เผยแพร่ |
---|
เปิดความเป็นมาเบื้องหลังตึกเก่าแก่อายุร่วมร้อยปีย่าน “ถนนทรงวาด” เสน่ห์ของอาคารทรงคุณค่าในศูนย์กลางการค้ายุคบุกเบิกของไทยที่ตั้งตระหง่านถึงวันนี้
จากอดีตจวบจนปัจจุบัน “ถนนทรงวาด” คือแหล่งที่ตั้งกิจการห้างร้านหลากหลายชนิด ศูนย์กลางการค้าในอดีตแห่งนี้ไม่ต่างจาก “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” ซึ่งคนท้องถิ่นยังใช้ชีวิตตามวิถีการค้าท่ามกลางอาคารเก่าแก่เรียงรายไปตามถนน
สิ่งปลูกสร้างหลายแห่งบนถนนทรงวาดในย่านสำเพ็ง-เยาวราชไม่เพียงโดดเด่นเรื่องความสวยงามและทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม กลุ่มอาคารที่ผ่านกาลเวลาล้วนเป็นร่องรอยสำคัญที่บ่งชี้ถึงเรื่องราวเบื้องหลังความเป็นมาทางประวัติศาสตร์หลากหลายมิติ
เป็นไปไม่ได้ที่ลักษณะทางศิลปะและสถาปัตยกรรมของสิ่งปลูกสร้างจะปรากฏอย่างโดดเดี่ยวปราศจากความเชื่อมโยงกับเรื่องจุดมุ่งหมายด้านการใช้งานและมิติทางสังคมโดยเฉพาะในแง่ระเบียบมาตรการที่รัฐนำมาดูแลชุมชน
ในปัจจุบัน หากลองเดินไปตามถนนทรงวาดจะพบเห็นอาคารรูปทรงลักษณะแบบตะวันตก ถัดไปอีกไม่กี่เมตรจะพบอาคารลักษณะตะวันออกแบบจีน และอาคารที่หน้าตาคล้ายกับสิ่งปลูกสร้างในอินเดีย ผสมกลมกลืนรวมอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันได้
ความเป็นมาเบื้องหลังการปรากฏตัวของกลุ่มอาคารเก่าแก่อันเต็มไปด้วยความหลากหลายมีเรื่องราวน่าค้นหาอีกมากมาย ตามไปดูข้อมูลที่น่าสนใจจากซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” ตอนที่ 6 ว่าด้วยเรื่องราวของสถาปัตยกรรมในย่านถนนทรงวาดที่เต็มไปด้วยเสน่ห์แฝงไปด้วยคุณค่าหลายแง่มุม
และติดตามซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” จากศิลปวัฒนธรรมและช่องทางต่างๆ ในเครือมติชน เผยแพร่เดือนละ 2 ตอน ในวันศุกร์ (ศุกร์เว้นศุกร์) เวลา 19.00 น. (ครั้งถัดไปเผยแพร่วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม)
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไม “ถนนทรงวาด” กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะกิจการ-นักธุรกิจในยุคบุกเบิก
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิก มีทั้งวัด ศาลเจ้า มัสยิด มิชชันนารี ได้อย่างไร
“ถนนทรงวาด” ถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมทีแล้วพื้นที่ของถนนคือส่วนหนึ่งของ “สำเพ็ง” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า สำเพ็งก่อตัวขึ้นตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีในพ.ศ. 2325
ครั้งนั้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวัง แต่พื้นที่ที่จะสร้างขึ้น มีชาวจีนอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง พระองค์มีพระราชดำริให้ชาวจีนย้ายมาอยู่นอกกำแพงพระนครตั้งแต่ช่วงวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง (คลองวัดปทุมคงคาฯ)
กลุ่มชาวจีนที่ย้ายมาอยู่ในบริเวณใหม่ใช้อาคารที่พักอาศัยเป็นหน้าร้านทำการค้าขายด้วย ลักษณะของสภาพร้านค้าและที่พักของชาวจีนในระยะแรก สร้างบ้านด้วยไม้โดยเฉพาะไม้ไผ่ เวลาผ่านไปนานวันเข้า พื้นที่บริเวณสำเพ็งกลายเป็นย่านการค้าแห่งแรกๆ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ควบคู่ไปกับปัญหาความแออัดในพื้นที่เนื่องจากมีผู้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานมากขึ้นตามอัตราการเติบโตของชุมชนการค้า
ปัญหาต่อเนื่องที่ตามมาจากเรื่องความแออัดคือเมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้น เพลิงมักลุกลามรวดเร็วเพราะอาคารบ้านเรือนสร้างจากไม้และสร้างชิดติดกัน เพลิงไหม้หลายครั้งสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินในวงกว้าง
เมื่อพ.ศ. 2449 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในบริเวณสำเพ็ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริเรื่องตัดถนนเพื่อปรับปรุงและจัดระเบียบพื้นที่สำเพ็งให้ดีขึ้น เมื่อพระองค์มีพระราชดำริเรื่องแนวถนนเพิ่มเติม กล่าวกันว่า ทรงวาดแนวถนนลงบนแผนที่เชื่อมกับถนนเส้นต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น ถนนราชวงศ์ ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเจริญกรุง ด้วยเหตุนี้ ถนนเส้นใหม่จึงชื่อว่า “ถนนทรงวาด” (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, 2546)
จุดที่ตั้งของถนนทรงวาดอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และฝั่งริมแม่น้ำของถนนทรงวาดในอดีตเรียงรายไปด้วยเรือที่มาจอดเทียบท่าเรือลักษณะคล้ายท่าส่วนบุคคลและสาธารณะ การคมนาคมที่เอื้อต่อการขนส่งเชื่อมโยงกับเส้นทางไปสู่ย่านการค้าสำคัญในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ส่งผลให้ทรงวาดเข้าสู่ยุครุ่งเรืองสมกับที่ถูกขนานนามว่าศูนย์กลางการค้ายุคบุกเบิกของไทย กิจกรรมนำเข้า-ส่งออกสินค้าสำคัญทางเศรษฐกิจล้วนเกี่ยวข้องกับย่านทรงวาด
ย่านการค้าที่รุ่งเรืองยังดึงดูดโอกาสและสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่มากมาย หลายสิ่งหลงเหลือร่องรอยให้เห็นจนถึงวันนี้ มรดกที่สำคัญและชัดเจนที่สุดประการหนึ่งย่อมเป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างที่มีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมสวยงาม เมื่อกลุ่มอาคารอันโดดเด่นตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของยุคสมัยใหม่และวิถีชีวิตทางการค้าของผู้คนในท้องถิ่นสมัยปัจจุบัน บรรยากาศเหล่านี้ล้วนขับดันให้ย่านถนนทรงวาดมีเสน่ห์เฉพาะตัวโดดเด่นไม่แพ้ย่านอื่นในเมืองไทยมา
