนตรีระดับชาวบ้าน ได้แก่ วงปี่พาทย์ เดิมทีเดียววงปี่พาทย์ใช้สําหรับประโคมเท่านั้น มิใช่ใช้เพื่อการขับกล่อมให้ไพเราะอย่างวงมโหรี ปัจจุบันแม้มีการปรับปรุงลักษณะของวงให้เหมาะต่อการใช้ต่าง ๆ เช่นประกอบการแสดงโขน ละครหรือการบรรเลงทั่ว ๆ ไปแต่ก็ยังแสดงออกถึงลักษณะของความเป็นพื้นบ้านอยู่ ทั้งส่วนที่เป็นนักดนตรี เครื่องดนตรี ลีลาของเพลง และวิธีการบรรเลง

คือเน้นในด้านความสนุกสนานที่ค่อนข้างโลดโผนมากกว่าความไพเราะ ให้ความอิสระแก่นักดนตรีจนบางครั้งดูประหนึ่งว่าขาดระเบียบ ทั้งนี้เป็นวิสัยของชาวบ้านที่ถือเอาความสนุกสนานเป็นสําคัญ ความงามมาทีหลัง น้อยนักที่จะพบเห็นบุคคลชั้นสูงระดับเจ้านาย บรรเลงดนตรีตามแบบฉบับของปี่พาทย์ บรรดานักดนตรีทั้งหลายที่เคยสังกัดหรือประจําอยู่ในวงปี่พาทย์ของเจ้านายในอดีต ล้วนแต่มาจากชาวบ้านแทบทั้งสิ้น หากเป็นเจ้านายก็มีแต่เป็นผู้ผลิตผลงานทางดนตรี เช่นเพลงต่าง ๆ หรือการปรับปรุงวงดนตรีเท่านั้น

1.4 วงดนตรีระดับศพหรือผี ได้แก่ วงปี่พาทย์นางหงส์ ที่จริงวงปี่พาทย์นางหงส์ก็คือวงปี่พาทย์ไทยธรรมดานี่เอง แต่ตามคติของนักดนตรีไทยถือว่า เครื่องดนตรีไทยทั้งหลายเป็นของสูง… เรื่องที่เกี่ยวกับความตายหรืองานศพนั้น ถือกันว่า ไม่เป็นมงคล ไม่ควรเอาสิ่งที่เป็นมงคลไปเกี่ยวข้องด้วย จะทําให้สิ่งของเหล่านั้นมัวหมองไปด้วย แต่เมื่อมีความจําเป็นต้องใช้หรือต้องทําก็ดัดแปลงเสียบ้าง ชาวบ้านเรียกว่า “เอาเคล็ด” หรือ “ถือเคล็ด” เป็นการเลี่ยงให้สิ่งเหล่านั้นพ้นมลทินเช่นเดียวกับคบเพื่อนที่กล่าวไว้ในมงคลสูตร

วิธีเลี่ยงก็คือเอาเครื่องดนตรีที่เราถือว่าเป็นของสูงเช่น ตะโพน เปลี่ยน เป็นกลองมลายูแทน เปลี่ยนปี่ในเป็นปี่ชวาแทน ชื่อวงก็เรียกให้แปลกออกไป เพราะสิ่งที่เอามาแล้วแต่เป็นของชาติอื่นเขา คล้ายกับว่าเอามารับเคราะห์แทน เครื่องดนตรีอื่น ๆ ที่ไม่ถือว่าสําคัญนักก็คงเอาไว้ดังเดิม ฉะนั้นวงดนตรีประเภทนี้จะใช้ในงานอื่นไม่ได้นอกจากงานที่เกี่ยวกับความตายเท่านั้น เว้นไว้แต่ไม่รู้มาก่อน

2. ในทางด้านเครื่องดนตรี เราได้แบ่งระดับชั้นและความสําคัญเอาไว้มาก แม้แต่การจัดวางของวงก็ต้องเป็นไปตามฐานันดรของความสําคัญ เครื่องดนตรีที่เรายกย่องว่าสูงสุดคงได้แก่ ตะโพน นักดนตรีจัดให้ตะโพนมีศักดิ์เทียบเท่ากับเทพเจ้าพระองค์หนึ่ง คือพระประคนธรรพ การที่ถือว่าตะโพนสําคัญนั้นมิได้มาทางสายของนักดนตรี แต่มาทางสายของการฟ้อนรํา เพราะผู้รำนิยมฟังเสียงกลองซึ่งมักใช้ตะโพนเป็นหลัก ตะโพนจึงเท่ากับเป็นครูฝึกคนหนึ่ง ฝ่ายดนตรีจึงพลอยตามไปด้วย ความสําคัญของตะโพนเป็นเช่นไรจะเห็นได้จากเมื่อมีพิธีครอบหรือไหว้ครูดนตรีไทยหรือนาฏศิลป์ ตะโพนจะต้องได้รับเครื่องเซ่นบวงสรวงสำรับหนึ่งเท่าเทียมกับเทพเจ้าอื่น ๆ ในขณะที่เครื่องดนตรีอื่นไม่มี

ในพิธีครอบหรือ ไหว้ครูดนตรีไทยหรือนาฏศิลป์ ตะโพนเท่านั้นจะได้รับเครื่องเซ่นบวงสรวงสำรับหนึ่ง

