“เบื้องหลัง” การทําสัญญาเบาริ่ง เซอร์จอห์นส่งของกํานัลซื้อใจ

เซอร์ จอนห์เบาริ่ง ผู้มีส่วนสำคัญในการทำสัญญาเบาริ่ง

ในเวลาไม่ช้าเซอร์จอห์นก็คิดออกว่า อิทธิพลของอังกฤษโดยรวมซึ่งเป็น “ปัจจัยบวก” เห็นได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำประเทศเข้าสู่หนทางแห่งการปรับปรุงให้ทันสมัย สำหรับการนี้ราชสำนักจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติทางด้านผู้เชี่ยวชาญ และเพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เช่น เรือกลไฟ รถไฟ โทรเลข เครื่องพิมพ์เงินตรา กล้องถ่ายรูป แม้แต่กล้องดูดาว ฯลฯ

อังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมจึงแทบจะเป็นชาติเดียวที่ได้รับความไว้วางใจจากราชสำนักสยามในการวางรากฐานและซื้อหาสินค้าต่างๆ ให้ และด้วยเหตุนี้ เซอร์จอห์นจึงไม่รอช้าที่จะรีบแนะนำไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า

“ข้าพเจ้ากล่าวถึงสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ก็เพื่อให้ท่านจะได้มีความเห็นคล้อยตามคำแนะนำของข้าพเจ้าถึงลักษณะของกำนัลที่โปรดปรานสำหรับพระเจ้าอยู่หัวทั้งสอง ซึ่งควรจัดส่งไปยังประเทศสยาม เพื่อเป็นนิมิตหมายของความสำเร็จในการตกลงทำสนธิสัญญาได้ตามวัตถุประสงค์” [1]

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1855 เครื่องมงคลราชบรรณาการสำหรับพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์ ได้รับความเห็นชอบ และถูกจัดส่งเข้ามาโดยรัฐบาลอังกฤษอย่างเป็นทางการ แต่นอกเหนือไปกว่านั้น เซอร์จอห์น ยังได้ขอเบิก “งบฯ ลับ” เพื่อจัดซื้อของกำนัล” อีกจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ความใจกว้างของเขาเป็นใบเบิกทางและเพื่อหาข้อยุติในอุปสรรคที่เขาประสบจากกลุ่มขุนนางชั้นผู้ใหญ่ โดยที่เขาเชื่อว่าความเป็นผู้โอบอ้อมอารีจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น

ความพยายามครั้งใหม่ที่จะปรองดองของเซอร์จอห์นที่แท้ก็คือความพยายามที่จะข่มเหงแบบสงบ การปล่อยวางของอังกฤษที่จริงเป็นหนึ่งของการกระทำ นอกจากนั้นการที่รัฐบาลสยามยอมรับข้อเสนอใดๆ ที่มากับเซอร์จอห์นที่ขัดและไม่ขัดกับจริยธรรมอันดีงามของคนไทย ก็เท่ากับยอมรับความถูกต้องในทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ

ก่อนการมาถึงของเซอร์จอห์น เขาได้เขียนจดหมายไปยังรมต. ว่าการต่างประเทศในลอนดอนอีกฉบับหนึ่ง แจ้งข่าวการเบิกงบฯ ลับสำหรับการจัดซื้อของกำนัล เพื่อทำให้ภารกิจทางการเมืองในกรุงเทพฯ ของเขาดำเนินสะดวกขึ้น จะเห็นได้ว่าของขวัญที่เขาซื้อหามาเป็นพิเศษ มิได้เกี่ยวข้องกับของมงคลราชบรรณาการแต่อย่างใด และมีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน

สำนักงานผู้แทนทางการค้า ฮ่องกง 12 มีนาคม ค.ศ. 1855

เรียน ฯพณฯ

ข้าพเจ้าออกเดินทางไปกรุงเทพฯ วันนี้ด้วยเรือกลไฟหลวง “แรตเลอร์” และเรือ “เกรเชียน”

ผู้ติดตามข้าพเจ้าประกอบด้วยกงสุลปาร์คส์ นายจอร์จ เคน (ผู้ช่วยคนที่ 2) นายเบลล์ (นักศึกษาล่าม) และบุตรชายของข้าพเจ้า จอห์น ชาร์ลส์ เบาริ่ง ผู้ร่วมเดินทางไปในฐานะเลขาส่วนตัว

ข้าพเจ้าได้เบิกเงินจากเจ้าหน้าที่การคลังของอาณานิคมไว้ใช้จ่ายภายในคณะทูตเป็นจำนวน 400 ปอนด์ และได้จ่ายซื้อสิ่งของเบ็ดเตล็ดเพื่อเป็นของกำนัลเป็นเงิน 300 ดอลลาร์ (หรือ 62 ปอนด์ 10 เซนต์) ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะส่งไปให้ท่านต่อไป