ดูกันว่าอาคารเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงมีรูปทรงหน้าตาและลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีเอกลักษณ์พิเศษเหนือกาลเวลา
ตึกผลไม้
บรรดาอาคารเก่าแก่ในถนนทรงวาด “ตึกผลไม้” ที่ตั้งอยู่ช่วงกลางถนนมักสะดุดตาผู้คนที่สัญจรผ่านเส้นทางนี้มากที่สุด ด้วยโทนสีขาวของตัวตึก ลวดลายอันสวยงาม ลักษณะรูปทรงของหน้าต่างและตัวตึกโดยรวมแล้วแตกต่างจากรูปแบบอาคารที่คนทั่วไปในปัจจุบันคุ้นเคย
จากการสืบค้นของนักวิชาการทำให้เชื่อได้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของอาคารนี้สืบเนื่องมาจากการตัดถนนใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังสำเพ็งเกิดเพลิงไหม้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2449 การตัดถนนใหม่ในสมัยก่อนมักตามมาด้วยการสร้างตึกแถวเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้า
เหตุการณ์เพลิงไหม้ในอดีตส่งผลสืบเนื่องอีกประการหนึ่งคือ เรื่องลักษณะของอาคารที่จะปลูกสร้างด้วย ในประกาศของทางการเมื่อ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ในท้องที่สำเพ็ง ประกาศเขียนถึงจุดเกิดเหตุว่า
“เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในท้องที่อำเภอสำเพ็ง ณ ตำบลศาลเจ้าอาเนี้ย เพลิงติดลามไปทางตรอกอาเนี้ยแลลามไปตามตรอกสพานโพ…”
ในประกาศเดียวกันมีเนื้อหาเรื่องข้อกำหนดลักษณะสิ่งปลูกสร้างว่า
“ห้ามไม่ให้ปลูกเรือนโรงอันกำบังด้วยไม้ขัดแตะหรือด้วยแผงหรือด้วยใบไม้ขึ้นในตำบลซึ่งเกิดเพลิงไหม้คราวนี้ต่อไป…”
มีข้อมูลบางส่วนที่อธิบายว่าการก่อสร้าง “ตึกแถวห้องแถว” ในสมัยนั้น พระคลังข้างที่เป็นฝ่ายเข้ามาลงทุนก่อสร้างเพื่อให้พ่อค้า(ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน)มาเช่าเป็นที่พักและใช้เป็นร้านค้า โดยพระคลังข้างที่จะพิจารณาว่าพื้นที่ใดเหมาะสมต่อการก่อสร้างแบบใด (พูนเกศ จันทกานนท์, 2528 อ้างถึงใน ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์) สำหรับอาคารเก่าแก่ใจกลางถนนทรงวาด ก็เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ตั้งของกิจการห้างร้านในอดีตที่มักเข้ามาตั้งที่ทำการในทำเลย่านการค้าสำคัญ
รศ. ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า รูปแบบของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยซึ่งใช้อาคารหลังเดียวกันค้าขายและทําธุรกิจมีคำที่ใช้เรียกกันว่า “บ้านร้านค้า” (Shophouse) รศ. ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ มองการสร้าง “บ้านร้านค้า” ว่าจัดเป็น “สัมภาระทางวัฒนธรรม” เมื่อคนจีนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนอื่น จะนำแบบแผนของตัวเองมาด้วย หนึ่งในนั้นคือการทำพื้นที่พักอาศัยเป็นพื้นที่สำหรับ ค้าขาย และเรียกกันว่า “บ้านร้านค้า”
ขณะที่คำว่า “ตึกแถว” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุความหมายไว้ว่า “อาคารที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนหรือคอนกรีตทำเป็นห้อง ๆ เรียงติดกันเป็นแถว, ห้องแถวก็เรียก”
หากเป็น “ตึกแถว” ในลักษณะข้างต้น เมื่ออ้างอิงตามหลักฐานที่พบจากการศึกษาของนักวิชาการแล้ว “ตึกแถว” เกิดขึ้นในไทยตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 (สัมภาษณ์ รศ. ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ) เมื่อเวลาผ่านไป รูปแบบของตัวตึกที่ก่อสร้างมีพัฒนาการจากอิทธิพลต่างๆ
สำหรับสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ในย่านถนนทรงวาด หลายแห่งได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานองค์ประกอบอันหลากหลายทั้งในเชิงลักษณะทางชาติพันธุ์ ปัจจัยเรื่องพื้นที่ และแนวคิดการใช้สอย
ในมุมมองของ รศ. ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร การสร้างตึกแถวเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการพัฒนาเมือง ผู้พัฒนาที่ดิน(อาจเป็นองค์กรหรือฝ่ายทางการ)ลงทุนสร้างตึกเพื่อการพาณิชย์ เช่น สร้างแล้วขาย หรือให้เช่า ขณะที่วิธีการออกแบบ การก่อสร้างอาคารเป็นชุดช่วยให้ประหยัดได้ เช่น สั่งบานประตูหน้าต่างมาเป็นเซ็ต นั่นจึงเป็นเหตุให้มักพบเห็นแบบแผนของสิ่งปลูกสร้างที่คล้ายกันตามจุดต่างๆ ในเมืองได้
นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมอธิบายต่อว่า สำหรับย่านทรงวาดกลับมีลักษณะ “ความเป็นเอกชน” หมายถึงพื้นที่แต่ละจุดมีเจ้าของแยกรายที่แตกต่างกันไปหลากหลายเจ้า จึงไม่จำเป็นต้องทำให้มีหน้าตาเหมือนกัน ตึกแถวบนถนนทรงวาดจะหลากหลายมากกว่าย่านอื่น ด้วยลักษณะเจ้าของหลายเจ้า จึงมองได้ว่า เมื่อแต่ละคนอยากปลูกบ้านของตัวเอง ย่อมอยากตกแต่งให้ต่างจากคนอื่น ลักษณะการถือครองแบบเดี่ยวจึงทำให้เกิดการออกแบบที่หลากหลายนั่นเอง
ส่วนในด้านสถาปัตยกรรมของตึกผลไม้ รศ. ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ อธิบายเสริมเรื่องแง่มุมเกี่ยวกับงานประดับตกแต่งว่า สังคมไทยมักใช้คำเรียกตึกที่มีความเป็นโปรตุเกสผสมจีนโดยใช้คำว่า “ชิโน-ปอร์ตุกีส” (Sino-Portuguese) เช่นที่ภูเก็ต ซึ่งมองว่าเป็นความเข้าใจผิด กล่าวคือชิโน-ปอร์ตุกีส สามารถพบเห็นมีอยู่ที่ “มาเก๊า” สืบเนื่องมาจากช่วงโปรตุเกสครองมาเก๊า แต่ในไทย อิทธิพลของโปรตุเกสหมดจากแถบภูมิภาคนี้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางแล้ว
หากพิจารณารูปแบบทางสถาปัตยกรรมของตึกผลไม้แล้วลองเทียบกับรูปแบบงานในปีนังช่วง “สรรค์ผสานนิยมนิคมช่องแคบระยะปลาย” (Late Straits Eclectic Style) ราวค.ศ. 1910-1930 (พ.ศ. 2453-2473) สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
