จากสนธิสัญญา “นานกิง” สู่ “เบาริ่ง” วิเทโศบายสมัย ร.4 สยามรู้ทันอังกฤษ!

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เซอร์จอห์น เบาริ่ง อัครราชทูตอังกฤษ เข้าเฝ้า (ภาพจิตรกรรมเทิดพระเกียรติกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ วาดโดย นคร หุราพันธ์ ปัจจุบันแขวนอยู่ภายในอาคารรัฐสภา)

เมื่อ พ.ศ. 2555 ผู้เขียนได้ออกหนังสือมหากาพย์เล่มหนึ่งชื่อ “เบื้องหลังสัญญาเบาริ่งและประวัติภาคพิสดารของ Sir John Bowring” (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ) ต่อมาอีก 2 ปี ก็ได้ค้นพบข้อมูลเชิงวิเคราะห์เพิ่มเติมของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงยืนยันเงื่อนไขสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับสัญญาฉบับนี้ แต่เราไม่กล้าฟันธงมาก่อน อันเป็นเครื่องเตือนใจว่าเหตุการณ์รุนแรงเกือบจะได้อุบัติขึ้น หากไทยไม่ยอมตกลงทำสัญญากับอังกฤษแต่โดยดี

160 ปี (พ.ศ. 2398-2558) ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง สยามก็เข้าสู่ระบบการค้าสากลที่ เซอร์จอห์น เบาริ่ง เป็นผู้นำเข้ามา ทำให้สามารถติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกอย่างเท่าเทียมในรูปแบบการค้าเสรี และคนโดยมากก็จะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาว่าเซอร์จอห์นได้มันไปด้วยความอัปยศ หน้าฉากของความสำเร็จอาจเป็นความเจริญแบบสุด ๆ ของระบบเศรษฐกิจที่เป็นแม่แบบของการค้าในปัจจุบัน แต่หลังฉากกลับเป็นการเบียดเบียน กดขี่ข่มเหง และวางอำนาจบาตรใหญ่ของอังกฤษ

ภายหลังจากที่อังกฤษไม่สามารถกดดันให้จีนเปิดเมืองท่าและทำการค้ากับอังกฤษอย่างเสรีนั้น อังกฤษก็จำเป็นต้องใช้มาตรการรุนแรงกับจีนเกิดเป็นสงครามแห่งความอัปยศในซีกโลกตะวันออกที่รู้จักกันดีว่า “สงครามฝิ่น” (Opium War)(1)

ประวัติศาสตร์ยังบอกเราว่าเมื่อมาตรการของอังกฤษในจีน ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก อังกฤษก็จำเป็นต้องหาทางลัดด้วยวิธีตัดไม้ข่มนามกับชาติทางเอเชียอื่น ๆ ที่เป็นตลาดเศรษฐกิจสำคัญของอังกฤษ เพื่อพิสูจน์ว่าทฤษฎีของอังกฤษตามแนวทางการค้าเสรีนั้นถูกต้องแล้ว และจำเป็นต้องพิสูจน์เรื่องนี้โดยเร็ว ดังนั้น ในขณะที่สงครามฝิ่นกับจีนยังไม่เสร็จสิ้น อังกฤษก็ยังต้องเปิดศึกด้านอื่นตามสำนวนไทยโบราณที่กล่าวว่า ดาบจะดีต้องตีเมื่อเหล็กยังร้อน

สยามเป็นชุมทางการค้าและจุดเชื่อมโยงกับตลาดการค้าขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของเอเชีย มีอาทิ  อินเดีย พม่า มลายู จีน และญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการอย่างมากของตลาด คือ ข้าวและน้ำตาล ความต้องการของอังกฤษก็คือ เห็นสยามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการค้ากับตะวันตก และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม แทนที่จะไปยึดโยงอยู่กับประเทศจีน(2)

“สนธิสัญญาเบาริ่ง” ระหว่างอังกฤษกับสยามจึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ประกอบด้วยข้อตกลง 21 ข้อ เนื้อหาของสัญญาเป็นความเข้าใจทางพระราชไมตรีและการกำหนดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การค้าเสรี การจัดเก็บภาษี สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และสิทธิมนุษยชน(1)

เป็นที่น่าสังเกตว่าสัญญาเบาริ่งฉบับนี้มีความคล้ายคลึงและมีมาตรฐานเดียวกันกับ “สนธิสัญญาหนานกิง” (Treaty of Nanjing) ซึ่งอังกฤษกับจีนทำร่วมกันใน พ.ศ. 2385 (ค.ศ. 1842) หลังจากที่จีนแพ้อังกฤษในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ส่งผลให้จีนต้องยกเลิกระบบการผูกขาดการค้าของสำนักโคฮองและถูกบังคับให้เปิดการค้าขายแบบเสรีแทน(5)

ภาพและหุ่นจำลองเหตุการณ์สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (1839-42) ในพิพิธภัณฑ์เซินเจิ้น (ภาพโดย Huangdan2060, via Wikimedia Commons)

และโดยที่อังกฤษยังระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าสยามจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการยกเลิกอำนาจของกรมพระคลังสินค้า (คล้ายสำนักโคฮองของจีน) จนอาจมีปฏิกิริยาต่อต้านข้อเสนอของอังกฤษ จึงได้ส่งสาส์นเข้ามาก่อนเหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว ดังคำชี้แจงของ เซอร์จอห์น เบาริ่ง ซึ่งบรรจุเหตุผลทั้งไม้นวมและไม้แข็งไว้ในฉบับเดียวกันว่า

“พระมหากษัตริย์ของเสอยอนโบวริงให้เข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีค้าขายแลการค้าอื่น ๆ หลายอย่างเพื่อจะให้บ้านเมืองเจริญขึ้น เดี๋ยวนี้ที่ทะเลเมืองจีนมีเรือรบอยู่ในบังคับอังกฤษมาก เสอยอนโบวริงจะเข้ามาเยี่ยมเยือนมิใช่จะมาทำให้บ้านเมืองไทยตื่นตกใจ เสอยอนโบวริงจะเข้ามาด้วยเรือน้อยลำ ท่านเสนาบดีก็อย่าเข้าใจผิดไปแล้วก็อย่าให้เป็นเหตุขัดขวางทางสัญญาไมตรีค้าขายเพราะมาน้อยลำ ถ้ารับรองโดยรักใคร่กัน ใจของเสอยอนโบวริงคิดสมควรกับบ้านเมืองใหญ่แล้วในใจเสอยอนโบริงไม่อยากจะเอากำลังอำนาจใหญ่ใช้เลย”(3)