ข้าพเจ้ากำหนดที่จะเดินทางกลับฮ่องกงก่อนกลางเดือนเมษายน และได้จัดการติดต่อไปยังแม่ทัพเรือว่า เรือเกรเชียนจะยังคงอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อไปกับนายปาร์คส์ เพื่อดำเนินงานตามเป้าหมายต่อไป

ข้าพเจ้าคงจะไม่อาจหาเวลาที่เหมาะไปกว่านี้ที่จะไปเยือนประเทศสยาม และข้าพเจ้ามีเหตุผลมากมายพอที่จะเชื่อว่าความล่าช้าที่เพิ่มขึ้นทุกวันนั้นจะเป็นผลเสียต่อผลประโยชน์ของเราที่ควรจะได้จากดินแดนแถบนั้น

ขอแสดงความนับถือ

จอห์น เบาริ่ง 

ถึง ฯพณฯ เอิร์ลแห่งคลาเรนดอล เค.จี. [1]

นายแฮร์รี ปาร์คส์ (Harry Parkes) ผู้ช่วยราชทูตอังกฤษ ทำบัญชีของกำนัลที่จัดส่งเข้ามายังประเทศสยาม เพื่อถวายแด่เจ้านาย เสนาบดี และครอบครัวของเสนาบดี จน “ครบทุกคน” มีรายละเอียดดังนี้

นำมาจากประเทศอังกฤษโดยเซอร์จอห์น เบาริ่ง-โซ่ทอง 1 เส้น, นาฬิกาแขวนลงยา ฝังเพชร 1 เรือน, ภาพสไลด์ลงยาฝังเพชร 1 ภาพ, สายสร้อยคอลงยาและตรา 1 เส้น, แบบจำลองนครลอนดอน 3 รูป (นำมาจากที่ทำการทางการค้า, ฮ่องกง)

ถวายสมเด็จองค์ใหญ่-ภาพการต่อสู้ทางทะเล 9 ภาพ (ได้ซื้อโดย เซอร์เจ. เดวิส โดยตั้งใจจะนำไปประเทศโคจินจีน)

ถวายแด่เจ้าชายกรมหลวงวงษา-ปืนไรเฟิลด์ 1 กระบอก (ได้ซื้อโดย เซอร์เจ. เดวิส และ ตั้งใจจะนำไปประเทศโคจินจีน)

ถวายสมเด็จองค์น้อย-ปืนนกชนิดลูกโม่ ดีนและแอดัม 1 กระบอก (ได้ซื้อที่ฮ่องกง)

มอบให้พระกลาโหม ซื้อโดย เซอร์เจ. บรูค-เครื่องวัดแดดขนาด 8 นิ้วอย่างดีที่สุด 1 เครื่อง, คานตั้งสำหรับใช้ทั่วไป 1 อัน, ปรอทที่ทำขึ้นแบบนอนอย่างดีที่สุด 1 ชิ้น, รายงานของจูรี่ 1 ตอน (จากที่ทำการทางการค้าประจำฮ่องกง)

มอบให้พระคลัง ซื้อโดย เซอร์เจ. บรูค-เครื่องวัดความกดอากาศที่ไม่ใช้ปรอท, นาฬิกาข้อมือ 1 เรือน

มอบให้พระนายไวย ซื้อโดย เซอร์เจ. บรูค-เครื่องมือวาดเขียน 1 ชุด

ถวายพระราชโอรสองค์โตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 2-เครื่องมือวาดเขียน 1 ชุด

ของชำระและไม่ได้นำถวาย-ปรอทวัดความร้อนสูงสุด 1 อัน, ปรอทวัดระดับต่ำสุด 1 อัน มอบให้ใช้เป็นสาธารณะ-เครื่องวัดน้ำหนักพิกัดของของเหลว 1 เครื่อง

สินค้าต่างๆ และพวกเครื่องหอมซึ่งซื้อที่ฮ่องกง รวมราคาประมาณ 300 ปอนด์ เพื่อจัดแบ่งให้แก่ข้าหลวง 5 ท่าน และลูกๆ ของเจ้านายที่สำคัญๆ โดยเท่าๆ กัน (ที่มา ของข้อมูล : ศิวะลีย์ ภูเพ็ชร. บันทึกสัมพันธภาพระหว่างสยามกับนานาประเทศ เล่มที่ 7 (ค.ศ. 1854-1855). กรมศิลปากรจัดพิมพ์, 2540.)

วันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1855 นายแฮร์รี่ ปาร์คส์ เขียนบันทึกช่วยจำฉบับหนึ่งให้เซอร์จอห์น แจ้งความเห็นชอบของรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องของกำนัลพิเศษสำหรับขุนนางผู้ใหญ่ และยืนยันว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้ทำตามคำแนะนำของเซอร์จอห์นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำนักงานต่างประเทศ

14 กันยายน ค.ศ. 1855

แฮร์รี่ ปาร์คส์ เอสไควร์

เรียน ฯพณฯ [คือ เซอร์จอห์น เบาริง]

ข้าพเจ้าได้นำจดหมายของท่านฉบับลงวันที่ 10 เดือนนี้ ซึ่งได้สอดบันทึกเรื่องราวของสยามมาด้วย เสนอต่อ ฯพณฯ เอิร์ลแห่งคลาเรนดอนแล้ว และข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ลอร์ดคลาเรนดอนเห็นพ้องด้วยตามคำแนะนำของท่านเรื่องค่าเช่าบ้านของนายเบลล์ ซึ่งรัฐบาลควรจ่ายให้ และชุดถ้วยชามซึ่งพระคลังได้มอบหมายให้เขาสั่งซื้อในราคา 250 ปอนด์นั้น ควรจะส่งไปให้พระคลังเป็นของกำนัลจากรัฐบาล และข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมความมุ่งหมายที่ให้นั้นว่า เพื่อเป็นสิ่งที่จะช่วยให้การตกลงในเรื่องสนธิสัญญากับประเทศสยามจะได้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเพื่อทำตามคำแนะนำที่บอกมาในบันทึกของท่านด้วย [1]

การที่เอกสารของทางราชการระบุว่า “ของกำนัล” เป็นสิ่งที่จะช่วยให้การตกลงในเรื่องสนธิสัญญากับประเทศสยามจะได้เสร็จสิ้นโดยเร็ว จึงเป็นเรื่องน่าคิด และควรให้ความสนใจใคร่ค้นหาข้อเท็จจริงต่อไป

เซอร์จอห์นยังได้มีจดหมายส่วนตัวอีกฉบับหนึ่ง ถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ (เอิร์ลแห่งคลาเรนดอน) แจ้งให้ทราบว่าแม้แต่ศัตรูหมายเลข 1 ของท่านในการทำสนธิสัญญานี้ (หมายถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือสมเด็จองค์น้อย) บัดนี้ ได้กลับกลายเป็นมิตรที่ดี ท่านไปแล้วภายหลังที่ได้รับของเล่นชิ้นใหม่จากอังกฤษ

“ข้าพเจ้าจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะได้รับรายละเอียดคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้กล้องส่องทางไกล ซึ่งอาจจะได้จากผู้ประดิษฐ์กล้องส่องทางไกลของท่าน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นเรื่องใหม่ (แปลกของพวกขุนนางและชนชั้นสูงทั้งหลายของสยาม ผู้ซึ่งชอบที่จะดูภาพไกลๆ ที่อยู่บนโลกและสิ่งต่างๆ บนท้องฟ้าพร้อมกับข้าพเจ้า

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ผู้สำเร็จราชการสยามคนที่สองได้อวดปืนพกที่สวยงามแก่ข้าพเจ้า ซึ่งท่าน (คือเอิร์ลแห่งคลาเรนดอน) ได้มอบให้เขาเพื่อเป็นที่ระลึก มันมีขนาดใหญ่ที่สุดและดีที่สุดที่อยู่ในประเทศสยามในขณะนี้ ข้าพเจ้ามีปืนชนิดเดียวกันนั้นกระบอกหนึ่ง ผู้ประดิษฐ์คือ (ดีน แอดัมส์ และดีน ปาเตน) แต่ของข้าพเจ้ามีขนาดเล็กกว่าของท่าน

สมเด็จเจ้าพระยาพอใจอย่างยิ่งกับของขวัญที่แปลกและเป็นประโยชน์จากท่าน และพูดถึงความโอบอ้อมอารีของท่านด้วยความเคารพอย่างสูง ข้าพเจ้าจึงขอส่งข่าวนี้ให้ท่านทราบด้วย หวังว่าคงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเมื่อได้รับทราบ”… [1]

 


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] ศิวะลีย์ ภูเพ็ชร. บันทึกสัมพันธภาพระหว่างสยามกับนานาประเทศ เล่มที่ 7 (ค.ศ. 1854-1855). กรมศิลปากรจัดพิมพ์, 2540


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “สยามกู้อิสรภาพตนเอง ทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา (มติชน, 2550)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ตุลาคม 2564