ปฐมเหตุ “สงครามฝิ่นครั้งที่ 2” ฤๅมาจากความกระหายสงครามของ เซอร์จอห์น เบาว์ริง ?

สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ระหว่าง อังกฤษ กับ จีน

ปฐมเหตุ “สงครามฝิ่นครั้งที่ 2” ฤๅมาจากความกระหายสงครามของ เซอร์จอห์น เบาริง ?

ภายหลัง สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1839-42) ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีนอยู่ในขั้นเปราะบาง จีนมีท่าทีบ่ายเบี่ยงไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญานานกิงที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม จึงต่อต้านอังกฤษในทุกวิถีทาง ขณะที่อังกฤษก็พยายามกดดันจีนอย่างต่อเนื่อง เพราะรายได้จากจีนนั้นมีมูลค่ามหาศาลต่ออังกฤษอย่างมาก อังกฤษจึงส่ง “เซอร์จอห์น เบาริง” (Sir John Bowring) มาประจำการยังฮ่องกงเมื่อ ค.ศ. 1849

Advertisement

อังกฤษต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนในจีนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจแบบผูกขาด ด้วยการใช้นโยบายการค้าเสรีบังหน้า แต่มีลักษณะอัฐยายซื้อขนมยาย นั่นคือ อังกฤษขายฝิ่นจากอินเดียให้จีนแล้วนำเงินนั้นซื้อใบชาจากจีนส่งกลับไปอังกฤษ

ขณะที่ราชสำนักจีนได้แต่งตั้ง “เย่หมิงเจิ้น” (Ye Ming Zhen) เป็นเจ้าเมืองกวางตุ้งเพื่อรับมือกับอังกฤษ ขุนนางจีนผู้นี้ขึ้นชื่อว่าเป็นพวกชาตินิยมและหัวรุนแรง เขาเรียกคนอังกฤษว่าพวกป่าเถื่อน และปฏิเสธที่จะร่วมมือกับอังกฤษไม่ว่าจะถูกข่มขู่อย่างไร

เซอร์จอห์น เบาริง
เซอร์จอห์น เบาริง

เรื่องราวต่อไปนั้นเป็นอย่างไร? ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้ในบทความ “หลังฉากของเซอร์จอห์น เบาริง ตอนที่ 2 ความป่าเถื่อนของเซอร์จอห์น” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2564 เป็นดังต่อไปนี้

“สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ผลงานของเซอร์จอห์น

สงครามที่เซอร์จอห์นต้องการคือ ประกาศตนเป็นศัตรูกับระบอบเจ้าขุนมูลนายของจีน เรียกการต่อสู้ครั้งนี้ว่าสงครามฝิ่นครั้งที่ 2…ชนวนของสงครามปะทุขึ้นเมื่อตอนเช้าของวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1856 เวลาประมาณ 08.00 น. เรือสำเภาจีนแต่ถูกดัดแปลงใหม่คล้ายเรือลูกผสมฝรั่ง จอดทอดสมออยู่หน้าโกดังสินค้านอกเมืองกวางตุ้ง ชื่อเรือ แอร์โรว์ (Arrow) กัปตันเป็นชาวอังกฤษ ชื่อ โทมัส เคนเนดี้ (Thomas Kennedy) ถูกเรือตรวจการณ์ของจีนเข้าตรวจค้นหาสินค้าหนีภาษี (ตามปกติ)

กัปตันเคนเนดี้ประท้วงอย่างรุนแรง โดยอ้างว่าในขณะนั้นเรือแอร์โรว์ชักธงอังกฤษตามระเบียบ จึงควรได้รับความคุ้มครองตามสนธิสัญญานานกิง เรือตรวจการณ์ของจีนได้ตรวจค้นและจับกุมลูกเรือแอร์โรว์ ประกอบด้วยกุลีจีนจำนวน 14 คน มัดมือไพล่หลังแล้วนำออกไปทันที