คำว่า “สรรค์ผสาน” (Eclectic) คือคำในทางสากลที่ใช้เรียกตึกรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มาจากการนำองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างยุคมาผสมผสานกันจนกลายเป็นแบบใหม่ที่ต่อยอดจากของเดิมโดยสถาปนิกหรือผู้ออกแบบประยุกต์แรงบันดาลใจหรือความชอบส่วนบุคคลมาใช้ในการออกแบบ หรืออาจออกแบบตามความพอใจของผู้ว่าจ้าง (เกรียงไกร เกิดศิริ, 2564)
จากมุมมองของนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมเชื่อว่า คำว่า “รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสรรค์ผสานนิยม” สะท้อนถึงฐานคิดในการก่อรูปทางสถาปัตยกรรม “บ้านร้านค้า” หรือ Shophouse (อาคารที่เป็นที่อยู่อาศัยและใช้ทำธุรกิจค้าขายในหลังเดียวกัน) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างครอบคลุม
ดังที่กล่าวข้างต้นว่า เมื่อคนจีนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนอื่น จะนำแบบแผนของตัวเองมาด้วย นั่นคือทำพื้นที่พักอาศัยร่วมกับการค้าขาย (“บ้านร้านค้า”) คนจีนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในปีนังภายหลังกัปตันฟรานซิส ไลท์ (Captain Francis Light) นักสำรวจจากบริติชผู้ตั้งปีนังเป็นเมืองท่าของอังกฤษ ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 รูปแบบ “บ้านร้านค้า” จึงเริ่มปรากฏขึ้นในพื้นที่ แต่ยังไม่ได้ตกแต่งให้สวยมากนัก เป็นลักษณะทำด้วยไม้ หลังคาเป็นกระเบื้องดิน หรือใบจากด้วยซ้ำ
เมื่อชาวจีนสะสมทุนทรัพย์ได้ถึงเริ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สวยงามมากขึ้น ช่วงราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 การค้าเสรีในโลกเริ่มขยายวงกว้างขึ้น ในช่วงหลังจากตั้งปีนังเป็นสถานีการค้าไม่นาน อังกฤษพยายามขับเคลื่อนให้เกิดระบบการค้าเสรี การค้าตามเมืองท่าที่อังกฤษเข้าไปมีสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองก็แปรสู่สภาพคึกคัก ช่วงเวลานั้นเองมีชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานในปีนังจำนวนมาก สถาปัตยกรรมเวลาต่อมาก็มาสู่ยุครูปแบบ “สรรค์ผสาน” (Eclectic) โดยเอาความเป็นจีนเข้ามาผสมอยู่มาก
เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงช่วง ค.ศ. 1910-1930 (พ.ศ. 2453-2473) สถาปัตยกรรมยุคนั้นพัฒนามาสู่ลักษณะซึ่งรศ. ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ อธิบายว่ามีคำนิยามที่เรียกว่า “สรรค์ผสานนิยมแบบนิคมช่องแคบ(ระยะปลาย)” (Late Straits Eclectic Style) มีองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมหลากหลายผสมรวมกัน ประดับตกแต่งอย่างรุ่มรวย เช่น ปั้นปูนปั้นประดับตัวเสาและคานเป็นลายเครือเถาสะท้อนการผสมผสานระหว่างจีนกับตะวันตก (เกรียงไกร เกิดศิริ, 2564) หรือจะมีบ้างที่เรียกว่าเป็นแบบ “บาโรก” (baroque) ศิลปะแบบ “บาโรก” กล่าวโดยย่อคือ มีลักษณะตกแต่งแบบอู้ฟู่ ไม่มีเหลือที่ว่าง (สัมภาษณ์ เกรียงไกร เกิดศิริ, 2564)
ราว ค.ศ. 1910-1930 (พ.ศ. 2453-2473) นี้เอง รูปแบบศิลปะตกแต่งแบบอู้ฟู่ในลักษณะบาโร้ก ตกแต่งด้วยปูนปั้น ปรากฏขึ้นที่ปีนัง ระยะเวลาไล่เลี่ยกันนี้เชื่อว่า สถาปัตยกรรมในยุคนั้นส่งอิทธิพลมาถึงการสร้างตึกผลไม้ในทรงวาดด้วย โดยถนนทรงวาดถือกำเนิดราวช่วง พ.ศ. 2449-2450 เป็นต้นมา
สำหรับการปลูกสร้างอาคารในทรงวาดภายหลังพ.ศ. 2451 ปรากฏเป็นลักษณะใช้ปูน (จากเรื่องประกาศของทางการด้วย) แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่แล้วมักอธิบายกันว่ารูปแบบของตัวอาคารมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบปีนัง สิงคโปร์ กล่าวคือเป็นอาคารสร้างเรียงกัน ตกแต่งแบบตะวันตก มีลวดลายและหัวเสาประยุกต์แบบกรีกหรือโรมัน ตึกแถวในบริเวณท่าน้ำราชวงศ์ รวมถึงตึกผลไม้บนถนนทรงวาดก็มีลักษณะการตกแต่งในกลุ่มนี้ (ผุสดี ทิพทัส, ม.ป.ป. อ้างถึงใน ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์)
ที่มาที่ไปของอิทธิพลจากปีนัง และสิงคโปร์ (สิงคโปร์รุ่งเรืองขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกับปีนัง) ซึ่งพบเห็นได้ในไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้น เป็นที่ทราบกันว่าค่อนข้างเข้มข้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2411 พระองค์เสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์คือเสด็จประพาสสิงคโปร์และปัตตาเวีย สิงคโปร์ในเวลานั้นเป็นอาณานิคมอังกฤษ
รัชกาลที่ 5 เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2413 เสด็จพระราชดําเนินเมืองสิงคโปร์เป็นเมืองแรก จากนั้นเสด็จฯ ไปเมืองปัตตาเวียและเสมารัง ในความคิดเห็นของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มองว่า การเสด็จประพาสในครั้งนี้มีผลต่อพระราชดําริในการบริหารบ้านเมืองของพระองค์ในภาพรวมอยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยในพ.ศ. 2417 ทรงจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ที่คาดว่ามาจากการเสด็จทอดพระเนตรการแบ่งสายงานปกครอง และการจัดตั้งสภาขุนนางที่ปรึกษาราชการที่ปัตตาเวีย
อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานจดหมายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ วินิจฉัยเกี่ยวกับอิทธิพลจากสิงคโปร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว ความตอนหนึ่งว่า (อ้างถึงใน ผุสดี ทิพทัส, ม.ป.ป.)