หลักฐานใหม่ยืนยันว่าอังกฤษส่งเรือรบประกบเข้ามาพร้อมกับ เซอร์จอห์น เบาริ่ง ด้วย และพร้อมที่จะใช้มาตรการรุนแรงกับสยามทันทีดังเช่นที่ได้ทำมาแล้วกับชาวจีน ถ้าหากสยามปฏิเสธความหวังดีของอังกฤษ โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนหรือความเห็นใจใด ๆ ทั้งสิ้น เท่ากับสลัดทิ้งมาดสุภาพบุรุษที่คนอังกฤษเป็นต้นแบบมาช้านาน(1)

คำถามกินใจที่อังกฤษต้องตอบ

170 ปี ภายหลังการทำสงครามฝิ่นครั้งแรกยุติลง (ค.ศ. 1842-2012) นิตยสารชื่อดังของอังกฤษออกแนวประวัติศาสตร์ที่มียอดขายอันดับหนึ่งของประเทศชื่อ History Magazine อยู่ในเครือ BBC อันเป็นสถาบันสื่อสารมวลชนที่คนทั่วโลกยอมรับ ลงบทความ Cover Story ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์อังกฤษต้องอึ้ง กับคำถามที่บรรพชนอังกฤษคิดไม่ถึงมาก่อนภายใต้ข้อกล่าวหา The Big Questions of Britain’s Empire (คำถามใหญ่ของจักรวรรดินิยมอังกฤษ) ที่สะท้อนความฉ้อฉลเบื้องหลังอำนาจบาตรใหญ่ของรัฐบาลอังกฤษในอดีต

History Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 ระดมมันสมองของนักวิชาการกระแสหลักของอังกฤษสมัยปัจจุบันให้ช่วยสังเคราะห์และบางทีก็ถากถางความสำเร็จและความล้มเหลวของรัฐบาลอังกฤษในยุค Victorian Heyday (ค.ศ. 1838-1901) อันเป็นยุคที่อังกฤษสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจนผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าโลกมีพื้นที่ในครอบครองกว้างใหญ่ไพศาลขนาดที่ดวงอาทิตย์ไม่มีโอกาสอัสดงอีกต่อไปจากแผ่นดินอังกฤษ(7)

การที่นักวิชาการรุ่นใหม่มิได้เกิดในยุควิกตอเรียจึงเป็นผู้มีอิสระทางความคิดอย่างเต็มที่ต่อพฤติกรรมอำพรางของคนร่วมชาติ เห็นได้จากทัศนคติที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความมีใจเปิดกว้างมากขึ้นที่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยโดยไม่ใช้สถานภาพของความเป็นคนอังกฤษเป็นเกณฑ์ในการตัดสินดังเช่นคนในยุคก่อน

ประเด็นร้อนแรงรวม 10 หัวข้อเด่นที่กินใจคนอังกฤษต่อความผิดพลาดและคำครหาทางจักรวรรดินิยมของบรรพบุรุษถูกนำออกมาตีแผ่อีกครั้งภายใต้การพิพากษาของคนรุ่นหลังด้วยข้อกล่าวหาที่คนอังกฤษรุ่นก่อนไม่กล้าแม้แต่จะแสดงความคิดเห็นหรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของตนเองครอบคลุมทฤษฎีต่อไปนี้

  1. ความทะเยอทะยานของราชสำนัก (อังกฤษ) ในอดีตส่งผลต่อชีวิตคนอังกฤษในปัจจุบันอย่างไร?
  2. จักรวรรดิอังกฤษโบราณใหญ่โตแค่ไหนกันแน่?
  3. จักรวรรดิอังกฤษเป็นของอังกฤษจริงหรือ?
  4. พ่อค้าอังกฤษยุคแรก ๆ มีความสำคัญต่อจักรวรรดิขนาดไหน?
  5. สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา ส่งผลอย่างไรต่อฐานะของจักรวรรดิอังกฤษ?
  6. อินเดียมีค่าอย่างไรต่ออังกฤษ?
  7. “ฝิ่น” ช่วยให้อังกฤษคุ้มทุนจริงหรือ?
  8. อังกฤษร่ำรวยขึ้นในขณะที่จักรวรรดิจนลงจริงหรือ?
  9. คนในอาณานิคมมองตนเองอย่างไรในฐานะพลเมืองอังกฤษ?
  10. การสิ้นสุดยุคอาณานิคมกระทบฐานะของอังกฤษอย่างไร?

คำถามเหล่านี้เท่ากับทบทวนบทบาทของคนอังกฤษในอดีตที่ผ่านมา และตีแผ่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของอาณานิคม (จักรวรรดิ) อังกฤษที่ได้มาด้วยเลือดและน้ำตาของผู้คนบริสุทธิ์ในส่วนต่าง ๆ ของโลก

ประเด็นอันแตกต่างของอังกฤษในอินเดียและสงครามฝิ่นในจีน เป็นเครื่องฉุดลากสยามเข้าไปสู่วงจรและองค์ประกอบในการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ของคนอังกฤษที่เรียกว่าการค้าเสรี  โดยมีสัญญาเบาริ่งเป็นตัวผูกมัด แต่อังกฤษได้สัญญาฉบับนี้ไปด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ หรือ?(7)

ต่อไปนี้เป็นบทวิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์อังกฤษรุ่นใหม่ต่อมุมมองเรื่องบทบาทของอังกฤษในอินเดียและจีน ซึ่งจะส่งผลต่อทฤษฎีการค้าเสรี (และสัญญาเบาริ่ง) ที่อังกฤษต้องการต่อยอดออกไปในที่สุด

อินเดียมีค่าอย่างไรต่ออังกฤษ?