กัปตันเคนเนดี้กล่าวหาว่านอกจากเป็นการกระทำโดยพลการแล้ว ทหารจีนคนหนึ่งยังได้กระชากธงอังกฤษลงจากเสาของเรือ อันเป็นการดูถูกเหยียดหยามอังกฤษอย่างร้ายแรง เกิดปะทะคารมกันเล็กน้อยแต่ฝ่ายจีนก็ส่งคืนลูกเรือกลับมา 2 คน แต่ควบคุมอีก 12 คนไว้ก่อนจะแล่นจากไป

เรือสำเภาจีน

ต่อมารัฐบาลจีนแจ้งว่าลูกเรือทั้ง 12 คน เป็นพวกกบฏไต้ผิง และเรือแอร์โรว์นั้นก่อนหน้านี้ก็ใช้เป็นเรือกบฏ แต่ถูกดัดแปลงและขายต่อให้พ่อค้าอังกฤษใช้เป็นเรือสินค้า จากการสอบสวนอย่างละเอียดทางจีน แจ้งว่า 2 ใน 12 คนเป็นหัวหน้าพวกกบฏจริง หมายความว่าทางการจีนได้กระทำถูกต้องแล้ว ทั้งยังยืนยันอีกว่าขณะเข้าตรวจค้นเรือแอร์โรว์มิได้ชักธงอังกฤษตามธรรมเนียม…

ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหา ทางการอังกฤษแจ้งให้ทางการจีนทราบว่า 1. จะขอคืนลูกเรือทั้ง 12 คน มาสอบสวนเองอีกครั้ง 2. ขอจดหมายขอขมาอย่างเป็นทางการจากเจ้าเมืองกวางตุ้งว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และให้ตอบภายใน 24 ชั่วโมง…

เซอร์จอห์นซึ่งปกติเป็นคนแข็งกร้าวและเด็ดขาดกับทางการจีนอยู่แล้ว คิดว่ากรณีเรือแอร์โรว์น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีในการปรักปรำรัฐบาลจีนว่าได้ล่วงละเมิดเอกสิทธิ์ของอังกฤษตามสนธิสัญญานานกิง และจีนมีท่าทีต่อต้านการค้าเสรีของเรือสินค้าอังกฤษ จึงพร้อมจะยกระดับปัญหากรณีเรือแอร์โรว์เป็นข้อพิพาทระดับชาติที่ต้องตัดสินความถูกผิดและหาผู้รับผิดชอบมาลงโทษ

อย่างแรกที่เซอร์จอห์นต้องทำคือยื่นเรื่องประท้วงอย่างเป็นทางการในฐานะผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ ต่อมาก็ต้อง ‘ล็อบบี้’ แม่ทัพเรือของฝ่ายตนคือ พลเรือเอกซีมอร์ (Admiral Seymour) ให้เตรียมความพร้อม หากการตัดสินปัญหาด้วยการเจรจาใช้ไม่ได้ผล

เซอร์จอห์นเน้นในรายงานของเขาเข้าไปยังลอนดอนถึงการเหยียดหยามธงชาติอังกฤษโดยทหารจีนเป็นหลัก และตัดรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับทะเบียนเรือ (ที่เคยจดกับกงสุลอังกฤษ) แต่หมดอายุไปนานแล้วและยังไม่ได้ต่อ ตลอดจนลูกเรือที่เป็นพวกกบฏไต้ผิงออกไปจนหมดสิ้น ซึ่งเท่ากับหวังผลทางการเมือง แต่ถ้ายอมจำนนต่อหลักฐานตามความเป็นจริงแล้ว ทางการจีนก็มิได้ทำความผิดแม้แต่น้อย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการให้ความเท็จของฝ่ายอังกฤษโดยเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นร่วมมือกันประพฤติมิชอบ