“เมื่อราวปีมะแม พ.ศ. 2402 โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กับกรมหมื่นวิษณุนาถไปตรวจงานที่เมืองสิงคโปร์ ครั้งนั้นได้แบบอย่างอะไรต่าง ๆ จากสิงคโปร์หลายอย่าง ชี้ตัวอย่างได้คือตึกแถวริมถนนเจริญกรุงชั้นเดิมสร้างอย่างตึกแถวที่เมืองสิงคโปร์”
สำหรับตัวตึกผลไม้นั้น ไม่มีข้อกังขาเรื่องความสวยงาม โดยเฉพาะปูนปั้นรูปเถาดอกไม้ ประดับผลไม้หลากหลายชนิด มีเสาตกแต่งเป็นแบบสไตล์ตะวันตก ซุ้มวงโค้ง กรอบช่องหน้าต่างโค้งกรุกระจกสีตามแนวของตัวกรอบไว้อย่างสวยงาม
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและที่มาที่ไปของการสร้างลวดลายมีนักวิชาการบางรายวิเคราะห์ไว้ว่า อาจเป็นด้วยเรื่องลักษณะของพื้นที่เป็นถนนที่มีความสำคัญทางการค้า นำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร สมุนไพร และเครื่องเทศ เป็นไปได้ว่า ลวดลายผลไม้เหล่านี้อาจเชื่อมโยงกับลักษณะของพื้นที่ก็เป็นได้ แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานหนึ่งเท่านั้น
ผู้สันทัดกรณีบางรายมีมุมมองในทางตรงกันข้ามกันว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับลักษณะการค้าในพื้นที่ เนื่องจาก “ผลไม้” ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์สื่อสารเชิงบ่งบอกจุดเด่นทางการค้าของพื้นที่ได้ชัดเจนเท่าใด มีความเป็นไปได้ว่าน้ำหนักของการออกแบบจะเป็นเรื่องของความสวยงามมากกว่า หรือหากมองในมุมอิทธิพลทางความคิดในด้านสถาปัตยกรรมก็มีคำถามว่า ที่ปีนังนิยมตกแต่งลวดลายด้วยผลไม้หรือไม่ อย่างไร…
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใด ท้ายที่สุดแล้ว ตึกผลไม้ (ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้) หรือตึกแถวเก่าแก่ในย่านทรงวาด ปัจจุบันยังคงเป็นที่ตั้งของกิจการห้างร้านใช้ทำการค้าอยู่ เป็นอาคารเก่าแก่ที่ใช้งานอยู่ และคงความเป็นเอกลักษณ์ สวยงาม เชื่อว่าใครก็ตามที่ได้มาเยี่ยมชมย่อมสัมผัสถึงความมีชีวิตชีวาของสถาปัตยกรรมราวกับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิตก็ว่าได้
ตึกเก่าแก่คู่ตึกผลไม้
บริเวณที่ถูกเรียกว่าจุดที่ตั้ง “ตึกเก่าบนถนนทรงวาด” ปรากฏอาคาร “ตึกผลไม้” อันโด่งดัง ส่วนฝั่งตรงข้ามก็มีอาคารเก่าอีกแห่งตั้งตระหง่านอยู่โดยที่ยังมีกิจการร้านค้าใช้สอยอาคารนี้อยู่จวบจนวันนี้ หากจะกล่าวว่าตึกผลไม้ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากปีนัง สิงคโปร์ มีข้อสันนิษฐานว่าตึกฝั่งตรงข้ามก็น่าจะอยู่ในช่วงยุคสมัยไล่เลี่ยกันและมีแนวโน้มได้รับอิทธิพลสายเดียวกันมาด้วย
ข้อมูลที่น่าสนใจจากงานศึกษาทางสถาปัตยกรรมในเมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง พบว่า เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญประการหนึ่งคืออัคคีภัย เมืองจอร์จทาวน์ เกิดเพลิงไหม้ที่สร้างความเสียหายหลายครั้ง และครั้งที่เสียหายมากที่สุดคือเมื่อค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357) ผู้อ่านหลายท่านอาจนึกถึงข้อมูลเรื่องอัคคีภัยที่เกิดในสำเพ็งจนทำให้ทางการต้องออกประกาศห้ามสร้างเรือนด้วยวัสดุไม้ อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา
หนังสือ “จอร์จทาวน์ เกาะปีนัง : จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก” อธิบายว่า เพลิงไหม้ครั้งนั้นสร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน ร้านค้า คลังสินค้าต่าง ๆ เกือบครึ่งหนึ่งของเมือง บ้านเรือนที่เสียหายร้อยละ 84 สร้างจากวัสดุธรรมชาติ รัฐบาลให้ความช่วยเหลือด้วยการนำเข้าอิฐและกระเบื้องมุงหลังคาจากมะละกา ความช่วยเหลือนำผลประการหนึ่งตามมาด้วย ราคาวัสดุก่อสร้างลดลง กลายเป็นแรงจูงใจให้เจ้าของอาคารลงทุนมากับวัสดุก่อสร้างอาคารที่ทนไฟมากขึ้น
อีกหนึ่งผลพวงที่ตามมาคือรัฐออกกฎหมายห้ามปลูกสร้างอาคารด้วยวัสดุธรรมชาติที่ไม่ทนไฟ (เกรียงไกร เกิดศิริ, 2564) พร้อมกำหนดให้เปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างในเมืองให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี รัฐยังเปิดให้คนมากู้เงินนำไปใช้ก่อสร้างอาคารใหม่แทนตึกเดิมที่ได้รับผลกระทบจากเพลิงไหม้ได้
จากการสืบค้นของนักวิชาการพบว่า ปรากฏการณ์ข้างต้นคือจุดเปลี่ยนสำคัญในด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับปีนังเลยทีเดียว อาคารที่ถูกก่อสร้างกลายเป็นใช้วัสดุเป็นอิฐ มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง วัสดุธรรมชาติไม่ได้ถูกนำมาใช้สร้างอาคารอีกต่อไป
นอกจากนี้ กรณีการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ เอกสาร “การวางผังเมืองฉบับราฟเฟิล” (Raffle Town Plan) หรือ “การวางผังเมืองสิงคโปร์” (Plan of the Town of Singapore) จัดทำโดย นายร้อยโท ฟิลิป แจคสัน (Lieutenant Philip Jackson) เมื่อ ค.ศ. 1822 (พ.ศ. 2365) ปรากฏข้อกำหนดเรื่องการก่อสร้างให้ “ก่อสร้างอาคารด้วยอิฐ มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง…” จนพอกล่าวได้ว่า ลักษณะของอาคารเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมือง
สำหรับในไทยแล้ว ประกาศจากทางการระบุข้อกำหนดเรื่องห้ามสร้างเรือนด้วยไม้ในบริเวณสำเพ็งนั้นประกาศเมื่อ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) หรือเกิดหลังจากจุดเปลี่ยนในปีนังเกือบ 100 ปี