นายเดนิส จัดจ์ แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ณ กรุงลอนดอน เขียนบทความเรื่อง What was India’s value to Britain? ใน History Magazine วิจารณ์ข้อโต้แย้งกับข้อมูลในประวัติศาสตร์อังกฤษว่า

“ในปี ค.ศ. 1901 ลอร์ดเคอร์ซอน (ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย) เคยกล่าวว่า ‘ตราบใดที่เรายังปกครองอินเดียตราบนั้นเรายังเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ถ้าเราเสียอินเดียไปเราก็จะร่วงหล่นไปเป็นมหาอำนาจอันดับท้ายแถวทีเดียว’

ความจริงก็คือประเทศอังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งได้เพราะการเป็นผู้เริ่มต้นในการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้สามารถผูกขาดระบบเศรษฐกิจและศูนย์กลางการผลิตสินค้าของชาวโลกทั้งหมด นำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวยและเสถียรภาพทางการเมืองอันมั่นคง  ส่งเสริมให้เธอสามารถพัฒนาแสนยานุภาพทางทะเลและขยายพื้นที่ด้านอาณานิคมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการหาวัตถุดิบ การแสวงหาตลาด และพัฒนาการขนส่งอันเป็นปัจจัยหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรม

อินเดียกลายเป็นผลพลอยได้และศูนย์กลางของปัจจัยสำคัญนั้นและเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายขยายอำนาจของอังกฤษออกสู่โพ้นทะเล นักสังเกตการณ์มักจะตีค่าอินเดียเป็นความภาคภูมิใจของคนอังกฤษ แทนที่จะแข่งอำนาจกับคู่แข่งอื่นที่มัวแต่ยื้อแย่งกันครองความเป็นใหญ่ในภาคพื้นยุโรปที่ปัจจัยเด่น ๆ ร่อยหรอลงเต็มที

แต่คุณค่าของอินเดียกลับเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลแก่อังกฤษมากกว่าความมีศักดิ์ศรีของชาติมหาอำนาจยุโรปเท่านั้น อินเดียมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอังกฤษที่เพิ่มมูลค่ามากกว่าครึ่งของการค้าขายทางทะเลของอังกฤษทั้งหมดและเป็นกำไรสุทธิของเงินลงทุนในการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ เพียงผลกำไรที่เกิดจากอินเดียอย่างเดียวก็สามารถใช้เลี้ยงระบบโครงสร้างอาณานิคมทั่วโลกของอังกฤษได้อย่างสบาย

เม็ดเงินจำนวนมหาศาลของทุนจากอังกฤษถูกลงทุนในอินเดีย ผลกำไรใหญ่หลวงไม่ได้เป็นแค่ความคาดหวัง แต่ผลิดอกออกผลเป็นรูปธรรมจากโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นในอินเดีย เช่น  โครงการรถไฟขนาดยักษ์และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่นี่การันตีเงินตอบแทนอย่างไม่มีวันขาดทุนแก่นักลงทุนอังกฤษเป็นเวลานับร้อยปี และไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายให้คนอังกฤษเลยจากการดูแลอาณานิคมนอกประเทศแม้แต่น้อย

ยิ่งไปกว่านั้นประชากรอันมหาศาลของอินเดียกลายเป็นกำลังสำคัญอันดับหนึ่งของการขยายอาณานิคมออกไปอีกและเป็นส่วนใหญ่ของขุมกำลังด้านกองทัพของอังกฤษที่ใช้ในการศึกสงครามหรือใช้ข่มขวัญชาวโลกให้เกรงกลัวก็ล้วนมาจากอินเดียแทนที่จะเป็นนักรบโดยตรงจากอังกฤษ

ชายชาวสยามกำลังดื่มด่ำอยู่กับพิษของฝิ่นที่กำลังออกฤทธิ์

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น ทหารหาญชาวอินเดียหลายล้านคนถูกเกณฑ์เข้าไปไว้ในกองทัพของอังกฤษในทวีปยุโรป นอกจากนี้เงินที่ใช้ในการบำรุงกองทัพกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ก็ยังเป็นเงินภาษีจากอินเดียใช้ขับเคลื่อนกองทัพอันเกรียงไกรของอังกฤษ ภายหลังสงครามอังกฤษจึงไม่บอบช้ำมากนัก ต่างกับคู่สงครามชาติอื่น ๆ มีอาทิฝรั่งเศสและรัสเซียซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีในการเยียวยาเพราะเสียหายมากกว่าอังกฤษหลายเท่าตัว

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่อังกฤษจะสูญเสียอินเดียไปไม่ได้และบ่อยครั้งที่อินเดียถูกขนานนามว่าเป็นเพชรประดับยอดมงกุฎของกษัตริย์อังกฤษ” (Denis Judd, London)(7)

“ฝิ่น” ช่วยให้อังกฤษคุ้มทุนจริงหรือ?

ด๊อกเตอร์จูเลีย โลเวลล์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน เขียนบทความเรื่อง Did Opium bankroll the British Empire? ใน History Magazine เปิดโปงความลี้ลับของสงครามฝิ่นที่มีอังกฤษอยู่เบื้องหลัง

“การค้าฝิ่นเป็นความล้มเหลวที่ถูกลืมของจักรวรรดิอังกฤษ เรายังจดจำความผิดพลาดที่น่าอายจากอดีตอย่างการค้าทาสและการเหยียดสีผิวเป็นวาระแห่งชาติที่อังกฤษเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่การค้าฝิ่นและสงครามฝิ่นระหว่างอังกฤษกับจีนในช่วงทศวรรษ 1840 และ 1850 ที่จริงเป็นการเปิดหน้ากากให้เห็นความเห็นแก่ตัวของคนอังกฤษมากกว่าความผิดใด ๆ ที่กระทำต่อชาวต่างชาติสำหรับคนในยุคปัจจุบัน

ฝิ่นเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของอาณานิคมในเครือจักรภพโดยตรงเพราะมันปลูกในอินเดียภายใต้การบริหารของชาวอังกฤษ เพื่อขายให้กับชาวเอเชียตะวันออก พ่อค้าอังกฤษใช้เงินที่ขายฝิ่นได้ไปซื้อ ‘ใบชา’ ให้ชาวอังกฤษดื่ม ขนาดที่สามารถทำให้การดื่มชากลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติของอังกฤษเลยทีเดียว

นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษยังกินหัวคิวเก็บภาษีอากรใบชาไปอุดหนุนระบบราชการอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการดูแลอาณานิคมอันได้แก่กระทรวงราชนาวี ดังนั้น การค้าฝิ่นจึงจำเป็นและดำเนินอยู่ได้ในยุควิกตอเรีย (Victorian Heyday) และพ่อค้าฝิ่นในตลาดมืดก็ลอยนวลอยู่ได้โดยไม่ผิดกฎหมายอังกฤษ