เรือแอร์โรว

เมื่อวิกฤติเรือแอร์โรว์ขยายตัวออกไป เจ้าเมืองกวางตุ้งก็ตั้งค่าหัวชาวอังกฤษ เพื่อล่อใจชาวจีนที่ต้องการล้างแค้น และเสนอที่จะให้รางวัล $100 ต่อผู้ที่สามารถสังหารคนอังกฤษได้ 1 คน โดยให้เหตุผลว่า ‘พวกอังกฤษป่าเถื่อนกำลังจะบุกเมืองของเรา และทำร้ายผู้คนของเรา ข้าขอประกาศที่จะต่อสู้กับพวกมัน จงสังหารคนอังกฤษเมื่อพบพวกมันทั้งบนดินและบนเรือ ใครฆ่าพวกหัวหน้าของมันได้จะมีรางวัลให้ $5,000 และถ้าสามารถปลิดชีวิตเจ้ากงสุลหรือตัวทูตได้ ข้าจะตบรางวัลให้ $30,000’

กวางตุ้งถูกถล่ม ความสะใจของคนอังกฤษ

ครั้นเมื่อเห็นความดื้อดึงของเซอร์จอห์นยืดเยื้อออกไป เย่หมิงเจิ้นเริ่มตระหนักถึงการตกเป็นเบี้ยล่างในสถานการณ์นี้ จึงติดต่อขอประนีประนอมกับอังกฤษ โดยพร้อมที่จะคืนลูกเรือทั้งหมดและขอขมา แต่สายเกินไปเสียแล้ว อังกฤษให้เหตุผลว่าเกินกำหนดเส้นตาย 24 ชั่วโมง ที่ได้ให้ไว้

วันที่ 23 ตุลาคม 1856 เซอร์จอห์นออกคำสั่งให้เรือรบเอ็นเคาน์เตอร์ (H.M.S. Encounter) ระดมยิงเมืองกวางตุ้งด้วยปืนใหญ่อย่างบ้าระห่ำทุก ๆ 5 นาที โดยให้เล็งปากกระบอกปืนไปยังคฤหาสน์ของท่านเย่เป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อเป็นการสั่งสอน…

ชาวจีนอ่านประกาศของเย่หมิงเจิ้น ที่มีการตั้งค่าหัวชาวอังกฤษ

กระสุนนัดแรกตกลงกลางใจเมือง มีราษฎรเสียชีวิตทันที 5 ศพ จำนวนนี้เพิ่มเป็น 10 เท่ากับกระสุนปืนนัดที่ 2 เย่หมิงเจิ้นประกาศกร้าวให้ชาวจีนเอาชีวิตเข้าแลกกับการรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ (หมายเหตุ : ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 รัฐบาลจีนยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนสูงถึง $6,000,000 ให้อังกฤษ เพื่อมิให้กวางตุ้งถูกโจมตี แต่ “สงครามฝิ่นครั้งที่ 2″ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และชาวจีนตัดสินใจขัดขืนคำขู่ของอังกฤษโดยยอมสู้ตาย)

ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 1856 โกดังเก็บสินค้าของชาวต่างชาติทั้งหมดถูกชาวจีนเผาทิ้งวอดเป็นหน้ากลอง ผู้ช่วยกงสุล…คนหนึ่งชื่อ เฮนรี่ เลน (Henry Lane) เสียชีวิตในกองเพลิง ความอาฆาตแค้นระบาดไปถึงที่มั่นของอังกฤษบนเกาะฮ่องกง โดยในวันที่ 15 มกราคม 1857 ชาวอังกฤษนับร้อยคนรวมทั้งครอบครัวของเซอร์จอห์นถูกวางยาพิษในขนมปังที่วางจำหน่ายอยู่ภายในเบเกอรี่แห่งหนึ่ง ตัวเซอร์จอห์นเองก็ถูกหามส่งโรงพยาบาล แต่หมอช่วยชีวิตไว้ได้ทันท่วงที ถึงรอดมาได้ก็สะบักสะบอมเต็มที”