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความสัมพันธ์ระหว่างปีนังกับอินเดีย ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน นำชาวอินเดียเข้ามาแสวงโอกาสในดินแดนใหม่ ทั้งนี้ นับตั้งแต่กัปตันฟรานซิส ไลท์ (Captain Francis Light) นักสำรวจจากบริติช และผู้ตั้งปีนังเป็นอาณานิคม(เมืองท่า)ในอังกฤษ กัปตันไลท์ยังทำให้เกิดการออกแบบสร้างอาคารต่างๆ ยุคแรกของการสร้างบ้านแปงเมืองและสร้างอาคารที่ทำการก็นำเข้าช่างก่ออิฐจากอินเดียและจีนมาก่อสร้างอาคาร อีกทั้งเมื่อปีนังมีสถานะเป็นเมืองท่านานาชาติ คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเกาะปีนังก็คือชาวจีนและชาวมาเลย์
สำหรับอาคารฝั่งตรงข้าม “ตึกผลไม้” ก็มีลักษณะเป็น “บ้านร้านค้า” (Shophouse) โดยสารานุกรมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นโลก (Encyclopedia of Vernacular Architecture) โดย พอล โอลิเวอร์ (Paul Oliver) (อ้างถึงใน เกรียงไกร เกิดศิริ, 2564) เสนอว่า “บ้านร้านค้า” ก่อตัวภายใต้อิทธิพลจีนที่สร้างขึ้นในพื้นที่มลายู เวลาต่อมาก็มีพัฒนาการต่อเนื่องและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
และที่น่าสนใจคือการเน้นย้ำโดยเฉพาะกับ “เมืองท่า” ที่รุ่งเรืองจากการเป็นสถานีการค้า แหล่งรวบรวมแลกเปลี่ยนสินค้า ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับอิทธิพลของดัตช์ อังกฤษ และฝรั่งเศส ที่มีต่อเมืองท่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเพิ่มระดับมากขึ้นสืบเนื่องไปถึงการพัฒนาเมือง และก่อสร้างบ้านร้านค้าเพื่ออยู่อาศัยควบคู่กับการค้าขาย (เกรียงไกร เกิดศิริ, 2564)
คำอธิบายในทางสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ล้วนสะท้อนภาพของความเป็นทรงวาดและย่านการค้าของสำเพ็งอย่างชัดเจน อาคารเก่าทั้งตึกผลไม้และตึกฝั่งตรงข้ามจึงแทบจะเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองอีกประการหนึ่ง สะท้อนอิทธิพลจาก “สัมภาระทางวัฒนธรรม” จากชาวจีน ในปัจจุบันก็ยังคงพบเห็นกิจการร้านค้าดำเนินการอยู่ในอาคารแห่งนี้ ไม่ต่างจาก “พิพิธภัณฑ์ที่มีลมหายใจ”
ตึกโบราณหัวมุมถนนทรงวาด
ภาพตึกทรงโบราณที่อยู่หัวมุมถนนทรงวาดฝั่งถนนราชวงศ์กลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำของถนนทรงวาดไปโดยปริยาย ด้วยตำแหน่งที่เหมาะเจาะและรูปลักษณ์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากอาคารในบริเวณเดียวกัน ชื่อเสียงของตึกแห่งนี้จึงแพร่กระจายไปพร้อมกับความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อนจากหลักฐานข้อมูลที่พบอยู่บ้าง
แหล่งข้อมูลบางแห่งไปจนถึงเสียงบอกเล่าของผู้คนจำนวนหนึ่งระบุตึกดังกล่าวเป็นอาคารของกิจการมัสกาตี (Maskati) กิจการผ้าเก่าแก่ของชาวอินเดียในไทย อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกของประภัสสร โพธิ์ศรีทอง นักวิชาการที่สืบค้นเรื่องวัฒนธรรมอินเดียในไทยพบว่า ตึกแห่งนี้ไม่ใช่อาคารของมัสกาตี
หากนับย้อนไปถึงปีที่ อับดุลไตอิบเอศมันยี [Abdultyeb Esmailji (A.T.E.) Maskati] (พ.ศ. 2375-2441/ค.ศ.1832-1898) ผู้ก่อตั้งบริษัทมัสกาตี เริ่มต้นทำธุรกิจในกรุงเทพฯ ร่วมกับญาติรายหนึ่งเมื่อพ.ศ. 2399 (ค.ศ. 1856) เท่ากับว่ากิจการแห่งนี้มีอายุร่วม 165 ปีแล้ว เป็นอีกหนึ่งกิจการเก่าแก่ในไทยก็ว่าได้
ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง อธิบายว่า ตระกูลมัสกาตีเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์เชื้อสายอินเดียกลุ่มโบราห์จากเมืองสุรัต เดินทางเข้ามาประกอบการค้า ตั้งถิ่นฐานในเขตธนบุรี สินค้าระยะแรกที่นำเข้ามาคือ “ผ้าลาย” และเริ่มมีชื่อเสียงในตลาดผ้าที่ไทยในเวลาต่อมา
แม้ตึกดังกล่าวมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับที่พบในอินเดียตะวันตก เมืองสุรัต (Surat) แคว้นกุจราด (Gujarat) และในเมืองมุมไบ (Mumbai) ก็มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนี้เช่นกัน
เป็นที่ทราบกันดีว่ากุจราด คืออีกหนึ่งพื้นที่ในอินเดียซึ่งเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมอันสวยงามมีความเป็นมาหลายยุคสมัย สถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอิสลามเคยได้รับความนิยมในช่วงที่ปกครองโดยสุลต่าน เมื่อเข้าสู่ยุคอาณานิคมอังกฤษมีอาคารที่สร้างตามแบบยุโรป กระทั่งเมื่อได้รับเอกราชหลังปี ค.ศ. 1947 จึงเริ่มพบเห็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นในพื้นที่
ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง ตรวจสอบข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ทายาทของมัสกาตีร่วมกับค้นหาเอกสารหลักฐานต่างๆ เช่นภาพถ่ายแล้วพบว่าอาคารดังกล่าวมีเจ้าของเดิมชื่อ “ราชา ราชา” (Raja Raja) เป็นชาวอินเดียที่ทำธุรกิจในไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น นักธุรกิจอินเดียเดินทางออกจากไทยไปหลายราย เป็นไปได้ว่าอาจไม่มั่นใจในสถานการณ์ห้วงสงคราม บรรดานักธุรกิจอินเดียที่เดินทางกลับนั้น คาดว่ารวมถึงเจ้าของเดิมของตัวอาคารก็เดินทางกลับอินเดียภายหลังเกิดสงคราม น่าเสียดายว่าหลังจากนั้นก็ไม่พบข้อมูลอีก
ทั้งนี้ ภาพถ่ายที่เผยแพร่ในหนังสือ “House of Maskati” หนังสือรวบรวมประวัติของกิจการมัสกาตีมีภาพอาคารรูปทรงลักษณะคล้ายกับตึกที่เห็นอยู่หัวมุมถนนทรงวาด คำบรรยายภาพอาคารนี้ระบุไว้ว่า
“ภาพที่ทำการดั้งเดิมของมัสกาตีที่ถนนอนุวงศ์ กรุงเทพฯ อาคารถูกสร้างเป็นออฟฟิศในชั้นล่าง และเป็นที่พักอาศัยสำหรับพนักงานและครอบครัวในชั้นบน กระทั่งในยุค 1970s (พ.ศ. 2513-2522) มันถูกแทนที่ด้วยอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย”
เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนอาจเพราะด้วยลักษณะรูปทรงของตัวอาคารที่คล้ายกันมาก และอยู่บริเวณใกล้เคียงกันด้วย
ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่งจากเอกสารคือลักษณะการใช้สอยอาคารสำหรับชาวมุสลิมอินเดียที่มาค้าขายในไทยตามที่บรรยายไว้ในคำบรรยายภาพอาคารยุคแรกของมัสกาตีในไทย ลักษณะการใช้สอยอาคารคล้ายกับวัฒนธรรมของชาวจีนซึ่งใช้อาคารหลังเดียวกันเป็นทั้งที่พักอาศัยและใช้ประกอบธุรกิจการค้าไปด้วย
ในย่านละแวกสำเพ็งก่อนจะตัดทรงวาดมีลักษณะเป็นชุมชนจีนอยู่แล้ว จากการศึกษาของประภัสสร โพธิ์ศรีทอง อธิบายไว้ว่าตระกูลมัสกาตีเดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานในเขตธนบุรี หลังจากนั้นก็ย้ายมาที่ท่าน้ำราชวงศ์แถบสำเพ็ง
ย่านราชวงศ์ในอดีตมีกิจการห้างร้านที่ขายผ้าลายหลายแห่ง ชื่อที่มักถูกเอ่ยถึงกันคือ ห้างมัลบารี ห้างวาสี ไม่เพียงแค่ผ้าลาย ยังมีกิจการร้านค้าสินค้าประเภทอื่นอย่างเช่น เครื่องเขียน ของใช้ในครัวเรือน เครื่องถ้วยแก้ว
อย่างไรก็ตาม กิจการหลายแห่งย้ายที่ตั้งไป ร่องรอยที่ยังหลงเหลือของกิจการมุสลิมอินเดียที่สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน นอกเหนือจากมรดกทางสถาปัตยกรรมที่ยังคงอยู่ในวันนี้ กิจการการค้าของชาวมุสลิมอินเดียในย่านชาวจีนไปปรากฏอยู่ในซอยวานิช 1 เมื่อเดินเข้าไปไม่กี่สิบเมตรจะพบเห็นหน้าร้านขายเครื่องประดับเพชรพลอย สังเกตชื่อร้านด้านหน้าจะทราบทันทีว่าเป็นร้านของชาวอินเดีย บางร้านก็เป็นร้านเก่าแก่เช่นกัน
ภาพในอดีตจวบจนปัจจุบันที่ปรากฏอาคารรูปทรงในกลุ่มสถาปัตยกรรมจากอินเดียมาอยู่ในย่านการค้าชุมชนชาวจีนที่ปรากฏสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานขึ้นตามวัฒนธรรมของกลุ่มชน สอดคล้องเชื่อมโยงกับลักษณะการใช้สอยเพื่อประกอบธุรกิจในย่านศูนย์กลางการค้าในอดีต องค์ประกอบเหล่านี้เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วล้วนสะท้อนบริบทของท้องถิ่นแต่ละยุคสมัย
ภายใต้ฉากหน้าด้านการค้าบนถนนทรงวาดและย่านสำเพ็งที่เป็นศูนย์กลางการค้าในอดีต เมื่อสำรวจลงลึกไปในมิติต่างๆ จะเห็นถึงรายละเอียดความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมหลากหลายแง่มุม แต่ละมิติถูกผูกโยงเข้าด้วยกันผ่านกิจกรรมการค้าอันเป็นอัตลักษณ์สำคัญของย่านนี้ขับดันผู้คนและสังคมท้องถิ่นให้มีที่ยืนหยัดของตัวเอง
แน่นอนว่า หลายกลุ่มที่เติบโตมาจากย่านนี้ก็พัฒนาตัวเองจากกิจการห้างร้านมาสู่บริษัทระดับชาติหรือระดับสากลในเวลาต่อมา ปฏิเสธได้ยากว่า องค์ประกอบตั้งแต่รายละเอียดอย่างมิติทางวัฒนธรรมมาจนถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองหลากหลายระดับล้วนมีส่วนประกอบสร้าง ขับดันความเปลี่ยนแปลงจนมาสู่ความเป็นไปในยุคปัจจุบัน
โรงเรียนเผยอิง
อาคารของโรงเรียนเผยอิงปัจจุบันตั้งอยู่ด้านหลังศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง ประวัติของโรงเรียนนี้ทราบกันว่าก่อตั้งโดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีน นำโดย “ยี่กอฮง” หรือ พระอนุวัติราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) [บางแห่งสะกดเป็น พระอนุวัตน์ราชนิยม] ที่น่าสนใจคือ ตัวอาคารแห่งนี้กลับสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก
ตามประวัติของโรงเรียนในหนังสือ “ตึกเก่า-โรงเรียนเดิม” ที่รวบรวมโดยยุวดี ศิริ โรงเรียนเผยอิงได้ยี่กอฮง ร่วมกับกอฮุยเจียะ, โค้วปิ้ดจี่, เชียวเกียงลิ้ง, ตั้งเฮาะซ้ง และพ่อค้าชาวจีนอีกจำนวนหนึ่ง “ระดมทุนและรับบริจาค” จากชาวจีนแต้จิ๋วเพื่อจัดตั้งสถานศึกษาให้ลูกหลานชาวจีนในไทยช่วงพ.ศ. 2459 ได้เงินทุนแรกเริ่มสำหรับจัดสร้างอาคารเรียนหลังแรกราว 3 แสนบาท อย่างไรก็ตาม โรงเรียนสร้างแล้วเสร็จในช่วงพ.ศ. 2463 คาดว่ามาจากสาเหตุเรื่องสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 กระทบต่อราคาหรือสภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ก่อสร้าง
ตัวอาคารในปัจจุบันปรากฏเป็นตึก 3 ชั้น เน้นเรื่องโถงทางเข้าตรงกลาง และมีพื้นที่เปิดโล่งลักษณะแบบที่พบได้ในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีผนังหนา ผนังถูกเซาะร่องคล้ายหิน แต่ละชั้นแตกต่างกันเหมือนสถาปัตยกรรมยุคฟื้นฟูวิทยาการ (Renaissance) สร้างด้วยอิฐฉาบปูน ลายปูนปั้นออกมาแบบยุคฟื้นฟูศิลปะโรมัน มีนาฬิกาประดับหน้าบัน มีปูนปั้นแจกัน หรือ Trophy บนยอดอาคาร ลวดลายละเอียดและงดงาม (ยุวดี ศิริ, 2557)
ลักษณะข้างต้นล้วนเป็นรายละเอียดแบบ “ทรงฝรั่ง” แต่กลับสร้างอยู่ในโรงเรียนของชาวจีน ทั้งนี้ การก่อสร้างอาคารสถานศึกษาในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 (ขณะที่เผยอิงเริ่มสร้างในช่วงต้นรัชกาลที่ 6) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เชื่อว่า เป็นเรื่องของสมัยนิยม ซึ่งในยุคนั้นเป็นช่วงที่เปิดรับและปรับปรุงหลายสิ่งหลายอย่าง ชนชั้นนำสานสัมพันธ์คบค้ากับฝั่งยุโรปเพื่อให้ทันสมัย
รัชสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการปกครอง การทหาร เศรษฐกิจ กฎหมายการศาล ขนบธรรมเนียมประเพณีบางประการ ในความคิดเห็นของนักเขียนบางรายมองว่า การก่อสร้างสถานศึกษาเป็นทรงฝรั่งในยุคนั้นก็อาจเป็นเรื่องเป็นไปตามความนิยม โดยเฉพาะผังอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เน้นโถงทางเข้าตรงกลาง หน้าบันขนาดใหญ่