กระทรวงอาณานิคมของอังกฤษในลอนดอนมีงบประมาณลับ ซึ่งได้รับการอุดหนุนจากการค้าฝิ่นและการที่คนอังกฤษผูกขาดการขายฝิ่นอย่างเอิกเกริก เนื่องจากเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แม้นว่าจะขัดความรู้สึกของคนอังกฤษภายในประเทศก็ตาม

ตัวอย่างเช่นในช่วงทศวรรษ 1850 รายได้จากภาษีฝิ่นอย่างเดียวมีค่าเท่ากับ 20% ของรายได้เข้างบประมาณแผ่นดินของอังกฤษ ไม่นับรายได้อื่น ๆ จากอินเดีย ซึ่งทำให้อังกฤษร่ำรวยขึ้นอย่างมหาศาลจากโครงสร้างอาณานิคมและจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 เท่าถ้าสามารถทำให้คนเอเชียติดฝิ่นมากขึ้น

ธุรกิจการค้าฝิ่นในจีนเพียงอย่างเดียวก็ทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษเฟื่องฟูโดยไม่จำเป็นต้องยึดครองจีนมาเป็นอาณานิคมอย่างอินเดีย แต่ใช้อินเดียเป็นฐานในการต่อยอดกำไรให้อังกฤษก็เหลือเฟือแล้ว

ระหว่างปี ค.ศ. 1800-39 ยอดการขายฝิ่นของอังกฤษให้จีนพุ่งขึ้น 10 เท่าตัว โดยใน ค.ศ. 1800 พ่อค้าอังกฤษขายฝิ่นได้ 4,000 หีบ ให้ชาวจีน แต่ใน ค.ศ. 1839 ขายได้เป็น 40,000 หีบ จีนจึงเป็นลูกค้ารายใหญ่ของอังกฤษไม่นับการขายฝิ่นปลีกย่อยให้ชาวเอเชียชาติอื่น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อังกฤษก็รับไปเต็ม ๆ

และเมื่อรัฐบาลจีนเริ่มเห็นพิษภัยจากฝิ่นที่กำลังกัดกินสังคมจีนจึงหันมาปฏิเสธการซื้อฝิ่นจากพ่อค้าอังกฤษ และกวาดล้างสินค้าอัปรีย์ของอังกฤษอย่างจริงจัง โดยนำฝิ่นมาเผาทิ้งเพื่อทำลาย  รัฐบาลอังกฤษจึงตอบโต้รัฐบาลจีนด้วยการเปิดศึกครั้งใหญ่กับจีนถึง 2 ครั้ง ในช่วง ค.ศ. 1839 – 42 และ ค.ศ. 1856-60 เรียกสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โดยอังกฤษตั้งความหวังจะทำให้ฝิ่นเป็นสินค้าถูกกฎหมาย และค้าขายกันได้อย่างเสรีในจีน (และเอเชีย)

นักวิเคราะห์ประวัติศาสตร์กล่าวว่านโยบายต่างประเทศของอังกฤษในสมัยนั้นเป็น“ยุคมืด” ที่คนอังกฤษสร้างขึ้นด้วยการสมรู้ร่วมคิดของนักการเมืองและนายทุนที่สร้างความฉาวโฉ่ให้กับคนอังกฤษมากกว่าการกดขี่ข่มเหงมนุษยชาติด้านอื่น เช่น การค้าทาสและการเหยียดสีผิว ซึ่งอังกฤษไม่เคยยอมรับผิดแม้จนทุกวันนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรปในยุคสมัยต่อ ๆ มาล้วนแปดเปื้อนและมีมลทินมาจากความเห็นแก่ตัวและการทำสนธิสัญญาที่ทำให้อังกฤษได้เปรียบในเชิงการค้า และตักตวงผลกำไรจากความอ่อนแอและเสียเปรียบของชาวเอเชียทั้งสิ้น” (Dr. Julia Lovell, London)(7)

อังกฤษต้องการใช้กำลังจัดการกับไทย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าอังกฤษตั้งธงไว้ตั้งแต่แรกที่จะใช้ไม้แข็งจัดการกับสยาม เพราะเข้าใจว่ารัฐบาลสยามคงจะลังเลที่จะทำสนธิสัญญากับอังกฤษซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นสัญญาที่ทำให้อังกฤษได้เปรียบในทุกประตูเพื่อความเป็นต่อของอังกฤษเอง

ดังนั้นเพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนาม เซอร์จอห์น เบาริ่ง จึงได้นำเรือรบประกบเข้ามาให้ชาวสยามได้เห็น อันเป็นการข่มขวัญและกดดันการตัดสินใจของชาวสยามเร็วขึ้น และถ้าคนในพระนครยังขัดขืนคำขอของอังกฤษแล้วไซร้ เซอร์จอห์นก็เตรียมจะถล่มพระนครให้ราบเป็นหน้ากลองเหมือนกับที่อังกฤษเพิ่งจะถล่มเมืองกวางตุ้งเป็นตัวอย่างมาแล้ว(4)

“ทัศนียภาพของเมืองบางกอก” (View of the city of Bangkok) จากหนังสือ “บันทึกของทูตจากข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียประจำสยามและโคชิน-ไชนา” (Journal of an embassy from the Governor-General of India to the courts of Siam and Cochin-China) โดย จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตอังกฤษผู้รับหน้าที่มาเจรจากับสยามก่อน เบอร์นีย์

การตีความใหม่ของบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏอยู่ใน “อธิบายหมายรับสั่ง (รัชกาลที่  4) เรื่องรับเซอร์ยอนเบาริง” โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชี้แจงอุปสงค์ในครั้งนั้นว่า

อธิบายหมายรับสั่งเรื่องรับเซอร์ยอนเบาริง

เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2398 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษทรงแต่งให้เซอร์ยอนเบาริง เป็นอัครราชทูต เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจะขอทำหนังสือสัญญา ให้ประเทศอังกฤษกับประเทศสยามมีทางพระราชไมตรีตามประเพณีประเทศที่เป็นอิสระเสมอกันสืบไป