ผลของสงครามครั้งนี้ จีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะจีนไม่อาจต่อกรกับมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกในเวลานั้นอย่างอังกฤษได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เซอร์จอห์น เบาริง ถูกนักการเมืองในประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามโจมตี และแสดงความไม่เห็นด้วยการกระทำของอังกฤษต่อจีนในกรณีนี้ จนนักการเมืองบางส่วนกดดันรัฐบาลให้เรียกตัว เซอร์จอห์น เบาริง กลับแล้วให้ยุบสภา บางส่วนเห็นว่าควรทำสงครามต่อไป

รัฐสภาอังกฤษได้วิจารณ์การกระทำของเซอร์จอห์น เบาริง ดังปรากฎใน BLUE BOOK ของทางการ ซึ่งเป็นหนังสือปกสีน้ำเงินที่รัฐสภาอังกฤษพิมพ์ขึ้นเพื่อแถลงกิจการแก่สาธารณชน BLUE BOOK เล่มนี้เป็นรายงานของคณะกรรมาธิการต่างประเทศ เมื่อ ค.ศ. 1865 ลงความเห็นเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของ “สงครามฝิ่นครั้งที่ 2” ที่มีเซอร์จอห์น เบาริง เป็นผู้รับผิดชอบ มีเนื้อหาบางส่วนดังนี้

“วาจา และการกระทำของเซอร์จอห์น เบาริง บันทึกความจำโดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ แห่งเขตเซ็นต์แพนคราส (ลอนดอน)

เซอร์จอห์น เบาริง แสดงปาฐกถาเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจและการค้าเสรี ที่เมืองเอ็กซิเตอร์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 1865 มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ท่านเชื่อว่าเมื่อพระเป็นเจ้าทรงสร้างโลกขึ้นแล้วก็ทรงกระจายอำนาจของมนุษยชาติไปยังดินแดนต่าง ๆ ให้คนมีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน นี่เป็นความเชื่อของชาวคริสเตียนเช่นเรา และเมื่อพวกเขามีปัจจัยยังชีพเกินความจำเป็นแล้ว ก็ควรแบ่งปันให้กับเรา และถ้าเรามีมากเกินไปก็ให้กับพวกเขาเป็นการตอบแทน (ที่ประชุมปรบมือ) มันเป็นหน้าที่ของมวลมนุษย์ที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และให้พรเพื่อนบ้านของตน เพราะเราเกิดมาเป็นพี่น้องกัน แต่ละคนควรมองคนแปลกหน้าเหมือนเป็นเพื่อนเราเอง ความเจริญและสันติภาพจึงจะเกิดขึ้นได้ (เสียงไชโยโห่ร้อง)

สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ระหว่าง อังกฤษ กับ จีน
ทหารอังกฤษรอคำสั่งยิงในเหตุการณ์สงครามฝิ่นครั้งที่ 2

เซอร์จอห์น เบาริง มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว เพราะมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญดูแลกิจการค้าขายกับทางเมืองจีน แต่คนจีนจะมองหน้าเขาประดุจเพื่อนได้อย่างไร? ในเมื่อเขาก้าวก่ายกิจการภายในของจีน และเมื่อถูกต่อต้าน เขาก็ถล่มเมืองกวางตุ้งอย่างน่าละอายใจ

ผู้ว่าฯ เย่หมิงเจิ้นประณามพวกเราชาวอังกฤษว่าป่าเถื่อนและขาดศีลธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ทำตัวเหมือนสัตว์ป่าดังเช่นเสือหิวกระหายเลือดและเป็นพวกน่ารังเกียจ อพยพไปเรื่อย ๆ เหมือนฝูงนกฝูงกา พวกอังกฤษดูหมิ่นเหยียดหยามเบื้องสูง และดักโจมตีชาวจีนที่ไม่ทันได้ตั้งตัว เหมือนสุนัขลอบกัด คนอังกฤษเผาบ้านเมืองและทำลายร้านค้าของจีนด้วยความอาฆาตพยาบาท