ลักษณะดังกล่าวนี้ยังปรากฏในอาคารสถานศึกษาในยุคปัจจุบันหลายแห่ง เช่น อาคารสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี (ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2425) ไปจนถึงอาคารพระพุทธเจ้าหลวง โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2445
โรงเรียนเผยอิงเคยได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นและรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2545 จากการคัดเลือกของสมาคมสถาปัตยกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์
กล่าวได้ว่า โรงเรียนเผยอิงมีอายุทะลุร้อยปีมาแล้ว ผ่านยุคสมัยตั้งแต่ช่วงสงครามโลก ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีน ผ่านช่วงวิกฤตต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศไปจนถึงสถานการณ์จากต่างประเทศ เป็นแหล่งบ่มเพาะนักธุรกิจระดับเจ้าสัวมากมาย ปัจจุบันอาคารแห่งนี้ยังอยู่ในสภาพดี และเชื่อว่าหากไม่เผชิญเหตุเหนือความคาดหมาย อาคารเก่าแก่แห่งนี้จะตั้งตระหง่านเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ยังคงมีลมหายใจอยู่ในถนนทรงวาดเช่นเดิม
อาคารเจียไต๋
ประเทศไทยอาจมีบริษัทเก่าแก่เกินร้อยปีหลายกิจการ แต่คงมีไม่กี่แห่งที่ยังรักษาสภาพ “อาคารสำนักงาน” ยุคบุกเบิกไว้ได้ ประการสำคัญคือ ยังเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมในยุคการเปลี่ยนผ่านของสยามประเทศที่ยังไม่เคยได้รับการกล่าวขานถึง นั่นคืออาคารสำนักงาน บริษัทเจียไต๋ จำกัด ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี
ภาพถ่ายปรากฎอาคารเจียไต๋ เก่าแก่ที่สุด ถ่ายในปี พ.ศ.2489 เป็นหนึ่งในภาพถ่ายทางอากาศ จำนวน 1,671 ภาพโดยปีเตอร์ วิลเลี่ยม-ฮันท์ (Peter Williams-Hunt) ชาวอเมริกันที่ได้รับมอบหมายจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรให้บันทึกภาพเพื่อคำนวณค่าปฏิกรณ์สงคราม ซึ่งต่อมาล้วนเป็นภาพที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
นั่นหมายความว่า อาคารเจียไต๋ ถนนทรงสวัสดิ์ น่าจะก่อสร้างก่อนช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488) เพราะในช่วงสงคราม คงไม่มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ใดๆในพระนคร ทั้งด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และการขาดแคลนปูนซีเมนต์
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (2460-2561) ได้เคยทรงตอบคำถามเรื่องนี้กับพนักงานเจียไต๋ ความว่า เมื่อท่านมาที่วัดเกาะเมื่ออายุ 19 ปี ในพ.ศ. 2479 ท่านก็เห็นอาคารนี้แล้ว เป็นที่มาของข้อสรุปขั้นต้นว่า อาคารเจียไต๋ มีอายุมากกว่า 85 ปี
ดังนั้น ห้วงเวลาอย่างช้าที่สุดที่อาคารเจียไต๋ ถูกสร้างขึ้น คือช่วงทศวรรษ 2470 ซึ่งสยามอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในวงการสถาปัตยกรรมไทย ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของกลุ่มอาคารถนนราชดำเนินกลาง และอาคารไปรษณีย์กลาง ซึ่งมีลักษณะบางประการร่วมกันกับอาคารเจียไต๋
ดังนั้นเมื่อมองจากเครื่องบิน สิ่งที่น่าจะสะดุดตา ปีเตอร์ วิลเลี่ยม-ฮันท์ นอกจากจะขนาดที่ใหญ่โตเมื่อเทียบกับอาคารรอบๆ แล้ว ยังมี “หลังคาทรงเรียบแบน” ในขณะที่อาคารหลังอื่นๆ ยังเป็นหลังคามุงกระเบื้องตามยุคสมัยก่อนหน้านั้น
ในมุมมองของนักวิชาการที่ศึกษา “สถาปัตยกรรมแบบทันสมัย” ในยุคกลางทศวรรษ 2470 ระบุถึงการเกิดขึ้นของอาคารที่มีรูปทรงแข็งแรง เน้นความเรียบง่าย ตัดการตกแต่งลวดลายแบบอาคารยุคศตวรรษที่ 19 หรือยุคอาณานิคมที่ครั้งหนึ่งมีอิทธิพลตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 4-6 ดังที่ปรากฎในแถบถนนเยาวราช
“สถาปัตยกรรมแบบทันสมัย” ยังมีความโดดเด่นในการรูปทรงเรขาคณิตที่ชัดเจนทั้งแนวตั้ง และแนวนอน โดยมีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ หลังคาที่เรียบแบน มีดาดฟ้า ดังที่ปรากฎที่อาคารเจียไต๋
อาคารเจียไต๋ เป็นอาคารที่บริษัทเช่าจากวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร หรือวัดเกาะ หลังจากสองพี่น้องตระกูลเจี่ย คือ เจี่ย เอ็กชอ และ เจี่ย จิ้นเฮี้ยง (เจี่ย เซี่ยวฮุย) เริ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ โดยวางขายบนร้านแผงลอยเล็กๆบนถนนทรงวาด สามารถเก็บหอมรอมริบจนได้เงินทุนมาก้อนหนึ่ง จึงขอเช่าห้องแถวจากทางวัดสัมพันธวงศ์ ห้างเจียไต้จึง ถือกำเนิดขึ้น ณ อาคารพาณิชย์ 2 ชั้น เลขที่ 102 ถนนทรงวาด ก่อนข้ามฝั่งมาเช่าอาคารคอนกรีตฝั่งขวาของถนนทรงสวัสดิ์ เป็นแห่งที่สอง ตราบจนปัจจุบัน (สำหรับห้องแถวหลังแรกที่เป็นอาคารไม้ ภายหลังทางวัดได้สร้างเป็นอาคารคอนกรีต แต่ เจียไต๋ ยังคงเช่าตราบจนปัจจุบัน)
2 พี่น้องตระกูลเจี่ยให้เวลา 2 ปี จาก ร้านแผงลอยเล็กๆ มาเช่าห้องแถว 2 ชั้น
จากนั้นก็ใช้เวลาไม่เกิน 15 ปี ขยับขยายมาเช่าตึกแถวกว่าสิบห้อง บ่งบอกการขยายตัวของธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ผัก เป็นอย่างดี
บล็อคอาคารขนาดใหญ่ที่มองเห็นจากทางอากาศ ประกอบด้วยห้องแถว 3 ชั้น จำนวน 23 เลขที่ (ห้อง) เรียงกันเป็นรูปตัวโอ(O) แบบเหลี่ยม ตึกแถวด้านหน้าหันออกถนนทรงสวัสดิ์ ส่วนตึกแถวด้านหลังหันออกถนนในซอยด้านใน ซึ่งภายหลังทางวัดจะสร้างห้องแถวให้เช่าเพิ่มตามมาอีกลายบล็อคจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่
ในจำนวนห้องแถวซึ่งทั้งบล็อคมี 23 ห้อง เจียไต๋ เช่าจำนวนห้องแถวไปราวๆ ครึ่งหนึ่งของตัวโอ เริ่มจากห้องเลขที่ 239 โซนด้านหน้าติดถนน จนถึง เลขที่ 315 ซึ่งเป็นโซนด้านในซอย โดยอาคารหัวมุมที่เป็นห้องใหญ่ที่สุดคือเลขที่ 301-303