ที่จริงอังกฤษกับไทยได้เริ่มมีไมตรีกันตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถครองกรุงศรีอยุธยา เป็นเวลาแรกที่อังกฤษจะมาค้าขายถึงเมืองไทยในรัชกาลนั้น แต่นั้นมาพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษกับพระเจ้าแผ่นดินสยามก็มีพระราชสาส์นแลส่งราชบรรณาการไปมาถึงกันเนือง ๆ แต่ไม่ปรากฏว่าได้เคยแต่งราชทูตแต่ราชสำนักฝ่ายใดไปถึงอีกฝ่ายหนึ่งเหมือนอย่างฝรั่งเศส พระราชสาส์นแลศุภอักษรเสนาบดีที่อังกฤษกับไทยมีถึงกันเป็นแต่ให้พวกพ่อค้าเป็นผู้เชิญไปมา จนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มาถึงสมัยเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ในรัชกาลที่ 1 ทางประเทศยุโรปกำลังเกิดสงครามนโปเลียน ฝรั่งต่างชาติต้องกังวลด้วยการสงครามนั้นอยู่ช้านาน จน พ.ศ. 2353 พวกสัมพันธมิตรจึงมีชัยชนะฝรั่งเศส แต่นั้นอังกฤษก็มีอำนาจมากขึ้นทางประเทศตะวันออก แต่อำนาจนั้นยังอยู่ในบริษัทอังกฤษซึ่งปกครองประเทศอินเดีย รัฐบาลอังกฤษเองยังหาใคร่จะได้มาเกี่ยวข้องทางประเทศตะวันออกนี้ไม่

เพราะฉะนั้นหมอครอเฟิดที่เป็นทูตอังกฤษเข้ามาในรัชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2363 ก็ดี เฮนรีเบอร์นีทูตอังกฤษที่เข้ามาทำหนังสือสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับอังกฤษในรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2369 ก็ดี เป็นแต่ทูตของผู้สำเร็จราชการอินเดีย หาได้เป็นราชทูตมาแต่ราชสำนักพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษไม่ รัฐบาลอังกฤษพึ่งจับบัญชาการทางประเทศตะวันออกเองเมื่อ พ.ศ. 2385 ตรงกับรัชกาลที่ 3 เริ่มได้เกิดอริวิวาทกับประเทศจีนจนเลยถึงรบพุ่งกัน อังกฤษมีชัยชนะ จีนต้องยอมทำหนังสือค้าขายกับอังกฤษ แลต้องยกเกาะฮ่องกงให้แก่อังกฤษ เมื่ออังกฤษมีอาณาเขตเป็นที่มั่นทางเมืองจีนแล้ว รัฐบาลอังกฤษจึงคิดขยายการค้าขายของอังกฤษให้กว้างขวางออกไป ตามประเทศที่ใกล้เคียง

เมื่อปีจอ พ.ศ. 2393 ลอร์ดปาลเมอสะตัน เสนาบดีว่าการต่างประเทศอังกฤษให้เซอร์เชมสบรุกถือหนังสือเข้ามาถึงเสนาบดีในกรุงเทพฯ จะขอแก้ไขหนังสือสัญญาซึ่งเฮนรีเบอร์นีได้มาทำไว้ให้เป็นประโยชน์แก่พ่อค้าอังกฤษยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่หาสำเร็จดังประสงค์ไม่ ด้วยเมื่อเซอร์เชมสบรุกเข้ามาเป็นเวลาจวนจะสิ้นรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรอยู่แล้ว ฝ่ายไทยไม่ยอมแก้ไขสัญญาให้ตามประสงค์ของรัฐบาลอังกฤษ เซอร์เชมสบรุกก็ต้องกลับไป

ความมาปรากฏภายหลังว่า เมื่อเซอร์เชมบรุกบอกรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ ๆ มีคำสั่งมาว่าให้กลับมาเมืองไทยอีก แลคราวนี้ให้เอาเรือรบในกองทัพของอังกฤษที่เมืองจีนมาด้วยถ้าไทยไม่ยอมแก้หนังสือสัญญา ก็ให้ใช้อำนาจเหมือนที่ได้ทำที่เมืองจีน ให้ไทยยอมทำหนังสือสัญญาตามอังกฤษต้องการให้จงได้ แต่เมื่อคำสั่งนั้นออกมาถึงประจวบเวลาทางเมืองไทยเปลี่ยนรัชกาลใหม่ อังกฤษทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาทราบภาษาอังกฤษแลมีราชหฤทัยนิยมต่อการที่จะสมาคมกับฝรั่ง เข้าใจว่ารัฐบาลไทยคงจะไม่ถือคติอย่างจีนเหมือนแต่ก่อน รัฐบาลอังกฤษจึงเปลี่ยนความคิดเดิมแต่งให้เซอร์จอห์นเบาริ่งเจ้าเมืองฮ่องกง เป็นอัครราชทูต เชิญพระราชสาส์น ของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาโดยทางไมตรี

การที่เซอร์จอห์นเบาริ่งเข้ามาทำครั้งนั้น เป็นการสำคัญแก่ฝ่ายไทยที่อาจจะมีผลดีหรือผลร้ายได้ทั้ง 2 สถาน คือถ้าหากว่าไทยแข็งขึงดึงดันไม่ยอมแก้สัญญา อย่างเมื่อครั้งเซอร์เชมสบรุกเข้า ก็คงเกิดรบกับอังกฤษ แต่ถ้าหากหวาดหวั่นเกรงอำนาจอังกฤษ ยอมแก้สัญญาด้วยความกลัวเกินไป ก็คงเสียเปรียบในกระบวนสัญญา ก็เป็นผลร้ายเหมือนกัน ทางที่จะได้ผลดีมีแต่ที่จะต้องให้เป็นการปรึกษาหารือกันโดยปรองดอง ด้วยมีไมตรีจิตต่อกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะฉะนั้นการรับราชทูตอังกฤษครั้งนี้ จึงเป็นการสำคัญผิดกับฑูตที่เคยมาคราวก่อน ๆ อยู่อย่าง 1

