“ถนนทรงวาด” ชุมชนจีนเก่าแก่กว่า 100 ปี มีที่มาอย่างไร?

ถนนทรงวาด
ตึกแถวเก่าแก่ที่เรียงรายบนทรงวาด

เปิดที่มา “ถนนทรงวาด” เกิดขึ้นยุคไหน?

ระยะหลังมานี้ “ทรงวาด” ชุมชนจีนเก่าแก่ที่อยู่ติดกับสำเพ็ง กลายเป็นย่านที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีร้านอาหารและคาเฟ่สุดฮิปเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่วางตัวโดดเด่นอยู่ริมถนน และที่ซ่อนตัวอยู่ในตรอกซอกซอยเล็กๆ ซึ่งหลายร้านผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของทรงวาดเข้ากับการออกแบบตกแต่งได้อย่างกลมกลืนและลงตัว

ในวันที่ถือได้ว่าทรงวาดเป็นหนึ่งในย่านชุมชนสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ เราจึงขอชวนทุกคนย้อนดูความเป็นมาของถนนเส้นนี้

ถนนทรงวาด ตึกแถวทรงวาด
ลวดลายบนตึกแถวที่ทรงวาด

ความเป็นมาของทรงวาดสัมพันธ์กับ “สำเพ็ง” อย่างแยกกันแทบไม่ออก เพราะเมื่อสำเพ็งซึ่งเป็นชุมชนชาวจีนเริ่มหนาแน่นทั้งจำนวนประชากรและบ้านเรือน ก็เริ่มเกิดปัญหาความแออัดและอัคคีภัยตามมา สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอยู่เนืองๆ

กระทั่ง พ.ศ. 2449 เกิดเพลิงไหม้ใหญ่ในสำเพ็ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริเรื่องตัดถนน เพื่อปรับปรุงและจัดระเบียบสำเพ็ง

กล่าวกันว่า พระองค์ทรงวาดถนนลงบนแผนที่เชื่อมกับถนนเส้นต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น ถนนราชวงศ์ ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเจริญกรุง

เพราะเหตุนี้ ถนนเส้นใหม่ที่สร้างจึงมีชื่อว่า “ทรงวาด”

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ถนนทรงวาด
มัสยิดหลวงโกชาอิศหากที่ทรงวาด

ทำเลที่ตั้งของถนนเส้นใหม่นี้นับว่าดีอย่างยิ่ง เพราะอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เอื้อต่อการค้าขายและการขนส่งทางเรือ ทั้งยังสะดวกในการเชื่อมต่อการค้าไปถนนเส้นต่างๆ ตามการขยายตัวของเมืองในยุคนั้นอีกด้วย

เมื่อมีการค้า ก็ย่อมดึงดูดผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและศาสนาเข้ามา ทรงวาดจึงมีทั้งศาลเจ้าตามความเชื่อของชาวจีน มีวัดของพุทธศาสนิกชน และมีมัสยิดของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่ว่าจะมีความเชื่อแบบใด นับถือศาสนาใด ทั้งหมดต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

แม้จะผ่านมาร้อยกว่าปี แต่ร่องรอยประวัติศาสตร์บนทรงวาดยังปรากฏให้เห็นเด่นชัด ทั้งโกดังเก่าที่เคยเป็นแหล่งเก็บและกระจายสินค้า ตึกแถวที่มีลวดลายผลไม้อันวิจิตร รวมถึงการค้าขายเครื่องเทศและเมล็ดพันธุ์ ที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของย่านทรงวาด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“ที่มาที่ไปของตึกเก่าแก่ร่วมร้อยปีแถบ ‘ทรงวาด’ อาคารทรงคุณค่าย่านการค้ายุคบุกเบิก”.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2568