ในทางกลับกัน เซอร์จอห์น เบาริง กล่าวหาจีนว่าคว่ำบาตรสนธิสัญญาของอังกฤษ เขาจึงต้องปกป้องผลประโยชน์ของชาติ โดยอ้างเหตุผลต่อไปว่า :

1. การโจมตีกวางตุ้งก็เพื่อตอบโต้การดูหมิ่นธงชาติอังกฤษ 2. การโจมตีเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อปกป้องลูกเรือแอร์โรว์ผู้บริสุทธิ์ 3. ผู้ว่าฯ เย่หมิงเจิ้นไม่ควรกักขังหน่วงเหนี่ยวลูกเรืออังกฤษไว้เป็นตัวประกันโดยไม่มีเหตุผล

ทว่าข้ออ้างทั้งหมดล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะ

1. เรือจีนดัดแปลงเป็นอังกฤษชื่อเรือแอร์โรว์นั้นไม่มีสิทธิ์จะชักธงอังกฤษด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนว่า เซอร์จอห์น เบาริง จะอ้างถึงสิทธิ์นี้โดยไม่จำเป็น ทั้งที่เขาเองได้ยืนยันกับกงสุลปาร์คส์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 1856 แล้วว่าเรือลำนี้ไม่มีสิทธิ์ชักธงอังกฤษ แต่กลับคำพูดตนเอง โดยโต้แย้งกับผู้ว่าฯ เย่หมิงเจิ้นว่าเรือแอร์โรว์ชักธงอังกฤษอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ร้อยโททอมสันอีกผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ เป็นพยานยืนยันในจดหมายถึงคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งเมืองเชฟฟิลด์ว่า เรากุเรื่องทั้งหมดขึ้นมาเอง ทั้งที่เป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ

สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ระหว่าง อังกฤษ กับ จีน
เรือรบอังกฤษยิงถล่มเมืองกวางตุ้ง ในเหตุการณ์สงครามฝิ่นครั้งที่ 2

2. การยิงถล่มเมืองกวางตุ้งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความจำเป็นในการปกป้องผู้ใดเลย เพราะผู้ว่าฯ เย่หมิงเจิ้นก็ได้ยินยอมส่งคืนลูกเรือทั้งหมดให้ทางการอังกฤษก่อนถึงกำหนดเส้นตาย กงสุลปาร์คส์เองก็ยอมให้การข้อเท็จจริงไว้ใน BLUE BOOK แล้วเช่นกัน

3. ถึงลูกเรือจะถูกส่งมอบให้อังกฤษหมดแล้ว แต่การยิงถล่มเมืองกวางตุ้งก็ยังดำเนินต่อไปตามแผน หมายความว่าเซอร์จอห์น เบาริง มิได้ให้ความสำคัญกับลูกเรือแม้แต่น้อย แต่กระทำทุกวิถีทางที่จะสั่งสอนรัฐบาลจีนและฉวยโอกาสนี้หักหาญเข้าตีเมืองกวางตุ้ง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองเท่านั้น

เราจึงควรพิจารณารายละเอียดของเหตุการณ์นี้อย่างถ่องแท้ และด้วยความระมัดระวังเพื่อมิให้หลงประเด็น อันเนื่องมาจากการปาฐกถาของเซอร์จอห์น เบาริง ที่เมืองเอ็กซิเตอร์นั้น ก็เท่ากับปฏิเสธหลักการอันมั่นคงของเราเองและทำลายเกียรติศักดิ์ของสมาชิกภาพที่เราดำรงอยู่

ลงนามตามคำสั่งของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศในที่ประชุม

C. D. Collet (ประธานการประชุม) C. F. Jones (เลขาธิการ) ณ วันที่ 31 มีนาคม 1865″

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564