อีกประการ 1 ประเพณีการรับราชทูต ย่อมเป็นการที่เจ้าของเมืองต้องระมัดระวังแต่โบราณมาตราบเท่าทุกวันนี้ไม่ว่าในประเทศไหน ๆ ด้วยราชฑูตถือว่าเป็นผู้มาต่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดินของตน ถ้าเจ้าของเมืองไม่รับรองหรือประพฤติไม่สมเกียรติยศราชฑูตก็หาว่าเป็นการประมาทหมิ่นไม่นับถือพระเจ้าแผ่นดิน อาจจะเป็นเหตุให้ถึงหมองหมางทางพระราชไมตรีก็เป็นได้ ดังเช่นเมื่อเยอรมันกับฝรั่งเศสจะรบกันเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2412 บิสมาร์กต้องการจะให้ปรากฏว่าฝรั่งเศสเป็นฝ่ายก่อการสงครามก่อน แกล้งทำกลอุบายให้ข่าวปรากฏไปถึงเมืองปารีสว่า ราชทูตฝรั่งเศสจะไปเฝ้าพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 (ซึ่งภายหลังเป็นเยอรมันเอมปเรอ) พระเจ้าวิลเลียมไม่ให้เฝ้า พอข่าวปรากฏเท่านี้ก็เกิดโกลาหลในพวกพลเมืองฝรั่งเศส กล่าวหาว่าพระเจ้าวิลเลียมดูหมิ่นฝรั่งเศส จนรัฐบาลต้องรบกับเยอรมัน เรื่องเกียรติยศของราชทูตจึงเป็นการสำคัญในเรื่องรักษาทางพระราชไมตรีด้วยอีกประการ 1

เซอร์จอห์นเบาริ่งเข้ามาคราวนี้เป็นราชทูตอังกฤษคนแรกที่จะได้เข้ามาเมืองไทย เพราะผู้ที่มาแต่ก่อน ๆ เช่นหมอครอเฟิดแลเฮนรีเบอร์นีเป็นแต่ทูตของขุนนางผู้สำเร็จราชการอินเดีย เซอร์เชมสบรุกก็เป็นแต่ผู้ถือหนังสือของเสนาบดีว่าการต่างประเทศดังกล่าวมาแล้ว ยังหาเคยมีราชทูตมาจากราชสำนักของอังกฤษไม่ แท้จริงราชทูตฝรั่งเศสที่ได้เคยมาเมืองไทยจากราชสำนักประเทศอื่นแต่ก่อนมา เคยมีปรากฏแต่เมื่อครั้งพระเจ้าหลุยที่ 14 ทรงแต่งให้ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันล่วงเวลามาได้ถึง 167 ปี แต่หากจดหมายเหตุยังมีอยู่จึงรู้เรื่องได้

ความปรากฏในหนังสือซึ่งเซอร์ยอนเบาริงกลับไปแต่งเรื่องเมืองไทยว่าเซอร์ยอนเบาริงเข้ามาคราวนั้นก็ตั้งใจมาว่า ถ้าไทยรับรองเพียงเสมออย่างหมอครอเฟิด หรือเฮนรีเบอร์นี ก็จะถือว่าไม่รับรองให้สมเกียรติยศ ได้ค้นหาจดหมายเหตุครั้งสมเด็จพระนารายณ์ทรงรับรองราชทูตฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยที่ 14 เตรียมมาไว้สำหรับจะคอยว่ากล่าวกับรัฐบาล แต่ข้างฝ่ายไทยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงคาดการณ์โดยพระปรีชาญาณ เห็นว่าเซอร์ยอนเบาริงคงจะเกี่ยงให้รับรองให้เกียรติยศสูงกว่าเคยรับทูตฝรั่งที่มาแต่ก่อน เพราะเป็นราชทูตมาแต่ราชสำนัก พระองค์เคยทรงหนังสือจดหมายเหตุเรื่องราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ ทรงพระราชดำริ เห็นลักษณการตรงกับที่เซอร์ยอนเบาริงเข้ามาครั้งนั้น จึงโปรดให้จัดการรับเซอร์ยอนเบาริงตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนารายณ์รับราชทูตฝรั่งเศส มิให้ใช้แบบแผนซึ่งเคยถือเป็นตำรารับแขกเมืองในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์

กระแสพระราชดำริไปตรงกับความมุ่งหมายของเซอร์ยอนเบาริงเหมือนอย่างว่า รู้เท่าทันกันก็ไม่มีข้อที่จะเกิดเป็นปากเสียงเกี่ยงงอนกันด้วยเรื่องการรับรองราชทูตอังกฤษในครั้งนั้น ถึงเซอร์ยอนเบาริงได้ชมไว้ในหนังสือที่แต่งว่า เมื่อราชทูตอังกฤษเข้ามาคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรองพระราชทานเกียรติยศเหมือนอย่างครั้งราชทูตของพระเจ้าหลุยที่ 14 เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ โดยพระราชหฤทัยนิยมในทางพระราชไมตรีที่จะได้มีกับสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียดังนี้ เรื่องต้นเหตุของหมายรับสั่งซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ มีเนื้อความดังแสดงมา

ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งจางวางตรีพระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม ได้บำเพ็ญในการปลงศพคุณหญิงชิดผู้ภรรยา แลได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้ได้อ่านกันแพร่หลาย หวังใจว่าท่านทั้งหลายที่ได้รับแจกไปคงจะอนุโมทนาด้วยทั่วกัน

ดำรงราชานุภาพ สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2463(4)

รัชกาลที่ 4 ทรงยับยั้งสงคราม

เป็นธรรมดาอยู่เองที่อังกฤษซึ่งกำลังแสวงหาอาณานิคมอยู่ทั่วโลก ต้องขัดเคืองกับการที่สยามตอบปฏิเสธร่างสนธิสัญญาของ เซอร์เจมส์ บรุ๊ค โดยไม่นึกหวาดหวั่นอิทธิพลของตน หากอังกฤษลงมือทำการรุนแรงโดยใช้พละกำลังเหมือนอย่างทำกับอาณานิคมอื่น ๆ แล้ว สยามก็ยากที่จะปกป้องคุ้มครองเอกราชไว้ได้ ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยึดพระราชวิเทโศบายตามแบบเดิมอยู่ ชะตาของประเทศสยามก็คงจะพบจุดจบอย่างเดียวกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง เพราะตลอดระยะที่ชาวตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษ ใช้ความพากเพียรพยายามจะติดต่อค้าขายกับสยามตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ได้พบแต่ทีท่าที่เฉยเมยไม่เต็มใจจะเกี่ยวข้องด้วยอยู่เสมอมา