ความพิเศษในยุคแรก ยังมีอยู่อีกว่า อาคารของเจียไต๋เท่านั้นที่ออกแบบทำบันไดทะลุถึงบนดาดฟ้าได้ และได้ทำสัญญาเช่า “ดาดฟ้า” ทั้งหมด เพื่อตากเมล็ดพันธุ์ผัก คะเนด้วยสายตาน่าจะมีพื้นที่ขนาดครึ่งหนึ่งของสนามฟุตบอล อาคารด้านหน้าที่ติดถนนทรงสวัสดิ์ เป็นสำนักงาน ส่วนด้านในที่ติดซอยเป็นที่พักอาศัยของตระกูลเจียรวนนท์ ซึ่งจะระดมสมาชิกครอบครัวมาช่วยกันตักเมล็ดพันธุ์ใส่ซองก่อนกระจายให้กับลูกค้าทั่วประเทศ
พระอาจารย์ท่านหนึ่งของวัดเกาะ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเจียไต๋ เคยกล่าวถึงทำเลที่ตั้งอาคารเจียไต๋ ว่า เสมือน “ปากมังกร” โดยถนนทรงวาด คือ “ลำตัวมังกร” โดยดูจากตำแหน่งอาคารที่หันทิศไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา
ความผูกกันระหว่างเจียไต๋ และวัดเกาะ ยังทำให้เมื่อบริษัทได้รับพระราชทานพระครุฑพ่าห์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อพ.ศ. 2541 พระอาจารย์ที่วัดได้แนะนำว่า ควรจะจัดพิธีบวงสรวงสังเวยพระครุฑพ่าห์ บริษัทจึงกำหนดให้วันที่ 9 กันยายน ของทุกปี เป็นวันจัดพิธีบวงสรวง ซึ่งเป็นพิธีสำคัญของบริษัทที่ต้องมีการอ่านโองการขนาดความยาว 3 หน้ากระดาษ ที่ได้รับจากวัดเกาะ
ความผูกพันนี้ยังรวมไปถึงการที่บริษัทจะจัดงานวันเด็กและการจัดกิจกรรมสอนปลูกผักให้กับนักเรียนโรงเรียนวัดสัมพันธวงศ์ และโรงเรียนวัดปทุมคงคา ที่อยู่ใกล้เคียงกัน
ในยุคสมัยที่ย่านการค้ายังคึกคัก ตึกแถวเพื่อนบ้านเจียไต๋ ส่วนใหญ่คือ ร้านขายแหอวน ซึ่งเข้มแข็งถึงขั้นมีสมาคมธุรกิจด้านนี้ ในช่วงปลายปี จะมีการตั้งโรงงิ้วแสดง 7 คืน จนกระทั่งเทคโนโลยีการผลิตแหอวนเปลี่ยนแปลง กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ขนาดใหญ่ใช้เทคโนโลยีโรงงาน เพื่อนบ้านธุรกิจของอาคารเจียไต๋ จึงซบเซาเลิกราไปพร้อมกับโรงงิ้ว
ในปี 2562 บริษัท เจียไต๋ เปิดตัวสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่สุขุมวิท 60 ตามการขยายตัวของกิจการที่ส่งออกไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก พื้นที่ของสำนักงานแห่งเก่าไม่เพียงพอที่จะรองรับพนักงานที่มีจำนวนมากขึ้น จึงตัดสินใจย้ายสำนักงานมาที่ใหม่เพื่อให้พนักงานทุกคนได้ทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
แต่ถึงอย่างไร ชีวิตของอาคารเจียไต๋ ที่ทรงสวัสดิ์ ก็ไม่เคยเหงา ด้วยบริเวณหน้าอาคารด้านถนนในซอย ยามเย็นจรดดึก คือที่ตั้งของสตรีทฟู้ด วัดเกาะ ที่เหล่านักชิมจะพบร้านเจ้าอร่อย อาทิ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาลิ้มเหล่าโหงว ขนมจีบเจ้าเก่าทรงวาด (อาเหลียง) หมูสะเต๊ะ วัดเกาะ เป็นต้น
สตรีทฟู้ด วัดเกาะ หน้าเจียไต๋ ขายของกิน ของอร่อย กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ ดังนั้นตกเย็น เมื่อร้านเจ้าอร่อยเคลื่อนพลมา คนเจียไต๋ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หรือพนักงาน ก็พร้อมใจกันเคลื่อนรถออกจากที่จอดหน้าออฟฟิศ เพื่อเปิดทางให้อีกตำนานเยาวราช-ทรงวาด ได้ปะทะสังสรรค์กันตลอดไป
คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดเส้นทางวิทยาการใหม่ในอดีตที่แฝงใน “ถนนทรงวาด” และส่งผลต่อสังคมไทย
อ้างอิง :
เกรียงไกร เกิดศิริ, ปัทม์ วงค์ประดิษฐ์, อิสรชัย บูรณะอรรจน์, กิตติคุณ จันทร์แย้ม. จอร์จทาวน์ เกาะปีนัง : จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก, 2564.
ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์. “ตึกแถวโบราณถนนทรงวาด,” ใน สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.
ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง. “พ่อค้ามุสลิมกับการค้าผ้าอินเดียในหน้าประวัติศาสตร์ไทย, ” ใน วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 36 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2550.
ผุสดี ทิพทัส และมานพ พงศทัต. บ้านในกรุงเทพฯ : รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี (พ.ศ. 2325-2525). คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไม่ปรากฏปี (ม.ป.ป.). อ้างถึงใน ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์. “ตึกแถวโบราณถนนทรงวาด,” ใน สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.
ยุวดี ศิริ. ตึกเก่า-โรงเรียนเดิม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.
อรุณี หงส์ศิริวัฒน์. “โรงเรียนเผยอิง, ” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.
เว็บไซต์
ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง. “ชุมชนอินเดียย่านตึกแดงตึกขาว : ประวัติศาสตร์การค้าผ่านภาพถ่ายเก่า”. Thai Tribune. เว็บไซต์. อัปเดตเมื่อ 9 มิถุนายน 2558. เข้าถึงเมื่อ4 พฤศจิกายน 2564. < http://www.thaitribune.org/contents/detail/331…>
“อาณานิคมในสายพระเนตร ร. 5 ? การเสด็จฯ สิงคโปร์-ปัตตาเวีย-พม่า-อินเดีย,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2564. เข้าถึงเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2564. <https://www.silpa-mag.com/history/article_63274>
Maskati Celebrates 160 Years. ATEMS. Access 4 NOV 2021. < https://atems.com/maskati-celebrates-160-years/>
สัมภาษณ์
รศ. ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ. วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564