เครื่องดนตรีบางอย่างเช่นกลองแขกและกลองมลายู ที่ชื่อก็บอกว่าเป็นกลองของชาวต่าง ๆ สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงชี้แจงว่าที่จริงกลองทั้ง 2 อย่างนี้เดิมเป็นกลองอย่างเดียว แต่เรามาแบ่งหน้าที่การใช้แตกต่างกัน กําหนดรูปลักษณะให้ต่างกัน เรียกชื่อเป็น 2 อย่างคือ ที่เรีย “กลองแขก” ทํารูปร่างเพรียว เร่งเสียงด้วยหวาย ใช้ในงานมงคลทั่วไป ส่วน “กลองมลายู” มีรูปร่างป้อม ๆ เร่งเสียงด้วยหนัง ใช้เฉพาะในงานศพเท่านั้น จะนํามาใช้ในงานมงคลไม่ได้ จึงกลายเป็นกรรมของเครื่องดนตรีไป ปัจจุบันเห็นใช้ปน ๆ กันอยู่ อาจเป็นเพราะหาหวายยากกระมัง

ในการจัดวางเครื่องดนตรีในวงก็เช่นกัน คือให้เครื่องดนตรีที่เป็นพระเอกหรือตัวนําของวงเช่น ตะโพน ระนาดเอก ปี่ใน ฆ้องวงใหญ่ ซอด้วง อยู่ด้านขวาของผู้บรรเลง ส่วนซออู ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก กลองทัด วางไว้ทางด้านซ้าย ในทํานองเดียวกับการจัดรูป

3. ในทางด้านของเพลงขับร้องและเพลงบรรเลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับชื่อและเนื้อร้องในบทเพลงนั้น ๆ ด้วยจึงดูประหนึ่งว่า ชื่อและเนื้อร้องของเพลงมีความสําคัญยิ่งกว่าทํานองลีลาของเพลง ชื่อและคําร้องของเพลง นอกจากจะบอกความหมายของเพลงแล้ว ยังบอกความรู้สึกดีชั่ว ความเป็นมงคล หรือไม่เป็นมงคลอีก เช่นเพลงที่ใช้สําหรับบรรเลงในงานศพได้แก่ เพลงประจําวัด ประจําบ้าน นางหงส์ เป็นต้น ไม่นิยมใช้ ในงานอื่นนอกจากเป็นการแสดง หรือเพลงที่ห้ามบรรเลงในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน เป็นต้น ได้แก่ เพลงนางครวญ แขกลพบุรี เป็นต้น

อย่าง เพลงนางครวญ เป็นเพราะชื่อมีความหมายในทางเศร้า แต่เนื้อร้องหาได้เศร้าไม่ ส่วน เพลงแขกลพบุรี ชื่อเพลงมิได้บอกความหมายอะไร แต่เนื้อร้องกล่าวถึงการจากกัน กลายเป็นเพลงต้องห้ามไป ส่วนเพลงที่มีชื่อเป็นมงคล เช่นเพลงมหาฤกษ์ มหาชัย ดอกไม้ไทร ดอกไม้ไพร เทวาประสิทธิ์ เหล่านี้ ออกจะกลายเป็นเพลงชั้นสูงและสําคัญ ทั้ง ๆ ที่ทํานองเพลงก็ไม่แตกต่างอะไรกับเพลงธรรมดา

ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นความแตกต่างในฐานะของเพลงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพลงหน้าพาทย์เป็นเพลงที่นักดนตรีได้กําหนดให้เป็นเพลงประกอบกิริยาของบุคคลต่าง ๆ ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน ทั้งยังเป็นเพลงประจําฐานะด้วย ที่ไม่มีตัวตนก็ได้แก่ เทพเจ้าต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งบรรดาเทพเจ้าเหล่านั้นก็มีชั้นวรรณะไม่เท่ากัน ทําให้เพลงประจําตัวพลอยมีฐานะแตกต่างกันด้วย

ดังที่เรียกกันในภาษานักดนตรีไทยว่า เพลงหน้าพาทย์ธรรมดา เพลงหน้าพาทย์ชั้นกลาง เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง เช่นเพลง เชิด โอด เสมอ เป็นชั้นธรรมดา เพลงเสมอบาทสกุณี ตระนิมิต ตระนอน เป็นชั้นกลาง เพลงองค์พระพิราพดําเนินพราหมณ์ เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่เกิดขึ้นเป็นชั้นธรรมดา ชั้นกลาง หรือชั้นสูง ก็เพราะเพลงนั้นเข้าไปเกาะติดอยู่กับตัวบุคคลที่สมมติว่าสูงต่ำแค่ไหน อันลีลาทํานองของเพลงหาได้แตกต่างกันเท่าไรไม่ นอกจากบางเพลงที่สร้างทํานองให้แปลกออกไปตามที่เห็นว่าสําคัญจนรู้สึกว่าเป็นเพลงค่อนข้างยาก อย่างเพลงองค์พระพิราพ เป็นต้น

เท่าที่ได้กล่าวมา ถึงเรื่องฐานันดรของดนตรีไทยก็เพื่อเป็นเครื่องชี้อย่างหนึ่งว่า การศึกษาดนตรีไทยมิใช่จะคิดเพ่งมองไปในคุณค่าทางศิลปะฝ่ายเดียว ที่จริงงานศิลปะต่าง ๆ เป็นงานที่เกิดจากบุคคลในสังคมเป็นผู้สร้างขึ้น อิทธิพลทางสังคมก็จัดเป็นสิ่งสําคัญอย่างหนึ่งที่ทําให้เกิดความผันแปรทางความคิด แล้วมีผลมาถึงงานศิลปะอย่างเช่นดนตรีไทย เราอาจนําเอาดนตรีไทยมาศึกษาในแง่สังคมวิทยาหรือทางด้านมนุษยวิทยาก็ย่อมได้ สุดแต่จะมองไปในด้านใด


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 17 กันยายน 2562