ความพยายามของต่างประเทศในการที่จะสร้างสัมพันธไมตรีกับสยามยังได้ผลไม่เป็นที่พึงพอใจนัก เพราะท่าทีของสยามอาจจะเรียกได้ว่าไม่สู้ยินดียินร้าย แม้จะไม่คัดค้านการติดต่อ แต่ในเวลาเดียวกันก็มิได้ทำสิ่งใดที่จะส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ สัญญาที่เคยทำไว้กับ เฮนรี่ เบอร์นี่ และ เอ็ดมันด์ โรเบิร์ต สยามก็มิได้เปิดโอกาสให้ได้สิทธิพิเศษในการค้าเหมือนดังที่ผู้แทนมหาอำนาจทั้งสองได้รับจากจีน สิ่งที่ทำให้ชาวตะวันตกเอือมระอาสยาม ได้แก่ ความยากลำบากและความไม่สะดวกอย่างน่ารำคาญในทางการค้าขาย เพราะการผูกขาดของรัฐบาลย่อมไม่เปิดช่องว่างให้ชาติตะวันตกหาผลประโยชน์ได้เลย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไตร่ตรองชั่งน้ำหนักระหว่างอันตรายอันจะเกิดจากอิทธิพลของชาวอังกฤษ กับอันตรายอันจะเกิดจากความปรารถนาจะบีบคั้นของอังกฤษอยู่ก่อนแล้ว ด้วยพระปรีชาญาณสุขุมคัมภีรภาพ และก็ทรงมั่นพระทัยว่าอันตรายประการหลังเป็นมหันตภัยยิ่งใหญ่กว่า พระองค์จึงทรงเตรียมการไว้ต้อนรับราชทูตแห่งราชสำนักพระเจ้ากรุงอังกฤษอย่างโอ่อ่าสมเกียรติยศ

คณะราชทูตจากสยามเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย 
ณ ประเทศอังกฤษ (ค.ศ. ๑๘๕๗) เป็นการเรียกแขกทางอ้อมให้อังกฤษสนใจที่จะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในสยาม

โดยได้ทรงออกหมายรับสั่งเรื่องต้อนรับเซอร์จอห์นนับตั้งแต่มาถึงจนกลับออกไปถึง 18 ฉบับ พิธีเตรียมการรับรองนี้ หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยกย่องให้เป็นการมโหฬารแล้ว ก็น่าที่จะสร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่เซอร์จอห์น เป็นต้นเหตุทีเดียว เพราะเซอร์จอห์นเองก็จับตาดูท่าทีของฝ่ายสยามอยู่อย่างพินิจพิจารณา และเคยเปิดเผยแผนการของตนแก่ แซมมวล เรโนลด์ เฮาส์ มิชชันนารีอเมริกันซึ่งพำนักอยู่ในประเทศสยามในขณะนั้นว่า

“ข้าพเจ้ามาพร้อมด้วยกิ่งมะกอกในมือ แต่ทว่าเบื้องหลังข้าพเจ้านั้น”(1)

พระราชวิเทโศบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงกุมบังเหียนของบ้านเมืองให้ดำเนินไปบนแนวทางสายใหม่ที่นับได้ว่าเป็นเส้นทางอันพระองค์ทรงบุกเบิกขึ้นโดยเฉพาะนี้ ยังความพอใจแก่เซอร์จอห์นเป็นอย่างมาก เพราะมิเพียงแต่ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติเท่านั้น ทว่าการงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับมอบหมายมาจากสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียให้มาติดต่อกับรัฐบาลสยามก็ดำเนินไปอย่างสะดวกราบรื่นเกินความคาดหมาย(1)

คณะทูตของ เซอร์จอห์น เบาริ่ง ได้กราบถวายบังคมลาแล่นเรือออกจากสันดอนเมื่อวันที่ 24 เมษายน ปีเดียวกัน

ขณะที่อยู่บนเรือรบ เพื่อกลับออกมาจากกรุงเทพฯ เซอร์จอห์นรีบเขียนจดหมายแจ้งข่าวดีไปยังท่านเอิร์ลแห่งคลาเรนดอน รมต. ว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษในลอนดอน ความว่า

เรือรบหลวงแรตเตอร์ อ่าวสยาม
25 เมษายน ค.ศ. 1855

เรียน ฯพณฯ

ขณะนี้ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ข้าพเจ้าได้เจรจาเรื่องสนธิสัญญากับรัฐบาลสยามแล้ว ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าเงื่อนไขของสนธิสัญญาคงจะเป็นที่พึงพอใจของท่านทุกประการ และคงจะได้รับพระราชทานความเห็นชอบจากสมเด็จพระราชินี

ข้าพเจ้าจะส่งรายงานความก้าวหน้าของการเจรจาติดต่อมายังท่านเป็นระยะๆ ซึ่งคงจะเป็นไปตามความมุ่งหมาย ข้าพเจ้าประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดหมายไว้ และจัดการได้เรียบร้อยอย่างรวดเร็ว ซึ่งแทบไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของชนชาติทางตะวันออกมาก่อนเลย ซึ่งไม่ต้องใช้แสนยานุภาพของกองทัพเรือ การขู่บังคับในการเจรจาตกลงกันเลย เรื่องสำคัญทุกเรื่องประสบความสำเร็จทุกประการ

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ขอแสดงความนับถือ
(ลงนาม) จอห์น เบาริ่ง(6)

ใจความในจดหมายของเซอร์จอห์น มีประเด็นที่น่าสนใจ 3 ประการด้วยกัน คือ

1. เขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและเกินความคาดหมาย เซอร์จอห์นกำลังเปรียบเทียบสนธิสัญญาเบาริ่งกับสนธิสัญญานานกิงของรัฐบาลจีนที่อังกฤษต้องใช้เวลาทำถึง 3 ปี และเป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามฝิ่นครั้งแรก จึงสำเร็จลงได้ ทั้งอังกฤษและจีนได้รับความเสียหายอย่างบอบช้ำด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะที่สนธิสัญญาเบาริ่งใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้นและเป็นไปโดยสันติวิธี

2. ความสำเร็จของสนธิสัญญาเบาริ่ง เกิดขึ้นด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และเป็นความเห็นชอบของทั้งคู่สัญญา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับอังกฤษมาก่อนในเอเชีย ทุกครั้งที่อังกฤษได้ข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ ก็ต้องใช้สงครามเป็นทางออกหาข้อยุติเรื่อยมา

3. การทำสนธิสัญญาเบาริ่ง อังกฤษไม่ต้องใช้แสนยานุภาพในการขู่บังคับสยามทั้ง ๆ ที่ได้เตรียมเรือรบเข้ามาด้วย แต่ฝ่ายสยามไหวตัวทันจึงแก้เกมได้ทันท่วงที ประเด็นนี้ยังแสดงให้เห็นว่า อังกฤษไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่จะใช้สันติวิธีกับชาวสยาม แต่ได้พกอาวุธมาครบมือในลักษณะพร้อมรบ ดังที่เคยทำกับทุกประเทศที่ด้อยพัฒนา และอ่อนแอกว่าตนในการหาข้อตกลงต่าง ๆ

นอกจากจดหมายฉบับนี้แล้ว ในขณะที่คนอังกฤษกำลังระดมความคิดเห็นที่จะทำสนธิสัญญาเบาริ่งนั้น นายแฮร์รี่ ปาร์คส์ ผู้ช่วยของเซอร์จอห์น ยังได้แนะนำรัฐบาลอังกฤษให้ใช้สนธิสัญญาที่เคยทำกับเมืองจีนเป็นบรรทัดฐานในการสร้างเงื่อนไขกับทางราชสำนักสยาม ดังข้อความในจดหมายอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1855 ความว่า

“เกี่ยวกับอำนาจทางศาลกงสุล ข้าพเจ้าเพียงแต่ขอเพิ่มเติมความคิดเห็นเดิมของข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้ว่าเงื่อนไขเกี่ยวกับอำนาจทางศาลนี้ไม่เคยเป็นปัญหาในประเทศจีน และสนธิสัญญากับประเทศสยามก็เช่นเดียวกัน จึงไม่น่าจะมีอะไรแตกต่างไปจากสนธิสัญญาที่ทำกับจีน การกำหนดอำนาจหน้าที่ของกงสุลต่อคนในบังคับของอังกฤษในประเทศจีน ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ทั้งในสนธิสัญญานานกิง หรือในบทเพิ่มเติม และที่จะได้ตกลงกับประเทศสยามต่อไป”(6)

เซอร์จอห์น เบาริ่ง

สรุป

การที่สนธิสัญญาเบาริ่ง (ค.ศ. 1855) มีเงื่อนไขคล้ายคลึงกับสนธิสัญญานานกิง (ค.ศ.1842) แสดงถึงความสอดคล้องเชิงนโยบายที่รัฐบาลอังกฤษต้องการใช้หลักการเดิมที่เคยบีบคั้นจีนมาใช้กับสยามด้วยความจงใจ อังกฤษมิได้ให้ความสำคัญจากความแตกต่างของทั้ง 2 ประเทศแต่อย่างใด ในทัศนะของเซอร์จอห์น จีนและสยามมีค่าเท่ากันและมิได้ต่างกันเลย(1)

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลสยามถูกบีบคั้นให้ลงนามในสนธิสัญญาเบาริ่งทั้งที่ไม่เต็มใจนัก เนื่องจากตระหนักถึงผลเสียหายที่อาจจะบังเกิดขึ้นหากขัดใจราชทูตอังกฤษ การที่ เซอร์จอห์น เบาริ่ง สั่งให้เรือรบอังกฤษถล่มเมืองกวางตุ้งจนราบเป็นหน้ากลอง อุปมากับภาษิตที่ว่าเชือดไก่ให้ลิงดู และก็ดูจะได้ผลจริง ๆ ในความคิดของเซอร์จอห์น(1)

อีก 160 ปีต่อมา ภายหลังสงครามฝิ่นนับถึงวันนี้ (ค.ศ. 2015) และหลังการลงนามในสัญญาเบาริ่ง สถานการณ์ก็กลับตาลปัตรไปหมด อังกฤษจนลง แต่จีนผงาดขึ้นมาเป็นชาติที่ร่ำรวยและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าอังกฤษ ทุกวันนี้รัฐบาลอังกฤษต้องบากหน้ามากว้านซื้อพันธบัตรเงินหยวนของจีนเพื่อเก็บไว้เป็นเงินคงคลัง และถ้าจีนลดค่าเงินหยวนเพียงนิดเดียวเมื่อใดเศรษฐกิจของอังกฤษก็อาจย่ำแย่ได้ในพริบตา

ในขณะเดียวกันไทยก็ผงาดขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ในอาเซียน และจ่อที่จะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน (AEC) โดยมีจีนเป็นพี่เลี้ยงสำคัญ ไม่ต้องเกรงกลัวอังกฤษอีกต่อไป

ทว่า ใน ค.ศ. 1855 การที่เซอร์จอห์นนำเรือรบเข้ามาข่มขวัญถึงพระนครก็เพราะต้องการเผด็จศึกกับชาวเอเชียทั้งหมดแบบม้วนเดียวจบ โดยไม่แยแสถึงผลลัพธ์ในวันข้างหน้า ภาพเมืองกวางตุ้งถูกถล่ม ในหน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษ เป็นกระจกเงาสะท้อนความบ้าคลั่งของคนอังกฤษในสมัยหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและศักดิ์ศรีอย่างบ้าบิ่น เดชะบุญสยามรอดมาได้เพราะผู้นำประเทศรู้ทันคนอังกฤษแท้ ๆ(4)

 


เอกสารประกอบการค้นคว้า

(1) ไกรฤกษ์ นานา. เบื้องหลังสัญญาเบาริ่งและประวัติภาคพิสดารของ Sir John Bowring. สำนักพิมพ์มติชน, 2555.

(2) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. พระเจ้ากรุงสยาม กับ เซอร์จอห์น เบาว์ริง. เอกสารสรุปการสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี (พ.ศ. 2347-2547). มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2548.

(3) ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394-2411). โรงพิมพ์พระจันทร์, 2477.

(4) ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม 2, ภาค 7-13, องค์การค้าของคุรุสภา, 2504.

(5) วิชุลดา พิไลพันธ์. สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 22. โครงการวิจัย 100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย (สกว.) พ.ศ. 2555.

(6) ศิวะลีย์ ภู่เพ็ชร์. บันทึกสัมพันธภาพระหว่างประเทศสยามกับนานาประเทศ เล่มที่ 7 (ค.ศ. 1854-1855). กรมศิลปากร, 2541.

(7) History Magazine. Vol 13, no 2, February 2012, London.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่ิอ 1 พฤศจิกายน 2562